กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อช่วงหยุดยาว วันแม่แห่งชาติที่ผ่านมา ผู้เขียนไปใช้ตั๋วเครื่องบินที่ซื้อมาเมื่อปีที่แล้ว เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ แต่ขากลับตั๋วเครื่องบินแพงมาก จึงเลือกเดินทางกลับกรุงเทพฯ ด้วยรถไฟอีกครั้ง
ถามว่าทำไมไม่นั่งรถทัวร์ เหตุผลที่หนึ่ง อยากลองนั่งรถไฟจากเชียงใหม่ลงมากรุงเทพฯ ดูบ้าง ที่ผ่านมารถไฟสายเหนือเคยนั่งไกลสุด กรุงเทพ-พิษณุโลก กับ นครลำปาง-เชียงใหม่ ส่วนเหตุผลที่สอง เบื่อกึ่งนั่งกึ่งนอนบนรถทัวร์กว่า 10 ชั่วโมง
ก่อนหน้านี้ตั้งใจว่าจะจองขบวนรถด่วนพิเศษอุตราวิถี (CNR) ขบวน 10 ซึ่งเป็นรถใหม่ แต่ปรากฏว่าเต็มทุกที่นั่ง กระทั่งมาได้ที่นั่งสุดท้าย รถด่วนพิเศษขบวนที่ 14 เชียงใหม่-กรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นชั้น 2 เตียงบน ค่าโดยสาร 768 บาท
ที่ผ่านมาเคยนั่ง ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ ขบวน 32 ชุมทางหาดใหญ่-กรุงเทพฯ ตอนนั้นลงปลายทางศาลายา ค่าโดยสารชั้น 2 เตียงล่าง 1,093 บาท แม้จะล่าช้ามาก แต่สะอาดและสบายเพราะเป็นรถใหม่ที่สุด ณ เวลานี้
แต่พอมาเป็นรถนอนปรับอากาศแบบรุ่นเก่า แถมเป็นเตียงบนด้วย ก็รู้สึกเกร็งขึ้นมาหน่อยเพราะไม่เคยนั่งมาก่อน ที่ผ่านมาเคยคิดที่จะนั่งรถนอนลักษณะแบบนี้เหมือนกัน จากปาดังเบซาร์-กรุงเทพอภิวัฒน์ แต่ก็หาโอกาสไม่ได้สักที
ต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ในการนั่งๆ นอนๆ บนรถไฟจากเชียงใหม่มายังกรุงเทพฯ ด้วยรถนอนปรับอากาศรุ่นเก่าแต่เขาว่ายังเก๋า ครั้งแรกในชีวิต
เริ่มต้นที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ เมื่อรู้ว่าต้องนั่งรถไฟยาวๆ จึงตัดสินใจซื้อเสบียง ซื้อข้าวซื้อน้ำ ซื้อขนมจากซูเปอร์มาร์เก็ตละแวกที่พัก ก่อนที่จะนั่งรถตุ๊กตุ๊กพร้อมสัมภาระ ถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ 15.30 น.
ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 14 เวลาออก 17.00 น. แต่ขบวนรถจอดรอไว้แล้วเมื่อมาถึง ก่อนที่จะประกาศเรียกขึ้นรถราว 4 โมงเย็น ช่วงที่มาถึงสถานี รถไฟธรรมดาขบวนที่ 407 นครสวรรค์-เชียงใหม่ เพิ่งเดินทางมาถึงสถานี
ความจริงสถานีเชียงใหม่มีห้องอาบน้ำ ถ้ามีเวลามากพอสามารถเข้าไปใช้บริการได้ แต่ตอนนั้นทำงานอยู่ และงานไม่เสร็จ สรุปคือน้ำไม่ได้อาบ เหนียวตัวมาก แม้รถที่เรานั่งจะเป็นรถปรับอากาศก็ตาม
ขบวนรถที่เราจองไว้ เป็นรถนั่งและนอนปรับอากาศชั้นที่ 2 บนท.ป.40 ที่นั่ง รุ่นโตคิว เลขข้างรถ 1015 ทราบมาว่าอายุอานามก็กว่า 30 ปีแล้ว
เวลาขึ้นไปบนขบวนรถ ประตูจะเป็นแบบบานเลื่อนที่ต้องเปิดด้วยตัวเอง ต่างจากขบวนรถ CNR ที่เป็นระบบอัตโนมัติเมื่อกดปุ่มเปิดประตู ใครที่ไม่ปิดประตูก็คาอยู่อย่างนั้น อากาศจากภายนอกเข้ามา แต่แอร์ยังคงทำความเย็นอยู่
รถคันนี้มีที่นั่งริมหน้าต่างแบ่งออกเป็นสองฝั่ง มีที่วางสัมภาระด้านล่างและด้านบน มีบันไดสำหรับขึ้นไปที่เตียงบน โต๊ะวางอาหารจะใช้วิธีนำถาดจากด้านล่างขึ้นมาประกอบที่ริมหน้าต่าง สภาพดูแล้วไม่สะอาดนัก
ส่วนปลั๊กเสียบแตกต่างจากขบวนรถ CNR ตรงที่ทั้งขบวนมีปลั๊กกลางเพียงจุดเดียว และนักท่องเที่ยวที่มาก่อนแย่งกันต่อปลั๊กพ่วงเพื่อชาร์จโทรศัพท์มือถือและพาวเวอร์แบงก์กันหมดแล้ว แนะนำว่าเอาเพาเวอร์แบงก์มาเองดีกว่า
ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 14 ออกจากสถานีเชียงใหม่ตรงเวลา 5 โมงเย็น วันนั้นแดดจ้าลมสงบ มองไปนอกหน้าต่างเห็นบ้านเรือนช่วงระหว่างเชียงใหม่ ถึงสถานีลำพูน ในวันนั้นขบวนรถส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ ทั้งฝรั่ง ทั้งจีน ทั้งญี่ปุ่น
รถขบวนนี้จอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีลำพูน ขุนตาน นครลำปาง บ้านปิน เด่นชัย ศิลาอาสน์ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี อยุธยา รังสิต ดอนเมือง และสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
ระหว่างนั้นจะมีพนักงานบนรถเสบียงจำหน่ายอาหาร ดูจากเมนูพบว่าไม่ได้ขายจานเดียวแต่ขายเป็นชุด ชุดละ 190 บาท ประกอบด้วยอาหารจานหลัก ซุปสาหร่าย ขนมจีบ 2 ลูก น้ำส้ม 1 ขวด และสับปะรด รับเฉพาะเงินสด
เราถามพนักงานรถเสบียงว่า รถเสบียงเปิดถึงกี่โมง พนักงานบอกว่า 4 ทุ่มคือเก็บร้านหมดแล้ว
เมื่อออกจากสถานีลำพูนแล้ว ถ้าได้ที่นั่งฝั่งทิศตะวันตก จะได้เห็นความสวยงามของสองข้างทางรถไฟ ทั้งทุ่งนาเขียวขจี วัดทาผาตั้ง เบื้องหลังทิวเขาขุนตาน ผ่านสะพานขาวทาชมภู สะพานสีขาวแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก
กระทั่งรถไฟค่อยๆ เคลื่อนไปอย่างช้าๆ ก่อนเข้าสู่สถานีขุนตาน แล้วจอดลงเมื่อเวลาประมาณ 06.07 น. เพื่อรอหลีกขบวนรถ เป็นรถด่วนพิเศษขบวนที่ 7 กรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่ ออกจากต้นทางเมื่อเวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา
ทีแรกไม่รู้ว่าจอดทำไม สอบถามพนักงานก็ทราบว่ารอหลีกรถอีกขบวนหนึ่ง จึงเดินออกมาที่ขบวนรถชั้น 3 พบว่าปรับปรุงใหม่ สะอาด สุขภัณฑ์บนรถเป็นแบบปิด เทียบกับรถนอนปรับอากาศที่เราจองไว้ยังเป็นสุขภัณฑ์แบบเปิดอยู่เลย
ห้องน้ำบนรถแบ่งเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นสุขภัณฑ์แบบนั่งยองเสมอพื้น มองออกไปจะพบเห็นหินถมรางรถไฟชัดเจน ต้องระวังสิ่งของประจำตัวหล่นลงมา อีกฝั่งหนึ่งเป็นสุขภัณฑ์แบบนั่ง มีอ่างล้างหน้า แปรงฟันอยู่หน้าห้องน้ำ
ปัญหาก็คือ พอกลับมาอีกทีห้องน้ำบนขบวนรถชั้น 3 ถูกปิดตายไปแล้ว ต้องไปใช้ห้องน้ำบนรถนอนปรับอากาศแทนบอกตามตรงว่าไม่กล้าถ่ายหนักตั้งแต่เชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ
เวลา 18.35 น. รถไฟกลับมาเดินรถอีกครั้ง หลังรถด่วนพิเศษขบวนที่ 7 ออกจากอุโมงค์ขุนตาน ถึงคิวขบวนรถของเราลอดเข้าไปในอุโมงค์บ้าง แต่ปัญหาก็คือ ประตูถูกเปิดเอาไว้ จึงได้กลิ่นเครื่องยนต์เข้าไปในห้องโดยสาร
อุโมงค์ขุนตานมีความยาว 1,352.10 เมตร ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2450 แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2461 ใช้เวลาอยู่ในอุโมงค์ประมาณ 4-5 นาที หลังจากนั้นจะเป็นป่า ข้ามสะพานสองหอ สะพานสามหอ และสะพานคอมโพสิต
ตอนนั้นท้องฟ้าก็เริ่มมืดขึ้นมาแล้ว ประมาณ 1 ทุ่ม พนักงานจะทยอยแจ้งว่าจะทำการปูเตียงนอน ก่อนที่จะทยอยปูเตียงให้แต่ละที่นั่ง เริ่มจากกางที่นั่งให้เป็นเตียงล่างก่อน ต่อด้วยเปิดเตียงบน จัดผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน
การปูเตียงแต่ละที่นั่งใช้เวลาคู่ละประมาณ 3-4 นาที หลังจากนั้นต่างคนต่างก็ขึ้นไปนอน ใครจองเตียงล่างก็นอนเตียงล่าง ใครจองเตียงบนก็เข้าไปนอนเตียงบน โดยมีผ้าม่านหนาๆ กั้นไว้อยู่
ผู้โดยสารจะขอให้พนักงานยังไม่ต้องปูเตียงก่อนก็ได้ แต่ต้องไม่เกินเวลาที่กำหนด ถ้าจำไม่ผิดน่าจะประมาณ 2 ทุ่ม เพราะมีผู้โดยสารชาวต่างชาติที่นั่งติดกันขอยังไม่ต้องปูเตียง ภายหลังก็ปูเตียงให้
ในวันนั้นรถไฟถึงสถานีนครลำปาง 19.30 น. ก่อนที่จะเดินรถยาวๆ ผ่านป่าผ่านเขา มุ่งหน้าสู่จังหวัดแพร่ ช่วงนั้นสัญญาณมือถือลดลงเหลือ 3G และ EDGE ก่อนที่จะไม่มีสัญญาณ โชคร้ายที่ฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่ง เลยต้องถอดหูฟังออก
แม้จะทานข้าวที่ซื้อมาจากข้างนอกแล้ว แต่อยากลองขบวนรถเสบียงดูบ้าง ราว 2 ทุ่มจึงเดินไปยังขบวนรถเสบียง ซึ่งต้องผ่านรถนั่งพัดลมชั้น 3 และชั้น 2 ประมาณ 2-3 ขบวน ก็มาถึงตู้เสบียง
