xs
xsm
sm
md
lg

ร้องเรียนแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับใคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันก่อนมีข่าวเล็กๆ อยู่ชิ้นหนึ่ง เป็นเรื่องราวที่ชาวบ้านไปร้องเรียนแล้วแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมา เรื่องนี้ไม่ได้ตั้งใจจะตำหนิหรือจะโจมตีใคร แต่อยากจะฝากไว้เป็นบทเรียน

เหตุเกิดที่จังหวัดแห่งหนึ่ง ผู้ร้องเรียนรายหนึ่งแจ้งกับผู้สื่อข่าวภูมิภาคในพื้นที่ว่า จะมาร้องเรียนเรื่องปัญหาน้ำเน่าเสียของคลองสายหนึ่ง ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดหนึ่ง แล้วจะนำปลาที่ตายมาโชว์ให้ดูด้วย

เหตุการณ์ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไร ผู้ร้องเรียนหิ้วกระป๋องใส่ปลาเน่าเต็มกระป๋องมาสองกระป๋อง พูดคุยกับผู้สื่อข่าวภูมิภาคตามปกติ บอกว่าเป็นปลาที่ลอยตายภายในคลอง ตั้งใจจะเอามาสาดพื้นหน้าศูนย์ดำรงธรรม

ผู้ร้องเรียนกล่าวว่า ตั้งใจจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะเคยไปร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ถึงปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองต่อหน่วยงานรัฐและภาคส่วนต่าง ๆ แต่ไม่ได้รับการแก้ไข

กระทั่งเวลาต่อมา ผู้ร้องเรียนถือกระป๋องปลาเน่าให้ผู้สื่อข่าวภูมิภาคเก็บภาพ ทันใดนั้นก็เดินไปที่หน้าลิฟต์แล้วสาดปลาเน่ากระป๋องแรกไปที่พื้นฝั่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ อส. ที่ยืนคุมเชิงปรี่เข้ามาชาร์จตัว

ผู้ร้องเรียนเกิดความโมโหคิดว่าจะเข้ามารวบตัว สาดปลาเน่าอีกกระป๋องหนึ่งเข้ามาอีกฝั่งหนึ่ง ปรากฎว่าพลาดไปโดนผู้สื่อข่าวภูมิภาคที่กำลังเก็บภาพข่าวอยู่ และเจ้าหน้าที่ อส. เปียกเหม็นไปทั้งตัว และส่งกลิ่นเน่าไปทั่วบริเวณ

งานนี้ทำเอาแตกตื่นไปทั่วศูนย์ดำรงธรรม ผู้สื่อข่าวภูมิภาครายหนึ่ง ถูกผู้ร้องเรียนสาดปลาเน่าเข้าไปที่ไอโฟนซึ่งกำลังถ่ายอยู่จนเครื่องดับไป ต้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับตำรวจที่โรงพัก เพราะทรัพย์สินเสียหาย

ทราบว่าผู้ร้องเรียนได้เข้าไปเคลียร์กับผู้สื่อข่าวภูมิภาครายนั้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าตัวก็ยอมรับผิดทุกประการ พร้อมที่จะชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้สื่อข่าวภูมิภาครายนั้นตามจริง

ผู้ร้องเรียนกล่าวว่า ที่ผ่านมาร้องเรียนเรื่องนี้ไปหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทุกวันนี้น้ำยังเสีย มีปลาตายต้องพายเรือเก็บปลาเน่า เก็บขยะในคลองตอนเช้าทุกวัน ชาวบ้านริมคลองต้องทนเน่าเหม็นมานาน

“ที่นำปลาเน่ามาเท เพราะอยากให้เจ้าหน้าที่เข้าใจความรู้สึก ไม่ได้มีเจตนาจะสาดใคร ทำแบบนี้ทราบดีว่าจะโดนอะไรบ้าง แต่ก็พร้อมที่จะโดน การร้องเรียนถ้าอยากให้ได้ผลต้องมีการสูญเสีย ต้องมีการลงทุน”

