xs
xsm
sm
md
lg

"ส่งเสริมความดี ใช้สติ-ไม่ใช้อารมณ์" เบื้องหลัง "สตรีทอาร์ต คิง ภูมิพล" ย้ำคำสอน "ในหลวง ร.๙" ก่อนเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เปิดใจ "ครูอะไหล่" ชวัส จำปาแสน ผู้อยู่เบื้องหลังภาพ "สตรีทอาร์ต คิง ภูมิพล" ระดมจิตอาสาวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ "ในหลวง รัชกาลที่ ๙" น้อมนำคำสอนตระหนักส่งเสริมคนดีปกครองบ้านเมือง รับวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. ระบุ อยากให้ทุกคนใช้สติในการเลือก เป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช้อารมณ์

จากกรณีที่เหล่าจิตอาสากว่า 20 คน ช่วยกันวาดภาพสตรีทอาร์ต พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ และพระบรมราโชวาท ในโครงการ "สตรีทอาร์ต คิง ภูมิพล" (Street Art King Bhumibol) บริเวณผนังอาคารพาณิชย์ ติดกับธนาคารธนชาต สาขาปิ่นเกล้า ถนนบรมราชชนนี แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ โดยใช้ชื่อภาพ "ส่งเสริมความดี" เพื่อน้อมนำพระบรมราโชวาทส่งเสริมความดีในสังคม พร้อมกับถ่ายทอดองค์ความรู้การทำสตรีทอาร์ต และการทำงานเพื่อสังคมให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ต่อไป โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-20 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา ปัจจุบันได้จัดทำสตรีทอาร์ตอย่างเสร็จสมบูรณ์

อ่านประกอบ : จิตอาสาวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ "สตรีทอาร์ตภูมิพล" ใจกลางกรุงเทพฯ มุ่งส่งเสริมความดี


ชวัส จำปาแสน
"ครูอะไหล่" ชวัส จำปาแสน ผู้รับผิดชอบโครงการ "สตรีท อาร์ต คิง ภูมิพล" เปิดเผยกับ MGR Online ว่า คอนเซปต์ของผลงานดังกล่าว เนื่องจากสถานการณ์ช่วงนี้ใกล้จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. จึงอยากจะน้อมนำพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาเตือนสติให้กับคนทั้งประเทศว่า ให้ใช้สติในการเลือกคนที่จะเข้าไปบริหารประเทศ คิดถึงเรื่องส่งเสริมความดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ

ทั้งนี้ ตนอยากให้เพียงแค่ประชาชนใช้สติในการเลือกผู้แทนเท่านั้น ด้วยทัศนคติคือ เมื่อเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง ไม่ว่าใครก็ตามจะเลือกพรรคไหน หรือเลือกใครก็ตามเข้ามาปกครองประเทศ ก็เป็นสิทธิของประชาชน เพียงแต่ก่อนจะไปเลือกใคร สิ่งที่เราต้องการคือ อยากให้ทุกคนใช้สติในการเลือก เป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช้อารมณ์

อย่างช่วงนี้ใกล้เลือกตั้งอารมณ์กับกระแสก็เริ่มมา พรรคการเมืองแต่ละพรรคเลือกที่จะบูมกระแสของตัวเอง มีการดิสเครดิตกัน มีการปลุกปั่นกัน เพื่อให้มันเกิดอารมณ์ เรากลัวว่าถ้าคนมีอารมณ์กันเยอะๆ บางทีอาจทำอะไรมากกว่าการกากบาท เช่น ทะเลาะกัน เป็นเพื่อนสนิทกันอยู่ดีๆ แต่เลือกกันคนละพรรค เกิดการเถียงกันไปมา แทนที่จะอยู่บนเหตุผล ยังพอคุยกันได้ เถียงกันด้วยเหตุผลสนุกอยู่

