กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อวันก่อน ผู้เขียนเดินทางลงมายังภาคใต้ เพราะจองตั๋วเครื่องบินราคาโปรโมชันไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 แต่ช่วงนี้ตั๋วเครื่องบินแพง ขากลับก็เลยใช้บริการขบวนรถด่วนพิเศษ “ทักษิณารัถย์” ถือเป็นประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิต
ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559 หรือเมื่อ 6 ปีก่อน ระหว่างสถานีกรุงเทพ ปลายทางสถานีชุมทางหาดใหญ่ จ.สงขลา ใช้ขบวนรถโดยสารรุ่นใหม่ 115 คัน
ถือเป็น 1 ใน 4 เส้นทาง นอกจาก ขบวนรถด่วนพิเศษอุตราวิถี ปลายทางสถานีเชียงใหม่, ขบวนรถด่วนพิเศษอีสานมรรคา ปลายทางสถานีหนองคาย และ ขบวนรถด่วนพิเศษอีสานวัตนา ปลายทางสถานีอุบลราชธานี
ที่ผ่านมา ขบวนรถด่วนพิเศษทั้ง 4 เส้นทาง เป็นที่บอกต่อและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นรถใหม่ หรูหราทันสมัย สิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อม เมื่อเทียบกับรถนั่งและนอนขบวนอื่น
ถึงกระนั้น จากประสบการณ์ที่พบเจอด้วยตัวเองพบว่า แม้โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร จะทำให้การเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ล่าช้ากว่ากำหนดเกือบ 2 ชั่วโมง แต่ระหว่างทางก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะเมนู “ข้าวแกงกระทง” ที่เจ้าหน้าที่รถไฟนำมาแจกให้ผู้โดยสารประทังความหิว ในช่วงเวลาขบวนรถล่าช้า ถือเป็นความทรงจำที่ครั้งหนึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถไฟยาวนานเกือบ 1 วันเต็ม
เราจองตั๋วรถไฟล่วงหน้าก่อนวันเดินทาง 3 วัน ผ่านระบบที่เรียกว่า D-Ticket ที่สามารถชำระเงินผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตได้ ด้วยความที่เป็นขบวนรถยอดนิยม ปรากฎว่ารถคันที่ 4 เตียงล่างเต็ม คันที่ 5 เหลือเตียงล่างเพียง 2 ที่นั่ง
วิธีการจองให้สังเกตสัญลักษณ์สีเขียว ถ้ามีบันไดแสดงว่าเตียงบน ถ้าไม่มีบันไดแสดงว่าเตียงล่าง ราคาจะแพงกว่า 100 บาท แต่ได้เห็นวิวหน้าต่าง ส่วนสัญลักษณ์ผู้ชายสีฟ้า ผู้หญิงสีชมพู หมายถึงที่นั่งนี้มีคนจองแล้ว
จากสถานีชุมทางหาดใหญ่ไปยังกรุงเทพฯ ถ้าอยากเห็นวิวฝั่งตะวันตกให้นั่งแถวบน ที่นั่งหมายเลข 1-2, 5-6, 9-10 … ถ้าอยากเห็นวิวฝั่งตะวันออกให้นั่งแถวล่าง ที่นั่งหมายเลข 3-4, 7-8, 11-12 … สังเกตได้จากผังที่นั่งในระบบ
