“ลูกชายคนโตของผมอายุเกินแล้ว ทำธุรกิจของตัวเองก็สบายๆ เพื่อนร่วมรุ่นของเขาก็เป็นพันตำรวจตรี พันตำรวจโท หมดแล้ว ส่วนนายวันเฉลิมก็เป็นผู้ช่วยเลขาฯ รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข เขาก็มีความสุขในการทำหน้าที่เขาไม่เคยคิดจะกลับมารับราชการ และผมก็ไม่เคยคิด ออกข่าวเพื่อมาทำลายผม เป็นวิธีการที่สกปรก ถ้าหากไปฟ้องก็ว่าใจแคบ เพราะแค่ตรียมฟ้องพันธมิตรอย่างเดียวก็หาทนายไม่พอแล้วเต็มหมด ซึ่งนายวันเฉลิม กับนายอาจหาญ ก็โทรมา บอกว่า ข่าวออกว่า พ่อจะให้ไปรับราชการ เขาก็บอกว่าไม่เอานะ งานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็ดีแล้ว เจ้าตัวเขาก็ไม่เอา ผมก็ไม่เคยคิด แล้วนี้ใครไปเต้าข่าว ทำไมต้องไปเอาลูกหลานมายุ่งเกี่ยว บาป”
“ช่วยคิดกันหน่อยพ่อคุณทูนหัวแม่คุณทูนหัว ไปบอกไอ้คนที่เอาข่าวขึ้นหน้าหนึ่งว่ามันเอาความคิดนี้มาจากไหน เสร็จจากนั้นก็เอาไปขึ้นเว็บก็มีคนโพสต์ไปด่าผม ทั้งวันทั้งคืนถามหน่อยว่าทำแบบนี้ได้อย่างไร เอาไว้ให้ผมทำไม่ถูกต้องก่อนค่อยว่า ฝากผู้สื่อข่าวไปอบรมสั่งสอนหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับหน่อย หนังสือพิมพ์คมชัดลึก น่าจะสั่งสอนได้ แต่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการสั่งสอนยากมันดื้อยา ต้องใช้ยาฉีด แต่ผมคงไม่ฟ้องร้องกลับเพราะไม่ได้ใจแคบขนาดนั้น ”
นั่นคือ...คำปฎิเสธของอดีตสารวัตรเหลิม “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” เจ้าของรหัส (มท.1) รมว.มหาดไทย ที่ออกมาพูดในท่าทีไม่พอใจ ต่อข่าว...จับตา “เหลิม” ส่ง “วัน-อาจหาญ” ติดยศตำรวจ...ที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ผู้จัดการออนไลน์ และหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ได้นำเสนอเกี่ยวกับช่องทาง ความเป็นไปได้ ที่ “นายวัน และนายอาจหาญ” อาจจะกลับสู่ ตร.ในยุคที่ผู้เป็นพ่อ (บ้าอำนาจ) อยู่ในขณะนี้....
ข่าวดังกล่าว...เกิดจากกระแสข่าวลือ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ นายตำรวจระดับนายพล ที่ไม่ต้องการให้ความมัวหมองเกิดขึ้นกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากเหตุความไม่ถูกต้อง จึงออกมาชี้ช่องทางความเป็นไปได้ ว่าหาก “ร.ต.อ.เฉลิม” ต้องการให้ลูกชายทั้ง 2 คน กลับรับราชการตำรวจอีกครั้ง ก็มีความเป็นไปได้ 3 ช่องทาง คือ...