แต่บางทีถ้าเกิดเกินไปกว่านั้น กลัวว่าจะทำให้คนไทยรู้สึกบาดหมางกันมากกว่าเดิม ทั้งที่จริงคือเรื่องการเลือกตั้ง เราเลือกใครไปเป็นนายกรัฐมนตรี ไปเป็นรัฐบาลก็ตาม สุดท้ายแล้วถ้าเกิดคนที่เราเลือกไปเขาบริหารมาจัดการไม่ดี เราก็ยังจะอยู่ฝั่งเขาอยู่อีกหรือ เราไม่ได้อยากให้รู้สึกว่าเป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เราอยู่ฝ่ายนี้เราก็ต้องอยู่ฝั่งนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าอีกฝั่งหนึ่งจะมีเหตุผลดีแค่ไหนก็ตามก็จะไม่ฟัง กลายเป็นแบ่งแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมากขึ้น

"สุดท้ายเราก็ยังอยู่แผ่นดินเดียวกัน จะขัดแย้งหรือแตกต่างก็แล้วแต่ แต่ไม่แตกแยก พระบรมโชวาทของรัชกาลที่ ๙ ทรงตรัสมาก็ช่วยเตือนสติได้ เราจะตกลงจบกันที่ตรงไหน เราจะยืนอยู่กับอะไร สุดท้ายขึ้นอยู่กับเราได้พิจารณาดูแล้วว่าได้เลือกคนดีเข้าไปบริหารประเทศจริงๆ ซึ่งคำว่า ความดี คนดี ส่งเสริมคนดี น่าจะเป็นแกนหลักที่เราจะเอามาคุยกันได้ ถ้าบางทีคุยกันเรื่องแนวทาง เรื่องนโยบาย ทุกพรรคก็ดูดีกันหมด แต่เราสามารถรู้ได้หรือไม่ว่า นโยบายดีๆ เหล่านี้หลังเลือกตั้งไปแล้วจะทำได้จริงหรือเปล่า" นายชวัส กล่าว

สำหรับพระบรมฉายาลักษณ์ในการนำมาใช้วาดภาพสตรีทอาร์ตนั้น นายชวัส กล่าวว่า ถ้ามองในทางศิลปะ ภาพนี้มีความงดงามที่สุด จากทั้งหมดทุกภาพ เป็นของช่างภาพชาวต่างชาติ จอห์น โดมินิส ที่ถ่ายภาพบุคคลสำคัญทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น เอลวิส เพรสลีย์ ราชาเพลงร็อกแอนด์โรลล์ ฯลฯ ซึ่งพระบรมฉายาลักษณ์นี้แสงและเงาดีมาก และด้วยหลักองค์ประกอบศิลป์มีท่าทางที่มั่นคง เด็ดเดี่ยว มั่นใจ สง่างาม รู้สึกได้ว่าถ้าจะน้อมนำพระบรมราโชวาทนี้ ก็ต้องเป็นภาพนี้ เพราะดูมีพลัง ความรู้สึกดูเป็นการปกครองอย่างหนึ่ง บอกเล่าถึงการปกครองหรือดูแลประเทศนี้ และด้วยฉลองพระองค์ (เสื้อผ้า) และเครื่องทรงดูใกล้เคียงกับพระบรมราโชวาทที่น้อมนำมา
พระบรมฉายาลักษณ์ต้นแบบในการวาดสตรีทอาร์ต
เมื่อถามถึงความต่างระหว่างผลงานศิลปะพระบรมสาทิสลักษณ์ ที่โรงเรียนอนุบาลเบตง จ.ยะลา และอาคารเดอะเวเนเซีย หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี กับผลงานในครั้งนี้ นายชวัส กล่าวว่า ครั้งแรกด้วยคอนเซปต์เราไม่ได้อิงตามกระแส แต่ปลุกให้คนรู้ว่าพระองค์ท่านได้ลงไปที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และห่วงใยพสกนิกรที่นั่น และสะท้อนถึงความรักที่มีต่อประชาชน ไม่ว่าจะยากลำบากหรืออันตรายแค่ไหนก็จะไป