ฟังแบบนี้แล้วรู้สึกไม่สบายใจบ้าง ส่วนตัวไม่ชอบวิธีแสดงสัญลักษณ์แบบนี้ เพราะกลัวว่าต่อไปจะกลายเป็น “พฤติกรรมเลียนแบบ” รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายคนที่ไม่เกี่ยวข้องจะเดือดร้อนและสูญเสียกันไปหมด

หากตัดประเด็นเรื่องการเมือง ซึ่งในบทความนี้ขออนุญาตไม่พูดถึง “การแสดงออกแบบแปลกๆ” ระหว่างการร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ หลากหลายรูปแบบ นอกเหนือจากรวมตัวกันและยื่นหนังสือร้องเรียน เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย

ย้อนกลับไปในอดีต เคยมีตำนานร้องเรียนแบบแปลกๆ เมื่อกว่า 20 ปีก่อน เกษตรกรรายหนึ่งมาประท้วงที่สาขาของธนาคารรัฐในอำเภอแห่งหนึ่ง เพื่อเรียกร้องขอเงินคืน ก่อนตัดสินใจใช้อุจจาระราดตัวเอง เป็นข่าวดังในเวลานั้น

สาเหตุก็คือธนาคารรัฐแห่งนั้นขายกองทุนรวมแก่เกษตรกร อ้างว่าให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก ด้วยความหลงเชื่อคิดว่าเป็นการฝากเงินจึงได้ลงทุนไป ปรากฏว่าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 มูลค่าหน่วยลงทุนลดฮวบเหลือไม่ถึง 20%

หลังประท้วงผ่านไปหลายเดือน ท้ายที่สุดธนาคารรัฐแห่งนั้น แก้ปัญหาด้วยการซื้อหน่วยลงทุนคืนประมาณ 60% ของมูลค่าหน่วยลงทุนเริ่มต้น แล้วธนาคารก็ถือหน่วยลงทุนนั้นไประยะหนึ่ง ก่อนที่จะขายออกไปภายหลัง

หลังเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ก็มีพฤติกรรมเลียนแบบ กลุ่มผู้เลี้ยงหมูจังหวัดหนึ่งก็ใช้ขี้หมูราดตัวเองประท้วงธนาคารของรัฐ กล่าวหาว่าฉ้อโกงต้องล้มละลาย ซึ่งทางผู้จัดการธนาคารชี้แจงว่าไม่ได้ทุจริต แต่เป็นปัญหามาจากเงื่อนไขในการกู้

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้ร้องเรียนปรากฏเป็นข่าวบ่อยครั้ง คือ "โชเฟอร์แท็กซี่รายหนึ่ง" เมื่อกว่า 16 ปีก่อน เริ่มต้นด้วยการขับแท็กซี่มาจอดที่หน้าทำเนียบรัฐบาล นั่งในรถกอดถังแก๊สปิกนิก พร้อมปืนจุดเตาแก๊สและมีดสปาต้า

หลังจากนั้นก็ประท้วงสารพัดรูปแบบและเป็นข่าวบ่อยครั้ง ทั้งจอดรถแท็กซี่บีบแตรดังลั่น ตั้งแต่หน้าทำเนียบรัฐบาล เคยขับเข้าไปบุกทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา ปีนเสาประท้วง แม้กระทั่งบุกขวางหน้าขบวนรถนายกรัฐมนตรีก็มี

ช่วงโควิดฯ ที่ผ่านมาก็ปีนรั้วกระทรวงการคลัง เพราะยังไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท แต่ระหว่างนั้นเจ้าตัวก็โพสต์เฟซบุ๊ก เปิดรับบริจาคเงินนำไปซื้อนมผงให้มารดาที่ป่วยติดเตียง ชาวเน็ตจึงสงสัยว่าสร้างเรื่องให้ดูน่าสงสารหรือไม่

