xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์พิพากษา 3 หนา กกต.เอื้อประโยชน์ ทรท.วันนี้!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธานกกต.
ศาลอุทธรณ์จะออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา “3 หนา กกต.” 9 โมงเช้าวันนี้ หลังจากเมื่อปี 2549 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกคนละ 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองด้วย ส่งผลให้ 3 กกต.ในขณะนั้น ต้องถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำ ในคดีที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้สมัครของอดีตพรรคไทยรักไทย

วันนี้ (24 เม.ย.) ในเวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอุทธรณ์จะออกบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีที่ นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต., นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร กกต.ร่วมกันเป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 24 และ มาตรา 42 สืบเนื่องจากกรณี กกต.ทั้ง 3 คน ได้ร่วมกันจัดการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตรอบใหม่ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2549 โดยไม่มีอำนาจ และออกหนังสือเวียนถึง ผอ.กต.เขตเลือกตั้ง ให้รับผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละ 20 เปลี่ยนเขตลงสมัครในรอบใหม่ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้สมัครรายเดิมเวียนเทียนลงรับสมัครเลือกตั้งรอบใหม่ เพื่อช่วยให้ผู้สมัครรายเดียวพรรคไทยรักไทย หลีกเลี่ยงเกณฑ์ ร้อยละ 20 โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2549 โดยพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 3 มีความผิดตามพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ให้จำคุก 4 ปี และตัดสิทธิทางการเมืองไม่ โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาในวันนี้ (24 เม.ย.)

ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นระบุว่า ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 2-4 เป็น กกต.มีจำเลยที่ 2 เป็นประธาน และเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา กำหนดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 โดยหลังจากวันเปิดรับสมัครเลือกตั้งแล้วปรากฏว่ามีพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียวที่ส่งผู้สมัครระบบบัญชีครบ 100 คน โดยผู้รับสมัครเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทยได้รับหมายเลข 2 ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชนไม่ได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส่งผลให้ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยลงสมัครเพียงคนเดียวจำนวน 281 เขตเลือกตั้ง จาก 400 เขต ในวันรับเลือกตั้งดังกล่าวจำเลยทั้ง 3 ได้จัดคูหาเลือกตั้งให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหันหน้าไปทางผนังหรือฉากกั้นและหันออกด้านนอก และมีการติดรูปผู้สมัครและหมายเลขที่ผนังคูหาเลือกตั้งผลการเลือกตั้งปรากฎว่า ผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยจำนวน 38 เขตเลือกตั้งจาก 15 จังหวัดในภาคใต้ได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำเลยที่ 2-4 ได้มีมติและออกประกาศ กกต. เรื่องให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 23 เมษายน 2549 และให้มีการรับสมัครเลือกตั้งระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน 2549และได้ออกหนังสือเวียนของสำนักงาน กกต.ที่ ลต 0301/ว.568 ไปยังประธาน กกต.จังหวัดทุกจังหวัดในภาคใต้ยกเว้นระนอง เพชรบุรี และนนทบุรี ว่าผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่ได้รับเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 แล้วมาสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 23 เมษายน โดยที่ กกต.ยังไม่ได้ประกาศรับรองผลเลือกตั้งนั้น ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน จำเลยทั้งสามได้มีมติกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตจังหวัดสงขลาในทุกเขตเลือกตั้ง ยกเว้นเขตเลือกตั้งที่ 5 เพิ่มเติม ระหว่างวันที่ 19-20 เมษายน และมีประกาศ กกต.ให้กำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติม จากนั้น ผอ.กต.ประจำเขตเลือกตั้งที่ 1, 3 และ 4 จังหวัดสงขลา ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเมื่อวันที่ 9 เมษายน ศาลฎีกาได้มีคำสั่งที่ 2752/2549 วินิจฉัยว่า ตราบใดที่ กกต.ยังไม่ได้ประกาศผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดย่อมยังถือไม่ได้ว่ากระบวนการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลงแล้ว กรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กกต.อาจสั่งหรือจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งนั้นได้อีก โดย กกต.ไม่ต้องประกาศรับสมัครเลือกตั้งใหม่ ผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้นทุกคนยังคงเป็นผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้นอยู่ และศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยในทำนองเดียวกันอีกหลายคดี และเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ที่ 9/2549 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ว่า การเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ตลอดจนการเลือกตั้งที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งดังกล่าว เป็นการเลือกตั้งที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ ย่อมส่งผลให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ กกต.รับรองสิทธิทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อถูกเพิกถอนสิทธิ