1.ในลำดับแรก จะต้องมีการพิสูจน์คุณสมบัติการผ่านการเกณฑ์ทหารเสียก่อน โดยหาหลักฐานมาแสดงเพื่อใช้เป็นองค์ประกอบในขั้นตอนการพิจารณากลับเข้ามารับราชการ
2.ตาม พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ.2547 ระบุว่า ผู้ที่ถูกไล่ออก หรือปลดออกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป หากอายุไม่เกิน 35 ปี สามารถยื่นเรื่องขอกลับมาทำงานกับหน่วยงานเดิม สำหรับ นายวัน คือกองการสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และใช้ดุลพินิจของ พล.ต.ต.สัญชัย สุนทรบุระ ผู้บังคับการกองการสารนิเทศ พิจารณาเสนอรายชื่อไปยังกองกำลังพล ก่อนส่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.พิจารณานำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) แต่งตั้งเป็นรายไป หรือใช้วิธีการแต่งตั้งพิเศษโดยอ้างว่ามีความสามารถพิเศษ เช่น ความสามารถด้านกฎหมาย คอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสังกัดหน่วยงานเดิม แต่ก็ต้องเข้าขั้นตอนตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งทั้ง 2 วิธีเป็นวิธีการที่ค่อนข้างยุ่งยากเนื่องจากต้องพิจารณาหลายขั้นตอน ต้องใช้เสียงข้างมากใน ก.ตร.และค่อนข้างโจ่งแจ้งเป็นที่จับตามองได้ง่ายโดยช่องทางนี้ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมายืนยันแล้วว่ายังไม่เห็นหนังสือขอกลับเข้ารับราชการของ นายวัน และ นายอาจหาญ แต่อย่างใด
3.ช่องทางที่มีความเป็นไปได้ และสามารถทำได้ คือ การบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย ในหน่วยงานที่ไม่เป็นที่จับตามอง และไม่มีการกำหนดคุณสมบัติในการรับราชการที่เข้มงวดเหมือนตำรวจ แล้วค่อยทำการโอนย้ายมารับราชการตำรวจภายหลัง ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถทำได้ง่ายกว่า เนื่องจากปกติตำรวจก็มีการรับราชการโอนย้ายมาจากหน่วยงานกระทรวงอื่นอยู่ประจำ เพื่อลดแรงเสียดทานจากกระแสต่อต้านของประชาชน
จากข่าวลือดั่งว่า...หากข้อเท็จจริง “ร.ต.อ.เฉลิม” ยังไม่ได้คิดและไม่คิดจะใช้ช่องทางเพื่อนำลูกกลับรับราชการตำรวจ ก็ถือเป็นสิ่งที่น่าจะยกย่อง... ส่วนจะรอให้สื่อ ค่อยนำเสนอหลังจาก (คุณทำสำเร็จแล้ว) ก็คิดว่า อาจจะสายเกินไปนะครับ เพราะบทเรียนจาก ลูกชายคนเล็ก “นายดวง” ได้เกิดเป็นผลสำเร็จมาแล้วนะครับ...
มาถึงย่อหน้านี้... ร.ต.อ.เฉลิม ต้องไปตรวจสอบให้ดีๆนะครับ เพราะได้ข่าวลือมาจากข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย กระทรวงที่ คุณมีอำนาจสูงสุดอยู่ในขณะนี้ว่า...เกิดข่าวลือว่า เมื่อประมาณ 1-2 เดือนที่ผ่านมา ได้มีบรรดาเพื่อนๆของลูกชายทั้ง 3 คน รวมแล้วประมาณ 30-40 คน ต้องการที่จะมีใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนทั่วราชอาณาจักร(ขณะนี้การออกไปอนุญาตพกพาอาวุธปืน ได้โอนจาก กองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย)จึงได้เสนอรายชื่อไปยังมหาดไทย เพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้...ส่วนเรื่องนี้ จะจริง หรือ เป็นเพียงข่าวลือ ขอความกรุณา ร.ต.อ.เฉลิม ช่วยตอบเพื่อให้สื่อทราบด้วย... เพราะหากเป็นเรื่องจริง นั่นคือ...ซุ้มมือปืนนะครับท่าน...
ข่าวลือจบไป...จากนี้อยากจะพลิกตำนานเรื่องจริง 12 วีรกรรม 3 พี่น้องตระกูล 'อยู่บำรุง'ซึ่งถือว่า อันตรายมากๆ ในยุคนั้น.. โดยเหตุการณ์ที่ลูกชาย ร.ต.อ.เฉลิม ทั้ง 3 คน เข้าไปพัวพันในช่วงเวลา นับจากปี 2540 ถึงปี 2544 ทำสถิติ “4 ปี-12 คดี” ซึ่งขณะนั้น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ครับ...
