โฆษกอัยการ “ธนพิชญ์ มูลพฤกษ์” แถลง ขั้นตอนขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน “แม้ว-หญิงอ้อ” ต้องรอ ผบ.ตร.ที่รับผิดชอบตามตัวตามหมายจับศาลฎีกานักการเมือง ร้องขอก่อน ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ปี 51 ด้านรองโฆษกอัยการ ระบุ แม้กฎหมายไม่ได้กำหนดเวลา ผบ.ตร.ยื่นอัยการ แต่รับหมายจับแล้วต้องดำเนินทันที ขณะที่ “อัยการสูงสุด” เรียกประชุมคณะทำงาน ปรับคำฟ้องอายัดทรัพย์ทักษิณ 7.6 หมื่นล้าน คาดฟ้องคดีศาลฎีกานักการเมืองจันทร์หน้า
วันนี้ (21 ส.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น.ที่ห้องประชุม 100 ปี สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษก ร่วมกันแถลงข่าวกรณีขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ภริยา จำเลยที่ 1-2 คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก
นายธนพิชญ์ โฆษกอัยการ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 ที่มีผลบังคับใช้ 9 ส.ค.2551 กำหนดให้อัยการสูงสุด หรือผู้ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย เป็นผู้ประสานงานกลางส่งผู้ร้ายข้ามแดน กรณีประเทศไทยของให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ทั้งนี้ ตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุว่า การร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ให้พนักงาน หรือหน่วยงานที่ประสงค์จะให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเสนอเรื่องผู้ประสานงาน ซึ่งหมายถึงอัยการสูงสุด ดังนั้น เมื่อคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยจำเลยทั้งสองอยู่ในอำนาจศาลฎีกาฯ แล้ว และเมื่อจำเลยระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยหลบหนีศาลจึงออกหมายจับ ปรับนายประกันโดยส่งหมายจับถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้จับตัวจำเลยทั้งสอง ไปส่งที่ศาลฎีกาฯ ภายในกำหนดอายุความ สำหรับข้อหาที่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ มีอายุความ 15 ปี และคุณหญิงพจมาน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2551 ที่ผ่านมา เมื่อเรื่องนี้ ผบ.ตร.มีหน้าที่ต้องนำตัวจำเลยทั้งสองไปส่งศาลฎีกาฯ สตช.จึงถือว่าเป็นหน่วยงานที่ประสงค์ ตามที่บัญญัติใน พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน มาตรา 30 ที่จะให้การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อนำตัวจำเลยมาดำเนินการตามกฎหมาย ดังนั้นเรื่องนี้ ผบ.ตร.ต้องเป็นผู้ส่งเรื่องร้องขอมายังสำนักงานอัยการสูงสุด แล้วอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลาง ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ก็จะมีอำนาจหน้าที่และพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งหากอัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นสมควรที่จะจัดทำคำร้องเพื่อขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว อัยการจะจัดทำคำร้องส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อผ่านวิถีทางการทูตไปยังประเทศอังกฤษต่อไป แต่อย่างไรก็ดี ขณะนี้ สตช.ยังไม่ได้ประสานงานขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการในเรื่องนี้
ด้าน นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในขั้นตอนที่ สตช.จะต้องยื่นคำร้องขอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดว่าจะต้องดำเนินการภายในเวลาเท่าใด แต่ทั้งนี้เมื่อศาลออกหมายจับ และ สตช.ได้รับหมายจับแล้ว ก็ต้องดำเนินการโดยเร็วที่จะรวบรวมเอกสารส่งมอบให้สำนักงานอัยการสูงสุด โดยอัยการสูงสุด จะได้พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานอัยการเรื่องนี้
ส่วนความคืบหน้าการร่วมพิจารณาคดีทุจริตโครงการจัดซื้อจัดจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ผู้โดยสารและเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด (ซีทีเอ็กซ์) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, โครงการจัดซื้อจัดจ้างระบบจ่ายไฟฟ้า และเครือข่ายท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, โครงการบ้านเอื้ออาทร และคดีอายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารและสถาบันการเงินที่ครอบครัว บุตร บริวาร พ.ต.ท.ทักษิณ จากการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับกองทุนเทมาเส็ก นั้น นายธนพิชญ์ กล่าวว่าสำนวนคดีทั้ง 4 เรื่อง คณะทำงานร่วมระหว่าง อัยการ และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สามารถทำความตกลงกันได้ทุกเรื่องแล้ว ซึ่งคดีอายัดบัญชีเงินฝาก พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวนั้น อยู่ระหว่างเสนอคำฟ้องให้ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด พิจารณาทำความเห็นชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้มีรายงานข่าวว่า เมื่อเวลา 11.00 น.ที่ผ่านมา นายชัยเกษม อัยการสูงสุด ได้เรียกประชุมคณะทำงานอัยการรับผิดชอบคดี คตส.ที่มี นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุดเป็น ประธาน เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับคำฟ้องคดีอายัดเงิน 7.6 หมื่นล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว ซึ่งรายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมดังกล่าวอัยการสูงสุดได้ เห็นชอบกับการให้ยื่นฟ้องคดีอายัดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านแล้ว แต่ได้พิจารณาให้มีการปรับถ้อยคำในคำฟ้องบางส่วน โดยคาดว่าอัยการจะนำคำฟ้องยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ภายในวันจันทร์ที่ 25 ส.ค.นี้