xs
xsm
sm
md
lg

นครพนม เขาว่าเมืองสุขที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันก่อนมีโอกาสมาเยือนนครพนม จังหวัดที่คิดจะมาเยือนตั้งนานแล้วแต่ไม่มีโอกาสได้ไปเสียที เมื่อเพื่อนได้บรรจุเป็นข้าราชการป้ายแดง เลยถือโอกาสไปเปิดหูเปิดตาเมืองที่ได้ชื่อว่า “เมืองสุขที่สุด” แห่งนี้

คำกล่าวที่ว่า “เมืองสุขที่สุด” ไม่ได้ทึกทักขึ้นมาเอง แต่มาจากครั้งหนึ่งเคยครองแชมป์จังหวัดที่มีความสุขที่สุดของประเทศไทยในปี 2556 จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แต่ปัจจุบันการสำรวจดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว

ถึงกระนั้น จากที่ตามข่าวพบว่าจังหวัดแห่งนี้มีเรื่องราวดีๆ อย่างน้อยมีอยู่สองเรื่อง


เรื่องแรก ... เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 กลุ่มศิลปิน “สตรีทอาร์ต คิง ภูมิพล”ของ ครูอะไหล่ ชวัส จำปาแสน เดินทางมาวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ ๙ และ ๑๐ บนผนังอาคารด้านข้างองค์พญาศรีสัตตนาคราช

เดิมครูอะไหล่และกลุ่มศิลปินจิตอาสา วาดพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตามจังหวัดต่างๆ เพื่อเผยแพร่พระบรมราโชวาท ที่ผ่านมาผู้จัดการออนไลน์ (MGR Online) เคยมีโอกาสสัมภาษณ์ครูอะไหล่มาแล้ว 2-3 ครั้ง

อ่านประกอบ : "ส่งเสริมความดี ใช้สติ-ไม่ใช้อารมณ์" เบื้องหลัง "สตรีทอาร์ต คิง ภูมิพล" ย้ำคำสอน "ในหลวง ร.๙" ก่อนเลือกตั้ง (23 มี.ค. 2562)

ผุด “สตรีทอาร์ต คิง ภูมิพล” กลางกรุง อัญเชิญพระราชดำรัส ร.๙ ย้ำจุดยืน “ความสามัคคี” บนความแตกต่าง (26 พ.ย. 2563)

กระทั่งผู้ประกาศข่าวรุ่นใหญ่ของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่องหนึ่ง ไปเห็นบทสัมภาษณ์เข้า ก็เลยเชิญมาสัมภาษณ์ เมื่อรับทราบเจตนาที่ดีของครูอะไหล่ ก็เลยให้การสนับสนุนโครงการวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ทั่วประเทศ

โดยประเดิมที่ “ลานหน้าองค์พญาศรีสัตตนาคราช” จ.นครพนม เป็นแห่งแรก กระทั่งดำเนินโครงการมาหลายจังหวัด ครั้งล่าสุด แห่งที่ 16 โรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

แฟ้มภาพ MGR PHOTO 22 ตุลาคม 2565
เรื่องที่สอง ... เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2565 ดารานักร้องจากเวทีเดอะสตาร์ โตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ สร้างปรากฎการณ์ว่ายน้ำข้ามลำน้ำโขง ในโครงการที่ชื่อว่า ONE MAN AND THE RIVER หนึ่งคนว่าย หลายคนให้

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนจัดซื้อเครื่องมือแพทย์แก่โรงพยาบาลนครพนม และโรงพยาบาลแขวงคำม่วน สปป.ลาว แม้จะมีดรามาตัดแข้งตัดขาเป็นระยะ แต่ก็ไม่อาจต้านทาน “พลังโอนไว” ด้วยเงินบริจาคกว่า 87 ล้านบาท

ขณะที่วันดังกล่าว พบว่ามีทั้งชาวนครพนม แฟนคลับโตโน่ และชาวแขวงคำม่วน สปป.ลาว มาชมและให้กำลังใจโตโน่ริมสองฝั่งแม่น้ำโขง เห็นจากการถ่ายทอดสดคราวนั้นยิ่งทำให้รู้สึกอบอุ่นหัวใจอย่างบอกไม่ถูก

