xs
xsm
sm
md
lg

เผยเหตุเด้ง “เสรีพิศุทธ์” 3 ข้อฉกรรจ์!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

เผยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี สั่งตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง “เสรีพิศุทธ์” 3 เรื่อง ทั้งพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตในโครงการเช่ารถ ใช้ถ้อยคำไม่บังควร และตั้งตำแหน่ง ผกก.กองปราบ 10 กอง เผยหนึ่งในกรรมการสอบมี “จงรัก จุฑานนท์” ด้วย

วันนี้ (29 ก.พ.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้สื่อข่าวรายงานถึงคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 34/2551 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผบ.ตร.มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง

คำสั่งดังกล่าวระบุถึงเหตุผลว่า 1.ดำเนินโครงการเช่ารถยนต์บรรทุกขนาด 1 ตัน แบบดับเบิลแค็บ จำนวน 2,894 คัน โครงการเช่ารถตู้โดยสาร (เบนซิน) ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(เอ็นจีวี) ขนาด 15 ที่นั่ง จำนวน 1,447 คัน โครงการเช่ารถยนต์บรรทุกอเนกประสงค์ขนาด 3ตัน ขนาด 24 ที่นั่ง จำนวน 270 คัน และรถยนต์บรรทุกขนาด 3 ตัน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์กวาดเรือใบ เครนยก จำนวน 51 คัน และโครงการเช่ารถยนต์บรรทุก (ขนาด 1 ตัน) แบบมีช่องว่างด้านหลังคนขับ จำนวน 1,555 คัน ซึ่งใช้งบประมาณรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,899,578,200 บาท โดยมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตและเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ซึ่งทำให้ทางราชการเสียหาย ตลอดจนเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทผู้ให้เช่ารถยนต์ อันถือได้ว่าเป็นการกระทำการ หรือไม่กระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่ไม่ควรได้

2.สั่งการโดยใช้ถ้อยคำที่มิบังควร และไม่เหมาะสมในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานในบันทึกของกองสวัสดิการ ที่เสนอขอให้พิจารณาจัดการแข่งขันกีฬาภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติประจำปี 2551 ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 21-28 มีนาคม 2551 เนื่องจากผู้เสนอเห็นว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวอยู่ระหว่างการไว้ทุกข์ตามมติคณะรัฐมนตรี หากจัดการแข่งขันกีฬาภายในจะเป็นการไม่บังควร

3.ดำเนินการบริหารงานบุคคลโดยออกคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับพันตำรวจเอก ตำแหน่งผู้กำกับการฝ่ายปฏิบัติการที่ 1-ที่ 10 ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในกองบังคับการต่างๆ โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ ทำให้ข้าราชการตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับตำแหน่ง จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในการแบ่งส่วนราชการของกองบังคับการต่างๆ และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุทำให้ราชการต้องเสียงบประมาณสำหรับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งโดยยังไม่มีการดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายเสียก่อนแต่อย่างใด

อาศัยอำนาจตามความในพรนะราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 86 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทำการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้

1.นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุดเป็นประธานกรรมการ 2.นายนัที เปรมรัศมี รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการ 3.พลตำรวจโทจงรัก จุฑานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ 4.พลตำรวจโทธีรเดเช รอดโพธิ์ทอง จเรตำรวจ เขตตรวจราชการที่ 8 เป็นกรรมการและเลขานุการ

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.2547 ให้แล้วเสร็จ แล้วเสนอสำนวนการสอบสวนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

อนึ่ง ถ้าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า กรณีมีมูลว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งนี้ หรือกรณีที่การสอบสวนพาดพิงไปถึงข้าราชการตำรวจผู้อื่นและคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาเบื้องต้นแล้วเห็นว่าข้าราชการตำรวจผู้นั้นมีส่วนร่วมกระทำการในเรื่องที่สอบสวนนั้นอยู่ด้วยให้ประธานกรรมการรายงานโดยเร็ว สั่ง ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 ลงชื่อ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี

ด้าน พล.ต.ท.จงรัก ซึ่งเป็นกรรมการในการสอบสวนความผิด พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ กล่าวเพียงว่า ยังไม่เห็นคำสั่งดังกล่าว เพราะวันนี้ยังไม่ได้เข้าสำนักงาน จึงขอไม่กล่าวอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น