ดีเอสไอเตรียมส่งสำนวนคดีติดสินบน-ฮั้วประมูลงาน “บางกอกฟิล์ม” ให้ ป.ป.ช.ดำเนินการขยายผลต่อ 29 ก.พ.นี้ พร้อมสั่งฟ้องคดีบุกรุกป่าสบกก จ.เชียงราย-แชร์ยางพาราให้อัยการพิจารณา
วันนี้ (24 ก.พ.) พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ และโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีสำคัญที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของดีเอสไอว่า ภายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้ พนักงานสอบสวนดีเอสไอจะส่งสำนวนคดีการทุจริต ฮั้วประมูลกรณีการจัดงานมหกรรมภาพยนตร์ บางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์มเฟสติวัล ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ผลการสอบสวนเบื้องต้นและการร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่เอฟบีไอของสหรัฐอเมริกา พบว่า หลักฐานสำคัญในคดีนี้อยู่ในประเทศสหรัฐ การสอบปากคำพยานจะต้องใช้ช่องทางความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการสอบสวนอีกยาวนาน ขณะที่ดีเอสไอมีกรอบเวลาในการสอบสวนเพียง 30 วัน เนื่องจากผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ เป็นข้าราชการระดับสูง ซึ่งอยู่ในอำนาจการสอบสวนของ ป.ป.ช. ดีเอสไอจึงจำเป็นต้องรวบรวมหลักฐานเบื้องต้นเพื่อส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.รับไปดำเนินการและขยายผลต่อไป ทั้งความผิดในด้านการฮั้วประมูลและการทุจริตรับเงินสินบน
พ.อ.ปิยะวัฒก์ ยังกล่าวถึงคดีบริษัทเอกชนบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าสบกก จังหวัดเชียงราย ที่ได้นำเครื่องจักรกลเข้าไปแผ้วถางในเขตป่าสงวน เพื่อปรับพื้นที่มาใช้ปลูกยางพาราว่า ภายหลังการสอบสวนจนมีการออกหมายจับผู้ต้องหาบางรายไปแล้ว ล่าสุดคณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา และจะนำสำนวนคดีไปส่งให้พนักงานอัยการในวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้เช่นกัน
พ.อ.ปิยะวัฒก์ กล่าวต่อว่า ดีเอสไอกำลังเร่งสรุปสำนวนคดีฉ้อโกงประชาชนให้นำเงินมาลงทุนในแชร์ลูกโซ่หลายรูปแบบ โดยในวันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ พนักงานสอบสวนจะนำสำนวนคดีฉ้อโกงประชาชนกรณีแชร์ยางพารา ซึ่งผู้เสียหายกระจายตัวอยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ กทม. และพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา จึงนำสำนวนไปส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนคดีบุกรุกป่าสบกก พยายามขยายผลการสอบสวนไปถึงผู้ใกล้ชิดของนักการเมืองในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งข้อมูลในทางลับบ่งชี้ว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการบุกรุกเขตป่าสงวน แต่จนถึงขณะนี้ก็ไม่สามารถค้นพบพยานหลักฐานหรือเส้นทางการเงินใดๆ ที่จะเชื่อมโยงให้เห็นถึงพฤติกรรมการกระทำความผิดได้อย่างชัดเจน จึงจำเป็นต้องสั่งฟ้องเฉพาะในส่วนของบริษัทเอกชน