ทั้งสองเรื่อง เราได้เห็นน้ำใจของชาวนครพนมออกมาช่วยเหลือและให้กำลังใจเป็นระยะ เป็นภาพดีงามที่ทำให้ผู้เขียนเห็นเรื่องราวดีๆ แบบนี้ ก็ทำให้ยิ่งอยากมาเยือนนครพนมสักครั้ง


ถนนนิตโย หรือทางหลวงหมายเลข 22 ระยะทางราว 240 กิโลเมตร วันนี้กลายเป็นถนนสี่เลนตลอดสาย ทำให้การเดินทางไม่ยากลำบากนัก ขับรถสบายๆ เพียง 3 ชั่วโมงเศษ จากตัวเมืองอุดรธานี

แต่สำหรับคนที่ขับรถมาจากกรุงเทพฯ หรือนั่งรถทัวร์ ส่วนใหญ่ถ้ามาจากถนนพหลโยธิน และถนนมิตรภาพ ผ่านจังหวัดนครราชสีมาแล้ว มักจะเลี้ยวขวาที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ไปตาม ถนนแจ้งสนิท หรือทางหลวงหมายเลข 23

เมื่อมาถึงจังหวัดมหาสารคามก็จะต่อด้วย ถนนถีนานนท์ ผ่านยางตลาด กาฬสินธุ์ สมเด็จ ภูพาน กุดบาก ถึงตัวเมืองสกลนคร แยกบายพาสเลี้ยวซ้าย ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ไปออกถนนนิตโย มุ่งหน้าจังหวัดนครพนม

รถทัวร์จากกรุงเทพฯ มายังนครพนม ที่นิยมมากที่สุดก็คือนครชัยแอร์ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเที่ยวเวลาค่ำ ถึงปลายทางเช้า ใช้เวลา 10 ชั่วโมง 40 นาที นอกนั้นก็จะมี บขส. โลตัสพิบูลทัวร์ เชิดชัยทัวร์ เป็นต้น

ส่วนทางเครื่องบิน มีท่าอากาศยานนครพนม ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 15 กิโลเมตร มี 2 สายการบินให้บริการ ได้แก่ แอร์เอเชีย และนกแอร์ แต่เมื่อเป็นเส้นทางที่การแข่งขันด้านราคามีน้อย ค่าตั๋วเครื่องบินอาจแพงไปบ้าง


ทีแรกคิดว่านครพนมเป็นเมืองชายแดน น่าจะเป็นเมืองใหญ่พอสมควร แต่พอมาสัมผัสด้วยตัวเองพบว่าไม่ใหญ่มาก ขนานไปกับแม่น้ำโขง ถ้าอากาศไม่ร้อนก็เหมาะกับการเดินเท้า จากสี่แยกบายพาสถึงลานพญาศรีสัตตนาคราช ประมาณ 2 กิโลเมตร

ขณะเดียวกัน ความเข้าใจตั้งแต่เด็กที่คิดว่า นครพนมน่าจะมี “พระธาตุพนม” ปรากฎว่าในความเป็นจริงตั้งอยู่อีกอำเภอหนึ่ง คือ อำเภอธาตุพนม ห่างจากตัวเมืองนครพนมไปตามถนนชยางกูรลงมาอีก 55 กิโลเมตร

แต่ข้อดีของการเป็นเมืองขนาดไม่ใหญ่มากอย่างหนึ่งก็คือ ค่าที่พักจะไม่แพง ถ้าไม่ติดว่าจะต้องเป็นวิวแม่น้ำโขง ซึ่งค่าห้องพักราคาหลักพันเข้าไปแล้ว ถัดออกไปก็ยังมีที่พักรายวันราคาไม่แพง ประมาณ 350-500 บาทต่อคืน

แม้จะไม่เห็นวิวแม่น้ำโขง แต่ถ้าเป็นคนขยันออกกำลังกาย ตั้งนาฬิกาปลุกสักตีห้า ตีห้าครึ่ง แล้วเดินเท้าออกไปที่ริมแม่น้ำโขง รอชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า ก็ได้บรรยากาศเหมือนกัน