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2-4 กระทำตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์และนายพิชัย ธรรมโชติ นายณรงค์ สุขจันทร์ นายดำรงค์ เพ็ชรพงศ์ นายทิวา เงินยวง นายถวิล ไพรสณฑ์ และนายเกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา พยานโจทก์ต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตที่ 6 จังหวัดสงขลา และไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ทุกครั้ง การที่จำเลยที่ 2-4 มีมติออกประกาศ กกต.เรื่องการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตใหม่ใน 38 เขตเลือกตั้ง และประกาศกำหนดวันรับสมัครผู้สมัครใหม่เป็นมติที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2541 ม.7/2 เพราะกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจจำเลยที่ 2-4 ในเปิดรับผู้สมัครใหม่ คงให้อำนาจเพียงย่นหรือขยายเวลา หรืองดเว้นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งให้เหมาะสมกับการเลือกตั้งใหม่ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม การกระทำของจำเลยที่ 2-4 ดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือผู้สมัครพรรคไทยรักไทยให้มีคู่แข่งในการเลือกตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงเกณฑ์คะแนนร้อยละ 20 เพราะจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าโอกาสที่ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยจะได้เกินร้อยละ 20 เป็นไปได้ยากดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ประกาศ กกต.ที่กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตใหม่ได้รับหมายเลขประจำตัวเป็นหมายเลขเดียวกับแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ตนสังกัดในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน และให้ผู้สมัครของพรรคการที่ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้หมายเลขต่อจากหมายเลขสุดท้ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งเดิม จึงมีเจตนาช่วยเหลือผู้สมัครพรรคไทยรักไทยให้ได้เปรียบ เพราะพรรคการเมืองอื่นมีเวลาหาเสียงน้อยกว่าคดีจึงต้องวินิจฉัยว่า การจัดให้เลือกตั้งใหม่ตาม ม.74 พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และส.ว.พ.ส.2541 กรณีผุ้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งคนเดียวได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 20จำเลยทั้งสามจะสามารถเปิดรับผู้สมัครเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามถ้อยคำใน ม.74 และ รัฐธรรมนูญ ม.145 ประกอบ ม.10 แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีความหมายเรื่องการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เหมือนกันในทางว่า ไม่ว่าจะเป็นการสั่งหรือจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ กกต.ต้องดำเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งตามคำเบิกความของนายทิวา เงินยวง พยานโจทก์ระบุว่า ตาม ม.74 หากจะเปิดรับสมัครใหม่ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งซ่อมหรือการเลือกตั้งทั่วไปต้องออก พ.ร.ฏ.เท่านั้น และยังระบุด้วยว่าหากการประกาศรับสมัครใหม่ยังคงให้ผู้สมัครได้หมายเลขเดิมจะทำให้เกิดความไม่เสมอภาค

ขณะที่ นายถวิล ไพรสณฑ์ พยานโจทก์เบิกความว่า การเลือกตั้งใหม่จะเปิดรับสมัครใหม่ไม่ได้ ซึ่งศาลเห็นว่านายทิวา จบการศึกษาระดับปริญญาเอก เป็นคณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เคยทำงานในสภาผู้แทนฯนาน 20 ปี เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ ขณะที่นายถวิล ก็เคยเป็น ส.ส.และส.ว.และเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ คำเบิกความของพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้และเชื่อว่าเบิกความไปตามความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญของตน โดยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน นอกจากนี้ตาม พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ ม.7/2 บัญญัติว่า กกต.มีอำนาจ เพียงย่น ขยายเวลาและงดเว้นการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้นจำเลยทั้งสามจึงไม่มีอำนาจออกประกาศ กกต. กำหนดให้เลือกตั้งส.ส.แบ่งเขตใหม่ โดยให้เปิดรับผู้สมัครใหม่

