กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อวันก่อนมีดรามาเกี่ยวกับอินโฟกราฟิกของการรถไฟแห่งประเทศไทย เผยแพร่หลักเกณฑ์การจองตั๋วล่วงหน้า ขบวนรถชุด 115 คัน (CNR) จำนวน 8 ขบวน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา
ความจริงแล้ว ทีมพีอาร์การรถไฟฯ ทำอินโฟกราฟิกอีกชิ้นหนึ่งในโพสต์เดียวกัน จะบอกว่าสถานีไหนจองตั๋วล่วงหน้า 90 วัน 30 วัน หรือ 1 วัน แต่กลับมีคนจงใจแชร์เฉพาะอินโฟกราฟิกชุดที่เป็นปัญหา เกิดดรามาเป็นไฟลามทุ่ง
แต่จริงๆ แล้วถ้าสื่อสารโดยบอกชื่อสถานีที่สามารถจองตั๋วรถไฟได้สูงสุด 90 วันเพียงอย่างเดียวเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ยุคนี้จำเป็นต้องสื่อสารเรื่องที่เข้าใจง่ายขึ้นก่อน แล้วค่อยมาสื่อสารรายละเอียดที่สลับซับซ้อนในระยะต่อไป
หรือจะทำอย่าง สถานีรถไฟบาลอ จังหวัดยะลา ที่ทำอินโฟกราฟิกขบวนรถทักษิณารัถย์ก็ได้ ซึ่งจะแสดงระยะทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และใช้สีแสดงสัญลักษณ์ว่าสีไหนสามารถจองตั๋วได้ 90 วัน 30 วัน และ 1 วัน
ที่ผ่านมาทีมพีอาร์การรถไฟฯ ถูกตำหนิว่าประชาสัมพันธ์ข่าวช้าตลอด หลายเรื่องบรรดา เรลแฟน (Railfan) หรือคนรักรถไฟรู้และบอกข่าวไปหมดแล้ว แต่กลับเพิ่งลงข่าวประชาสัมพันธ์ ใกล้เวลาให้บริการ หรือผ่านไประยะหนึ่งแล้ว
ต้องไปดูเฟซบุ๊ก KTM Berhad ของการรถไฟมาเลเซีย นอกจากจะมีมุมน่ารักๆ ให้เห็นแล้ว ประกาศสำคัญอย่างการขยายเส้นทางรถไฟ KTM Komuter จากสถานีบัตเตอร์เวิร์ธไปสถานีอิโปห์ ยังบอกล่วงหน้าไปตั้งหลายวัน
เรื่องที่เป็นประโยชน์ หรือเรื่องจำเป็นแก่ผู้โดยสาร ต้องประชาสัมพันธ์หลายฝ่าย อย่างการปรับเวลาเดินรถสายใต้ ที่จะมีผลในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ทุกวันนี้ประชาชนยังไม่ทราบเลยว่ามีการเปลี่ยนเวลาเดินรถหลายเส้นทาง
คนที่ทราบมีอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือคนที่จองตั๋วรถไฟผ่าน D-Ticket ที่จะแสดงเวลาใหม่ กลุ่มที่สองคือคนที่ไปใช้บริการรถไฟที่สถานีรถไฟบางแห่งติดประกาศล่วงหน้า นอกนั้นตาสีตาสา ยายมียายมา แทบไม่มีใครรู้
ไม่อยากจะบอกว่าทีมพีอาร์การรถไฟฯ ควรต้องทำอย่างไร เพราะไม่อยากมีปัญหาทำนองว่าแตะต้องไม่ได้ ก็ได้แต่ภาวนาว่า สักวันหนึ่งถ้าเขารู้ตัวว่ามีหน้าที่ทำอะไร บกพร่องตรงไหน ก็ค่อยแก้ไขตรงจุดนั้น
เอาเป็นว่า จำง่ายๆ สถานีรถไฟที่สามารถจองขบวนรถด่วนพิเศษ ชุด 115 คัน (CNR) จากกรุงเทพฯ ได้สูงสุด 90 วัน มีดังนี้
อุตราวิถี : เชียงใหม่ ลำพูน ขุนตาน นครลำปาง เด่นชัย ศิลาอาสน์