ข้าวเปียกเส้น ถนนคนเดินนครพนม
แลนด์มาร์คยอดนิยมในปัจจุบันของนครพนม คือ ลานพญาศรีสัตตนาคราช ซึ่งจังหวัดนครพนมได้เปิดพื้นที่แห่งนี้แบบพื้นที่โล่ง ไม่จำกัดเวลาเข้า-ออก ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืนก็มาสักการะบูชา หรือมานั่งเล่นริมแม่น้ำโขงก็ได้

ที่แห่งนี้ถือเป็นพื้นที่เปิดกว้างของตัวเมืองนครพนม ยามเช้าจะมีคนออกมาวิ่งหรือปั่นจักรยาน กลางวันก็มีผู้คนมาบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช ไม่ไกลนักมีเรือข้ามฟากไปยังเมืองท่าแขก แขวงคำม่วนแห่ง สปป.ลาว

ส่วนยามเย็นกลายเป็นถนนคนเดินนครพนม ไล่ตั้งแต่หน้าลานพญาศรีสัตตนาคราช ถึงหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ ก็จะปิดถนนให้ผู้คนออกมาเดินเล่น จับจ่าย ชิม ช้อปตลอดทาง แต่ตลาดจะเริ่มวายประมาณ 3 ทุ่ม

ฝั่งตรงข้ามของลานพญาศรีสัตตนาคราช คือ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วนของ สปป.ลาว ตอนกลางวันซบเซา แต่จะคึกคักตอนกลางคืน โดยเฉพาะจุดที่เรียกว่าเซ็นเตอร์พอยต์ ซึ่งหากต้องการบรรยากาศแบบนี้ต้องค้างคืนที่ฝั่งลาวเท่านั้น

เมนูที่ห้ามพลาดถ้าจะมาถนนคนเดิน คือ “ข้าวเปียกเส้น” ซึ่งเป็นเมนูที่รับเอาวัฒนธรรมมาจากเวียดนาม เส้นทำมาจากแป้งข้าวเจ้า ราดด้วยน้ำซุป และเครื่องเคียงต่าง ๆ เช่น หมูยอ ไข่ไก่ เหมาะที่สุดคือฤดูหนาว

แต่ถ้ากล่าวถึงอาหารเวียดนาม ที่นครพนมมีหลายร้าน แต่ร้านที่มีคนแนะนำคือ “ร้านครัวเวียดนาม @ นครพนม” ซึ่งเปิดมายาวนานกว่า 30 ปี ถือเป็นร้านที่แขกไปใครมามักจะแวะมาที่นี่






นอกจากอาหารเวียดนาม อีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นเวียดนามในนครพนม คือ “หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์” ที่ชาวเวียดนามได้สร้างไว้เมื่อปี 2503 เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชาวนครพนม เมื่อคราวย้ายกลับประเทศ

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ชาวเวียดนามจำนวนมากอพยพข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาอาศัยอยู่ในเมืองนครพนม เพื่อหลบหนีการปราบปรามของฝรั่งเศส โดยเฉพาะ “วันท่าแขกแตก” ที่ฝรั่งเศสปราบปรามคนเวียดนามในลาวเมื่อปี 2489

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในขณะนั้นพยายามจัดระเบียบชาวเวียดนามอพยพ กระทั่งหลังเวียดนามต่อสู้และได้รับเอกราชเมื่อปี 2497 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เปิดโอกาสให้ชาวเวียดนามอพยพกลับประเทศโดยสมัครใจ

กระทั่งรัฐบาลเวียดนามและรัฐบาลไทยได้ทำข้อตกลง โดยผ่านสภากาชาดไทย เมื่อชาวเวียดนามในนครพนมส่วนใหญ่เดินทางกลับเวียดนาม จึงเหลือไว้แต่เพียงหอนาฬิกากลางเมืองนครพนมที่สร้างไว้เป็นอนุสรณ์

นอกจากนี้ ยังมี อนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์ บริเวณบ้านนาจอก ต.หนองญาติ สร้างไว้เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ พร้อมด้วยกลุ่มผู้ร่วมอุดมการณ์มาพำนักที่นครพนมเพื่อวางแผนกอบกู้เอกราช






เมื่อกล่าวถึงแหล่งแฮงก์เอาต์ยามค่ำคืน บริเวณใกล้กับหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ จะมีร้านเหล้าอยู่บริเวณดังกล่าว เน้นไปที่บรรยากาศและดนตรีสด