สำหรับประเด็นที่ กกต.ออกหนังสือเวียนทางโทรสารส่งไปยังประธาน กกต.เขตให้เปิดรับสมัครผู้สมัครรายเดิมที่ยังไม่ได้ประกาศผลเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นเห็นว่า แม้ในหนังสือเวียนจะระบุในตอนท้ายว่าอำนาจในการตรวจสอบคุณสมบัติและการประกาศรับผู้สมัครเป็นสิทธิของ ผอ.กต.ประเขตเลือกตั้ง แต่การที่ข้อความทางโทรสารได้อ้างถึงมติที่ประชุมของจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการจูงใจให้รับสมัครผู้สมัครที่ย้ายเขตเลือกตั้งได้ อันมีผลทำให้ผู้สมัครคนเดียวสามารถรับสมัครเลือกตั้งได้ถึงสองเขต โดยเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.108 ที่ให้พรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตได้เพียงคนเดียว อีกทั้งขัดต่อประกาศ กกต.เรื่องการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ที่ให้สิทธิผู้สมัครของพรรคการเมืองหนึ่งพรรคส่งสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตหรือแบบบัญชีรายชื่อได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นและหากส่งแบบแบ่งเขตก็ได้เพียงเขตเดียว ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและขัดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนที่ประชาชนไม่ได้ตัวแทนอย่างแท้จริงไปทำหน้าที่แทนตนในสภานิติบัญญัติและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

ส่วนประเด็นที่จำเลยทั้งสามมติให้ออกประกาศรับสมัคร ส.ส.จังหวัดสงขลาเพิ่มเติมเพราะเหตุที่มีหัวหน้าพรรคประกรไทยและคนขอปลดหนี้ร้องเรียนว่าไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เพราะมีผู้ชุมนุมขัดขวางนั้น ได้ความจากคำเบิกความของ นายพิชัย ธรรมโชติ และนายณรงค์ สุขจันทร์ ผอ.กต.ประจำเขตเลือกตั้งที่ 3-4 จังหวัดสงขลา พยานโจทก์ระบุว่า เมื่อให้จัดการเลือกตั้งใหม่แล้วเปิดรับผู้สมัครใหม่ครั้งแรกในวันที่ 8-9 เมษายน 2549 ปรากฎว่ามีผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยและผู้สมัครพรรคการเมืองเล็กหลายพรรคมาสมัคร แต่หลังจากตรวจคุณสมบัติแล้วเหลือผู้สมัครพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียวจึงให้มีการรับสมัครใหม่อีกครั้งในวันที่ 19-20 เมษายน เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความตามที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้น โดยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับฝ่ายจำเลย คำเบิกความจึงมีน้ำหนักรับฟังได้

การที่จำเลยทั้งสามประกาศให้รับสมัครเพิ่มเติมวันที่ 19-20 เมษายน เนื่องจากผู้สมัครพรรคเล็กขาดคุณสมบัติทำให้เหลือผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคไทยรักไทยพรรคเดียวย่อมทำให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยทั้งสามว่าประสงค์ที่จะให้ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยมีผู้แข่งขันเพื่อหลีกเกณฑ์ได้คะแนนร้ อยละ 20 โดยเจตนช่วยผู้สมัครพรรคไทยรักไทยดังกล่าวย่อมทำให้ผลการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปเพื่อให้ได้ตัวแทนของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสามที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นเป็นการกระทำเชื่อมโยงกันมาโดยตลอด และแสดงให้เห็นเจตนากระทำผิดอย่างชัดแจ้งที่จำเลยทั้งสามอ้างว่าการจัดเลือกตั้งใหม่เป็นการคิดแบบธรรมชาติประกอบข้อกฎหมาย คือหากเอาของชิ้นหนึ่งไปให้คนหนึ่ง แต่คนนั้นไม่รับก็ไม่ควรเอาของชิ้นเดิมไปให้อีก เห็นว่าข้อเท้จจริงปรากฏตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2543 ข้อ 6 ระบุว่า การเลือกตั้งใหม่ห้ามไม่ให้เปิดรับผู้สมัครและไม่ให้ผู้สมัครถอนการสมัครรับเลือกตั้งอันเป็นระเบียบที่มีข้อกำหนดชัดเจนแล้ว ซึ่งไม่ต้องตีความไปในทางอื่นดังนั้นจำเลยทั้งสามจะอ้างว่าไม่รู้ถึงระเบียบดังกล่าวไม่ได้ เพราะเป็นระเบียบของ กกต.เองและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2543