สภาพบนรถเสบียงเละเทะไปหน่อย เพราะมีผู้โดยสารก่อนหน้ากินแล้วทำโต๊ะเลอะไว้ อาหารที่นี่ขายเป็นชุด ชุดละ 190 บาท รับเฉพาะเงินสด ไม่มีสแกนจ่าย เราสั่งชุดข้าวผัดรถไฟมา กินเอาบรรยากาศที่สองข้างทางเป็นป่า
ถ้าจะถามถึงรสชาติ ก็เหมือนข้าวผัดที่เป็นอาหารกล่องสำเร็จรูปนั่นแหละ
ด้วยความที่ขบวนรถเสบียงเป็นแบบโอเพ่นแอร์ แถมไม่ได้อาบน้ำจากเชียงใหม่ เนื้อตัวจึงเหนียวเหนอะหนะกว่าเดิม ต้องอาศัยเข้าห้องน้ำถอดเสื้อผ้า ใช้ทิชชู่เปียกเช็ดตัว สบายตัวขึ้นมาบ้าง ก่อนแปรงฟันและเข้านอน
ระหว่างนั้นรถถึงสถานีบ้านปิน 21.05 น. และสถานีเด่นชัย 21.41 น. ก็มีผู้โดยสารเข้ามาบนขบวนรถเพิ่มเติม ซึ่งพนักงานได้ปูเตียงไปก่อนหน้านั้นแล้ว ก่อนที่พนักงานรถเสบียงจะเดินเข้ามาขายเครื่องดื่มครั้งสุดท้ายก่อนปิดบริการ
ด้วยความที่เรานอนเตียงบน จึงมองไม่เห็นอะไร ประมาณ 4 ทุ่มจึงค่อยๆ หลับ สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ทรัพย์สินมีค่าอย่างกระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ ถ้าเข้าห้องน้ำให้ติดตัวไปด้วย แม้จะเป็นรถปรับอากาศก็วางใจไม่ได้
ระหว่างที่เราหลับ อ้างอิงเวลาจากระบบ TTS รถจอดที่สถานีศิลาอาสน์ 22.40 น. สถานีอุตรดิตถ์ 22.47 น. สถานีพิษณุโลก 00.01 น. สถานีพิจิตร 00.47 น. สถานีนครสวรรค์ 02.09 น. และสถานีลพบุรี 04.41 น. ล่าช้า 62 นาที
เวลา 05.50 น. พนักงานแจ้งผู้โดยสารปลุกเพื่อเตรียมตัวเก็บที่นอน หลังจอดที่สถานีอยุธยาเมื่อเวลา 05.43 น. ล่าช้า 49 นาที เราเก็บทรัพย์สินทั้งหมดลงจากเตียงบน เข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัว และแปรงฟัน ระหว่างรอเก็บเตียง
ช่วงนั้นรถผ่านบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ท้องฟ้าค่อยๆ สว่าง มองเห็นทุ่งนา และบางช่วงเห็นการก่อสร้างตอม่อรถไฟความเร็วสูง กระทั่งถึงสถานีรังสิต 06.19 น. ล่าช้า 36 นาที มีผู้โดยสารส่วนหนึ่งลงจากขบวนรถ
หลังจากนั้น รถไฟได้ขึ้นทางยกระดับเดียวกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง จอดที่สถานีดอนเมือง 06.27 น. ล่าช้า 32 นาที ระหว่างนั้นมีชาวไทยและชาวต่างชาติส่วนหนึ่งลงจากขบวนรถ เพื่อไปยังสนามบินดอนเมือง
ขณะเดียวกัน รถด่วนพิเศษขบวน 21 กรุงเทพอภิวัฒน์-อุบลราชธานี ออกจากต้นทาง 06.10 น. แวะจอดที่สถานีดอนเมืองพอดี ความจริงถ้าจะต่อขบวนนี้จากสถานีเชียงใหม่ แนะนำให้ลงที่สถานีอยุธยา แล้วรอประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ
จะบอกว่าขบวนนี้เร็วสุดในภาคอีสาน ออกจากกรุงเทพฯ เช้า ถึงสถานีอุบลราชธานีประมาณบ่ายสองโมงนิดๆ เคยนั่งจากสถานีบุรีรัมย์ ไปลงสถานีศรีสะเกษ แม้ระยะสั้นค่าตั๋วรถไฟจะแพง แต่มีอาหารบนรถให้รับประทานฟรี
หลังจากนั้น รถไฟจะเดินรถบนทางยกระดับกันไปยาวๆ มีรถไฟฟ้าสายสีแดงสวนทางมาบ้าง กระทั่งเวลา 06.45 น. รถค่อยๆ เข้าสู่ชานชาลาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นสถานีปลายทางโดยสวัสดิภาพ