ทักษิณารัถย์ : ชุมทางหาดใหญ่ พัทลุง ชุมทางทุ่งสง สุราษฎร์ธานี
อีสานวัตนา : อุบลราชธานี กันทรารมย์ ศรีสะเกษ อุทุมพรพิสัย ศีขรภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ลำปลายมาศ
อีสานมรรคา : หนองคาย อุดรธานี กุมภวาปี น้ำพอง ขอนแก่น บ้านไผ่ เมืองพล
ช่องทางการจองทำได้ตามสะดวก อย่างผู้เขียนใช้แอปพลิเคชัน D-TICKET จ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตธนาคารใดก็ได้ หรือหากใครสะดวกจองที่สถานีรถไฟใกล้บ้านทั่วประเทศก็สามารถทำได้
ส่วนสถานีรถไฟที่จองได้สูงสุด 30 วัน เช่น สายเหนือ นครสวรรค์ พิษณุโลก, สายตะวันออกเฉียงเหนือ ปากช่อง นครราชสีมา ลำนารายน์ ชุมทางบัวใหญ่ และสายใต้ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ก็ยังมีรถขบวนอื่นให้บริการ
เมื่อวันก่อน มีโอกาสกลับมาใช้บริการรถไฟขบวนรถด่วนพิเศษ CNR อีกครั้ง คราวนี้เป็นขบวนรถด่วนพิเศษ “อีสานมรรคา” ขบวนที่ 26 หนองคาย-กรุงเทพอภิวัฒน์ ก่อนหน้าที่จะประกาศขยายเวลาไป 1 วัน
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ มีดรามาขบวนรถถูกจองเต็มเร็วมาก ผู้เขียนตัดสินใจจองตั๋วล่วงหน้า 1 เดือน ปรากฏว่าผ่านไป 1 วัน เตียงล่างเกือบเต็ม โชคดีที่ยังมีเหลืออยู่ 1 ที่นั่ง ไม่เช่นนั้นคงต้องจองเตียงบนซึ่งมองไม่เห็นอะไรเลย
ในวันนั้นนั่งไถมือถือประมาณตีหนึ่งครึ่ง ได้คันที่ 12 เตียงล่าง ค่าโดยสาร 994 บาท ถ้าเป็นเตียงบนอยู่ที่ 884 บาท แม้จะถูกกว่า 100 บาท แต่มองไม่เห็นอะไรนอกจากเพดาน เหมาะกับผู้โดยสารที่ชอบบรรยากาศ "บำเพ็ญตนอยู่บนภู"
สถานีรถไฟหนองคาย ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองหนองคายประมาณ 3 กิโลเมตร และห่างจากด่านพรมแดนหนองคายประมาณ 1.5 กิโลเมตร แต่ที่นี่ไม่มีรถจักรยานยนต์รับจ้าง มีแต่รถสามล้อเครื่อง หรือสกายแลปเท่านั้น
ขณะที่รถทัวร์จากนครหลวงเวียงจันทน์-หนองคาย ปัจจุบันจอดส่งผู้โดยสารเพียง 2 จุด ได้แก่ ด่านพรมแดนหนองคาย และสถานีขนส่งผู้โดยสารหนองคาย ไม่มีจอดกลางทางอีกแล้ว จึงต้องเสียค่าสกายแลป 40 บาท
แนะนำว่าถ้ามาจากสถานีรถเมล์นครหลวงเวียงจันทน์ (ตลาดเช้า) มี 2 ตัวเลือก ถ้าไปขึ้นรถไฟที่สถานีหนองคาย เที่ยวเวลา 15.30 น. กำลังสบาย แต่ถ้าเที่ยวเวลา 18.00 น. บอกตามตรงว่าหวาดเสียวนิดๆ เพราะต้องผ่าน ตม.ทั้งสองฝั่ง
แต่ถ้าไปขึ้นรถไฟที่สถานีอุดรธานี อยากจะไปเดินเล่นห้างเซ็นทรัล และยูดีทาวน์ แนะนำให้ไปถึงช่องขายตั๋วก่อนเที่ยง เพราะเที่ยวเวลา 12.00 น. กำลังสวย แต่รอบ 14.00 น. ต้องเผื่อเวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมง เวลาเดินเที่ยวจะน้อยลง