หลังการจองและชำระเงิน ระบบจะส่งตั๋วรถไฟเป็นไฟล์ PDF มาทางอีเมล สามารถสั่งพิมพ์ เก็บไว้เป็นหลักฐานแทนตั๋วรถไฟได้เลย ซึ่งสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่จะมีเครื่องพิมพ์ Double A Fast Print ตรงโรงแรมรถไฟหาดใหญ่
แต่ปริ้นท์มาก่อนเดินทางเลยก็ดี เพราะเผื่อบางทีเครื่องปริ้นเตอร์อาจจะเสียก็ได้
มาถึงช่วงเวลาก่อนเดินทาง เนื่องจากช่วงนี้การรถไฟฯ ยังคงงดให้บริการตู้เสบียง เพราะฉะนั้นหลายคนเลือกที่จะซื้ออาหาร น้ำดื่ม และขนมขบเคี้ยวเตรียมเอาไว้ จากประสบการณ์ส่วนตัวแนะนำซื้อน้ำดื่มขวดใหญ่ 2 ขวดไปเลยกำลังดี
ที่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ มีมินิมาร์ท และแผงอาหารให้บริการอยู่ ส่วนมากจะเป็นไก่ทอดข้าวเหนียว อาหารสำเร็จ ซึ่งก่อนเข้ามาที่สถานี ถ้ามีโอกาสแวะห้าง แวะร้านอาหาร แวะเซเว่นฯ ซื้อเข้ามาหน่อยก็ดีเพราะข้างนอกถูกกว่า
ส่วนใครที่ยังไม่ได้อาบน้ำ มีห้องอาบน้ำฝั่งละ 2 ห้อง ค่าบริการ 10 บาท ให้ไปก่อนสัก 4 โมงเย็น ถึง 4 โมงครึ่งกำลังดี ที่แนะนำให้อาบน้ำก่อนเดินทาง เพราะเราจะต้องพักผ่อนกันบนรถไฟยาวนานถึงช่วงเที่ยงของอีกวันหนึ่ง
พออาบน้ำเสร็จ อาจจะเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดลำลองง่ายๆ เสื้อกีฬา กางเกงขาสั้น พร้อมที่จะนอนหลับพักผ่อนแล้ว ซึ่งด้านในแอร์เย็น ประมาณ 22 องศาเซลเซียส ถ้าไม่ได้อาบน้ำเลย ระหว่างทางอาจจะหงุดหงิดอารมณ์เสียกว่านี้
รถไฟจะจอดที่สถานีก่อนเวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นเราอาจจะฝากกระเป๋าสัมภาระแล้วลงมาซื้อของกินก็ได้ แต่แนะนำให้นำทรัพย์สินมีค่าติดตัวไปด้วย เพราะระหว่างนั้นจะมีญาติของผู้โดยสารปะปนกันมาส่งถึงที่นั่ง
กระทั่งเมื่อเวลารถไฟจะออก เจ้าหน้าที่ถึงจะประกาศให้ญาติที่ไม่ใช่ผู้โดยสารลงจากขบวนรถ
17.45 น. ได้เวลาขบวนรถไฟทักษิณารัถย์ออกจากสถานี เจ้าหน้าที่จะประกาศบนรถไฟ แนะนำสิ่งอำนวยความสะดวกและข้อควรปฎิบัติต่างๆ ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่จะแจกน้ำดื่มตรารถไฟ ขวดเล็ก คนละ 1 ขวด
ผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมง เจ้าหน้าที่จะเริ่มปูที่นอน โดยการกางที่นั่งทั้งสองฝั่งออกมาเป็นเตียงล่าง เปิดเตียงบนที่อยู่เหนือศีรษะออกมา บรรจงนำผ้าปูสีขาวปูบนที่นอน หมอน แล้วตบท้ายด้วยผ้าห่มบรรจถุงพลาสติกอย่างดี