เราใช้เวลาเดินทางจากเชียงใหม่ ถึงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 13 ชั่วโมง 45 นาที แม้จะนานกว่ารถทัวร์ที่ปกติใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง แต่ยังได้นอนบนเตียง เทียบกับรถทัวร์ที่เป็นแบบกึ่งนั่งกึ่งนอน
ก่อนที่จะออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไหนๆ ก็ซื้อตั๋วรถไฟมาแล้ว ก็ได้บริการที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดเตรียมไว้ให้ ได้แก่ บริการห้องอาบน้ำฟรี และบริการรถ Shuttle Bus ฟรีไปยังสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)
เริ่มจากห้องอาบน้ำฟรี เดินตรงไปประตู 5 ฝั่งทิศเหนือ จะเป็นห้องน้ำพร้อมสัญลักษณ์ฝักบัว แจ้งแม่บ้านขอใช้ห้องอาบน้ำ พร้อมแสดงตั๋วรถไฟ แต่เครื่องอาบน้ำ เช่น แชมพู สบู่ เสื้อผ้าที่นำมาเปลี่ยน และผ้าเช็ดตัวต้องนำมาเอง
ที่นี่มีห้องอาบน้ำ 4 ห้อง ภายในห้องมีฝักบัว แยกโซนแห้งและเปียก โดยมีเก้าอี้พลาสติกสีขาวสำหรับวางกระเป๋า สภาพปัจจุบันแม้ฝักบัวจะใช้การได้ แต่ผนังเริ่มมีสภาพเก่าแล้ว เราใช้เวลาตรงนี้อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดใหม่
หลังจากนั้น เดินออกมาที่ประตู 11 จะพบกับรถบัสฟรีไปยังสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) แสดงตั๋วรถไฟแก่เจ้าหน้าที่ก่อนขึ้นรถ แต่ปัญหาก็คือ ผู้คนบนรถส่วนใหญ่เพิ่งลงจากรถไฟ กลิ่นตัวแรงมาก สวมหน้ากากอนามัยเพื่อบรรเทา
เนื่องจากเป็นวันหยุด ใช้เวลาเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ขึ้นทางด่วนถึงสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เพียง 15 นาทีเท่านั้น จากจุดนี้จะขึ้นรถไฟสายตะวันออก ต่อรถเมล์ หรือลงรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงินก็ได้
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่นำมาเล่าให้ฟังพอจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านที่อยากจะขึ้นรถไฟขบวนนี้ขึ้นมาบ้าง แต่ถ้าบอกตามตรง ขบวน CNR สะดวกสบายกว่า ถ้าจองได้ก็จองเถอะ ออกจากเชียงใหม่ 6 โมงเย็น ถึงกรุงเทพฯ เวลาพอกัน
ฝากถึงรัฐมนตรีคมนาคมคนใหม่ อยากให้จัดหาขบวนรถโดยสารใหม่ให้บริการทั่วประเทศ นอกเหนือจากขบวนรถ CNR ที่มีเพียงแค่ 115 คัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการ อย่างขบวนรถที่นั่งในครั้งนี้ก็อายุอานามกว่า 30 ปีแล้ว
ไม่นับรวมรถไฟทางคู่ที่กำลังก่อสร้าง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม หากไม่มีขบวนรถโดยสารให้บริการ ทางรถไฟที่สร้างมาก็เสียของ เพราะประชาชนไม่มีโอกาสเข้าถึง
TIP : จากประสบการณ์ส่วนตัว ขึ้นรถไฟปรับอากาศเตรียมอะไรไปบ้าง?
