กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
นับตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา มีธนาคารพาณิชย์ประกาศยุติให้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ยกเลิกบริการ KTB Netbank ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นบริการที่มีผู้ใช้งานลดลงจำนวนมาก สอดคล้องกับรูปแบบการใช้งานของลูกค้า ส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่หันมาใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแล้วมากกว่า 16 ล้านราย
ล่าสุด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) แจ้งยกเลิกการให้บริการ SCB EASY NET(ระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง) ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 เวลา 21.00 น. เป็นต้นไป โดยลูกค้าสามารถเปลี่ยนมาใช้บริการ และทำธุรกรรม โอนเงิน เติมเงิน สแกนบิล สแกนคิวอาร์ชำระเงิน การลงทุน จ่ายบิล โอนเงินต่างประเทศ และบริการทางการเงินผ่าน SCB EASY App บนสมาร์ทโฟนแทน สำหรับรายการโอนเงินและจ่ายบิลล่วงหน้า จะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ
ธนาคารให้เหตุผลว่า ระบบ SCB EASY Net มีข้อจำกัดบางประการ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาเมนูการให้บริการและระบบความปลอดภัยที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้นให้กับลูกค้าได้ จึงมีความจำเป็นต้องยุติการให้บริการผ่านช่องทางดังกล่าว สำหรับลูกค้าที่พำนักอยู่ต่างประเทศและประสงค์สมัครใช้บริการแอป SCB EASY ธนาคารอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อพัฒนาระบบให้รองรับการสมัครใช้บริการจากต่างประเทศ โดยธนาคารจะประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าทราบอีกครั้งเมื่อแล้วเสร็จ
การยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคาร ที่หันมาทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน แต่สำหรับลูกค้าบางกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง เช่น คนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ คนที่ทำธุรกรรมผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือบางคนมีกิจการในครอบครัว ที่ต้องเช็กยอดบัญชีกิจการของตนเอง ก็ไม่สามารถเพิ่มบัญชีบริษัท บัญชีเพื่อ บัญชีโดย เพิ่มในแอปพลิเคชันธนาคารบนสมาร์ทโฟนได้
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองธนาคารก็มีบริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งสำหรับลูกค้าธุรกิจ เช่น ธนาคารกรุงไทย มีบริการ Krungthai Corporate Online ซึ่งมีค่าธรรมเนียมสำหรับลูกค้าแต่ละองค์กร เช่น กลุ่มลูกค้าทั่วไปที่ใช้บริการโอนเงินเดือน หรือโอนเงินให้คู่ค้าครั้งละหลายรายการ ลูกค้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแพลตฟอร์ม Krungthai Business ที่ทำธุรกรรมได้ทั้งผ่านเว็บไซต์และสมาร์ทโฟน สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอี ค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 111 ถึง 555 บาทต่อปี
ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ มีบริการ SCB Business Net ธนาคารออนไลน์เพื่อธุรกิจ สำหรับลูกค้าบริษัท และบริการ SCB Business Anywhere สำหรับลูกค้าทุกประเภทธุรกิจ ทั้งขนาดเล็กถึงธุรกิจขนาดใหญ่ รองรับการใช้งานได้หลากหลายอุปกรณ์ ทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันยกเว้นค่าธรรมเนียมถึง 31 ธันวาคม 2566 แต่มีค่าบริการเครื่องสร้างรหัส (Token) เครื่องละ 1,000 บาท และค่าบริการ SCB Digital Token 200 บาทต่อ 1 ผู้ใช้งาน
แต่ลูกค้าบุคคลธรรมดา ที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งมากกว่า 10-20 ปี ถ้าไม่ถนัดหรือไม่สะดวกทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถืออาจลำบากไปบ้าง เพราะคำตอบที่ได้รับคือไม่สามารถให้บริการต่อไปได้แล้ว อาจมองหาธนาคารอื่นที่สามารถทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งได้ ซึ่งจากการสำรวจในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566) เหลือธนาคารพาณิชย์ และธนาคารของรัฐอยู่ 9 แห่ง ที่ยังคงให้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ควบคู่กับโมบายแบงกิ้ง
ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันได้เปลี่ยนบริการ K-Cyber Banking ที่เปิดให้บริการอย่างจริงจังในปี 2549 มาเป็น บริการ K-BIZ บริการทางการเงินออนไลน์แบงกิ้ง สำหรับเอสเอ็มอี นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา มาตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรวม 3 บริการไว้ในที่เดียว ได้แก่ K BIZ, K-Cyber Trade และ K-Cyber Invest เพื่อให้บริการกับลูกค้ารายย่อยที่ทำธุรกิจและลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กถึงกลาง รวมกว่า 5 แสนราย
