ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 4 ปี “ พล.ต.อ.วาสนา – ปริญญา – วีระชัย อดีต กกต.” พร้อมตัดสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี จัดเลือกตั้งมิชอบซ้ำสอง ชี้พฤติการณ์ เป็นถึง กกต. มีหน้าที่จัดเลือกตั้งโปร่งใส เป็นธรรม กลับฝ่าฝืนกฎหมาย เอื้อประโยชน์ผู้สมัครไทยรักไทยทำให้ชาติแตกแยกใหญ่หลวง ขณะที่ 3 หนา ยื่นประกัน 1.8 ล้าน พร้อมฎีกาสู้คดี ศาลตีราคาประกันคนละ 4 แสน
วันนี้ ( 24 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 902 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( ยกฟ้องในชั้นไต่สวน) , พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปริญญา นาคฉัตรีย์ , นายวีระชัย แนวบุญเนียร , พลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ ( ถอนฟ้อง ) ซึ่งเป็น กกต. และ พล.ต.ต.เอกชัย วารุณประภา เลขาธิการ กกต. ( ยกฟ้องในชั้นไต่สวน ) เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ร่วมกันจัดการเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขตรอบใหม่ เมื่อวันที่ 23 และ 29 เมษายน 2549 โดยไม่มีอำนาจ และการออกหนังสือเวียนถึง ผอ.กต.เขต ให้รับผู้สมัครรายเดิมเวียนเทียนสมัครใหม่ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 24 และ 42
โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ค.49 ให้จำคุก พล.ต.อ.วาสนา , นายปริญญา และนายวีระชัย จำเลยที่ 2-4 คนละ 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดคนละ 10 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. ฯ มาตรา 24 และ 42 ต่อมาจำเลยทั้งสาม ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมแล้ว ที่จำเลย 2-4 อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 2-4 เป็นความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2-4 ในฐานะ กกต.ได้มีประกาศ กกต.ลงวันที่ 5 เม.ย.49 กำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้ง 38 เขต ในวันที่ 23 เม.ย.49 เนื่องจากปรากฏว่าในการเลือกตั้ง สส.ทั่วไปในวันที่ 2 เม.ย.49 ในเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครคนเดียวมาจากพรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น โดยจำเลยที่ 2-4 ได้ประชุมเมื่อวันที่ 18 เม.ย.49 แล้วยังได้มีมติออกประกาศเรื่องให้กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จ.สงขลาทุกเขตเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดวันตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครโดยย่นระยะเวลาเหลือ 1 วัน และให้ย่นระยะเวลายื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเหลือ 1 วันเช่นกัน ศาลเห็นว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 23 เม.ย.49 สืบเนื่องมาจากการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เม.ย.49 ที่เป็นผลมาจากวิกฤติในชาติบ้านเมืองอย่างรุนแรงทำให้นายกรัฐมนตรีขณะนั้นต้องทำการยุบสภา โดยอ้างเหตุผลตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 ที่ระบุว่ามีการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องทางการเมืองโดยการชุมนุมขยายตัวไปในทางที่กว้างขวางและอาจรุนแรงมากขึ้นจึงตัดสินใจคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปสู่ประชาชนด้วยการยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.โดยในภาวะของการเลือกตั้งที่เกิดจากกระแสของการขัดแย้งและเกิดความแตกแยกในบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวงเช่นนี้ที่พึ่งแรกของประเทศชาติและประชาชนจึงอยู่ที่การดำเนินการเลือกตั้งที่สะอาด โปร่งใส บริสุทธิ์ และเชื่อถือได้ เพื่อเรียกขวัญกำลังใจและความสงบสุขของชาติให้กลับคืนมา
