xs
xsm
sm
md
lg

บช.ก.ตั้งศูนย์รับแจ้งคดีฉ้อโกงบัตรเครดิต 24 ชม.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

บช.ก. เอาจริงปราบแก๊งต้มตุ่นมังกรจีน-ไต้หวัน หลอกล่วงเหยื่อโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม-ถอนเงินจากบัตรต่างๆ ใช้ ตร.73 นาย ให้บริการในศูนย์รับแจ้งความคดีฉ้อโกงบัตรเครดิต และอาชญากรรมข้ามชาติตลอด 24 ชม.พร้อมตั้งคณะทำงานตามล่าตัวผู้ต้องหาทั้งไทย-จีน-ไต้หวัน ที่ยังลอยนวลมาลงโทษตามกฎหมาย หลังพบมีเหยื่อหลงเชื่อ 500 ราย ผู้เสียหายแจ้งความเพียง 73 ราย

วันนี้ (2 เม.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่กองปราบปราม พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รอง ผบช.ก.ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสืบสวนปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และอาชญากรรมข้ามชาติ โดยหลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินผ่าน ระบบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และอาชญากรรมเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีและอาชญากรรมข้ามชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รอง ผบช.ก.รองหัวหน้าคณะทำงาน เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ บช.ก.โดยมี ตัวแทนจาก บก.ทท., บก.ปศท., บก.ป., บก.รฟ., บก.ปดส.เป็นชุดปฏิบัติการ และมี Hitech Crime, ตำรวจสากล และตัวแทนของสมาคมธนาคารไทย และคณะทำงานป้องกันการทุจริตบัตรเครดิต เป็นที่ปรึกษา

พล.ต.ต.ปัญญา กล่าวว่า จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่ามีประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งดังกล่าวประมาณ 500 ราย จำนวน 73 ราย ได้เข้าแจ้งความแล้ว เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่ม ซึ่งทั้งชาวไทยและจีน อีก 53 ราย ส่วนผู้ต้องหาจำนวน 42 รายที่ทางการจีนจับได้ก่อนหน้านี้ 23 ราย ถูกดำเนินคดีหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย อีก 19 ราย ถูกดำเนินคดีข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง อย่างไรก็ตาม ทางเราได้ประสานทางการจีนให้ส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหมดมายังประเทศไทยเพื่อดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงประชาชนต่อไป นอกจากนี้ทาง บช.ก.ได้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งความคดีฉ้อโกงประชาชน กรณี โอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม ตั้งอยู่ที่กองบังคับการปราบปราม โดยมีพนักงานสอบสวน จำนวน 73 นาย คอยรับแจ้งความ ส่วนประชาชนท่านใดที่ถูกแก๊งดังกล่าวหลอกลวงสามารถมาแจ้งความได้ด้วยตนเองหรือโทรศัพท์ หมายเลข 025124385 หรือ 1195 ตลอด 24 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าวมี นายอาเช็ค ชาวไต้หวันเป็นหัวหน้าใหญ่ นายอาซิม และ อาตง เป็นสมุนระดับแกนนำ โดยมีสาขาในไทย มาเลเซีย เกาหลี ไต้หวัน ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนได้ออกหมายจับทั้งหมดแล้ว

ทั้งนี้ พล.ต.ต.ปัญญา ได้จัดตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย ชุดจับกุมผู้ต้องหาในประเทศไทย ที่กลับมาแล้วจากจีนที่ จ.ขอนแก่น จ.ราชบุรี และจ.นครปฐม มี พ.ต.อ.สำราญ ยินดีอารมณ์ ผกก.ผปท.10 บก.ทท.รับผิดชอบ ชุดเร่งรัดเสนอขออนุมัติขอออกหมายจับผู้ต้องหาที่เป็น call center ที่ถูกจับกุมแล้วในประเทศจีนซึ่งเป็นคนไทยจำนวน 42 คน และเป็นคนจีน และคนไต้หวัน บางส่วนซึ่งสามารถระบุตำหนิรูปพรรณได้ โดยมอบหมายให้ พ.ต.อ.สมยศ พรมนิ่ม รอง ผบก.ป.รับผิดชอบ นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ชุดเร่งรัดเสนอขออนุมัติออกหมายจับ ผู้เปิดบัญชีรับโอนเงิน และขายบัญชี + ATM พร้อมผู้กดเงิน และผู้จัดหาผู้กดเงินและแบ่งชุดติดตามจับกุม มอบหมาย พ.ต.อ.สมยศ รับผิดชอบ ส่วนชุดตรวจค้น รวบรวมพยานหลักฐาน และจับกุมผู้ต้องหาที่ออกหมายจับไว้แล้ว ในชุดบริษัททัวร์ที่ถ่ายโอนเงิน (โพยก้วน) ไปยังประเทศจีน ให้ พ.ต.อ.สำราญ ยินดีอารมณ์ ผกก.ผปท.10 บก.ทท.รับผิดชอบ

