xs
xsm
sm
md
lg

67 ปี บช.ก.กับโครงสร้างใหม่ ภายใต้การนำของ พล.ต.ท.อดิศร นนทรีย์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“อาชญากรรมในปีนี้คงไม่น้อยกว่าเดิม และยังพัฒนารูปแบบโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ตำรวจที่ทำงานจึงต้องเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นให้ทันคนร้ายเพื่อสามารถปราบปรามอาชญากรรมได้ เรายอมรับว่าโครงสร้างใหม่แม้จะมีคนเพิ่มขึ้นมากแต่จำนวนหนึ่งยังคงเป็นตำรวจที่มีพื้นฐานไม่เพียงพอ ต้องนำมาอบรมความรู้ก่อน ซึ่งยังมีตำรวจที่อยู่ตรงนี้อีกกว่า 60-70% ที่สามารถให้ความรู้ โดยต้องทำควบคู่กันไป การลงพื้นที่เหมือนเปลี่ยนบ้านใหม่ที่อะไรยังไม่ค่อยพร้อม ต่อไปอะไรก็คงดีขึ้น คงต้องขอเวลาสัก 2-3 ปี” พล.ต.ท.อดิศร นนทรีย์ ผบช.ก. กล่าวเปิดใจในการเข้ามาทำหน้าที่หลังมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง

โดยในวันที่ 11 ก.พ. นี้เป็นวันครบรอบวันสถาปนาตำรวจสอบสวนกลาง(บช.ก.) ครบปีที่ 67 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้าง 7 กองบังคับการคือ กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) กองบังคับการตำรวจทางหลวง(บก.ทล.) กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว(บก.ทท.) และกองบังคับการปราบการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชนและสตรี(บก.ปดส.) ที่ต้องแยกเป็น 10 ฝ่ายปฏิบัติการ โดยฝ่ายปฏิบัติการ 1-9 ดูแลภาค 1-9 และ 10 ดูแล กรุงเทพฯ ส่วนกองบังคับการที่มีงานไม่มากก็แบ่งเป็น 4-5 ฝ่ายตามพื้นที่และลักษณะงาน เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(บก.ปทส.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี(บก.ปศท.) และกองบังคับการทะเบียน แบ่งงานตามภาคเช่นกัน ซึ่งต้องไปทำงานในภูธรภาค 1-9 ที่สร้างขึ้นใหม่ แต่เบื้องต้นต้องออกไปอยู่ในพื้นที่ เช่น ศูนย์ฝึกอบรมก่อน เพราะภูธรภาคส่วนใหญ่ยังสร้างไม่เสร็จ ส่วนกองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) ทั้ง 10 ฝ่ายยังอยู่ในส่วนกลางเมื่อมีการขอกำลังจึงลงในพื้นที่เพื่อความเป็นเอกภาพ

พล.ต.ท.อดิศร ยังกล่าวถึงนโยบายการทำงานขกง บช.ก. ในปีนี้ว่า จะเน้นความเดือดร้อนประชาชนเป็นตัวตั้ง โดยอันดับแรก คือ เรื่องยาเสพติดให้เน้นการจับกุมเครือข่ายขบวนการ นายทุน และหาผู้อยู่เบื้องหลัง รวมทั้งการปราบผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้าง การปราบปรามโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ซึ่งเรายังทำได้น้อยเพราะถูกเปลี่ยนสภาพได้ง่าย และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ช่นการทำลายป่าเพื่อขอเอกสารสิทธิ์ ส่วนงานเรื่องสิทธิเด็กสตรี สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ก็ถือว่ามีผลงานและจะทำอย่างต่อเนื่องต่อไป

“บอกตรงๆ ว่าตั้งแต่เข้ามาทำงานที่ บช.ก. ได้ 3 เดือนก็ยังไม่ค่อยพอใจในผลงาน แต่ก็ทราบว่าเป็นช่วงที่มีการปรับโครงสร้าง ปรับเปลี่ยนตำแหน่งหลักที่ดูแลงาน หลายหน่วยจึงเหมือนคุมเชิงงานไม่ออก แต่ผมก็คิดว่าเป็นเพียงระยะสั้นๆ เราได้ประชุมแล้ววว่าเมื่อแต่งตั้งหมดแล้วต้องเดินเครื่องทำงานดูแลอาชญากรรมในหน้าที่ให้ดีที่สุด”พล.ต.ท.อดิศร กล่าว

