ธนาคารกรุงไทยแจ้งยกเลิกการให้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง KTB Netbank ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป เพราะผู้ใช้งานลดลง หันไปใช้แอปฯ Krungthai NEXT เพิ่มขึ้น ลูกค้าเดิมที่เคยสมัครไม่ต้องทำอะไร แค่เข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ไม่ได้เท่านั้น ปิดตำนานแพลตฟอร์มพร้อมเงินฝากรูปแบบพิเศษ และบัตรเดบิตปีละ 299 บาท นานกว่า 11 ปี
วันนี้ (30 พ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศแจ้งยกเลิกการให้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ที่ชื่อว่า KTB Netbank ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นบริการที่มีผู้ใช้งานลดลงจำนวนมาก สอดคล้องกับรูปแบบการใช้งานของลูกค้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่หันมาใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT เพิ่มขึ้น ปัจจุบันได้รับความนิยมและมีผู้ใช้งานแล้วมากกว่า 16 ล้านราย
"ธนาคารมุ่งมั่นพัฒนา Krungthai NEXT ที่ทำให้ใช้ชีวิตเก่งขึ้น ง่าย รวดเร็ว และปลอดภัย พร้อมตอบโจทย์ทุกการใช้งาน ทุกไลฟ์สไตล์ อย่างครบวงจรภายในแอปฯ เดียว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่หลากหลายแก่ลูกค้าทุกกลุ่มผ่าน สมาร์ทโฟน สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และขับเคลื่อนสังคมไทยทุกภาคส่วนสู่สังคมไร้เงินสด โดยสร้างประสบการณ์ที่เหนือกว่า สามารถเปิดใช้งานด้วย Face Authentication สแกนใบหน้าและบัตรประชาชนเพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์ตัวตน หมดกังวลเรื่องการลืม Username และ Password เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์มือถือ หรืออีเมลเพื่อรับรหัส OTP ด้วยตนเอง ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปที่สาขา ด้วยจุดแข็งการให้บริการทั้งโอน เติม จ่าย รวมถึงการขอสินเชื่อ แจ้งเตือนรายการและตั้งรายการล่วงหน้าได้สูงสุด 24 เดือน" คำประกาศของธนาคารกรุงไทยระบุ
สำหรับบริการ KTB Netbank จะถูกยกเลิกอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องดำเนินการใดๆ เพื่อยกเลิกบริการ ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถใช้บริการผ่านช่องทาง www.ktbnetbank.com ได้แก่ 1. การเรียกดูรายละเอียด และการจัดการบัญชี 2. การโอนเงิน (Transfer) 3. การชำระเงิน (Bill Payment) 4. บริการโอนเงินด่วนระหว่างประเทศ Western Union 5. การสมัครใช้บริการต่างๆ ผ่านช่องทาง KTB netbank 6. บริการจองซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล
เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ลูกค้าสามารถใช้บริการดังกล่าวผ่านช่องทาง Krungthai NEXT เพียงดาวน์โหลดแอปฯ และยืนยันตัวตน ช่องทางตู้ ATM และสาขาของธนาคารทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Krungthai Contact Center โทร. 0-2111-1111 ตลอด 24 ชั่วโมง ธนาคารขออภัยในความไม่สะดวก และขอขอบคุณที่ใช้บริการของธนาคารด้วยดีเสมอมา
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า แพลตฟอร์มที่ชื่อว่า KTB Netbank เปิดตัวเมื่อเดือน พ.ค. 2554 เป็นบริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งของธนาคารกรุงไทย ที่มีผลิตภัณฑ์เงินฝากรูปแบบพิเศษ แยกจากระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง KTB Online ของธนาคารกรุงไทยเดิม สามารถทำรายการผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ได้ทั้งคอมพิวเตอร์ มือถือ รวมทั้งแอปพลิเคชัน KTB Netbank มาพร้อมกับบัตรเดบิต คิดค่าธรรมเนียมรายปี 299 บาทต่อปี ต่อมาเดือน ก.พ. 2557 ได้รวมระบบ KTB Online และ KTB Netbank เข้าไว้ด้วยกัน
กระทั่งเดือน ก.พ. 2561 ธนาคารกรุงไทยได้ออกแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" เปิดตัวครั้งแรกในงาน 1st Cashless City จังหวัดนครปฐม ขณะนั้นเป็นการผูกกับบัญชีธนาคารกรุงไทยเพื่อใช้สแกนคิวอาร์โค้ดตามร้านค้าต่างๆ ก่อนจะร่วมกับรัฐบาลดำเนินโครงการชิมช้อปใช้เมื่อเดือน ก.ย. 2562 ผ่านกระเป๋าเงินที่เรียกว่า G-Wallet กระทั่งได้นำมาใช้ในโครงการต่างๆ เช่น คนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน, เราชนะ, ม.33 เรารักกัน และได้พัฒนากระเป๋าเงิน เป๋าตังเปย์ (Paotang Pay) เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565
จุดเปลี่ยนสำคัญ วันที่ 24 ต.ค. 2561 ธนาคารกรุงไทยได้ออกแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT แยกจากแอปพลิเคชัน KTB Netbank ต่างหาก โดยได้ ณเดชน์ คูกิมิยะ ดารานักแสดงชื่อดัง เป็นพรีเซ็นเตอร์เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคทั่วประเทศ กระทั่งบริการ KTB Netbank เหลือเพียงช่องทางเว็บไซต์ผ่านเว็บเบราว์เซอร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ภายหลังมีการผลักดันให้ลูกค้าบุคคลใช้บริการ Krungthai NEXT มากขึ้น ทั้งการคิดค่าธรรมเนียมโอนเงินต่างธนาคารด้วยเลขที่บัญชี ผ่านเว็บไซต์ KTB Netbank รายการละ 5 บาท เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2565 เพื่อให้ลูกค้าบุคคลโอนเงินผ่าน Krungthai NEXT ได้ฟรี หรือยกเลิกให้บริการโอนเงินด้วยเงินสด (E-Cheque) และบริการรับเงิน/ยกเลิกการรับเงินบริการ E-Cheque (Release E-Cheque) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2565 เพื่อให้ลูกค้าบุคคลถอนเงินไม่ใช้บัตรผ่าน Krungthai NEXT แทน
ปัจจุบัน แอปพลิเคชันเป๋าตัง มีผู้ใช้งานจำนวน 40 ล้านราย ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการคนละครึ่งของรัฐบาลที่มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิ 24 ล้านราย โดยได้แยกการบริหารออกจากธนาคารกรุงไทย ตั้งบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า บริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด ขึ้นมาต่างหาก ส่วนแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT สำหรับลูกค้าที่มีบัญชีธนาคารกรุงไทย มีผู้ใช้งานจำนวน 16 ล้านราย และแอปพลิเคชันถุงเงิน สำหรับร้านค้าที่รับชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด มีผู้ใช้งานจำนวน 1.7 ล้านราย
การปิดตัวแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า KTB Netbank ในวันที่ 1 ม.ค. 2566 เท่ากับว่ารวมระยะเวลาการให้บริการ 11 ปี 7 เดือน