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการสุดท้ายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีหรือไม่เห็นว่า ป.วิอาญา ม.28 บัญญัติว่า บุคคลที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญามีอยู่ 2 ประเภท คือพนักงานอัยการและผู้เสียหาย จึงต้องวินิจฉัยก่อนว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า เนื่องจากประเทศไทยมีการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา รัฐมนตรีและศาลตามที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยมีหลักการสำคัญคืออำนาจเป็นของประชาชน โดยประชาชนเลือกผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่กำหนดนโยบายสาธารณะ การใช้อำนาจสูงสุดในการปกครองของประชาชนเป็นไปในทางอ้อมเรียกว่าประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นอกจากนี้การเลือกตั้งยังเป็นกลไกที่ประชาชนสามารถใช้เปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้อย่างสันติวิธี การเลือกตั้งจึงถือเป็นนวัตกรรมทางการเมืองสมัยที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นที่สุดของการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพและเสมอภาค โดยต้องมีหลักประกันแก่สิทธิดังกล่าวและต้องมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม เสมอภาค เปิดเผย และเสรีกกต.ประกอบด้วย ประธานคนหนึ่งและกรรมการอีก 4 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์เพื่อเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม การที่ กกต.มีคุณสมบัติพิเศษและมีอำนาจอันเกี่ยวกับการเลือกตั้งเช่นนี้ การดำเนินการใดๆย่อมต้องถูกตรวจสอบได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า กกต.จัดการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม มิใช่เป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเป็นการประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ ย่อมทำให้สิทธิของโจทก์โดยเฉพาะสิทธิในการเลือกตั้งได้รับความเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ม.24 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ กกต.กระทำการมิชอบต่อหน้าที่เพื่อเป็นคุณหรือโทษต่อผู้สมัครหรือพรรคการเมือง หรือกระทำการ หรือละเว้นการกระทำการโดยทุจริต

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ม 94 บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้เมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งในเขตของตนมิได้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองสิทธิของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกลงรับสมัครเลือกตั้ง และคุ้มครองสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้โดยเที่ยงธรรม เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2-4 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ม.24 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องที่จำเลยที่ 2-4 แย้งว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ม.114 ที่บัญญัติว่าในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นในเขตเลือกตั้งใดให้ถือว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นเป็นผู้เสียหายนั้น เห็นว่าคดีนี้หลังจากไต่สวนมูลฟ้องแล้วศาลมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องเฉพาะความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง และประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ส่วนข้อหาอื่นให้ยก เมื่อศาลยกฟ้องในความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งแล้ว จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดต่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวหรือไม่

พิพากษาว่าจำเลยที่ 2-4 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. พ.ศ.2541 ม.24, 42 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา ม. 83 ให้จำคุกคนละ 4 ปี และให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งมีกำหนดคนละ 10 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 2-4 ต่อจากคดีอื่นนั้น ยังไม่ปรากฏว่าศาลมีคำพิพากษาในคดีเหล่านั้น จึงให้ยกคำขอและให้ยกคำขอตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157

ภายหลังจำเลยทั้งสาม ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นหลักทรัพย์ นอกจากนี้ พ.ต.อ.สพัฒน์ รัตนวราหะ รองเลขาธิการ กกต. นายบุญเกียรติ รักชาติเจริญ ผอ.สำนักบริหารการเลือกตั้ง กกต. และนางพรรณศิวา บูรณะสถิตย์พร ผู้ตรวจสอบภายใน กกต.ใช้ตำแหน่งขอยื่นประกันจำเลยทั้งสามด้วย รวมหลักทรัพย์ประมาณ 2.5 ล้านบาทเศษ