ที่สถานีรถเมล์นครหลวงเวียงจันทน์ ช่องขายตั๋วรถเมล์ไปหนองคายและอุดรธานี หยุดพักเที่ยง 12.00-13.00 น. ซื้อตั๋วไปแล้วถ้าจะไปเดินเล่นย่านตลาดเช้า มีบริการรับฝากของชิ้นละ 10 บาท
ตอนนั้นระหว่างนั่งรถสกายแลปแวะสถานีรถไฟ เห็นแบคแพกเกอร์สาวท่านหนึ่งสะพายเป้ใบใหญ่ ออกจากด่านพรมแดนหนองคาย เดินไปยังสถานีรถไฟหนองคายด้วยตัวเองแล้ว ก็อยากนับถือใจเหมือนกัน
ที่สถานีรถไฟหนองคาย มีสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ จุดชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือฟรี มีร้านสะดวกซื้อ มีบริการรับฝากของชิ้นละ 10 บาท (ปิด 19.00 น.) มีห้องสุขา คนละ 3 บาท และห้องอาบน้ำ คนละ 10 บาทให้บริการ
คนที่เดินทางท่องเที่ยวมาเหนื่อยๆ อยากจะอาบน้ำสักครั้งให้ชื่นใจก่อนขึ้นรถไฟก็ทำได้ แต่ต้องนำเครื่องอาบน้ำและผ้าเช็ดตัวมาเอง ซึ่งคนที่เดินทางแบบแบคแพกเกอร์บ่อยๆ จะพกผ้าเช็ดตัวติดตัวเสมอ
ส่วนอาหารการกิน ช่วงที่รถไฟยังไม่ออกจากสถานี ถ้าไม่อยากทานมาม่า แนะนำให้ซื้อเสบียงมาจากข้างนอกจะถูกปากกว่า หรือจะซื้ออาหารจากแม่ค้าที่เร่ขายในสถานีก็ได้
ขบวนรถ CNR จอดอยู่ที่ชานชาลาที่ 2 ตั้งแต่ช่วงเย็น แต่ยังไม่เปิดให้ผู้โดยสารขึ้นไปบนขบวนรถ ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่จะเติมน้ำใช้ ทำความสะอาด และปูเตียงจนครบ พร้อมให้บริการ
แตกต่างจากขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ที่ 32 ชุมทางหาดใหญ่-กรุงเทพอภิวัฒน์ ขณะจอดที่สถานียังเป็นเบาะนั่ง กระทั่งเจ้าหน้าที่เริ่มทยอยปูเตียง หลังออกจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ไปแล้วประมาณครึ่งชั่วโมง
เจ้าหน้าที่จะเปิดให้ผู้โดยสารขึ้นไปบนขบวนรถอีสานมรรคาได้ หลังจากขบวนรถเร็วที่ 134 หนองคาย-กรุงเทพอภิวัฒน์ ออกจากสถานีหนองคายไปแล้วเมื่อเวลา 18.50 น. จึงจะเดินข้ามไปยังชานชาลาที่ 2 เพื่อขึ้นรถได้
โปรดสังเกตหน้าจอภายในขบวนรถว่า รถของเราคันที่เท่าไหร่ เมื่อเทียบกับตั๋วโดยสาร อย่าสังเกตเพียงแค่หน้าประตู เพราะมีชาวต่างชาติรายหนึ่งเข้าใจว่าเป็นคันที่ 11 ขึ้นไปนอนบนเตียง ปรากฏว่าเจ้าของเตียงตัวจริงชี้ว่าไม่ใช่
รถไฟจอดให้ผู้โดยสารขึ้นไปบนขบวนรถประมาณ 50 นาที เวลา 19.40 น. จึงเริ่มเคลื่อนออกจากสถานีหนองคาย ซึ่งเวลานั้นทุกคนจะต้องนั่งหรือนอนบนเตียงที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้หมดแล้ว
เตียงล่างที่เจ้าหน้าที่ปูให้ประกอบด้วย เบาะรองนอน หมอน ปูด้วยผ้าปูสีขาว ตรงกับตำแหน่งปลั๊กไฟและไฟอ่านหนังสือ ถัดมามีน้ำดื่มตรารถไฟแจกให้ 1 ขวด และมีผ้าห่มบริการผู้โดยสารสีแดงเลือดหมู 1 ผืน