1) วันที่ 12 เมษายน 2540 เวลา 02.00 น.เศษ
ร.ต.ต.วันเฉลิม ซึ่งติดตาม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ไปตรวจราชการที่ จ.ภูเก็ต และได้ไปเที่ยวเอเลี่ยนผับ กับพรรคพวกกลุ่มใหญ่ แล้วก็สร้างวีรกรรมมีเรื่องกับกลุ่มวัยรุ่นเจ้าของพื้นที่ ปรากฏว่ามีคนถูกยิง 2 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ร.ต.ต.วันเฉลิม ตกเป็นหนึ่งในจำเลยในเหตุการณ์นั้นด้วย
2) วันที่ 27 มีนาคม 2541 เวลา 01.45 น. (อีก16 วันครบ 1 ปี)
ร.ต.ต.วันเฉลิม กับพวก ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุทะเลาะกับกลุ่มวัยรุ่นของ น.ส.กาญจนา นุ่มน้ำมูล แฟนสาวของลูกชายนายสิทธิพร ขำอาจ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และนายวินัย หรือปาน แซ่ตั้ง หัวคะแนนนายสิทธิพร ที่ฟิวเจอร์ผับ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค แต่เนื่องจากไม่มีพยานยืนยันว่า ร.ต.ต.วันเฉลิม ร่วมลงมือ เมื่อเดือนกันยายน 2541
อัยการก็เลยสั่งไม่ฟ้อง
3)วันที่ 1 สิงหาคม 2541 เวลา 23.00 น. (4 เดือน 4 วัน)
ร.ต.ต.วันเฉลิม เจ้าเก่าก็ถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานทำร้ายร่างกาย นายอัครเดช สุขรังสรรค์ บุตรชายนายประสาน สุขรังสรรค์ อดีตรองอธิบดีกรมการปกครอง จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ในงานเลี้ยงของนายอัครเดช ที่ฉลองการจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ “ทอรัสผับ”
4)วันที่ 1 ตุลาคม 2541 เวลา 01.30 น. (2 เดือน)
เป็นคิวของพี่ชายคนโต เมื่อ ร.ต.ต.อาจหาญ ถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานทำร้ายร่างกาย น.ส.ปทิตตา พรรณโอรส นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ(เอแบค) อดีตแฟนสาวที่นาซีซัสผับ
5)ย่างสู่ปี 2542
ร.ต.ต.อาจหาญ และ ร.ต.ต.วันเฉลิม ตกเป็นผู้ต้องหาอีก โดย 2 ศรีพี่น้องก็เจอข้อหาใช้ใบเกณฑ์ทหาร หรือ สด.43 ปลอม สมัครเข้ารับราชการตำรวจ ครั้นพอมาวันที่ 2 มีนาคม 2542 ทั้งสองประกาศขอลาออกจากราชการ แต่หลังจากนั้นอีกเพียง 2 วัน คือวันที่ 4 มีนาคม 2542 สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่อนุมัติให้ลาออก แต่มีคำสั่งให้ ร.ต.ต.อาจหาญ และ ร.ต.ต.วันเฉลิม ออกจากราชการแทน พร้อมกันนั้นยังดำเนินคดีอาญา ฐานปลอมแปลงเอกสาร
ราชการและใช้เอกสารราชการปลอม
6)วันที่ 29 พฤษภาคม 2542
ร.ต.ต.วันเฉลิม ตกเป็นผู้ต้องหาอีก คราวนี้ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกาย น.ส.สวิดา อึงศรีสวัสดิ์ อายุ 20 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(เอแบค) ในงานปาร์ตี้ที่จัดขึ้นที่โรงแรมรอยัลการ์เด้นท์ซีวิว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ท้องที่ สภ.อ.บางละมุง
7)วันที่ 11 กรกฎาคม 2542 เวลา 01.30 น. ( 1 เดือน 13 วัน )