แต่โชเฟอร์แท็กซี่รายนี้ก็ยืนยันว่าไม่ได้สร้างเรื่อง ทุกวันนี้อยู่กับน้องสาวและแม่ที่ป่วยติดเตียง เพราะล้มหัวฟาดพื้นเป็นอัมพฤกษ์ ต้องซื้ออาหารให้แม่ ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ และค่าเช่าบ้านรวมกันแล้วนับหมื่นบาท

ส่วนที่บอกว่าเป็นแท็กซี่ขี้ร้อง อยากดัง ก็กล่าวว่าไม่ใช่คนแบบนั้น เรื่องเงินเยียวยา 5,000 บาท ทำเรื่องไปตั้งนานคนอื่นได้เงินกันหมด แต่ตัวเองอยู่ในช่วงพิจารณา ส่วนเงินเยียวยาจากการชุมนุม เพื่อต้องการเรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับ

ล่าสุดก็ยังปรากฏว่าไปร้องเรียนกับสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง เรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง 300,000 บาท เพราะลื่นล้มจากน้ำปูนที่ไหลจากไซต์งานก่อสร้าง แต่บริษัทประกันภัยให้แค่ 10,000 บาทเท่านั้น

แต่ข่าวเรื่องร้องเรียนที่น่าเศร้าที่สุดก็คือ สาวใหญ่รายหนึ่ง ใช้น้ำมันราดใส่ตัวเองก่อนจุดไฟเผาภายในศูนย์บริการประชาชนฯ ของทำเนียบรัฐบาล หลังยื่นหนังสือร้องทุกข์ปัญหานี้สิน 1,500,000 บาท

สาวใหญ่รายนี้ทวงถามเรื่องที่เคยยื่นหนังสือร้องเรียนเมื่อ 2 เดือนก่อน กระทั่งเอ่ยปากว่า “ช่วยฉันไม่ได้หรือ...ช่วยฉันไม่ได้แล้วใช่ไหม” ก่อนตัดสินใจกระทำดังกล่าว เป็นที่ตกใจกันทั้งอาคาร

ตอนนั้นยังทำงานเป็นรีไรต์เตอร์ข่าวการเมือง ได้เห็นข่าวดิบชิ้นนี้เข้ามาในออฟฟิศแล้วก็รู้สึกตกใจ ไม่คิดว่าจะทำกันขนาดนี้ กระทั่งวันเวลาผ่านไปจากความตกใจกลายเป็นความเศร้าไปโดยปริยาย

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ก็คือ สาวใหญ่รายนี้ประกอบอาชีพทำนา กู้เงินกับเจ้าหนี้มาเรื่อยๆ รวมกว่า 250,000 บาท ก็เลยรับจ้างทวงหนี้ให้เจ้าหนี้เพื่อชดใช้หนี้เดิม ปรากฏว่าระยะหลังทวงหนี้ไม่ค่อยได้ เพราะ คสช. มาคุม เศรษฐกิจไม่ดี

อีกด้านหนึ่ง ก็ทำนาไปด้วยเพื่อหวังเงินมาใช้หนี้ โดยที่นาเป็นของเจ้าหนี้ แต่ไม่เป็นดังหวัง เจ้าหนี้ก็เลยทบหนี้ต่างๆ นานา ทำให้หนี้ทั้งหมดรวม 3,500,000 บาท แม้จะต่อรองลงมาแต่ยอดหนี้อยู่ที่ 1,500,000 บาท จึงเกิดความเครียด

หลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ เจ้าหนี้โทรศัพท์มาหาน้องสาว บอกว่ารู้สึกอึ้ง ไม่คิดว่าพี่สาวจะทำจริง น้องสาวจึงบอกไปว่า อย่ามาซ้ำเติมอีก เมื่อเป็นข่าวแล้วผู้ว่าฯ กับนายพลจากมณฑลทหารบกก็บุกถึงบ้าน เจ้าหนี้รายนี้ก็ยอมยกหนี้ให้