ก่อนหน้านี้ การรถไฟฯ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ชื่อว่า “ซินไฉฮั้ว” ให้บริการผ้าห่มบริการบนรถโดยสาร เป็นผ้าห่มขนหนูสีขาวผืนหนาๆ แกะห่อออกมามีกลิ่นหอมของผงซักฟอก ดมแล้วรู้สึกชื่นใจเหมือนเพิ่งซักผ้ามาใหม่ๆ
นึกถึงความสุขเล็กๆ เวลาเดินผ่านบ้านคนในหมู่บ้าน แล้วได้กลิ่นผงซักฟอกโชยมา ในยามแดดจ้าลมสงบ หรือถ้าเป็นยุคนี้ร้านซักผ้าหยอดเหรียญ ได้กลิ่นผงซักฟอกโดยรอบแล้วรู้สึกเหมือนเป็นคนใหม่
ปัญหาก็คือ ผ้าห่มซินไฉฮั้วเป็นผ้าห่มสีขาว แม้จะซักและอบฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว แต่เจอผู้โดยสารร้อยพ่อพันธุ์แม่ทำคราบเปื้อนบ้าง เอาไปเช็ดเท้าบ้าง แล้วพอขจัดคราบไม่หมด ผู้โดยสารคนต่อมาไม่พอใจ ดรามาผ่านโซเชียลฯ บ่อยครั้ง
ที่สุดแล้ว การรถไฟฯ จึงตัดสินใจปรับเงินซินไฉฮั้ว แล้วต่อมาก็เปลี่ยนผู้รับจ้างรายใหม่ คือ “มาสเตอร์ ลอนดรี้” ซึ่งเสนอราคาต่ำสุด 434.11 ล้านบาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
ลักษณะของผ้าห่มบริการบนรถโดยสารของมาสเตอร์ลอนดรี้ เป็นผ้าห่มนวมสีแดงเลือดหมู ด้านในสีเหลือง ซึ่งบางกว่าของเดิม พอทนหนาวได้ มีแท็กตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ และตัวหนังสือ SRT พร้อมระบุปี 2566
ตามสัญญาการรถไฟฯ บังคับผู้รับจ้างว่าเมื่อนำมาให้บริการครบ 1 ปี ผู้รับจ้างจะต้องเปลี่ยนผ้าห่ม ผ้าปูที่นอนเป็นชุดใหม่ทดแทนของเดิมทั้งหมดทันที ผ้าห่มเหล่านี้หลังวันที่ 1 กันยายน 2566 จะไม่ได้นำมาใช้อีกต่อไป
ความรู้สึกผ้าห่มของมาสเตอร์ลอนดรี้ เมื่อแกะห่อพลาสติกแล้ว แตกต่างจากผ้าห่มของซินไฉฮั้วอย่างชัดเจน เพราะไม่มีกลิ่นอะไรบ่งบอกว่าผ่านการซักมาแล้วแต่อย่างใด และไม่รู้ว่าเก็บไว้นานแล้วหรือไม่
แม้จะเชื่อโดยสุจริตใจว่าผ้าห่มบริการบนรถโดยสารผ่านการซักมาแล้ว แต่ถ้าผ้าที่ผ่านการซักและมีกลิ่นหอม เมื่อผ่านการเก็บรักษาไประยะหนึ่งแล้ว ความหอมที่ติดอยู่บนผ้าเริ่มจางลง เหลือแต่กลิ่นอ่อนๆ หรือไม่ได้กลิ่นอีกเลย
ที่กล่าวมานี้ไม่ได้เรื่องมากอะไร แต่กลิ่นเสมือนเป็นสัญลักษณะอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงสัญญาณอย่างหนึ่งแก่ผู้บริโภค เหมือนก๊าซหุงต้มที่เติมสารเมอร์แคปแทน (Mercaptan) ซึ่งมีกลิ่นเหม็นเพื่อช่วยเตือนให้ทราบเมื่อมีแก๊สรั่ว
ขนาดผ้าห่มของนครชัยแอร์ที่บริการแก่ผู้โดยสารเมื่อรถออกจากสถานีขนส่ง ซึ่งเป็นผ้าห่มแบบบรรจุห่อ ยังมีกลิ่นที่บ่งบอกถึงผ่านการซักมาแล้วอยู่เลย เมื่อได้กลิ่นแบบนี้ผู้บริโภคจะรู้สึกเกิดความมั่นใจที่จะแกะนำมาใช้