ใครที่ยังไม่ปูที่นอน สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ไว้ก่อนแล้วเรียกให้มาปูที่นอนที่หลังได้ แต่ต้องไม่เกิน 2 ทุ่ม และขอความร่วมมือหลังเวลา 22.00 น. ให้ใช้โทรศัพท์มือถือระบบสั่น เพื่อไม่ให้รบกวนเวลาพักผ่อนของผู้โดยสารคนอื่น
แม้ที่นั่งที่เราจองจะเป็นรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 2 แต่ก็ถือว่าสะดวกสบายและปลอดภัยกว่าขบวนอื่น ด้วยประตูกระจกกั้นระหว่างห้องโดยสารกับประตูเข้าออกเป็นสัดส่วน คนนอกอย่างคนที่เข้ามาขายของก็เข้าไปไม่ได้
นอกจากค่าโดยสารที่สูงกว่าขบวนรถอื่น และการระบุชื่อผู้โดยสารชัดเจน จะช่วยคัดกรองผู้โดยสารทางหนึ่งแล้ว ยังมีระบบโทรทัศน์วงจรปิด CCTV อีกชั้นหนึ่ง ส่วนตัวยังรู้สึกว่าปลอดภัยเมื่อเทียบกับขบวนอื่นที่เคยนั่ง
อีกด้านหนึ่ง ยังมีหลอดไฟฟ้าส่องสว่างสำหรับอ่านหนังสือ และปลั๊กไฟ 220 โวลต์ จำนวน 1 หัว ใครที่มีสายชาร์จอยู่แล้ว แนะนำว่าให้นำหัวปลั๊กสายชาร์จมาด้วย ส่วนคนที่มีโน้ตบุ๊กแม้สามารถใช้ปลั๊กไฟได้ แต่ลองทำงานแล้วไม่ถนัด
ถามถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต พบว่าถ้าเป็นเครือข่ายดีแทค สัญญาณลื่นไหล มีสะดุดบ้าง ส่วนเครือข่ายเอไอเอส พบว่าสัญญาณสลับกันระหว่าง 4G, 3G กับ EDGE มีสัญญาณ 5G น้อยมาก ใครที่ฟังเพลงแนะนำใช้พวกแอปฯ ฟังเพลงดีกว่า
ส่วนห้องสุขา แม้จะไม่มีห้องอาบน้ำ ซึ่งมีไว้เฉพาะรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1 แต่ก็มีอ่างล้างหน้า ห้องสุขาระบบปิด แยกระหว่างห้องที่มีโถสุขภัณฑ์ และโถปัสสาวะชาย สามารถใช้ได้ตลอดแม้แต่ตอนจอดที่สถานี
หลังจากที่เจ้าหน้าที่ปูที่นอนให้เรียบร้อย จากที่นั่งกลายสภาพเป็นเตียงน้อยคอยรัก ก็ถึงคราวที่ล้มตัวลงนอน สังเกตได้ว่า ช่วงที่ออกจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ ถึงสถานีสุราษฎร์ธานี รถไฟทำความเร็วและเวลาได้ดีพอสมควร
จอดรับผู้โดยสารที่สถานีพัทลุงประมาณ 1 ทุ่มเศษ ถึงสถานีชุมทางทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เวลาประมาณ 20.40 น. และถึงสถานีสุราษฎร์ธานี อ.พุนพิน เวลาประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง
ปรากฏว่าพอถึง สถานีแสงแดด ก่อนถึงสถานีชุมพร เวลาประมาณ 00.30 น. ปรากฎรถไฟกลับจอดนิ่งสนิท สอบถามเจ้าหน้าที่ได้ความว่ารอรถสับหลีก เพราะสถานีชุมพรมีการก่อสร้างรถไฟทางคู่ นครปฐม-ชุมพร
ผ่านไปเกือบ 1 ชั่วโมง ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ กรุงเทพ-ชุมทางหาดใหญ่ เดินรถสวนทางกันมา ขบวนรถจึงเคลื่อนตัวไปยังสถานีชุมพร เวลาประมาณตีสอง ซึ่งช่วงนั้นต้องหยุดรถเพื่อให้พนักงานขึ้นมาทำความสะอาด