อีกมุมหนึ่งทราบว่า เจ้าหนี้รายนี้ไม่ได้เป็นนายทุนดอกโหด แต่เป็นคนใกล้ชิดในฐานะนายจ้าง สาวใหญ่เช่าที่ 150 ไร่ ไปปล่อยให้คนอื่นเช่าต่อ แต่ไม่เคยจ่ายค่าที่ ที่ผ่านมาได้มายืมเงินบ่อยครั้ง กระทั่งหนี้พอกพูนรวมกว่า 3 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้เคยเอาโฉนดเป็นที่ดิน 100 ตารางวามาจำนองไว้ แต่ได้มาขอคืนเพื่อไปกู้เงินธนาคาร กระทั่งไปร้องเรียนว่าถูกโกง ทางจังหวัดหาทางออกร่วมกัน ถามว่าหนี้ทั้งหมดเท่าไหร่ ก็พูดวกไปวนมาสรุปได้ว่า 1,500,000 บาท

ครอบครัวฝ่ายเจ้าหนี้มั่นใจว่าชาตินี้คงไม่ได้เงินคืน และไม่อยากวุ่นวายไปมากแล้ว ก็ตกลงกันที่ 1,500,000 บาท แต่พอทวงถามหนี้สินก็ไม่มีจ่าย แถมไปร้องเรียนตามที่ต่างๆ อีก ก่อนจุดไฟเผาในที่สุด ส่วนเจ้าหนี้กลายเป็นจำเลยสังคม

ขณะที่สาวใหญ่รายนี้แผลไฟไหม้เกินกว่า 50% ก่อนที่อาการทรุดลงเรื่อยๆ แม้แพทย์จะให้การรักษาอย่างสุดความสามารถก็ตาม แต่ที่สุดแล้ว ผ่านไป 5 เดือน สาวใหญ่รายนี้เสียชีวิต เพราะติดเชื้อในกระแสเลือด

หลังเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ก็มีพฤติกรรมเลียนแบบ ชายรายหนึ่งมาร้องเรียนว่าติดหนี้นอกระบบกว่า 7 แสนบาท ข่มขู่ว่าจะเผาตัวเอง แต่โชคดีที่เจ้าหน้าที่เกลี้ยกล่อมสำเร็จ ยอมรับว่าที่ทำแบบนั้นเพื่อให้เรื่องร้องเรียนได้รับความสนใจ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็แค่อยากจะย้ำว่า การร้องเรียนในลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นผลดีกับใคร แม้จะทำให้เรื่องที่ร้องเรียนได้เป็นข่าว ได้เป็นที่สนใจและนำไปสู่การแก้ปัญหา แต่จะเดือดร้อนกับผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง

ส่วนปัญหาเรื่องร้องเรียนที่ไม่ได้รับการตอบสนองนั้น การทำงานของศูนย์ดำรงธรรม หรือศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ที่ผ่านมา นอกจากต้องรับเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นจำนวนมากแล้ว ยังต้องเจอผู้ร้องเรียนหลากหลายรูปแบบ

บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ต้องเจอความคาดหวังจากผู้ร้องเรียนว่าจะเป็นที่พึ่ง และต้องรับมือกับอารมณ์ของประชาชนที่เดือดร้อน เมื่อชี้แจงไปแล้วกลับถูกผู้ร้องเรียนมองว่าไม่ให้ความสำคัญ ไม่ใส่ใจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

ปัญหาหลายอย่างมีความยุ่งยากและสลับซับซ้อนกว่าเดิม ศูนย์ดำรงธรรมเพียงหน่วยงานเดียวแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ จำเป็นต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ซึ่งยังต้องเจอบางหน่วยงานที่ขาดความร่วมมือ

เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะเข้าไปดูแลศูนย์ดำรงธรรม และศูนย์บริการประชาชนที่มีอยู่เดิมว่าจะทำอย่างไรต่อไป ไม่ให้กลายเป็นเพียงแค่สนามอารมณ์ของผู้คนที่มาร้องเรียน
กำลังโหลดความคิดเห็น