เอาเป็นว่าแค่อยากเล่าสู่กันฟังเฉยๆ คงไม่คาดหวังอะไรกับบริการนับจากนี้ แค่อาศัยเป็นที่พึ่งในยามตั๋วเครื่องบินราคาแพงก็นับว่าเป็นบุญโขแล้ว เพียงแค่เสียดายกับผู้รับจ้างรายเก่าที่ทำไว้ดีเฉยๆ
หากในวันข้างหน้าเปลี่ยนผู้รับจ้างรายใหม่เข้ามา ก็ขอให้เป็นผ้าห่มขนหนูหนาๆ เพราะอุ่นสบายกว่าเยอะ แต่เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเข้ม เช่น สีแดงเลือดหมู สีน้ำเงินกรมท่าแทน จะได้ไม่มีผู้โดยสารดรามากันอีก
รถไฟออกจากสถานีหนองคาย แวะรับส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟอุดรธานี เวลาประมาณ 20.22 น. เผื่อใครมาจากอุดรธานี อยากอาบน้ำก่อนนอน ไปเซอร์เวย์มาแล้วมีห้องอาบน้ำ 10 บาทให้บริการอยู่ 2 ห้อง
ต่อจากนั้นแวะรับผู้โดยสารที่สถานีรถไฟกุมภวาปีประมาณ 3 ทุ่ม สถานีรถไฟน้ำพองตอน 3 ทุ่ม 35 นาที และขึ้นไปบนทางยกระดับ รับผู้โดยสารที่สถานีรถไฟขอนแก่นตอน 22.02 น. ซึ่งศูนย์การค้าปิดไฟให้กลับบ้านหมดแล้ว
ก่อนหน้านั้นด้วยความหิว เดินไปยังตู้เสบียง ก็ยังมีคนนั่งรับประทานอาหารอยู่บ้าง สั่งชุดข้าวต้มหมู 150 บาท ซึ่งเป็นเซตที่ถูกที่สุด ในชุดประกอบด้วยข้าวต้มหมู สับปะรดหั่นชิ้น กาแฟหรือโอวัลตินร้อน และน้ำเปล่า 1 ขวด
ในวันนั้นขบวนรถล่าช้าประมาณ 12-13 นาที ไปตามรถไฟทางคู่ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น แวะรับผู้โดยสารที่สถานีรถไฟบ้านไผ่ สถานีรถไฟเมืองพล ถึงสถานีรถไฟชุมทางบัวใหญ่ รถจอดนานพอสมควร
ต่อจากนั้น รถไฟไปตามเส้นทางสายชุมทางแก่งคอย-ชุมทางบัวใหญ่ แวะรับส่งผู้โดยสารที่สถานีลำนารายน์ สารภาพว่าวันนั้นนอนไม่หลับ พยายามปล่อยเนื้อปล่อยตัวแล้วก็ไม่หลับลึกเสียที
กระทั่งรถไฟค่อยๆ ไต่เขาบริเวณสถานีรถไฟช่องสำราญ ลอดใต้อุโมงค์เขาพลึง มองไปนอกหน้าต่างเห็นป่าหญ้า เงาภูเขา และไฟส่องทางถนนสุรนารายน์ เวลาประมาณตีสอง จากนั้นจอดที่สถานีลำนารายน์
ต่อจากนั้นจะได้เห็นรถไฟลอยน้ำในยามกลางคืน บนอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งบรรยากาศจะต่างจากตอนกลางวัน ใครที่สายตายังดีมองออกไปจะเห็นผืนน้ำและภูเขาอยู่ตรงหน้า ยิ่งถ้ามีพระจันทร์อยู่ด้วยยิ่งรู้สึกโรแมนติก
เมื่อรถไฟผ่านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ไปแล้ว จึงหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย รับส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟชุมทางแก่งคอยเกือบตีสี่ สถานีรถไฟสระบุรี 04.14 น. และสถานีรถไฟอยุธยา 04.47 น.