แต่การดำเนินการเลือกตั้งโดยจำเลยที่ 2-4 ในการเลือกตั้งส.ส.ทั่วไปวันที่ 2 เม.ย.49 กลับดำเนินการขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 104 วรรค 3 ด้วยการจัดคูหาเลือกตั้งให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งหันหน้าไปทางผนังกั้นจากเดิมที่เคยหันหลังให้ และการปิดประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้ที่ผนังทำให้คนทั่วไปมองเห็นการลงคะแนนโดยเฉพาะการลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนที่ถูกจัดให้อยู่มุมขวาด้านล่าง นอกจากนี้ข้อมูลการใช้สิทธิเลือกตั้งระบุว่าแบบบัญชีรายชื่อมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 44,909,562 คน มีผู้มาใช้สิทธิจำนวน 29,088,209 บัตรที่แบ่งเป็นบัตรดี 18,356,402 บัตร บัตรเสีย 1,680,101 บัตร และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนจำนวน 9,051,706 บัตร แสดงให้เห็นว่าหากมีการลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนซึ่งมีผู้ใช้สิทธิมากถึง 9 ล้านกว่าคนแต่กลับเป็นการลงคะแนนที่ไม่เป็นความลับที่มาจากการจัดการของจำเลยที่ 2 -4 ซึ่งทำให้เกิดผลตามมาด้วยการเกิดความแตกแยกในชาติบ้านเมืองหนักหนามากยิ่งขึ้นจนมีผู้ยื่นคำฟ้องต่อศาลต่างๆและต่อมาได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 ลงวันที่ 8 พ.ค.49 ว่าการดำเนินการของ กกต.ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งและในส่วนที่เกี่ยวกับมติการหันคูหาเลือกตั้งไม่เป็นการลงคะแนนโดยลับทำให้เกิดผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมจึงให้เพิกถอนการจัดเลือกตั้งดังกล่าว
โดยจำเลยที่ 2-4 ควรจะได้ดำเนินการให้เกิดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเป็นที่เชื่อถือยอมรับที่จะนำไปสู่การยุตปัญหาความแตกแยกขัดแย้งอย่างรุนแรงในชาติแล้วแต่เมื่อปรากฏผลการเลือกตั้งว่าการเลือกตั้งที่มีแต่พรรคไทยรักไทยส่งผู้สมัครเพียงพรรคเดียวหลายเขตทำให้เกิดผลตาม มาตรา 74 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. พ.ศ.2541 คือผู้สมัครพรรคไทยรักไทยได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 20 จำนวน 38 เขต 15 จังหวัดซึ่งจำเลยที่ 2-4 ควรจะต้องดำเนินการตามกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อหาทางให้เกิดความสันติสุขแทนการก่อปัญหาเพิ่มเติมให้แก่ชาติบ้านเมืองโดยตามบทบัญญัติมาตรา 74 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว จำเลยที่ 2-4 ในฐานะ กกต.มีกรอบภาระหน้าที่ที่ควรจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่แต่จำเลยที่ 2-4 กลับมีมติและออกประกาศ กกต.ลงวันที่ 5 เม.ย.49 ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตใหม่และให้ผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยที่เคยลงสมัครเมื่อวันที่ 2 เม.ย.49ได้รับหมายเลขประจำตัวหมายเลขเดิมคือหมายเลข 2 ซึ่งทำให้ผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยอยู่ในฐานะที่ดีกว่าเนื่องจากได้ใช้หมายเลขดังกล่าวหาเสียงมาก่อนเป็นเวลานาน ส่วนผู้สมัครของพรรคการเมืองเล็กที่ลงสมัครใหม่ให้ได้รับหมายเลขคละกันไป เช่น พรรคคนขอปลดหนี้ ได้หมายเลข 9 พรรคพลังธรรมได้หมายเลข 1 ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลให้เกิดเสียงคัดค้านอย่างใหญ่หลวง 2 ประการ 1.การเปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งใหม่ทำได้หรือไม่ และ 2.การกำหนดหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้จำเลยที่ 2-4 ยังได้มีมติอนุญาตให้ผู้สมัครที่ไม่ได้รับเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.กลับมาลงสมัครโดยย้ายเขตเลือกตั้งที่จัดให้มีการลงคะแนนใหม่ในวันที่ 23 เม.ย.49 โดยจำเลยที่ 2-4 ส่งโทรสารแจ้งมติให้ประธานกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดในภาคใต้ทราบทั้งที่ผู้สมัครดังกล่าวไม่สามารถลงสมัครได้เพราะต้องห้ามเนื่องจากขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 40 มาตรา 108
จากพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2-4 มีมติให้เปิดรับสมัครผู้สมัครใหม่ทั้งที่กฎหมายและระเบียบไม่เปิดช่อง การกำหนดให้ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยลงสมัครใหม่ด้วยหมายเลขเดิมที่ใช้หาเสียงมาก่อนเป็นเวลานานขณะที่ผู้สมัครรายใหม่ได้รับหมายเลขคละกันไปโดยมีระยะเวลาหาเสียงไม่นาน และการที่มีมิให้ผู้สมัครซึ่งมีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ลงเวียนเปลี่ยนเขตเลือกตั้งได้ด้วยการส่งโทรสารชี้นำประธานกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัด สอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์และนายดำรงค์ เพ็ชรพงศ์ ผู้ที่ได้รับทาบทามให้ลงสมัครเลือกตั้งในวันที่ 23 เม.