xs
xsm
sm
md
lg

“ธนา” ร้อนวิชาขอคุกสอนกฎหมายผู้ต้องขัง!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

อดีตทีมหมอความรับใช้ “แม้ว-เมีย” ในคดีทุจริตที่ดินรัชดา นอนคุกยาว 6 เดือนเต็ม เพราะไม่เข้าเกณฑ์ลดโทษ ขณะที่ “ธนา” หลานหญิงอ้อ ขอช่วยสอนกฎหมายเพื่อนผู้ต้องขัง โดยระหว่างการสอน จนท.จะคุมเข้มไม่ให้แตกออกนอกหลักที่เหมาะสม ด้าน “วันชัย” ยัน เหตุแยกขังอดีต 2 คู่หู “ธนา-พิชิฏ” เนื่องเกรงชกต่อย เพราะไม่คุยกันอยู่แล้ว

วันนี้ (1 ก.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาลดวันต้องโทษ ว่า สำหรับ นายพิชิฏ ชื่นบาน นายธนา ตันศิริ และ น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ ซึ่งถูกศาลฎีกาคำพิพากษาให้จำคุก 6 เดือน ในคดีละเมิดอำนาจศาล หิ้วเงินสินบน 2 ล้านให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาลฎีกา ว่า ผู้ต้องขังทั้ง 3 คน ไม่เข้าหลักเกณฑ์ระเบียบลดวันต้องโทษของเรือนจำ เนื่องจากเป็นนักโทษเข้าใหม่ ที่มีโทษเพียง 6 เดือน โดยปกติแล้วเรือนจำจะพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดชั้นนักโทษในช่วงกลางปีและสิ้นปี ซึ่งในเดือนกรกฎาคมนี้ได้ผ่านการพิจารณาลดวันต้องโทษไปแล้ว จะพิจารณาครั้งต่อไปในเดือนธันวาคม ซึ่งผู้ต้องขังทั้ง 3 คน จะพ้นโทษตามหมายขังของศาลไปแล้ว อย่างไรก็ตาม หากมีพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษในโอกาสพิเศษให้กับผู้ต้องขังทุกคน นักโทษทั้ง 3 รายนี้ ก็อาจจะเข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษด้วย

นายวันชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของ นายธนา ได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่า ทำใจได้แล้ว และจะประพฤติตนตามระเบียบวินัยของเรือนจำ โดยจะช่วยสอนหนังสือวิชากฎหมายให้กับเพื่อนผู้ต้องขัง ซึ่งระหว่างการสอนทางเรือนจำจะมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุม เพื่อให้สอนอยู่ในหลักเกณฑ์ ที่เหมาะสม ในส่วนของ นายพิชิฏ ได้รับรายงานว่า ผู้ต้องขังทำใจได้บ้างแล้ว มีสีหน้าท่าทางสดชื่นขึ้น และรับประทานอาหารที่เรือนจำจัดให้ได้แล้ว

ทั้งนี้ ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จำเป็นต้องแยกขังนายพิชิฏ และ นายธนา เนื่องจากผู้ต้องขังได้พบหน้ากันแล้วในแดนแรกรับ แต่ทั้ง 2 คนไม่พูดคุยกัน เจ้าหน้าที่จึงต้องแยกขังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุวิวาท

นอกจากนี้ นายวันชัย ได้กล่าวถึงมาตรการป้องกันยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถาน ว่า เรือนจำกว่า 20 แห่ง มีปัญหาการลักลอบนำยาเสพติดและโทรศัพท์มือถือซุกซ่อนมาในของเยี่ยมและพัสดุภัณฑ์ ดังนั้น กรมราชทัณฑ์จึงมีมาตรการให้เรือนจำที่มีปัญหาการลักลอบนำสิ่งของผิดกฎหมายเข้าเรือนจำงดรับสิ่งของและพัสดุไปรษณีย์จากญาติผู้ต้องขัง ส่วนความร่วมมือระหว่างกรมราชทัณฑ์กับตำรวจปราบปรามยาเสพติดในการนำโทรศัพท์ไปให้นักโทษล่อซื้อยาเสพติด นับต่อจากนี้ทุกเรือนจำจะไม่อนุญาตให้นำโทรศัพท์มือถือเข้าในเรือนจำโดยเด็ดขาด แต่กรมราชทัณฑ์พร้อมให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนในการขยายผลคดียาเสพติดในรูปแบบและวิธีการอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ญาติและผู้ต้องขังสามารถซื้อสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นจากร้านสวัสดิการ เรือนจำ ส่งให้กับนักโทษได้ โดยราคาสินค้าในร้านสวัสดิการจะไม่สูงกว่า ร้านสะดวกซื้อตามท้องตลาด โดยผู้ต้องขังสามารถใช้คูปองซื้อสินค้าจากร้านสวัสดิการเรือนจำได้วันละ 200 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ จะจัดส่งสินค้าจากร้านให้ถึงมือผู้ต้องขังโดยไม่ผ่านญาติ เพื่อตัดวงจรการลักลอบนำยาเสพติดเข้าสู่เรือนจำ

นายวันชัย กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่า ปัญหายาเสพติด มีความสำคัญ ปัจจุบันเรือนจำควบคุมตัว นักค้ายารายสำคัญกว่า 20,000 ราย ในเรือนจำอันตราย 5 แห่ง ได้แก่ เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำกลางบางขวาง ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง เรือนจำกลางเขาบิน และเรือนจำกลางคลองไผ่ นอกจากนี้ ยังมีนักค้ายาเสพติดอีกกว่า 70,000 คน กระจายอยู่ในเรือนจำอีก 20 แห่ง ทำให้มีการลักลอบนำยาเสพติดเข้าไปเสพ และลักลอบนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปสั่งซื้อขายยาเสพติด เพื่อหาเงินเป็นค่าจ้างทนายต่อสู้คดี ดังนั้น ตนจึงกำชับให้ตรวจค้นรถส่งของเข้าออกเรือนจำ และตรวจค้นผู้ต้องขังที่เดินทางกลับจากศาลโดยละเอียด สำหรับผู้ต้องขังรายใดที่มีความจำเป็นต้องให้ญาติส่งยารักษาโรค หรือสิ่งของจำเป็นอื่นที่ไม่มีจำหน่ายในร้านสวัสดิการ ให้ผู้บัญชาการเรือนจำแต่ละแห่งพิจารณาเป็นรายกรณีไป

นายวันชัย กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา มีการลักลอบนำยาเสพติดและโทรศัพท์มือถือเข้าเรือนจำหลายรูปแบบจากการตรวจค้นพบยาบ้าและยาไอซ์ ซุกซ่อนเข้ามาในฝักข้าวโพด ผักบุ้ง มะเขือเปราะ สบู่และปากกา โดยคนร้ายจะคว้านเอาเนื้อในออกแล้วใส่ยาเสพติดเข้าไปแทน แม้กระทั่งน้ำอัดลมก็ละลายยาบ้าส่งให้กับนักโทษและยังตรวจค้นโทรศัพท์มือถือ ซุกซ่อนมาในกล่องนมยูเอชทีและกระป๋องแป้ง เมื่อนักโทษได้รับยาเสพติดและโทรศัพท์มือถือ จะซ่อนไว้ในถุงยางอนามัยเพื่อกันน้ำ ก่อนจะซุกไว้ในคอห่านและท่อระบายน้ำ
นายพิชิฎ ชื่นบาน ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน ชินวัตร
น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ เสมียนทนาย
(แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น