ครั้งที่สองเป็นเรื่องของดนตรี เพราะทางสถานที่เตรียมตัวจะจัดงานคอนเสิร์ต และมีเพลงพระราชนิพนธ์อยู่แล้ว จึงนำพระบรมราโชวาทที่เกี่ยวกับดนตรีมา เป็นอารมณ์แบบรัชกาลที่ 9 กับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงดนตรีด้วยกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสุข แต่ครั้งนี้แตกต่างจากสองครั้งแรกคือ อิงกับสถานการณ์ ทำมาเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
ผลงานสตรีทอาร์ต ที่โรงเรียนอนุบาลเบตง (ซ้าย) และ เดอะเวเนเซีย หัวหิน (ขวา)
ส่วนการทำงานครั้งนี้ เป็นการร่วมแรงร่วมใจ ครั้งแรกคล้ายกับว่าเราวาดอยู่คนเดียว มีผู้ช่วยเป็นตากล้อง ดูเรื่องการจัดการหลายด้าน อีกคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยในการวาด ซึ่งจะวาดในช่วงล่างบริเวณฉลองพระองค์กับพระศอ (เสื้อกับคอ) แต่ตนวาดพระพักตร์ (ใบหน้า) ทั้งรูป ครั้งแรกเหมือนทำงานแบบสามคน มีตนเป็นหลัก ครั้งที่สองทีมเริ่มเยอะขึ้น มี 5 คน มีคนช่วยวาดที่เยอะขึ้นและรูปภาพมีรายละเอียดมากขึ้น ส่วนครั้งนี้เราตั้งไว้แต่แรกว่าจะไม่วาดคนเดียวอีกแล้ว เพราะเมื่อวาดไปสองรูป ก็มีคนส่วนใหญ่จะบอกเสมอว่า วาดให้ครบทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ซึ่งตนรู้สึกว่าใจเราก็อยากจะให้ได้อย่างนั้น

แต่ในการที่ตนจะต้องวาดคนเดียว เป็นไปได้ยากมากที่จะสำเร็จตามเป้าหมาย 77 จังหวัดก็ยากอยู่ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีทีม และเปิดให้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะงานใหญ่ทำคนเดียวไม่ได้ ครั้งนี้พยายามรวบรวม วางแผน จัดการแผนเองทั้งหมด ไม่เหมือนกับสองครั้งแรกที่มีคนจัดการเรื่องการทำพื้นที่ การสร้างงาน การของบประมาณให้ แต่ครั้งนี้เราทำทุกกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่เริ่มโครงการ ขอพื้นที่ งบประมาณ หาผู้สนับสนุน ถ้าเริ่มปฏิบัติงานใช้เวลา 5 วัน แต่ถ้าเตรียมตัวใช้เวลาเป็นเดือน เพราะเราต้องปลีกตัวไปทำงานส่วนตัวด้วย และเอาเวลาที่เหลือมาทำเรื่องตรงนี้ด้วย ก็ใช้เวลานานหน่อย

เมื่อถามว่า พึงพอใจหรือไม่กับผลงานที่ออกมา นายชวัส กล่าวว่า พอใจทั้งภาพ กับกิจกรรมที่เกิดขึ้น ภาพที่ออกมาที่เราอยู่ตรงนั้น 5 วัน เราไม่ได้เห็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์อย่างเดียว แต่เราเห็นภาพของการร่วมแรงร่วมใจ ภาพของเยาวชนมาทำด้วยใจ ตั้งใจอยู่กันถึงดึกดื่น ไม่เหมือนการทำงานที่ทำด้วยเงิน ซึ่งไม่ใช่อารมณ์นี้ ไม่สนุกและมีความกดดัน วัดกันด้วยตัวเงิน แต่ตรงนี้ทุกคนทำด้วยความสุข ทำไปเล่นไป ไม่มีใครเครียด ไม่มีใครเหนื่อย ทั้งที่จริงงานออกไปตากแดดอยู่ สองวันแรกอยู่ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน ซึ่งเกินเวลาทำงานของพนักงานทั่วไป