ถามว่าหลับสบายไหม บอกตามตรงว่าตอนที่ออกจากพัทลุง ก็หลับๆ ตื่นๆ เนื่องจากสถานที่ไม่คุ้นชิน กระทั่งได้หลับยาวหลังออกจากสถานีชุมพรไปแล้ว ยังดีกว่าตอนที่นั่งรถทัวร์จากกรุงเทพฯ ไปยังหาดใหญ่ 14 ชั่วโมง คือต้องนั่งเฉยๆ เป็นกบจำศีล
ตื่นมาตอนเช้า เปิดเว็บไซต์ ระบบข้อมูลขบวนรถ (TTS) เพื่อดูว่ารถถึงไหนแล้ว ปรากฏว่าตอน 06.15 น. รถเพิ่งมาถึงแค่สถานีนาผักขวง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์เท่านั้น
แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีรถเสบียง แต่เจ้าหน้าที่ประกาศว่าบนรถมีกาแฟ โอวัลติน มาม่าขาย โดยกาแฟขายแก้วละ 20 บาท ส่วนมาม่าขายถ้วยละ 20 บาท เติมน้ำร้อนมาให้เลย เราจึงสั่งกาแฟและมาม่ามากินประทังความหิว
ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ก็ขอโทษที่วันนี้ขบวนรถล่าช้า เพราะต้องรอรถสับหลีกตลอดทาง ตอนนั้นสังเกตได้ว่าขบวนรถล่าช้าไปเกือบ 3 ชั่วโมงครึ่ง ในใจตอนนั้นที่รู้ว่าเพิ่งถึงบางสะพาน ก็ไม่โอเค ทำไมล่าช้าขนาดนี้ แต่สักพักก็เริ่มทำใจได้
ต่อมามีแม่บ้านสอบถามว่า วันนี้ขบวนรถล่าช้า สนใจจะสั่งอาหารกล่องไหม ด้วยความที่เราหิว มาม่าถ้วยเดียวคงไม่อยู่ท้อง จึงสั่งข้าวไก่กระเทียมไปกล่องหนึ่ง จ่ายเงินไป 40 บาท แต่ไม่รู้ว่าจะได้รับเมื่อไหร่
สิ่งหนึ่งที่ทำให้คลายความไม่พอใจเราได้ คือวิวริมหน้าต่างที่พบว่า จะเห็นสวนมะพร้าวเป็นระยะ เพราะไล่ตั้งแต่บางสะพานน้อย บางสะพาน ทับสะแก และอำเภอเมืองฯ เป็นแหล่งปลูกมะพร้าวแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ
แม้ข้อเสียของขบวนรถล่าช้า คือถึงที่หมายช้า ซึ่งจะกระทบกับคนที่มีธุระในช่วงบ่าย แต่ข้อดีก็คือ ได้เห็นบรรยากาศยามเช้าที่ประจวบคีรีขันธ์ เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองสามอ่าว ที่มีหลายสิ่งหลายอย่างอันซีนรอให้มาสัมผัส
ต่อมาเวลา 07.30 น. รถผ่านสถานีประจวบคีรีขันธ์ แต่ไม่แวะจอด ผ่านเขาช่องกระจกที่มีคำว่า “เมืองสามอ่าว” ผ่านสถานีเขากระไดไปแล้ว จะได้พบเห็นทะเลอ่าวไทยแบบไม่มีอะไรมากั้น ผ่านสถานีทุ่งมะเมา
สักพักจะได้เห็นเขาสามร้อยยอด วันนั้นมีฝนตกตลอดทาง ได้เห็นทะเลหมอกเล็กๆ ภายใต้เบื้องหน้าที่เป็นสวนกล้วยและต้นตาล สลับกับนาข้าวเขียวขจี เป็นภาพที่สวยงามสะดุดตาอย่างไม่มีเบื่อ