ชุดติดต่อผู้เสียหายมาให้ปากคำและนำหลักฐานเกี่ยวข้องและมอบคดีให้พนักงานสอบสวน (ตั้งพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม) มอบหมาย พ.ต.อ.เฉลิมพันธ์ อจลบุญ รอง ผบก.ป.และ พ.ต.อ.เชาวลิต แสวงพืช รอง ผบก.อก.บช.ก.รับผิดชอบเสนอแต่งตั้งพนักงานสอบสวนเพิ่ม ส่วนเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบแจ้งอัยการสูงสุดเกี่ยวกับการมอบ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ มอบหมาย พ.ต.อ.สมยศ ดูแล นอกจากนี้ ได้มอบหมาย พ.ต.อ.อภิชาติ สุริบุญญา ผกก.ฝ่ายการต่างประเทศ 3 กองการต่างประเทศ และ พ.ต.ท.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผกก.ฝปท.10 บก.ปดส. รับผิดชอบประสานงานกงสุลไทย ประจำเมืองกวางเจา เรื่องผู้ต้องหาเดินทางกลับประเทศไทย

ส่วนยกร่างหนังสือชมเชย และขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการและประสานงาน มอบหมาย พ.ต.อ.เชาวลิต แสวงพืช รอง ผบก.อก.บช.ก.และ พ.ต.ท.พันธนะ นุชนารถ รอง ผกก.ฝปท.10 บก.ทท.รับผิดชอบ และตรวจสอบสัญญาเช่า คู่สายโทรศัพท์ ระหว่างเครือข่ายกลุ่ม call center กับบริษัท TOT หรือ บริษัท True มอบหมาย พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา ผกก.กลุ่มงานตรวจสอบ ศตท.รับผิดชอบ ส่วนการประชาสัมพันธ์ เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบถึงวิธีการหลอกลวง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ มอบหมาย พ.ต.อ.เชาวลิต แสวงพืช รอง ผบก.อก.บช.ก.และ พ.ต.ท.พันธนะ นุชนารถ รอง ผกก.ฝปท.10 บก.ทท.ดูแลรับผิดชอบ

ส่วนทางด้านผู้เสียหาย นายเดชา รงศ์สุวรรณ อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 338/61 หมู่บ้านสุขสบาย ซอยลาดพร้าว 87 แขวงและเขตวังทองหลาง กทม.เข้าพบพนักงานสอบสวน ศูนย์รับแจ้งความคดีฉ้อโกงประชาชน กรณีโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม เพื่อแจ้งความเอาผิดแก๊งต้มตุ๋นดังกล่าว

นายเดชา กล่าวว่า ตนทำธุรกิจให้เช่ารถตู้อยู่ย่านลาดพร้าว โดยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 มีหญิงสาวโทรมาบอกว่าตนติดค้างค่าชำระเงินบัตรเครดิตกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จำนวน 90,000 กว่าบาท โดยได้ไปรูดเงินซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ตนจึงตอบกลับไปว่า ไม่เคยทำบัตรเครดิตกับธนาคารดังกล่าวเลย จากนั้นหญิงสาวคนดังกล่าวบอกว่าแสดงว่ามีคนแอบอ้างแล้ววางสายไป ต่อมาหญิงสาวอีกรายอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์โทรมาถามว่ามีเงินในบัญชีเท่าไหร่ ตนบอกไปว่ามี 2 บัญชี ธนาคารกรุงเทพและกสิกรไทย แสนกว่าบาท หญิงสาวคนดังกล่าวบอกว่างั้นเพื่อเป็นการป้องกันบุคคลแอบอ้างหรือสวมรอยให้ตนรีบไปที่หน้าตู้เอทีเอ็มภายใน 15 นาที เพื่อทำรายการป้องกันการสวมรอย
จึงหลงเชื่อทำรายการเป็นภาษาอังกฤษทั้ง 2 ธนาคาร หลังจากนั้นเมื่อไปเช็กยอดเงินที่ธนาคารปรากฦฏว่าเงินในบัญชีหายไปเกลี้ยง

“ผมคิดอะไรไม่ออก มันเบลอไปหมด เมื่อมาทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย้อนหลังดู ผมไม่น่าตกเป็นเหยื่อพวกมัน เพราะกรณีดังกล่าวเคยเกิดเป็นข่าวมาแล้วหลายครั้ง แต่ต้องยอมรับว่าเขาชักจูงจน คล้อยตามเหมือนโดนสะกดจิต จึงหลงเชื่อเสียเงินที่เก็บมาเกือบชีวิตจนหมดตัว” นายเดชา กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น