ส่วนธนาคารอื่นๆ ที่ยังมีอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ได้แก่ บริการ Bualuang iBanking ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริการ KOL (Krungsri Online) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), บริการ ttb internet banking ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน), UOB Personal Internet Banking ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน), KKP e-Banking ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน), GSB Internet Banking ธนาคารออมสิน, BANKING @ HOME ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) และ BOCNET ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
ข้อมูลจากสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ 34 ระบุว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นธนาคารแห่งแรกที่เริ่มมีเว็บไซต์สำหรับเผยแพร่ข้อมูลทั่วไปของธนาคารในปี 2538 แต่การพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง เพื่อให้ลูกค้าทำธุรกรรมธนาคารได้เอง มีการริเริ่มทำตั้งแต่ปี 2540 แต่นำมาให้บริการได้จริงหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุมัติการให้บริการดังกล่าวได้ในปี 2542 โดยธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารแห่งแรกที่ได้รับอนุมัติในช่วงต้นปี 2543
ตามมาด้วยธนาคารไทยพาณิชย์เป็นแห่งที่สอง เปิดให้บริการเมื่อกลางปี 2543 ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย ให้บริการตามมาในปีเดียวกัน กระทั่งปี 2551 ประเทศไทยมีธนาคารอยู่ 8 แห่งที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารยูโอบี และธนาคารเกียรตินาคิน (ส่วนธนาคารเอเชีย ควบรวมกิจการกับธนาคารยูโอบีเมื่อปี 2547)
ประสบการณ์ในวัยเด็กสมัยมัธยมฯ เคยมีโอกาสสมัครอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งของธนาคารแห่งหนึ่ง ตอนนั้นต้องลาครึ่งวันเพื่อไปธนาคาร ที่สมัยนั้นปิดทำการตอน 15.30 น. ต้องกรอกแบบฟอร์มหลายหน้ากระดาษ จากนั้นต้องรอซองใส่รหัสส่งทางไปรษณีย์ เข้าสู่ระบบแล้วเปลี่ยนรหัสผ่าน สมัยนั้นเน้นสอบถามยอด โอนเงินระหว่างบัญชีธนาคารเดียวกัน แต่หากโอนเงินต่างธนาคารนอกจากต้องเสียค่าธรรมเนียมแล้ว ยังต้องรอประมาณ 2 วันทำการเงินถึงจะเข้าบัญชีปลายทาง
หากต้องการโอนเงินข้ามธนาคารแบบทันที ต้องใช้บริการโอนเงินผ่านเครื่อง ATM ผ่านระบบที่เรียกว่า ORFT มีค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 25-35 บาท หรือไม่อย่างนั้นต้องฝากเงินสดที่เคาน์เตอร์สาขาธนาคาร หรือเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติ (Cash Deposit Machine หรือ CDM) ซึ่งยุคนั้นมีให้บริการเฉพาะสาขาในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ สมัยนั้นผู้บริโภคที่ใช้บริการทางการเงินต้องเสียค่าธรรมเนียม ตั้งแต่สอบถามยอด ถอนเงิน โอนเงิน ถูกหักเงินในบัญชีไปไม่รู้ตั้งเท่าไหร่
หลังจากที่รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) หนึ่งในนั้นคือระบบพร้อมเพย์ (Prompt Pay) ให้บริการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 กระทั่งมีการแข่งขันด้านโมบายแบงกิ้ง ยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมโอนเงินข้ามเขต โอนเงินต่างธนาคาร เติมเงิน จ่ายบิล และกดเงินไม่ใช้บัตรเป็นแห่งแรก ส่งผลให้มีผู้ใช้งานโมบายแบงกิ้งแบบก้าวกระโดด
ส่วนบริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ผู้ใช้บริการเป็นประจำมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ กระทั่งมีธนาคารแห่งหนึ่ง คิดค่าธรรมเนียมโอนเงินต่างธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง รายการละ 5 บาท เพื่อจูงใจให้ลูกค้าหันมาทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชันโมบายแบงกิ้งก็มี ถึงกระนั้นแต่ละธนาคารต่างก็ไม่คิดค่าธรรมเนียมอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง สำหรับบุคคลธรรมดา แต่อาจจำกัดให้ทำได้เฉพาะบางธุรกรรม เช่น สอบถามยอด โอนเงิน จ่ายบิล เติมเงิน หรือบริการอื่นๆ ที่ธนาคารกำหนด
แม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่นิยมทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งอย่างแพร่หลาย แต่ที่ผ่านมาก็มีคำถามตามมาถึงความปลอดภัย โดยเฉพาะภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มักจะแอบอ้างเป็นหน่วยงานหลอกให้คลิกลิงก์ ที่มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงมือถือระยะไกล (Remote Access) สวมรอยเข้าใช้งานโมบายแบงกิ้งผู้อื่น ไม่นับรวมกรณีที่แอปพลิเคชันธนาคารล่มในวันที่มีการทำธุรกรรมจำนวนมาก เช่น วันหวยออกทุกวันที่ 1 และ 16 วันที่กรมบัญชีกลางจ่ายเงินเดือน และวันสิ้นเดือน
น่าคิดว่า ในวันที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง สาขาถูกยุบและควบรวม ตู้เอทีเอ็มถูกลดจำนวนลง ผู้คนไม่ทำบัตรเดบิตเพราะนิยมกดเงินไม่ใช้บัตร เมื่อวันหนึ่งโมบายแบงกิ้งใช้งานไม่ได้ ช่องทางให้บริการสำรองจะมีมากน้อยขนาดไหน?