กลุ่มของลูกของ ร.ต.อ.เฉลิม ก่อเหตุอีก คราวนี้ไปทะเลาะวิวาทกันในผับ “เรดบาร์” ย่านอาร์ซีเอ เขตห้วยขวาง กทม.คราวนี้ฉาวโฉ่ขึ้นเป็นสองเท่า เพราะเมื่อนักข่าวและช่างภาพไทยรัฐไปทำข่าว ร.ต.ต.วันเฉลิม กับพรรคพวกได้พากันยื้อแย่งเอากล้องและฟิล์มไป รวมทั้งแสดงอาการคุกคามด้วยการทุบรถของนักข่าวด้วย เลยถูกกองบรรณาธิการไทยรัฐแจ้งความดำเนินคดี ขณะที่สมาคมนักข่าวฯออกแถลงการณ์ประณามพฤติกรรมดังกล่าว แต่ที่สุด ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้พ่อ ต้องแสดงบททำเพื่อลูกด้วยการรุดไปขอขมานักข่าวและช่างภาพถึงโรงพิมพ์ไทยรัฐ และขอไม่ให้เอาความ
8)วันที่ 26 กรกฎาคม 2542 (15 วัน )
ถึงคิวน้องคนสุดท้อง นายดวงเฉลิม ที่ขณะนั้นยังเรียนหนังสืออยู่ พาพวกไปก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับกลุ่มนักเที่ยวที่หน้า “สปาร์คผับ” ชั้นใต้ดิน โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาฯ มีการยิงปืนขึ้นฟ้า 2 นัด แต่โชคดีไม่มีพยานใดกล้ายืนยันหรือมาให้ปากคำซัดทอดถึง นายดวงเฉลิมเลยรอดตัวไป
9)วันที่ 26 กันยายน 2542 เวลา 03.15 น.( 2 เดือน)
นายดวงเฉลิมก่อเรื่องอีก คราวนี้ควบรถเก๋งกับเพื่อน 4-5 คน ไปกดออดที่บ้านของ น.ส.ภัทรวลัย อนันตศิริภัทร อายุ 21 ปี เพื่อนสาวที่ซอยศูนย์วิจัย 4 ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ ห้วยขวาง เพื่อขอพบ น.ส.ภัทรวลัย ซึ่งเคยสนิทสนมกันมาก่อน แต่ปรากฏว่า น.ส.ภัทรวลัย ไม่อยู่บ้าน นายดวงเฉลิมเข้าใจว่าสาวเจ้าหลบหน้า เลยอาละวาดกวาดกระถางต้นไม้วางอยู่ริมรั้วตกแตกเสียหาย แม่ของฝ่ายหญิงต้องโทรศัพท์แจ้งตำรวจเพราะกลัวนายดวงเฉลิมจะทำอะไรมากกว่านั้น ร้อนถึงผู้เป็นพ่อ ร.ต.อ.เฉลิม อีกตามเคย ต้องโทรศัพท์มาเคลียร์ขอไม่ให้เอาเรื่องเด็ก
10)ย่างสู่ปี 2543 วันที่ 26 มกราคม 2543 ( 4 เดือน )
ร.ต.ต.วันเฉลิม กับพวกก่อเหตุอีก ด้วยการไปรุมทำร้าย นายเสริมชัย วัฒนเสนีย์ธรรม ลูกชายเจ้าของโรงแรมเรสซิเดนท์ เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ เหตุเกิดที่ “บริท 99 คลับ” ภายในสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จนบาดเจ็บสาหัส หลังจากเขม่นกันเรื่องสาว หลังเกิดเหตุคราวนั้น ร.ต.อ.เฉลิมบอกว่า ต่อไปนี้จะสั่งห้ามลูกชายเที่ยว
ผับและมีเรื่องอีกเด็ดขาด เพราะลูกชายทั้ง 2 คน จะเตรียมตัวลงสมัคร ส.ส. มีเรื่องอื้อฉาวอะไรเกิดขึ้นอีกเดี๋ยวประชาชนจะไม่ยอมรับ สุดท้ายคดีศาลพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2544 เนื่องจากหลักฐานฝ่ายโจทก์อ่อน หลังจากนั้นมา เรื่องของลูกชายเลยซาๆ ลงไป เนื่องจาก ร.ต.ต.อาจหาญ และ ร.ต.ต.วันเฉลิม สร้างภาพใหม่ด้วยการลงพื้นที่หาเสียงในเขตฝั่งธนฯ อย่างไรก็ตาม แต่กลับปรากฏว่าเกิดข่าวลือที่แพร่ไปตามเว็บไซต์ต่างๆ ว่า ลูกชายของ ร.ต.อ.เฉลิมต้องเดินทางไกลเพื่อไปคุมประพฤติอย่างกะทันหัน เป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” ที่สนุกสนานที่สุดในปีนี้ แม้ ร.ต.อ.เฉลิม จะออกมาชี้แจงทั้งโดยตรงและโดยอ้อมว่า ไม่จริงว่าที่ลูกชายหายไป เพราะ 2 คนแรก คือ
