xs
xsm
sm
md
lg

ยธ.เปิดเกมรุกปราบยาเสพติดในคุก

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ยุติธรรมตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและยาเสพติด เน้นเค้นข้อมูลยาเสพติดจากนักโทษในเรือนจำ เผยหากรายใดให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็จะได้รับการลดหย่อนโทษ โดยจะไม่เปิดเผยแหล่งที่มา เพื่อป้องกันแก๊งยาเสพติดส่งคนมาทำร้าย

วันนี้ (21 ม.ค.) นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รมว.ยุติธรรม เป็นประธานเปิดโครงการอบรมผู้ปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและยาเสพติดจากผู้ต้องขัง โดยกล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและยาเสพติดขึ้น เพื่อสืบค้นข้อมูลยาเสพติดจากผู้ต้องขัง เพื่อประสานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปราบปรามยาเสพติด เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการเข้าปราบปรามยาเสพติด จึงถือเป็นหน้าที่เพิ่มเติมของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในการช่วยสืบค้นข้อมูลด้านอาชญากรรมและยาเสพติดจากผู้ต้องขัง

ด้าน นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากนโยบายกระทรวงยุติธรรม มีคำสั่งให้หน่วยงานในสังกัดร่วมมือกันป้องกันปราบปรามปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ส่วนของกรมราชทัณฑ์จึงได้มีการจัดโครงการอบรมผู้ปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและยาเสพติดจากผู้ต้องขังในอดีต เมื่อมีผู้ต้องหาคดียาเสพติดจะถูกคุมขังในเรือนจำเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์จะสอบถามความสมัครใจจากผู้ต้องขัง ว่ามีความสำนึกผิดและต้องการกลับตัวเป็นคนดีหรือไม่ ถ้าต้องการเจ้าหน้าที่ก็จะสอบถามข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับยาเสพติดที่ผู้ต้องขังมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาจะส่งต่อไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ป.ป.ส.หรือ บช.ปส.ดำเนินการขยายผลจับกุม รวมทั้งประสานปปง.ดำเนินการยึดทรัพย์ ทั้งนี้ หากข้อมูลที่ได้มาสามารถขยายผลจนจับกุมผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ได้ จะมีการเสนอลดโทษให้ผู้ต้องขังรายนั้น นอกจากนี้ จะทำข้อมูลประวัติให้เป็นนักโทษที่สำนึกผิด เมื่อถึงกำหนดขอพระราชทานอภัยโทษก็จะได้รับการพิจารณาเป็นรายแรกๆ โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะปกปิดว่าได้ข้อมูลยาเสพติดมาจากแหล่งใด เพื่อความปลอดภัยของผู้ต้องขังที่ให้ข้อมูล และเกรงว่าผู้ค้ายาเสพติดจะส่งคนมาทำร้ายผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ

“ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ได้ข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งสิ้นประมาณ 1,000 ข้อมูล แต่บางข้อมูลเป็นข้อมูลเก่า เนื่องจากกว่าจะมีการจับกุมตัว ดำเนินคดี ส่งเรือนจำหรือกว่าผู้ต้องขังจะตัดสินใจให้กับร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ มักใช้ระยะเวลาตัดสินใจนาน ดังนั้น ข้อมูลที่ใช้ได้จริงก็จะมีจำนวนน้อย จากข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดใช้ได้จริงประมาณ 300 ข้อมูล ซึ่งโดยปกติผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับยาเสพติดจะไม่ได้รับอภัยโทษ พักโทษ หรือลดหย่อนโทษ เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง แต่หากผู้ต้องขังรายใดให้ความร่วมมือ ก็จะได้รับการพิจารณา” นายวันชัย กล่าว

นายวันชัย กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องมีการสั่งยาเสพติดจากภายในเรือนจำนั้น เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยาก เนื่องจากในเรือนจำมีนักโทษทั้งหมดประมาณ 170,000 คน ครึ่งหนึ่งเป็นนักโทษในคดียาเสพติดกว่า 80,000 ราย และในจำนวนนั้นก็จะมีผู้ค้ารายใหญ่จำนวนมาก บางครั้งกลุ่มผู้ต้องขังเหล่านี้ก็จะรวมตัวกัน และทำทุกวิถีทางที่จะเป็นตัวเชื่อมโยงกับขบวนการค้ายาเสพติด ที่ผ่านมาเคยมีนักโทษรายหนึ่ง สั่งยาเสพติดผ่านทางทนายความโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่รู้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถห้ามไม่ให้พบทนายได้ เนื่องจากมีกฎหมายระบุไว้ชัดเจน หรือไม่ก็สั่งยาเสพติดผ่านทางโทรศัพท์มือถือแล้วซุกซ่อนไว้ในส้วม ใต้แผ่นกระเบื้อง หรือทวารหนัก ผู้ต้องขังบางรายใช้ถุงพลาสติกหุ้มวิธีหุ้มโทรศัพท์และยาเสพติดซ่อนไว้ในคอห่านส้วม เพราะไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่จะล้วงส้วมทุกครั้งที่มีการตรวจค้น อีกทั้งเจ้าหน้าที่มีกำลังอัตราน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ต้องหา ล่าสุด ขณะนี้กรมราชทัณฑ์กำลังพิจารณาการตัดสัญญาณโทรศัพท์ภายในเรือนจำมาใช้ แต่ก็ติดปัญหา เนื่องจากไม่สามารถตัดสัญญาณเฉพาะภายในได้ ทำให้คนที่อยู่ข้างนอกได้รับความเดือดร้อน จึงมีความคิดที่จะติดเครื่องตัดสัญญาณขนาดเล็ก แต่จะติดเป็นเครือข่ายลักษณะใยแมงมุม
นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รมว.ยุติธรรม
นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์
กำลังโหลดความคิดเห็น