ย.49 ว่า เป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยมีคู่แข่งเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งโดยไม่ต้องได้รับคะแนนเสียงถึงร้อยละ 20 พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ฯ มาตรา 24และ45ที่ศาลชั้นต้อวินิจฉัยมานั้นชอบและ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2-4 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 2-4 อุทธรณ์ว่ากรณีมีเหตุปรานีลดหย่อนโทษ และรอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งสามหรือไม่โดยจำเลยที่ 2-4 อ้างว่าได้ประกอบคุณงามความดี รับราชการด้วยความวิริยะอุตสาหะ อีกทั้งได้ดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญมาก่อน ศาลเห็นว่าการที่จำเลยที่ 2-4 รับราชการจนได้รับตำแหน่งหน้าที่สำคัญมาก่อนเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งที่ทำให้ได้รับเลือกเป็น กกต. ซึ่งบุคคลที่จะมาเป็น กกต.ได้ตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 40 มาตรา 136 บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ที่มีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตจนเป็นที่ประจักษ์โดยหวังให้เป็นคณะกรรมการที่จะดำเนินการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์เที่ยงธรรมเป็นที่พึ่งชาติบ้านเมือง และรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข แต่จากการดำเนินการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.49 จำเลยที่ 2-4 ดำเนินการเลือกตั้งที่สร้างความแตกแยกให้กับประเทศชาติบ้านเมืองอย่างที่สุดและเกิดปรากฏการณ์ต่อต้านการทำงานของจำเลยที่ 3 อย่างไม่มีมาก่อนทั้งในเรื่องที่พรรคการเมืองใหญ่หลายพรรคไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือการที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยทำบัตรเสีย บางคนฉีกทำลายบัตรโดยไม่กลัวเกรงกฎหมายอีกทั้งมีผู้คัดค้านการจัดสถานที่และคูหาเลือกตั้งจนศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญฯปี 40 และให้เพิกถอนการเลือกตั้งดังกล่าว แต่ในการจัดการเลือกตั้งใหม่วันที่ 23 เม.ย.49 จำเลยที่ 2-4 ก็ยังดำเนินการจัดการเลือกตั้งซึ่งศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบและเป็นการได้เปรียบของพรรคการเมืองบางพรรค ทำให้เกิดความแตกแยกในชาติบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวงมากขึ้นกว่าเดิม
การที่จำเลยที่ 2-4 มีประสบการเคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญมาก่อนจนมีคุณสมบัติตามวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ ได้เป็น กกต. แต่กลับไม่ได้ใช้ประสบการสร้างความสงบสุขและช่วยระงับวิกฤติที่เกิดขึ้นในชาติบ้านเมือง และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่จนสร้างวิกฤติให้ใหญ่ยิ่งมากขึ้นพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีเหตุปรานีลดโทษตามที่ขอ ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษมานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2-4 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่ศาลจะอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันนี้ จำเลยทั้งสามได้เดินทักทายกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ กกต.และคนสนิทที่มาร่วมฟังคำพิพากษาด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม โดยศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ เมื่อทราบว่าศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน จำเลยทั้งสามยังคงมีสีหน้าเรียบเฉย ไม่มีการแสดงปฏิกิริยาใดๆ แต่เมื่อผู้สื่อข่าวเข้าไปสอบถามความรู้สึก นายวีระชัย จำเลยที่ 4 ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับบุตรชาย นายวีระชัยได้แต่อมยิ้มแต่ไม่ได้ตอบคำถามแต่อย่างใด
ภายหลัง พล.ต.อ.วาสนา ยื่นคำร้อง พร้อมหลักทรัพย์เป็นสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารัชโยธิน มูลค่า 2 แสนบาท กับเงินสดอีก 2 แสนบาท ส่วนนายปริญญายื่นสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารออมสิน สาขาศาลยุติธรรม มูลค่า 8 แสนบาท และนายวีระชัย ยื่นสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารออมสิน สาขาศาลยุติธรรม มูลค่า 6 แสนบาท ขอประกันตัว ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสามโดยตีราคาประกันคนละ 4 แสนบาท ซึ่งจำเลยทั้งสามเตรียมที่จะยื่นฎีกาต่อไป