รองโฆษก ตร.ระบุเตรียมกำลังเพียงพอ และพร้อมรปภ.ประชาชนที่ร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ ชี้นายกรัฐมนตรียังไม่มีนโยบายสลายและจับแกนนำ แต่จะเน้นการเจรจา พร้อมแนะให้ประชาชนเลี่ยงเส้นทางหลัก ใช้ทางรองสัญจร ย้ำได้แยกกลุ่มหนุนกับกลุ่มคัดค้านออกจากกันป้องกันเหตุปะทะ เชื่อไม่มีเหตุรุนแรง
วันนี้ (29 พ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รอง ผบช.ก.ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจ พร้อมด้วย พล.ต.ต.เรืองศักดิ์ จริตเอก รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่าหลายฝ่ายเป็นห่วงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในช่วงที่ต้องแบ่งกำลังไปดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมและช่วงข้าวยากหมากแพง ซึ่งเรื่องนี้ พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผบช.น.ยืนยันว่าการดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ แม้จะต้องนำกำลังส่วนหนึ่งไปดูแลการชุมนุมและจัดการจราจรก็ตาม กำลังที่เหลือจากการดูแลการชุมนุมก็ให้เพิ่มวงรอบในการทำงานจากเดิมที่อาจจะเข้าเวรตรวจตรา 6 ชม.ก็ให้เพิ่มเป็น 8-10 ชม.เพื่อให้มีการตรวจตราได้มากขึ้น
พล.ต.ต.สุรพล กล่าวต่อว่า สำหรับกำลังที่ใช้ในการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น จะใช้กำลังหมุนในกองบัญชาการตำรวจนครบาล ภาค 1 ภาค 2 ภาค 7 จัดกำลังหมุนเวียนสับเปลี่ยนให้ตำรวจมีโอกาสได้พักผ่อน ในกรณีที่การชุมนุมยืดเยื้อ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ก็มีการเตรียมกำลังพลที่จะมาเสริมการปฏิบัติการ ทั้งกองปราบปราม บก.ทท. บก.ปดส. ผบช.ก.ได้สั่งให้ทุกหน่วยเสริมกำลัง บช.น.ดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเรื่องการดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บังคับการทุกท่านได้ตระหนักดีในการดูแลพี่น้องประชาชนในช่วงวิกฤตข้าวยากหมากแพง
พล.ต.ต.สุรพล กล่าวต่อว่า การเตรียมกำลังดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นได้ให้ทุกหน่วยจัดเตรียมกำลังไว้ อย่าง ตชด.ก็มีหลายกองร้อย เตรียมพร้อมทุกหน่วย แต่เมื่อมีเหตุการณ์จะเคลื่อนกำลังก่อนหลังก็จะดูความห่างไกล และภารกิจในพื้นที่ถ้ามีภารกิจประจำในพื้นที่ที่สามารถเลี่ยงได้ก็จะเคลื่อนกำลังก่อน แต่หากภารกิจในพื้นที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ก็เคลื่อนหลังสุด ในส่วนของ บช.ก.กองปราบปราบมีหน้าที่ดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่แล้ว ตอนนี้ทาง ผบช.ก.ก็มีหนังสือไปยังทุกกองบังคับการให้เตรียมกำลังพลสนับสนุน
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการใช้กำลังในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ พล.ต.ต.สุรพล กล่าวว่า ก็เป็นไปตามนโยบาย นายกรัฐมนตรียังไม่มีนโยบายหรือแนวคิดที่จะใช้กฎหมายความมั่นคงจับกุมแกนนำทั้ง 5 คนแต่อย่างใด หรือแม้แต่การใช้กำลังสลายการชุมนุม แต่ให้คำนึงถึงสิทธิการใช้ทางของประชาชนที่ต้องใช้เส้นทางในการเดินทางด้วย และประชาชนที่อยู่หรือใช้สถานที่บริเวณใกล้เคียง แม้ บช.น.จะจัดอำนวยการด้านการาจราจรการใช้เส้นทาง แต่ก็มีปัญหา เพราะพื้นที่ที่ปิดการจราจรเป็นเส้นเลือดใหญ่ ซึ่งก็จัดให้ไปใช้เส้นทางที่เป็นเส้นเลือดฝอย
ต่อข้อถามที่ว่าจะมีเหตุรุนแรงหรือไม่ พล.ต.ต.สุรพล กล่าวว่า ความรุนแรงของการชุมนุมจะเกิดจากฝ่ายสนันสนุนและฝ่ายคัดค้าน ซึ่งการทำงานได้มีนโยบายให้แยก 2 กลุ่มออกจากกันให้ชัดเจน และกำหนดพื้นที่ชุมนุมให้ชัดเจน แต่จะมีปัญหากรณีมีการเคลื่อนตัว ซึ่งถ้าหากมีการเคลื่อนตัวก็ต้องมีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ เพราะการเคลื่อนตัวทำให้ประสิทธิภาพของแกนนำและตำรวจดูแลความปลอดภัยของกลุ่มผู้ชุมนุมได้น้อยลง เข้าใจว่า ทุกฝ่ายมีความปรารถนาดีกับชาติบ้านเมือง อยากให้บ้านเมืองเป็นไปในทางที่ดี แต่ความคิดเห็นอาจจะแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ตำรวจจะใช้วิธีการเจรจาเป็นหลัก