เวลาประมาณ 08.40 น. รถไฟมาถึงสถานีหัวหิน ระหว่างที่รถจอดปรากฎว่าบรรดาพ่อค้าแม่ค้าตะโกนเรียกขายข้าวขายอาหาร แต่ผู้โดยสารต้องลงไปซื้อเอง ซึ่งข้อดีของรถไฟขบวนนี้คือจะไม่มีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามายุ่มย่ามแต่อย่างใด
สำหรับบนรถไฟ นอกจากจะมีรับออเดอร์ข้าวกล่องแล้ว ยังมีรับออเดอร์ของฝากเพชรบุรี คือ ขนมหม้อแกง 3 กล่อง 100 บาท ใครที่สนใจก็จองและจ่ายเงินเอาไว้ แล้วพอผ่านสถานีเพชรบุรี รับสินค้ามาแล้วจะนำมาให้
รถไฟมาถึงสถานีเพชรบุรีเวลาประมาณ 09.50 น. ออกจากสถานีแล้ว ประมาณเกือบ 10 โมงเช้า เราถึงได้รับข้าวกล่อง พบว่ามาจากร้านอาหารอิสลาม ฮาวา ท่าแร้ง เข้าใจว่าคงโทร.หาแม่ค้าให้ทำกับข้าวเอาไว้แล้วมารับที่สถานีเพชรบุรี
ออกจากสถานีเพชรบุรี รถไฟจะผ่านทุ่งนาเขียวขจีให้ได้สบายตา ก่อนจอดส่งผู้โดยสารที่ สถานีราชบุรี เวลาประมาณ 10.40 น. และสถานีบ้านโป่ง เวลาประมาณ 11.20 น. ระหว่างนั้นรถก็หยุดที่สถานีชุมทางหนองปลาดุกเล็กน้อย
เมื่อรถผ่านสถานีชุมทางหนองปลาดุกไปแล้ว จู่ๆ เจ้าหน้าที่รถไฟนำ “ข้าวแกงกระทง” มาแจก พร้อมกล่าวกับเราว่า ขออภัยที่ขบวนรถล่าช้า เลยนำอาหารมาแจกฟรี ไม่ทราบว่าเป็นไทยพุทธหรือไทยมุสลิม เราตอบว่าทานได้หมด
ข้าวแกงกระทงที่เราได้เป็นข้าวพะแนงหมู กับไข่พะโล้ รสชาติระดับข้าวแกงทั่วไป แต่ความพิเศษก็คือภาชนะใบตอง แตกต่างจากแม่ค้ารายอื่นที่ใช้กล่องโฟม ซึ่งย่อยสลายตามธรรมชาติยาก และมีสารก่อมะเร็ง
พอมาดูเฟซบุ๊กเพจ “ข้าวแกงกระทงป้าน้อย สถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก” พบว่าวันที่ผู้เขียนเดินทางนั้น เจ้าหน้าที่รถไฟฯ สั่งออเดอร์มา 456 กระทงเพื่อแจกผู้โดยสาร พร้อมกับน้ำดื่มบรรจุขวดขนาดเล็กอีกหลายแพ็ค
และทราบว่า วันต่อมาก็มีออเดอร์จากขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์อีก ตั้งแต่ 400-700 กล่อง บางวันเจอรอบเช้าไม่พอ เจอรอบเย็นเข้าไปอีก ส่วนใหญ่จะเป็นออเดอร์กะทันหัน ทำเอาแม่ค้าเตรียมเครื่องแกงแทบไม่ทัน
ถ้ากล่าวถึงตำนานข้าวแกงกระทงป้าน้อย สถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก อธิบายสั้นๆ ได้ว่า ขายมาตั้งแต่สมัยที่รถไฟยังเป็นรถจักรไอน้ำ รุ่นแม่จะทำข้าวแกงใส่หาบขายข้างทางรถไฟ ก่อนที่ทายาทรุ่นที่สองจะรับช่วงต่อ
จุดเด่นของข้าวแกงกระทงป้าน้อย มาจากภาชนะที่เป็นกระทงใบตอง ขายแค่ 4 เมนู ได้แก่ พะแนงเนื้อ พะแนงหมู แกงเขียวหวานไก่ และไข่พะโล้ ซึ่งเหตุผลที่ใส่กระทงเพราะถ้าใส่จานจะไม่ทันกับเวลาที่จำกัดของการเดินรถไฟ
