ศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน แถลงยอดผู้เสียชีวิตของวันที่ 2 ม.ค.50 เกิดอุบัติเหตุ 494 ครั้ง เสียชีวิต 33 คน บาดเจ็บ 530 คน ยอดสรุป 6 วันอันตราย (28 ธ.ค.50-2 ม.ค.51) มีอุบัติเหตุ 4,121 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 369 คน บาดเจ็บ 4,514 คน เชียงรายเกิดอุบัติเหตุสูงสุด 144 ครั้ง กรุงเทพฯครองแชมป์ มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 20 คน เมาแล้วขับเป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง สั่งกำชับเจ้าหน้าที่ให้เข้มงวดเรื่องการจำหน่ายสุรา
วันนี้ (3 ม.ค.) นายบัญญัติ จันทน์เสนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) แถลงถึงสถิติผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2551 วันที่ 2 ม.ค.2551 ณ ศูนย์ปฏิบัติการ ร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2551 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ว่า วันที่ 2 ม.ค.2551 เกิดอุบัติเหตุ 494 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 33 คน ผู้บาดเจ็บ 530 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 34.6 รองลงมา ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 20.0 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 87.3 รองลงมา ได้แก่ รถปิกอัพ ร้อยละ 6.2 อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนทางตรงของถนนหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 52.0 และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เวลา 16.01-20.00 น.คิดเป็นร้อยละ 32.8 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 21 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ นครปฐม และตรัง จังหวัดละ 18 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ และบุรีรัมย์ จังหวัดละ 3 คน รองลงมาได้แก่ ร้อยเอ็ด พิจิตร นครสวรรค์ ชัยภูมิ พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี และสงขลา จังหวัดละ 2 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 54 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ สมุทรสงคราม และกาฬสินธุ์ จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 24 คน รองลงมา ได้แก่ สุรินทร์ 22 คน
สรุปอุบัติเหตุทางหลวง 6 วัน (วันที่ 28 ธ.ค.50-2 ม.ค.51) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นรวม 4,121 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2550 จำนวน 43 ครั้ง ร้อยละ 1.05 ผู้เสียชีวิตรวม 369 คน น้อยกว่าปี 2550 จำนวน 38 คน ร้อยละ 9.34 ผู้บาดเจ็บรวม 4,514 คน น้อยกว่าปี 2550 จำนวน 32 คน ร้อยละ 0.70 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดในช่วง 6 วัน ได้แก่ เชียงราย 144 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ นครปฐม 128 ครั้ง และสุรินทร์ 126 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 20 คน รองลงมา ได้แก่ ขอนแก่น 18 คน และนครปฐม 16 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 156 คน รองลงมา ได้แก่ สุรินทร์ 149 คน และนครปฐม 136 คน จังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ปัตตานี นราธิวาส และ สตูล
สำหรับการบังคับใช้กฎหมายของวันที่ 2 ม.ค.2551 มีการเรียกตรวจตามมาตรการ 3 ม.2 ข.1 ร.จำนวน 1,431,986 คัน พบการกระทำผิดและดำเนินคดีจำนวน 36,575 คน เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนยานพาหนะที่เรียกตรวจ พบว่า ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 8.34 รองลงมา ได้แก่ มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 3.37 ร้อยละของผู้กระทำผิดและถูกดำเนินคดีแต่ละมาตรการ ได้แก่ ไม่มีใบขับขี่ ร้อยละ 37.47 รองลงมา ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 31.23 โดยในวันที่ 6 ของช่วง 7 วันระวังอันตราย มีการตั้งจุดตรวจรวม 3,064 จุด เฉลี่ย 3.31 จุดตรวจ/อำเภอ เฉลี่ย 29 คน/จุดตรวจ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำจุดตรวจรวม 88,992 คน สำหรับการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีการตั้งจุดตรวจในหมู่บ้าน/ชุมชน จำนวน 8,062 จุด มีการจัดตั้งจุดบริการประชาชน 3,307 จุด และตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมจังหวัด/อำเภอ 973 จุด
นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า เนื่องจากวันนี้ยังเป็นวันทำงาน และเข้าสู่ช่วงสภาวะปกติแล้ว แต่ยังคงมีพี่น้องประชาชนบางส่วนที่ยังเดินทาง จึงขอให้ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง เพราะสถิติในช่วงที่ผ่านมา เมาแล้วขับเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของกาารเกิดอุบัติเหตุ ศูนย์ปฏิบัติการร่วมจึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจให้เข้มงวดการจำหน่ายสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณสองข้างทาง ส่วนผูขับขี่ควรงดพฤติกรรมเสี่ยง เร็ว เมา ง่วง โทร.รวมทั้งขับขี่ด้วยความไม่ประมาท หากง่วงนอน มีอาการอ่อนเพลีย และไม่ชำนาญเส้นทางให้ผู้ขับขี่ที่ชำนาญเส้นทางกว่า เป็นผู้ขับรถแทน สำหรับผู้ที่ขับผ่านเส้นทางเสี่ยง เช่น บริเวณไหล่เขา หมอกหนา ทางแยก และสภาพถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ขอเชิญประชาชนร่วมเป็นอาสาสมัครเฝ้าระวัง หรือผู้มีจิตอาสา ร่วมเฝ้าระวังเหตุ หากพบเห็นผู้กระทำผิด ฝ่าฝืนกฎจราจร หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยทันที ที่สายด่วนสาธารณภัย 1784 หรือ จส.100 ตลอด 24 ชั้วโมง เพื่อประสานความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป