xs
xsm
sm
md
lg

DSI สั่งฟ้อง 2 ผู้บริหาร “แชร์ก๋วยเตี๋ยวบางกอก” ฉ้อโกง 223 ล้าน!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 บริษัท สยามฟูดซ์แฟรนไซส์ จำกัด หรือ ก๋วยเตี๋ยวบางกอก
ดีเอสไอ หิ้ว 2 เจ้าพ่อแชร์ก๋วยเตี๋ยวพร้อมสำนวน 2 หมื่นหน้า ส่งอัยการสั่งฟ้องฐานฉ้อโกง-พ.ร.ก.กู้ยืมเงิน อัยการนัดสั่งคดี 12 มิ.ย.51 ดีเอสไอวอนประชาชนแจ้งเบาะแสผ่านสายด่วน 1359 ขู่เครือข่ายแชร์ถูกฟ้องอาญา-ฟอกเงิน-ล้มละลาย

วันนี้ (4 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น.ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก พ.ต.ท.ณรงค์ชัย บุญประเสริฐ พนักงานสอบสวน 8 สำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีแชร์ ก๋วยเตี๋ยว บริษัท สยามฟูดซ์แฟรนไชส์ จำกัด นำสำนวนการสอบสวน 77 แฟ้ม รวมกว่า 20,000 หน้า พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง นายทนงศักดิ์ บุญครอบ และ พ.อ.ชูพงษ์ ปิ่นทอง นายทหารสังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด กรรมการบริษัทสยามฟูดซ์ พร้อมสำนวนพยานหลักฐานความเห็นสมควรสั่งฟ้อง ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และ ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 343, 83 และ พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5 และ 15 และ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2534 มาตรา 12 ส่งมอบให้ นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษเพื่อพิจารณาสั่งคดี

นายเศกสรรค์ กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ต้องหาอัยการอนุญาตให้ประกันตัว พ.อ.ชูพงษ์ ซึ่งใช้หลักทรัพย์เดิมในชั้นของดีเอสไอ เป็นโฉนดที่ดินย่านดอนเมืองราคาประเมิน 2 ล้านบาท โดยอัยการตีราคาประกัน 1 ล้านบาท ซึ่งอัยการเห็นว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและมีนายทหารมาให้คำรับรองว่า ผู้ต้องหาจะไม่หลบหนี ประกอบกับพิจารณาหลักทรัพย์แล้วเห็นว่ามีมูลค่าพอสมควร โดยอัยการนัดพังคำสั่งคดีในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ เวลา 10.00 น. เนื่องจากคดีนี้ไม่มีความซับซ้อน

ด้าน พ.ต.ท.ณรงค์ชัย กล่าวว่า คดีนี้มีประชนที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวง เข้าร้องทุกข์ว่า บริษัทชักจูงให้ประชาชนนำเงินไปลงทุนในธุรกิจ แฟรนไชส์รถเข็นขาย ก๋วยเตี๋ยวจำนวน 1,054 คน รวมมูลค่าความเสียหายจำนวน 223,431,850 บาท โดยคดีนี้มีผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 7 คน แต่สามารถจับกุม พ.อ.ชูพงษ์ ได้เพียงคนเดียว ขณะที่ นายทนงศักดิ์ ได้เข้ามอบตัว ส่วนผู้ต้องหาอีก 5 คน ยังอยู่ระหว่างหลบหนี ประกอบด้วย นายปุญญพัส แสนทวีสุข , นายสุจินต์ เกศวรกาญจน์, นายทอมมี่ หรือ เกรียงไกร อุ่นน้อย, นายเสริมศักดิ์ อุ่นน้อย และ น.ส.วัชรภรณ์ อุทัย ซึ่งทั้งหมดเป็นกรรมการผู้บริหารบริษัท โดยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอกำลังสืบสวนเพื่อจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 มาดำเนินคดีต่อไป

พ.ต.ท.ณรงค์ชัย กล่าวต่อว่า สำหรับพยานหลักฐานที่ส่งมอบให้อัยการวันนี้ ประกอบด้วย นิตยสาร เอกสารหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นเอกสารสื่อโฆษณาประชาชนให้มาลงทุนร่วมธุรกิจรวมทั้งเอกสารสัญญาการลงทุน โดยพฤติการณ์แห่งคดี จากการสอบสวนของดีเอสไอ พบว่า บริษัทได้ก่อตั้งและกระทำความผิดตั่งแต่วันที่ 4 ส.ค.2549 ถึง 4 ธ.ค.2550 ทั้งนี้ หลังจากส่งสำนวนให้อัยการแล้ว ดีเอสไอจะส่งเรื่องให้ กลุ่มป้องปรามการเงินนอกระบบ สำนักงานปลักระทรวงการคลังดำเนินการฟ้องล้มลายบริษัท สยามฟูดซ์ฯต่อไป สำหรับผู้เสียหายที่ไม่ได้เข้าร้องทุกข์ขอให้เตรียมเอกสารหลักฐานการลงทุนที่มีอยู่ ไปพบเจ้าหน้าที่กลุ่มป้องปรามการเงินนอกระบบหรือโทรแจ้งสายด่วน 1359 หรือ ส่งเอกสารไปยังตู้ ปณ. 1359 ปณจ. บางรัก หรือ เข้าไปที่ เว็บไซต์ www.fincrime@mof.go.th โดยหากประชาชนผู้เสียหายรู้เบาะแสเกี่ยวกับทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็น สังหาริมทรัพย์ หรือ อสังหาริมทรัพย์ ของบริษัท หรือ ของผู้ต้องหา ข้อให้แจ้งข้อมูลกับดีเอสไอ หรือ กลุ่มป้องปรามการเงินนอกระบบ เพื่อติดตามอายัดทรัพย์สินนำมาคืนให้ผู้เสียหายต่อไป

“ดีเอสไอ ขอเตือนบริษัท หรือ บุคคลที่ กำลังประกอบธุรกิจ อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ขอจงได้ยุติการกระทำที่เป็นการหลอกลวง ฉ้อโกงประชาชนเสียก่อนที่ดีเอสไอ จะเข้าดำเนินการขั้นเด็จขาดทั้งคดีอาญา คดีฟอกเงิน และ คดีล้มละลาย ซึ่งจะดำเนินคดีกับผู้ที่ทำตนเป็นแม่ทีม หรือ แม่ข่ายด้วย เพราะถือว่าท่านมีส่วนร่วมในการกระทำผิด”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พฤติการณ์ของแชร์ก๋วยเตี๋ยวบริษัท จะชักจูงให้ประชาชนนำเงินมาลงทุนโดยสามารถเลือกลงทุนได้ 2 แผน โดยแผนที่ 1 สมาชิกต้องจ่ายเงิน 45,000 บาท เพื่อซื้อหุ่นรถเข็น 1 คัน ได้รับผลตอบแทน 10,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 10 เดือน รวมเป็นเงิน 1 แสนบาท คิดคำควนเท่ากับ เงินลงทุน 45,000 บาทจะได้กำไรทั้งสิ้น 55,000 บาท ส่วนแผนที่ 2 สมาชิกต้องจ่ายเงิน 35,000 บาท เพื่อซื้อหุ้นรถเข็น 1 คัน โดยจะได้รับผลตอบแทน 7,500 บาทเป็นเวลา 10 เดือน รวม 75,000 บาท คิดเป็นเงินลงทุน 35,000 บาท ได้กำไร 75,000 บาท อันเป็นการเสนอให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้
กำลังโหลดความคิดเห็น