xs
xsm
sm
md
lg

ท่านเปายกอุทาหรณ์ “วัฒนา” หนี! อาจต้องเพิ่มเงินประกันจำเลยนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย
ผู้พิพากษาศาลฎีการะบุ อุทาหรณ์ “วัฒนา อัศวเหม” หนีฟังคำพิพากษา อนาคตหากจำเลยนักการเมืองระดับชาติหนีประกันบ่อยๆ อาจนำพฤติการณ์มาพิจารณาสั่งไม่ให้ประกัน พร้อมเรียกหลักทรัพย์สูงหลายเท่าตัว

วันนี้ (10 ก.ค.) แหล่งข่าวผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวถึงกรณีที่ นายวัฒนา อัศวเหม ประธานพรรคเพื่อแผ่นดิน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยในคดีทุจริตออกโฉนดที่ดินทับที่สาธารณะประโยชน์ 1,900 ไร่ นำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษเพื่อก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้ออกหมายจับ เนื่องจากหลบหนีไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษาว่า ตามขั้นตอนหากเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวนายวัฒนา จำเลยได้แล้วก็จะต้องนำตัวมาส่งศาลฎีกาฯ เพื่อฟังคำพิพากษา ส่วนจะอ่านคำพิพากษาในวันที่จับกุมตัวมาส่งศาลทันทีเลยหรือไม่นั้น แล้วแต่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และความพร้อมขององค์คณะ และเนื่องจาก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ระบุไว้ชัดเจนว่าการอ่านคำพิพากษาผู้พิพากษาจะต้องนั่งพิจารณาครบองค์คณะทั้ง 9 คน ดังนั้น อาจจะต้องอ่านคำพิพากษาในวันถัดไปหรือในวันที่ 18 ส.ค.ตามคำสั่งเดิมของศาล

แหล่งข่าวคนเดิมยังกล่าวถึงกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนักการเมืองระดับประเทศกระทำผิดฐานทุจริตมักจะได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี และสุดท้ายเมื่อศาลนัดฟังคำพิพากษาก็จะหลบหนีทุกรายว่า การอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยนั้น ถ้ายังไม่มีองค์คณะผู้พิพากษาก็จะเป็นหน้าที่ของแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา แต่ถ้ามีองค์คณะแล้วก็จะเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ซึ่งการพิจารณาสั่งคำร้องประกัน องค์คณะ 3 คนก็สามารถพิจารณาสั่งได้ โดยหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ประกันตัวคดีที่นักการเมืองเป็นจำเลยในศาลฎีกา ก็เหมือนกับคดีอาญาทั่วไป ที่จะต้องพิจารณาไปตาม ป.วิอาญา ประกอบกับพฤติการณ์ของจำเลย สภาพแวดล้อม และข้อหาที่กระทำผิด ซึ่งแต่ละคดี แต่ละข้อหา แต่ละเรื่องมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน จำเลยแต่ละคนมีพฤติการณ์ไม่เหมือนกัน

“จะให้ตอบตายตัวว่าคดีไหนจะให้ประกันตัวหรือไม่ให้ประกันตัวจำเลย คงตอบลำบาก อยู่ที่พฤติการณ์แห่งคดี ส่วนตัวผมเห็นว่าอนาคตถ้าคดีที่นักการเมืองเป็นจำเลยและศาลอนุญาตให้ประกันตัวแล้วหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาเกิดบ่อยๆ ก็ควรจะนำพฤติการณ์หลบหนีของนักการเมืองเหล่านั้นมาพิจารณาประกอบเพิ่มเติมในการสั่งเรื่องประกันตัว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้พิพากษา แต่ละท่านที่จะมีความคิดเห็น” แหล่งข่าวศาลฎีกาคนเดิมกล่าว

เมื่อถามว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายเรื่องหลักเกณฑ์การให้ประกันตัวจำเลยที่ถูกฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองให้เข้มงวด หรือเรียกหลักประกันสูงถึงหลัก 10 หรือ 100 ล้านบาท เพื่อไม่ให้หลบหนีได้หรือไม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า การเรียกหลักประกันสูงขึ้นหลายเท่าตัวก็เป็นไปได้ที่นำมาคำนึงถึงในการพิจารณาอนุญาตให้ประกันตัว ซึ่งจริงๆ แล้วจะต้องพิจารณาความผิดและพฤติการณ์รอบด้าน ซึ่งถ้าจำเลยจะหลบหนีก็หลบหนีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่จำเลยทุกคนจะหลบหนี คดีทุจริตที่ดินคลองด่าน ที่นายวัฒนาเป็นจำเลย ศาลก็เรียกหลักทรัพย์ประกันสูงถึง 2 ล้านบาท แม้คดีนี้โทษสูงสุดอาจถึงประหารชีวิตก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับคดีที่มีโทษประหารชีวิตคดีอื่นๆ ถือว่าคดีนี้เรียกหลักทรัพย์ประกันในวงเงินที่สูงมาก ส่วนตัวเห็นว่าอย่าไปกังวลเรื่องการหลบหนี เพราะมีเจ้าหน้าตำรวจซึ่งรับผิดชอบทำหน้าที่จับกุมตัวจำเลยมาลงโทษภายในอายุความอยู่แล้ว ส่วนคดีจะมีอายุความเท่าไรแล้วแต่โทษจำคุก
กำลังโหลดความคิดเห็น