xs
xsm
sm
md
lg

“วิชา” ชี้เจตนา “หมัก” แก้ รธน.กันพรรคถูกยุบ หาใช่เพื่อชาติ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“วิชา มหาคุณ” กรรมการ ป.ป.ช. ชี้ คำพูด"นายกหมัก"ส่อเจตนาชัดเจนแก้ รธน.ไม่ให้ยุบพรรค ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัดไม่หวั่นไหวแก้ รธน. ลดวาระ ป.ป.ช. แต่ถือเป็นการแทรกแซงองค์กร ย้ำป.ป.ช. มาจาก รธน.ประชามติ หากคิดเปลี่ยนต้องถามประชาชนก่อน

วันนี้ (21 เม.ย.) ที่สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก ภายหลังร่วมสัมมนาเรื่อง “บทบาทศาลยุติธรรมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ” เนื่องในวันศาลยุติธรรมครบรอบ 126 ปี

นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า เพราะถ้าหากมีการยุบพรรคแล้วจะต้องมีการยุบสภา โดยระบุว่า หาก นายสมัคร ยอมรับว่า แก้รัฐธรรมนูญเพราะถ้ามีการยุบพรรคต้องยุบสภาเสียตั้งแต่แรก คนก็จะเข้าใจแล้วว่าประเด็นเหล่านี้คือ เป้าหมายของการแก้รัฐธรรมนูญ และคงไม่ต้องมานั่งถามว่าแก้เพราะอะไร สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูด จะเห็นได้เลยว่า ขณะนี้ไม่ใช่แก้รัฐธรรมนูญด้วยประเด็นต้องการทำให้เศรษฐกิจมั่นคงแล้ว แต่ต้องการไม่ให้ยุบพรรค

“การที่ นายสมัคร พูดอย่างนี้ทำให้เห็นภาพ หรือเจตนารมณ์ชัดเจน และฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำคดียุบพรรคจะทำงานง่ายมากกว่า เพราะประเด็นมันชัดแล้วว่ากระบวนการที่องค์กรอิสระดำเนินการมามันตรงตามรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองจะแก้ปัญหาตัวเองได้หรือไม่ก็อยู่ที่พยานหลักฐาน ถ้าสู้ได้ใครจะยุบ พูดมาแบบนี้ก็คงไม่กระทบ หรือกดดันการทำงานคดีของศาล เพราะศาลรัฐธรรมนูญชุดเก่าหรือชุดใหม่ก็ตามใครจะไปชักชวนท่านทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ส่วน กกต.ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าทำตามกฎหมาย” นายวิชา กล่าว

ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์จะอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ห้ามรัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญ นายวิชากล่าวว่า เป็นความคิดของชมรม ส.ส.ร.50 ที่บอกให้ระวังว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าเข้าข้างตัวเองก็อาจจะเข้าข่ายเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ แต่ว่าจริงๆ แล้วเรายังไม่มีการทดลองใช้มาตรานี้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของการตีความว่าเรื่องเข้าลักษณะการขัดกันของผลประโยชน์หรือเปล่า ถ้าเผื่อมันขัดกันก็จะเป็นเรื่องจริยธรรมที่ประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงก็เป็นเรื่องของคนที่จะรวบรวมเสนอเรื่อง ในฐานะเป็น ป.ป.ช.ซึ่งมีส่วนได้เสียแสดงความเห็นไม่ได้ เพียงแต่ประเด็นนี้คงต้องไปศึกษา

นายวิชา กล่าวต่อว่า เคยให้ข้อคิดแล้วว่า ป.ป.ช.ที่แล้วมาก็ทำงานสะดุดมาตลอดขาดๆ วิ่นๆ ทำงานไปได้ครึ่งเทอม อีกชุดปีกว่า และเหมือนมังกรขาดหัวแล้วทำงานมากันได้อย่างไร ถือเป็นองค์กรที่ประหลาดที่สุด อาจจะต้องไปทำพิธีสะเดาะเคราะห์จะได้เข้ากับสถานการณ์ราหูเข้าต้องส่งออก

“การแก้รัฐธรรมนูญแล้วลดวาระ ป.ป.ช.ผมพูดได้ว่าข้อที่ต้องระวังที่สุด คือ การที่คดีความทั้งหลายจะหยุดชะงักและขาดอายุความแล้วอาจจะเผชิญกับการแทรกแซงการสรรหา ป.ป.ช.ใหม่ ซึ่งกว่าจะเข้ากระบวนการสรรหาได้ถ้าเอาตามแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็จะเป็นว่าในอดีต ป.ป.ช.เคยรอเข้าสู่ตำแหน่งเป็นปีโดยไม่ได้เงินเดือน เพราะสรรหาแล้วมีคนคัดค้านตีความจนวุ่นวาย” นายวิชา กล่าว

นายวิชา ยังย้ำด้วยว่า ป.ป.ช.จะไม่ไปรวบรวมผลดีผลเสียการแก้รัฐธรรมนูญเสนอรัฐบาล เพียงแต่เราคุยกันว่ากระบวนการเหล่านี้มันจะทำให้การดำเนินคดีของ ป.ป.ช.ไม่ราบรื่น แต่เราก็ไม่หวั่นไหวทำงานไปไม่หยุด รัฐบาลจะเปลี่ยน ป.ป.ช.หรือไม่เปลี่ยนจึงควรถามประชาชน เพราะมาเป็น ป.ป.ช.โดยการลงประชามติของรัฐธรรมนูญ การมาทำอะไรกับ ป.ป.ช.ควรถามประชาชนถ้าเห็นว่าไม่ได้เรื่อง ป.ป.ช.จะออกโดยดี

“เรื่องนี้จุดประสงค์หรือเป้าหมายหลัก คือ ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของ ป.ป.ช.เพราะว่ามันมีการต่อสู้คดีค่อนข้างรุนแรง การต้องเผชิญหน้ากับองค์กรที่คนยังเชื่อถือและศรัทธา ถ้าให้ดำเนินการไปด้วยความราบรื่นมันก็จะต่อสู้คดียาก เช่น เรื่องไปถึงศาล พยานหลักฐานชัดเจน ตัดสินออกมาแล้วประชาชนก็เห็นชอบด้วย ดังนั้น ถ้าทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือศรัทธาผลการตัดสินคดีด้วยการลดความน่าเชื่อถือองค์กรก็จะเป็นตัวทำให้กระแสสังคมเบี่ยงเบนไป เช่น คดีหนึ่งที่ผ่านมามีการเอารายชื่อคนเป็นล้านๆ คนก็ทำให้คนบกพร่องโดยสุจริตแล้วผ่านไปได้” นายวิชา กล่าว

นายวิชา กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า หากรัฐบาลไม่ทำประชาพิจารณ์ถามประชาชนก็อาจจะมีการไปหาช่องทางไล่ไปสู่ท้องถนน ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดเรื่องอย่างนั้น แต่จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงหรือไม่ตนบอกไม่ถูก เพราะไม่ใช่โหร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบอกว่าจะทำประชามติก็ถือเป็นตรงกับสิ่งที่พูดมาตั้งแต่ต้น การถามประชาชนไม่ใช่สิ่งกดดันแต่เป็นการทำให้ถูกต้องกระบวนการก็จะไม่มีข้อโต้แย้งและเป็นทางออกได้
นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.)
นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น