ผบช.ก. กล่าวถึงงานของตำรวจสอบสวนกลางในโครงสร้างใหม่อีกว่า งานของตำรวจสอบสวนกลางต้องทำภารกิจสนับสนุนตำรวจท้องที่ในการปราบปรามอาชญากรรม และภารกิจพืเศษต่างๆ ด้านความมั่นคง เครื่องมืออุปกรณ์จึงมีความจำเป็นอย่างมาก แต่เราต้องช่วยตัวเองมาตลอด ก็อยากได้รับการสนับสนุนตรงนี้ เพราะงบประมาณมีจำกัด แต่เมื่อมีที่แล้วก็ต้องลงไปดูแลภายใน 1-2 เดือนทันที เบื้องต้นบางส่วนก็ต้องดูแลตัวเองใช้ของที่มีไปก่อน แต่ บช.ก. ก็จะช่วยในส่วนที่ขาด แต่ข้อดีในส่วนของการทำงานก็จะรวดเร็วขึ้นไม่ต้องลงไปจากส่วนกลางเหมือนเมื่อก่อน ถ้าเราเอาประชาชนเป็นตัวตั้งภารกิจของตำรวจสอบสวนกลางก็จะช่วยคานอำนาจในการช่วยดูแลปัญหาอาชญากรรมจากท้องที่ จะทำให้ประชาชนมีที่ร้องเรียน 2 ที่ นอกจากโรงพัก

“เดิมหน่วยงานอยู่ในส่วนกลางก็สามารถดูแลได้ทั่วถึง แต่เมื่อไปอยู่ในพื้นที่แล้ว ก็มีแค่ผู้กำกับไปดูแล เราก็ต้องใช้วิ ธีการเหมือนกับจเรตำรวจ ผู้ใหญ่ระดับผู้บังคับการ หรือแม้แต่ผู้บัญชาการก็ต้องลงไปดูแลด้วยตนเอง เพราะเราก็เป็นห่วงการทำงานว่าอาจก้าวล่วงตำรวจในพื้นที่ และอาจกระทบกระทั่งได้ เราก็พยายามทำความเข้าใจและเขียนเป็นคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามหน่วยงานของตนเอง และช่วยสนับสนุนตำรวจท้องที่ในการปราบปรามเมื่อมีการร้องขอในเรื่องที่เราชำนาญ เช่น ด้านเทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติ เด็กและสตรี ถ้าเราทำงานในหน้าที่ของเราก็จะมีเกียรติศักดิ์ศรีก็จะไม่มีใครมาว่าได้” พล.ต.ท.อดิศร กล่าวถึงการดูแลลูกน้องเมื่อต้องลงไปอยู่ในพื้นที่

สำหรับส่วนที่เกรงว่าเมื่อตำรวจสอบสวนกลางบางหน่วยงานเมื่อลงไปอยู่ในพื้นที่อาจดูแลไม่ทั่วถึงและทำให้มีตำรวจนอกแถว เหมือนกรณี ตชด. แก๊งอุ้มเรียกค่าไถ่นั้น พล.ต.ท. อดิศร กล่าวว่า ตรงนี้ผู้กำกับจำต้องเป็นคนที่รับผิดชอบคนแรกในพื้นที่ ทั้งอาญาและวินัยต้องลงไปดูแลด้วยตนเอง ในการประชุมก็กำชับนายตำรวจระดับผู้การให้คอยตรวจสอบการทำงานของลูกน้องเมื่อมีข่าวสารที่ไหนก็ต้องทราบทันที ผู้กำกับบางคนต้องรับผิดชอบหลายหน่วยจึงต้องรับผิดชอบมากขึ้นจะอยู่นอกพื้นที่ไม่ได้ เพราะหากมีเรื่องแล้วไม่สามารถรายงานได้ก็จะทราบทันที

พล.ต.ท.อดิศร ยังกล่าวทิ้งท้ายว่าตนทำงานใน บช.ก. มารวมกว่า 20 ปี ก็จะเข้าใจจิตใจตำรวจที่ปฏิบัติงานแต่ละหน่วยภารกิจไม่เหมือนกัน จะไปสั่งเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรู้งานและไปนั่งในหัวใจลูกน้องให้ได้ เพราะงานสอบสวนกลางไม่ใช่งานรับแจ้งประจำวัน แต่ละงานไม่มากแต่หน้างานมันใหญ่ผู้ที่ทำงานจึงต้องทุ่มเท และขยายผลอย่างต่อเนื่อง เราจึงต้องเข้าใจลูกน้อง ลูกน้องก็จะทำงานสุดความสามารถ หากดุด่าขาดเหตุผลงานก็จะไม่ออก คาดหวังว่าถ้าเราทำงานให้ชัดเจน และเร่งรัดกวดขันทำงานอย่างจริงจังเชื่อว่าผลงานจะออกมาให้ประชาชนตัดสินเอง

ปีที่ 67 ของ บช.ก. ในรูปโฉมใหม่ที่ลงไปหาประชาชนในพื้นที่ ภายใต้การบริหารของ พล.ต.ท.อดิศร นนทรีย์ ซึ่งเคยสร้างผลงานในการดูแล กทม. มาแล้ว ก็หวังว่าจะนำพาตำรวจสอบสวนกลางในยุคนี้ให้สร้างผลงานเพื่อประชาชนต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น