ร.ต.ต.อาจหาญ และ ร.ต.ต.วันเฉลิม กำลังเก็บตัวเพื่อลง ส.ส. ขณะที่นายดวงเฉลิม อยู่ระหว่างการเรียนปริญญาโทอย่างคร่ำเคร่ง กระนั้นก็ดูเหมือนจะไม่สามารถขจัด “ข่าวลือ” ที่ว่านั้นไปได้
11)จนเมื่อ 12 ตุลาคม 2543 ( 8 เดือน 17 วัน )
นายดวงเฉลิม ก็ก่อเหตุทะเลาะวิวาทอีกครั้งกับนักศึกษาเอแบค ที่“คาเฟ่เรคคอร์ด” ซึ่งคราวนี้ดูจะอื้อฉาวกว่าทุกครั้ง เพราะผู้เป็นพ่อกระโดดเข้าร่วมวงถล่มตำรวจ ด้วยการยืนด่ากราดตำรวจ สน.ทองหล่อ และนักข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ด้วยใบหน้าแดงก่ำ เป็นการร่วมวงด้วยอาการ “เบรกแตก” เลยพลอยตกเป็นจำเลยไปกับลูก ฐานหมิ่นประมาท
ตำรวจ และเป็นจำเลยสังคมฐานเกรี้ยวกราด หยาบคายเกินเหตุ ช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปี 2544 ไม่มีข่าวฉาวของบรรดาบุตรชายสุดที่รักของ ร.ต.อ.เฉลิมเลย เพราะ ร.ต.ต.อาจหาญ กับ ร.ต.ต.วันเฉลิม ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หลังการเลือกตั้งแม้ทั้งสองจะไม่ได้รับเลือก แต่ ร.ต.ต.วันเฉลิม ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา นายบุญชง วีสมหมาย
รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ในเดือนเมษายน ส่วนนายดวงเฉลิมได้บวชเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2544 โดยมี “ลุงจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สะพายบาตรนำส่งเข้าโบสถ์ด้วยตัวเอง หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน พล.อ.ชวลิตก็ได้ลงนามอนุมัติให้นายดวงเฉลิมเข้าเป็นนายทหารสังกัด
สำนักงานเลขานุการ รมว.กลาโหม ของ พล.ต.ศรชัย มนตริวัต เลขานุการ รมว.กลาโหม และในวันที่ 8 มิถุนายน ก็ได้รับการประดับยศ “ร้อยตรี”จากมือของ พล.อ.ชวลิต ร.ต.ดวงเฉลิมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน
2544 หลังจากที่ได้ทำงานในกระทรวงกลาโหมว่า เดี๋ยวนี้กลางคืนไม่ได้ไปเที่ยวไหนแล้ว ประมาณสี่ทุ่มต้องเข้านอน ไม่อย่างนั้นจะตื่นไปทำงานเช้าไม่ไหว
12) วันที่ 29 ตุลาคม 2544 เวลา 01.30 น.( 1 ปี 17 วัน )
ร.ต.ดวงเฉลิม ก่อเหตุยิง ด.ต.สุวิชัย รอดวิมุติ ตำรวจกองปราบปราม ตายใน “ทเวนตี้ผับ” โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถ.รัชดาภิเษก และถูกออกหมายจับในวันเดียวกัน เป็นคดีล่าสุดที่ถือว่า “ร้ายแรง” ที่สุดนับตั้งแต่ 3 ศรีพี่น้องตระกูล “อยู่บำรุง” ก่อขึ้นมา
วันนี้.. คงต้องไถ่ถามกันอีกครั้งว่า คนในสังคมบ้านนี้เมืองนี้มีความคิดเห็นอย่างไร ในพฤติกรรมของคนตระกูลนี้ที่ได้สร้างวีรกรรมต่างๆ ให้สังคมได้ปวดเศียรเวียนเกล้ามาโดยตลอด..
ท้ายสุด อยากฝากถึง"สุดยอดพ่อ" ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ว่า!!
"ผลกรรมที่ชั่วช้า ทำไป
ยังไม่ส่งผลใด แก่เจ้า
เหิมเกริมไป่กลัวภัย มาสู่ ตนนา
ตราบเมื่อบาปถึงเข้า จึ่งรู้ รสกรรม"