อย่างไรก็ดีศาลอาญาพิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ม.148 ขอให้ศาลมีคำสั่งงดออกหมายจำคุก เห็นว่า ตาม ม.148 บัญญัติให้ความคุ้มกัน กกต.ระหว่างที่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งเฉพาะเรื่องการจับกุมและคุมขังในชั้นสอบสวนเท่านั้น ส่วนม.148 วรรค 2 บัญญัติว่า กรณีที่มีการจับ กกต.ขณะกระทำผิดให้รายงานไปยังประธาน กกต.โดยด่วนและอาจสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับนั้นได้เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ กกต. ถูกจับหรือคุมขังก่อนมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ซึ่งสิทธิความคุ้มกันดังกล่าวของ กกต.จะต่างกันกับสิทธิคุ้มกันของ ส.ส.ซึ่ง ส.ส. หรือ ส.ว.จะได้รับความคุ้มกันทั้งในชั้นสอบสวนและการพิจารณาของศาล ตามรัฐธรรมนูญ ม.165-166 จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลงดออกหมายจำคุก สั่งยกคำร้องและให้ออกหมายจำคุกตามผลคำพิพากษา

สำหรับเรื่องการประกันตัว ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสาม เป็น กกต.ต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามรัฐธรรมนูญ ม.136 แต่การจัดเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 และการเลือกตั้งที่ต่อเนื่องมา โดยจำเลยทั้งสาม กลับถูกพรรคการเมืองหลายพรรคและประชาชนส่วนหนึ่งต่อต้าน นอกจากนี้ยังมีแพทย์ อาจารย์คณะรับศาสตร์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และประชาชนหลายสาขาอาชีพทำการประท้วงด้วยการฉีกบัตรเลือกตั้งโดยเปิดเผย ประกอบกับหลายเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวพรรคเดียวได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ผิดปกติของสังคมโดยแทนที่จำเลยทั้งสามจะใส่ใจรีบหาทางแก้ไขความไม่พอใจของประชาชน จำเลยกลับเดินหน้าจัดเลือกตั้งต่อไปทั้งที่ยังไม่มีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งหลายเขตอย่างเป็นทางการจนเกิดการหมุนเวียนผู้สมัครทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อการจัดเลือกตั้งของจำเลยทังสามมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งจำเลยทั้งสามเป็นผู้มีวัยวุฒิและคุณวุฒิเคยดำรงตำแหน่งระดับสูงมาก่อนย่อมตระหนักดีว่า กกต.เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อประชาชนจำนวนมากรวมทั้งพรรคการเมืองไม่ไว้วางใจในความเป็นกลาง ความสุจริตและเที่ยงธรรมของจำเลยทั้งสามแล้วย่อมกระทบกระเทือนถึงการจัดการเลือกตั้งทุกระดับ การที่จำเลยทั้งสามยังคงปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่อไปโดยไม่ใยดีต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา และไม่ตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า จึงส่อพิรุธและชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ด้วยเหตุดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์และเชื่อได้ว่า หากศาลอาญาสั่งอนุญาตให้ปล่อยจำเลยทั้งสามระหว่างอุทธรณ์ เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับไปปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ส.ส.อีกก็น่าจะเกิดความไม่เรียบร้อย สุจริตและเที่ยงธรรมเหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา ดังนั้นเพื่อประโยชน์สุขและความสงบเรียบร้อยของสังคมจึงเห็นสมควรให้รีบส่งคำร้องขอประกันตัวพร้อมสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.106 (4)

จำคุก “3 หนา” 4 ปี ถอนสิทธิ 10 ปี ไม่รอลงอาญา
นายวีระชัย แนวบุญเนียร อดีตกกต.
นายปริญญา นาคฉัตรีย์ อดีตกกต.
กำลังโหลดความคิดเห็น