แต่สถานบันเทิงที่เป็นผับจริงๆ ในจังหวัดนครพนมมีเพียงแห่งเดียว เปิดตั้งแต่สามทุ่มครึ่งยันดึกดื่น เท่าที่คุยกับนักเที่ยวรายหนึ่งก็บอกว่า นอกจากที่ว่านี้หลังผับเลิกก็ไม่มีอะไรแล้ว แยกย้ายกันกลับอย่างเดียว

ส่วนห้างสรรพสินค้าแบบโมเดิร์นเทรดที่นี่ มีเพียงโลตัส กับห้างค้าวัสดุก่อสร้างเมกาโฮม ถัดออกไปจะเป็นบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ บริเวณถนนบายพาส และห้างแม็คโคร ออกไปทางถนนนิตโย

นอกนั้นจะเป็น ตลาดอินโดจีน เป็นตลาดที่ใหญ่และมีชื่อเสียงมากในแถบอีสาน แหล่งรวมสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ตลาดเงียบเหงาลงไปบ้าง แต่จะคึกคักในช่วงวันหยุด

จากที่พูดคุยกับชาวนครพนม เท่าที่ทราบก็คือ ที่นี่ช่วงฤดูร้อนคนจะมาเยือนน้อย เพราะไปเที่ยวทะเลกันหมด แต่จะคึกคักในช่วงฤดูหนาวประมาณปลายปี เป็นช่วงที่เหมาะแก่การมาเที่ยวนครพนมมากที่สุด






ปิดท้ายที่ความใจดีของชาวนครพนม เท่าที่สัมผัสด้วยตัวเองมีหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่อยากจะเล่าสู่กันฟัง เมื่อครั้งมาถึงนครพนม เอาเสื้อผ้าไปซักที่เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ด้วยความที่ไม่รู้จักใคร จึงถามร้านข้าวขาหมูปากซอยใกล้ที่พัก

เจ้าของร้านบอกว่า เดินเข้าไปด้านใน ผ่านสี่แยกซ้ายมือประมาณ 500 เมตร จะเห็นเพิงเล็กๆ มีเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญตั้งอยู่ จึงเดินเท้าไปตามคำแนะนำ พบว่าซอยเปลี่ยวมาก ทั้งไกลทั้งน่ากลัว กระทั่งนำผ้าไปซักตามปกติ

เอาผ้าใส่เครื่องแล้ว ระหว่างการซักออกไปที่หน้าปากซอย สั่งข้าวขาหมูมากิน เจ้าของร้านถามว่าเจอไหม ก็ตอบว่าเจอ เดินไกลมาก เจ้าของร้านกล่าวว่า “เดี๋ยวขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่ง” แม้จะตอบว่าไม่เป็นไร แต่เจ้าของร้านบอกว่ามันไกล เดี๋ยวไปส่งให้

เมื่อทานข้าวเสร็จ เจ้าของร้านข้าวขาหมูขับขี่รถจักรยานยนต์ไปส่งตามที่กล่าว แต่มาถึงปรากฎว่าเวลาทำงานของเครื่องซักผ้าเหลือนานพอสมควร จึงได้มีโอกาสคุยกันยาวๆ ทราบว่าช่วงโควิด-19 ธุรกิจของเขาก็เจ็บตัวหนักเหมือนกัน

หลังซักผ้าเสร็จ เจ้าของร้านขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งที่หน้าห้องพัก เรากล่าวขอบคุณเจ้าของร้านไป อีกวันหนึ่งก่อนกลับกรุงเทพฯ ก็กลับมาอุดหนุนอีกครั้ง พร้อมกับบอกลาเจ้าของร้าน โอกาสหน้ามาเที่ยวที่นี่จะแวะมาหาอีก

นี่คือ “เมืองสุขที่สุด” ที่ได้สัมผัสด้วยตัวเอง แม้มาตรฐานความสุขของคนเรานั้นไม่เท่ากัน แต่ก็อยากให้คุณผู้อ่านมีเวลาออกเดินทาง ออกมาค้นหาความสุขที่สุดในแบบของตัวเอง

หวังว่าสักวันหนึ่งคงได้ค้นพบกับสิ่งที่ "สุขที่สุด" ในชีวิตการเดินทางของเราบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น