รองฯ ดีเอสไอ เผยอัยการสั่งสอบหาหลักฐานเพิ่มเติมคดี “แม้ว-เมีย-ญาติ” ปกปิดผู้ถือหุ้นเอสซีแอทเสท อุบเงียบประเด็นสอบ อ้างเป็นความลับ ยันไม่กดดันมองเป็นเรื่องปกติในการทำคดี ขณะที่โฆษกเผยดีเอสไอได้ร่วมกับ ปรส.หยิบยกข้อร้องเรียนคดีทุจริตประมูลขายสินทรัพย์ของ ปรส.ให้กับ “เลห์แมนบราเดอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์” แต่มีการขายโอนสิทธิเลี่ยงภาษีมาสอบความคืบหน้า
วันนี้ (8 เม.ย.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายพรชัย อัศววัฒนาพร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทเอสซีแอสเสท คอปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และเครือญาติ เป็นผู้ต้องหา เปิดเผยถึงความคืบหน้าในคดีดังกล่าววว่า ดีเอสไอได้รับหนังสือจากอัยการที่สั่งให้พนักงานสอบสวน สอบสวนหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อให้คดีมีความรัดกุมยิ่งขึ้น โดยสั่งให้สอบเพิ่มในหลายประเด็น รายละเอียดประมาณ 3-4 หน้า ส่วนจะเป็นการสอบสวนในประเด็นใดบ้างไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากเป็นความลับในสำนวนคดี ทั้งนี้ ตนจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด และยืนยันไม่รู้สึกกดดันที่อัยการสั่งให้สอบเพิ่ม เพราะถือเป็นเรื่องปกติในการทำคดี ซึ่งตนจะทำคดีนี้ต่อไปตามพยานหลักฐาน
นอกจากนี้ ในวันนี้ (8 เม.ย.) คณะพนักงานสอบสวนคดีการทุจริตประมูลขายสินทรัพย์ 56 สถาบันการเงิน ขององค์การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ได้นัดประชุมติดตามความคืบหน้าในการสอบสวนคดีดังกล่าว โดยมีนายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะที่ปรึกษาคดีพิเศษ
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ โฆษกดีเอสไอ เปิดเผยว่า คดีเกี่ยวกับ ปรส. ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ 6 คดี ได้แยกส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไว้ดำเนินคดีรวม 5 คดี ได้แก่ 1.คดีการขายสินทรัพย์ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้กับกองทุนรวม วี.แคปปิตอล 2.คดีการขายสินทรัพย์ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้กับกองทุนเอเซียรีคอฟเวอรี่ 3.คดีการขายสินทรัพย์ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้กับกองทุนรวมแกรมม่าแคปปิตอล 4.คดีการขายสินทรัพย์ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้กับกองทุนรวมบางกอกแคปปิตอล 5.คดีการขายสินทรัพย์ไม่ชอบด้วยกฎหมายกรณีนายมนตรี เจนวิทย์การ อดีตเลขานุการ ปรส., บริษัท เกียรตินาคิน จำกัด กับพวก
สำหรับการประชุมคณะพนักงานสอบสวนครั้งนี้ เพื่อพิจารณาสำนวนคดีการขายสินทรัพย์ ให้กับบริษัท เลห์แมนบราเดอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ ที่เป็นผู้ชนะการประมูลในราคา 11,520 ล้านบาท จากราคาสินทรัพย์ ประมาณ 24,616 ล้านบาทของยอดหนี้คงค้าง แต่บริษัทเลห์แมนฯกลับไปโอนขายสิทธิให้กองทุนรวมโกลบอลไทย พร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประมูลตามกฎหมาย เนื่องจากหากทำสัญญากับบริษัท เลห์แมนฯ บริษัทจะต้องมีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ แต่การประมูลขายให้กับกองทุนรวมจะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งหมด ที่ผ่านมาจึงมีการกล่าวหาว่ากองทุนรวมดังกล่าวจัดตั้งขึ้นโดยไม่ชอบตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ
ส่วนการร้องทุกข์กล่าวโทษคดีการขายทรัพย์สินของ ปรส. จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 มีการนำสินทรัพย์ของ 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการมาประมูลขาย จำนวน 7 ครั้ง สินทรัพย์มีมูลค่า 600,243 ล้านบาท แต่มีการประมูลขายได้เงินเพียงประมาณ 150,026 ล้านบาท โดยบริษัท เลห์แมน บราเดอร์ส ไทยแลนด์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาด้านการขาย ปรส. จึงถูกกล่าวหาว่าดำเนินการขายสินทรัพย์โดยมิชอบ ทั้งขั้นตอนการเข้าทำสัญญา คุณสมบัติผู้เข้าทำสัญญาซึ่งไม่ได้เป็นผู้เข้าประมูลตามกฎหมาย การจัดตั้งกองทุนรวมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากในวันประมูลกองทุนรวมยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นต้น