คนที่มาช่วยหลักมีอยู่ 3 ทีม คือ ทีมหน่วยกู้ภัย RRT มาสนับสนุนการโรยตัวเพื่อทาสีผนัง มีนักเรียนจากโรงเรียนสอนศิลปะ เวอร์ริเดียน อะคาเดมี ออฟ อาร์ต รุ่นที่ 6 และ 7 ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอม ยังไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย ชอบในศิลปะอยู่แล้ว ได้มาทาสีผนังและเขียนตัวอักษร ซึ่งช่วยได้เยอะ เพราะตัวอักษรใหญ่กว่าสองครั้งแรก และทีมหลักเป็นทีม SAKB เป็นมือเพนท์ที่มีฝีมือมาช่วยกันเพนต์ ส่วนงบประมาณที่ใช้อยู่ที่ประมาณ 160,000-170,000 บาท มาจากการบริจาค โดยไม่มีผู้สนับสนุนรายใหญ่ ใช้เฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์

เมื่อถามว่า จะมีผลงานสตรีทอาร์ตครั้งที่ 4 และครั้งต่อไปหรือไม่ นายชวัส กล่าวว่า มีแน่นอน ตั้งแต่ครั้งแรกก็มีคนติดต่อมา กำลังรอดู พยายามจะหาโอกาสและเวลาจัดโครงการให้เราไปทำ ซึ่งมีชาวจังหวัดสตูลติดต่อมา กำลังรอดูพื้นที่อยู่ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งต้องดูสถานที่ด้วย อย่างถ้าเป็นบ้านตัวเอง ทำไม่ได้ บางคนติดต่อมา ถามว่าที่ของใคร ก็บอกว่าที่ของตัวเอง กลายเป็นว่าวาดให้ตัวเอง บางแห่งผนังไม่สูงมาก บางแห่งตำแหน่งของพื้นที่ที่จะวาดไม่ดูเป็นกรอบรูป เหมือนเอาไปใส่เฉยๆ หรือบางแห่งมีสายไฟคาดซึ่งเป็นปัญหามาก

อย่างทางจังหวัดสตูลมีสายไฟคาด ทั้งที่ผนังสวยงามเหมาะสม ถ้าไม่มีสายไฟถือว่าดี เหมือนไปทั้งที ไปไกล ไปลงแรงจิตอาสาทำให้ฟรีๆ อย่างน้อยสิ่งที่เราคาดหวังก็คือ ทำแล้วรู้สึกว่าคุ้มที่จะเกิดประโยชน์ คาดหวังว่า ตนมีความสามารถในการสื่อสาร เช่น การวาดภาพ การผลิตวีดีโอคลิป เพราะฉะนั้นเราเป็นผู้นำสาร แต่สารเป็นคำสอนที่รัชกาลที่ 9 ได้สอนไว้อยู่แล้ว เราก็น้อมนำคำสอนของพ่อเพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึง

ในตอนท้าย เมื่อถามว่า เมื่อสตรีทอาร์ตชิ้นล่าสุดพูดถึงการส่งเสริมคนดี อยากจะบอกอะไรกับประชาชน ในวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. นายชวัส กล่าวว่า "อยากให้ประชาชนใช้สติ ลดอารมณ์ลง และอย่าทะเลาะกัน"

อนึ่ง สำหรับครูอะไหล่ ชวัส จำปาแสน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันเป็นครูสอนศิลปะ และผู้จัดการโรงเรียนสอนศิลปะ เวอร์ริเดียน อะคาเดมี ออฟ อาร์ต

เรื่อง : กิตตินันท์ นาคทอง

กำลังโหลดความคิดเห็น