ข้าวแกงกระทงห่อนี้ยังเป็นเครื่องเสวย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งประทับขบวนรถไฟพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2558
อย่างไรก็ตาม แม้ข้าวของยุคนี้จะแพงขึ้น แต่ข้าวแกงกระทงป้าน้อยยังคงขายในราคา 10 บาท ด้วยความอร่อยและประหยัด กลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้โดยสารรถไฟชั้น 3 ทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยวทั่วไป
นอกจากจะขายบนรถไฟชั้น 3 แล้ว ยังมีร้านเป็นเพิงไม้เล็กๆ อยู่หน้าสถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก สำหรับคนที่ไม่ได้โดยสารรถไฟ แต่ต้องการมาลิ้มลองความอร่อย ก็มีคนขับรถหรือขี่จักรยานยนต์มาอุดหนุนเช่นกัน
ในวันนั้นเราเลือกพะแนงหมู รสชาติถึงเครื่อง เผ็ดเพียงเล็กน้อย กับไข่พะโล้ ที่ดับความร้อนแรงได้อย่างลงตัว กลายเป็นมื้ออาหารที่ทดแทนความรู้สึกที่ได้รับผลกระทบจากขบวนรถไฟล่าช้าลงมาได้บ้าง
เวลาประมาณ 11.45 น. รถส่งผู้โดยสารที่สถานีนครปฐม กระทั่งเวลาประมาณ 12.10 น. ถึงสถานีศาลายา จุดหมายปลายทางของเรา ทราบภายหลังว่ารถมาถึงสถานีกรุงเทพ เวลาประมาณ 13.20 น. ล่าช้าไป 110 นาที
เมื่อเช็กข้อมูลการเดินรถย้อนหลังพบว่า รถไฟล่าช้าช่วงชุมพร-ประจวบคีรีขันธ์ เกือบ 3 ชั่วโมงครึ่ง ก่อนจะเร่งความเร็วช่วงประจวบคีรีขันธ์-หัวหิน และเร่งมาเรื่อยๆ กระทั่งทำเวลาคืนมาได้ เหลือแค่ล่าช้า 1 ชั่วโมง 50 นาที
ส่วนเที่ยวไป จากกรุงเทพ-ชุมทางหาดใหญ่ เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมพร ขบวนรถล่าช้าไป 125 นาที แต่พอพ้น อ.หลังสวน จ.ชุมพรไปแล้ว ขบวนรถทำความเร็วมากขึ้น กระทั่งถึงสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ 08.25 น. ล่าช้า 1 ชั่วโมง
หากตัดเรื่องขบวนรถล่าช้าออกไป การได้มานั่งรถไฟด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ ถือว่าดีกว่ารถนอนทั่วไป เพราะสิ่งอำนวยความสะดวก ความสะอาด ปลอดภัยเป็นสัดส่วน และไม่มีกลิ่นสนิมเหล็กติดตัว รู้สึกดีเมื่อเทียบกับเงินที่จ่ายไป
แต่ถ้าจะให้กลับมาอีก คงต้องรอโครงการถไฟทางคู่ นครปฐม-ชุมพร แล้วเสร็จสมบูรณ์ ประมาณปลายปี 2566 ซึ่งเราคาดหวังว่าขบวนรถจะถึงที่หมายตรงเวลา หรือล่าช้าน้อยลงมาบ้าง
แม้การเดินทางย่อมมีจุดหมาย แต่ก็มีเรื่องราวระหว่างทางให้ได้จดจำและประทับใจเสมอ ทั้งวิวสวยริมหน้าต่าง ทั้งข้าวแกงกระทงป้าน้อย ที่มีโอกาสได้กินแม้จะไม่ได้นั่งรถไฟชั้นสาม ถือเป็นประสบการณ์นอนบนรถไฟไม่รู้ลืม