1. อาหารกล่อง ซื้อมาจากข้างนอกได้ตามใจชอบ แนะนำเป็นเมนูที่ผัดแห้งหรือน้ำซอสเล็กน้อย รับประทานง่าย ไม่หกเลอะเทอะ เพื่อความสะอาด เช่น ข้าวผัด ข้าวหมูกระเทียม ข้าวกระเพรา ผัดซีอิ้ว ก๋วยเตี๋ยวผัดแห้ง บะหมี่แห้ง ฯลฯ
ถ้าต้องการทานอาหารที่ขายจากตู้เสบียง เตรียมเงินสดมาอย่างน้อยคนละประมาณ 200-300 บาท เพราะรับเฉพาะเงินสด
2. น้ำดื่มและเครื่องดื่ม แนะนำให้ซื้อน้ำดื่มขวดใหญ่ 1.5 ลิตร ถ้ามาคนเดียว 1 ขวดเอาอยู่ ส่วนเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม แนะนำให้ซื้อแบบขวดแล้วทยอยเทดื่ม สำหรับคนที่ดื่มกาแฟกระป๋อง หรือกาแฟขวดตอนเช้าให้นำมาด้วย
น้ำแข็งเปล่า ถ้ามีแก้วส่วนตัวมาเองจะเก็บความเย็นได้นานกว่า ถ้าไม่มีให้ไปร้านสะดวกซื้อชื่อดัง มีน้ำแข็งเปล่าแบบแก้วขาย หรือที่ตู้เต่าบินก็มีน้ำแข็งเปล่าขายเช่นกัน แต่แก้วเล็กกว่า อย่าลืมขอหลอดและฝาปิดมาด้วย
3. ขนมขบเคี้ยว สำหรับรับประทานแก้เบื่อ เนื่องจากใช้เวลาเดินทางยาวนาน อาจเป็นมันฝรั่งทอด ปลาสวรรค์ ข้าวเกรียบกุ้ง ถั่วแบบถุง หรือขนมกัมมี่รสผลไม้ก็ได้
4. ของใช้ส่วนตัวระหว่างอยู่บนรถ เช่น ถุงพลาสติกสำหรับใส่ขยะ อาจใช้ถุงที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อมาใช้ซ้ำก็ได้ ทิชชู่แห้ง ทิชชู่เปียกสำหรับชำระร่างกาย ชุดยาสีฟัน แปรงสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก
5. อุปกรณ์สื่อสาร ให้เตรียมพาวเวอร์แบงก์ ประมาณ 10,000 มิลลิแอมป์ขึ้นไป พร้อมสายชาร์จมาเอง เพราะรถนอนรุ่นเก่าส่วนใหญ่ไม่มีปลั๊กไฟแต่ละที่นั่ง แต่ถ้านั่งขบวนรถ CNR จะมีปลั๊กให้แต่ละที่นั่งให้
เตรียมหูฟังส่วนตัวสำหรับฟังเพลง และคอนเทนต์ในโทรศัพท์มือถือแบบ Offline เช่น เพลงที่เซฟเก็บไว้ หรือ Podcast เนื่องจากบางช่วงไม่มีสัญญาณมือถือ ชมคอนเทนต์แบบสตรีมมิ่งไม่ได้
6. อาบน้ำมาจากสถานีรถไฟ เนื่องจากการเดินทางโดยรถไฟใช้เวลายาวนานกว่า 10 ชั่วโมง แนะนำให้อาบน้ำที่สถานีรถไฟ เผื่อเวลาก่อนรถออกสัก 1 ชั่วโมง แล้วสวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย ถ้าเป็นคนไม่ชอบอากาศหนาว แนะนำให้นำเสื้อกันหนาวมาด้วย
ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟอย่างเด็ดขาด โปรดรักษาความสะอาด หมั่นตรวจสอบสิ่งของมีค่า เช่น กระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ และเครื่องประดับตลอดการเดินทาง