เราตื่นจากเตียงประมาณตีห้า ซึ่งผู้โดยสารส่วนหนึ่งลุกขึ้นจากเตียงแล้ว เจ้าหน้าที่เรียกให้ผู้โดยสารลุกออกจากเตียงทีละเตียงเพื่อเก็บเตียงปรับเป็นเบาะที่นั่งเหมือนเดิม พนักงานรถเสบียงก็ประกาศขายกาแฟร้อน โอวัลตินร้อน
ช่วงนั้นตัดสินใจทานอาหารกล่องที่ซื้อไว้ ออกไปแปรงฟันที่อ่างล้างหน้าเพื่อประหยัดเวลา เพราะคิดว่าจะอาบน้ำที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ฝากกระเป๋าสัมภาระที่ล็อกเกอร์ แล้วนั่งรถ Shuttle Bus ฟรี ไปทำงานที่ออฟฟิศต่อ
ตอนนั้นท้องฟ้ายังมืด ไม่สว่างดี รถไฟพยายามทำเวลาให้ตรงกับตารางเดินรถ กระทั่งเวลา 05.24 น. มาถึงสถานีรถไฟรังสิต ผู้โดยสารเริ่มทยอยลงส่วนหนึ่ง ก่อนที่จะขึ้นทางยกระดับ ถึงสถานีรถไฟดอนเมือง 05.35 น.
จากนั้นรถไฟไปตามทางยกระดับ ท้องฟ้าเริ่มสว่างขึ้นเล็กน้อย ในที่สุดรถเข้าสู่ชานชาลาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เวลา 05.45 น. เบ็ดเสร็จใช้เวลาจากหนองคายถึงกรุงเทพฯ ประมาณ 10 ชั่วโมง
ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ อย่างที่เคยเล่าให้ฟังว่า ผู้โดยสารที่มีตั๋วโดยสาร สามารถใช้บริการอาบน้ำฟรี ที่ห้องน้ำบริเวณประตู 5 เพียงแสดงตั๋วรถไฟ หรือไฟล์ PDF ตั๋วรถไฟที่เราโดยสารมาแก่เจ้าหน้าที่
รวมทั้งสามารถใช้บริการรถ Shuttle Bus ระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กับสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ได้ฟรี ขึ้นทางด่วนศรีรัช ไปลงถนนพระรามที่ 4 ไม่ต้องอัดแน่นเป็นปลากระป๋องยามเช้าบนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
กล่าวถึงที่ฝากของสัมภาระ ปัจจุบันมีล็อกเกอร์ให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีขนาดล็อกเกอร์ให้เลือกแตกต่างกันไป แต่ราคาจะคิดอัตโนมัติ ชั่วโมงแรก 60 บาท ชั่วโมงที่สอง 120 บาท และชั่วโมงที่ 3 เป็นต้นไป คิดเหมาจ่าย 180 บาท
รับเฉพาะธนบัตรเท่านั้น เหรียญไม่รับ สแกนคิวอาร์โค้ดไม่รับ และเครื่องไม่ทอนเงิน เพราะฉะนั้นเตรียมธนบัตรใบละ 20 บาทไว้เยอะๆ จ่ายเฉพาะชั่วโมงแรก 60 บาทไปก่อน หลังจากนั้นตอนรับกระเป๋าคืนค่อยจ่ายส่วนที่เหลือ 120 บาท
หลังเลิกงาน สำหรับคนที่บ้านอยู่ฝั่งศาลายา บรมราชชนนี ถ้าไม่ติดเรื่องกลิ่นสนิมเหล็ก เมื่อรับกระเป๋าคืน สามารถใช้บริการรถไฟขบวน 167 กรุงเทพอภิวัฒน์-กันตัง และขบวน 85 กรุงเทพอภิวัฒน์-นครศรีธรรมราช ได้
วันนั้นตัดสินใจไม่ถูกว่าจะไปทางไหนเพราะสัมภาระหนักมาก ทีแรกคิดในใจว่าคงแพงแน่เลย แต่พอถามเจ้าหน้าที่ว่า ไปลงศาลายาเท่าไหร่ ได้คำตอบว่า ไม่บวกค่าธรรมเนียม 20 บาท ตัดสินใจซื้อตั๋วแล้วรีบวิ่งขึ้นไปบนชานชาลา
จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แวะรับผู้โดยสารที่สถานีรถไฟบางบำหรุ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาทีเศษ ถึงสถานีรถไฟศาลายา จากนั้นต่อรถแท็กซี่เข้าบ้าน ถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ
นี่คือประสบการณ์เดินทางด้วยรถไฟอีกครั้ง นำมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้อ่านที่สนใจ หรือจำเป็นต้องเดินทางด้วยรถไฟได้มีเวลาศึกษาและเตรียมตัวในอนาคต
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
ขบวนรถไฟทักษิณารัถย์ กับข้าวแกงกระทงป้าน้อย (14 ต.ค. 2565)