เมื่อถามว่าจะสลายการชุมนุมเมื่อไหร่ พล.ต.ต.สุรพล กล่าวว่า จะมีการประเมินสถานการณ์กันทุกวัน และเรื่องของความเดือดร้อนของประชาชนที่จะมีสิทธิ์ใช้ชีวิตอย่างสงบ ถึงขณะนี้มีประชาชนแจ้งความเดือดร้อนมายังเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งกำลังรวบรวมและทำการสืบสวนเอาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งมีหลายเรื่อง ได้แก่ 1.เรื่องการเดินทางไปประกอบสัมมาอาชีพ การไปเรียนหนังสือ 2.เรื่องขอค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการเดินทางเพราะจากที่เดินทางต่อเดียวก็ต้องมีการต่อรถอีกสาย 3.ประชาชนที่อยู่ใกล้ที่ชุมนุมที่ต้องพักผ่อนนอนหลับเพื่อไปประกอบสัมมาอาชีพในตอนเช้าก็มีเสียงดังรบกวน ไปชี้แจงให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบเพื่อพิจารณา เราพยายามชี้แจงว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีสิทธิในการชุมนุม แต่ประชาชนเดือดร้อนกลุ่มผู้ชุมนุมจะคำนึงถึงประชาชนหรือคำนึงถึงแต่เป้าหมายของกลุ่มผู้ชุมนุมเอง
“อย่างตอนเย็นกลุ่มผู้ชุมนุมมีจำนวนมากหลายพันคน มีการใช้พื้นที่บนถนนและเครื่องขยายเสียง ก็เข้าใจแต่ช่วงเช้าที่มีผู้ชุมนุมเหลือ 200-300 คน ก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้พื้นที่บนถนนทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดือดร้อน เป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน ส่วนการดำเนินคดีตามกฎหมายกับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น เมื่อมีผู้มากล่าวหาร้องทุกข์ ก็ต้องดำเนินการซึ่งกำลังรวบรวมพยานหลักฐานอยู่ และสิทธิการชุมนุมที่ต้องชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ ก็มีการนำเอาสิ่งของที่ใช้เป็นอาวุธได้เข้าไปซึ่งต้องมีการพูดคุยกัน เราไม่ได้คำนึงถึงสิทธิของประชาชนมากกว่าสิทธิของกลุ่มผู้ชุมนุมแต่การชุมนุมก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย” พล.ต.ต.สุรพลกล่าว
พล.ต.ต.สุรพล กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการชุมนุมจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหลายกลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มพันธมิตรฯ 2.กลุ่มพันธมิตรฯในต่างจังหวัด 3.กลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯ 4.กลุ่มสมาคมรถร่วม ขสมก. 5.กลุ่มเกษตรกรที่ราคาข้าวไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ สำหรับกลุ่มสมาคมรถร่วม ขสมก.นั้น ก็เคลื่อนไหวได้ตามสิทธิ ซึ่งสมาคมรถร่วม ขสมก.ได้นำรถจำนวน 160 คัน จอดถนนราชดำเนินจำนวน 151 คัน ส่วนอีก 9 คัน เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปจอดที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 400 คน เรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมจ่ายค่าชดเชยค่าน้ำมันเชื้อเพลิง การจราจรสามารถใช้ได้ด้านละ 2 ช่องทาง ทางสมาคมแจ้งว่าจะไปรวมตัวกับกลุ่มพันธมิตรฯก็ทำได้ตามสิทธิ ตร.ก็อำนวยความสะดวก คาดว่า ไม่มีเป้าหมายนำรถไปปิดกั้นการจราจร เพราะที่ผ่านมารถร่วมฯมีกินมีใช้ เพราะการใช้บริการของประชาชน รถร่วมฯคงไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
รองโฆษก ตร.กล่าวว่า สำหรับกองบัญาการตำรวจสันติบาลนั้น ไม่ได้เกียร์ว่างอย่างที่เป็นข่าวและยืนยันไม่มีหน่วยงานใดในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกียร์ว่าง แต่การทำงานของสันติบาลก็เป็นแบบของสันติบาลที่แทรกตัวเข้าไปทำงานในพื้นที่ไม่ได้ไปเดินในกลุ่มผู้ชุมนุมให้เห็น และก็มีการประสานความร่วมมือข้อมูลกันโดยตลอด สันติบาลก็มาประชุมร่วมทุกวัน แม้ว่า ผบช.ส.จะลาพักร้อนแต่ทุกกอง บก.ใน บช.ส.ก็ทำงานกันอยู่ตลอด