xs
xsm
sm
md
lg

ปิดตำนานโรบินสันบางแค 29 ปี หนึ่งในห้างดังย่านฝั่งธนฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เขียนมีโอกาสแวะไปเยือนห้างโรบินสัน บางแค ภายในศูนย์การค้าซีคอนบางแค ซึ่งจะเปิดให้บริการถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 เป็นวันสุดท้าย ก่อนจะปิดสาขาและส่งมอบพื้นที่คืน

ระหว่างนี้ได้จัดโปรโมชัน “โรบินสัน บางแค ลดแรง! ไม่ขนกลับ” นำสินค้ามาลดราคาสูงสุด 80% เพื่อตอบแทนลูกค้าที่ให้การตอบรับและสนับสนุนโรบินสัน บางแค มาโดยตลอด

วันที่ไปเยือนเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ พบว่าลูกค้าให้ความสนใจเลือกซื้อสินค้าไม่ขาดสาย โดยเฉพาะสินค้าลดราคาบริเวณชั้น B แผนก Just Buy และชั้น 1 แผนกแฟชั่นบุรุษและสตรี สินค้าลดราคาบางตัวหมดลงด้วยซ้ำ

แม้ผู้เขียนจะไม่ได้ซื้ออะไร เพราะที่บ้านมีหมดแล้ว แต่ก็ได้แต่นึกถึงความทรงจำในอดีต ซึ่งครั้งหนึ่งสมัยที่ยังเป็นเด็กประถมฯ เคยนั่งรถเมล์สาย 85 กรุงเทพฯ (สายใต้ สามแยกไฟฉาย) – สมุทรสาคร มาเดินเล่นที่นี่ แต่ก็ไม่บ่อยนัก

จำได้ลางๆ สมัยเด็กๆ ห้างฟิวเจอร์พาร์คบางแค เต็มไปด้วยหนุ่มสาววัยรุ่น ที่เรียนอยู่ย่านนั้นมาเดินเที่ยว แต่ห้างโรบินสันไม่ค่อยได้เดินเพราะตอนนั้นยังเด็กอยู่เลย กลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มคนทำงาน

จะทันก็ต่อเมื่อห้างคาร์ฟูร์มาเปิดสาขาบางแคที่ชั้นใต้ดินและชั้น 1 จำได้ว่าเคยนั่งรถจากสมุทรสาครมาที่นี่ มีแผนกวีซีดีที่มีเครื่องเล่นให้ลูกค้าทดลองฟังก่อนตัดสินใจซื้อ ในยุคที่เทปผีซีดีเถื่อน MP3 อาละวาดอย่างหนัก


พูดถึงฝั่งธนบุรี สมัยก่อนยังไม่มีชุมชนหนาแน่น ก็มีห้างกระจุกตัวเพียงแค่ไม่กี่ย่าน อาทิ ย่านวงเวียนใหญ่ ที่มีห้างเซ็นทรัลลาดหญ้า เมอรี่คิงส์วงเวียนใหญ่ ถัดไปทางถนนรัชดาภิเษกก็มีเดอะมอลล์ธนบุรี

ย่านสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ก็มีห้างพาต้าปิ่นเกล้า ที่มีลิฟต์แก้วและสวนสัตว์, เมอรี่คิงส์ปิ่นเกล้า ถัดไปอีกจะมีเวลโก้ ปิ่นเกล้า แต่ไฟไหม้ไปเสียก่อน และเซ็นทรัลปิ่นเกล้า เหนือขึ้นไปถนนสิรินธรก็มีตั้งฮั่วเส็งธนบุรี

ส่วนถนนเพชรเกษม ย่านบางแค สมัยก่อนมีห้างคาเธย์ ห้างวันเดอร์ ห้างเซฟโก้ ก่อนที่จะมีฟิวเจอร์พาร์คบางแค จากนั้นก็มีเดอะมอลล์บางแค ถัดออกไปก็มีห้างแซนต้า แต่ถ้าลงไปทางตลาดบางบอนก็มีห้างจัสโก้ และห้างแม็คโคร

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของไฮเปอร์มาร์เก็ต ทั้งบิ๊กซี โลตัส และคาร์ฟูร์ ที่มีสินค้าครบครันกว่าในที่เดียว ทำให้ห้างดั้งเดิมเริ่มล้มหายตายจาก หลายห้างไม่มีให้เห็นอีกแล้ว บ้างก็ปิดกิจการ บ้างก็เปลี่ยนมือไปเป็นอย่างอื่น


ห้างโรบินสันบางแค เป็นหนึ่งในแมกเนตของศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คบางแค บนพื้นที่ 40 ไร่ ด้านหน้าติดถนนเพชรเกษม สมัยนั้นอีกฝั่งหนึ่งของศูนย์ฯ เป็นห้างเยาฮัน ส่วนชั้นบนเป็นโรงภาพยนตร์อีจีวี

เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2536 เป็นสาขาที่ 8 ในยุคที่ห้างโรบินสันบริหารงานโดย มานิต อุดมคุณธรรม ซึ่งเริ่มเปิดดำเนินกิจการห้างสรรพสินค้าสาขาแรกที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในปี 2522 ตามมาด้วยราชดำริ สีลม ดอนเมือง รัชดาภิเษก

ระหว่างนั้นก็เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ 3 มกราคม 2535 ถือเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในประเทศไทยที่นำบริษัทเข้าตลาดหุ้น ก่อนที่จะเปิดสาขาบางรักช่วงปลายปี และบางแคในปีต่อมา

ยุคนั้นโรบินสันโตเร็ว เพราะสร้างความแปลกใหม่ให้กับลูกค้า ทั้งลดแลกแจกแถม ทั้งผุดแคมเปญ แสตมป์โรบินสัน กระทั่ง กลุ่มเซ็นทรัล รีเทล เข้าถือหุ้นใหญ่ในปี 2538 พร้อมร่วมทุนกับห้างสรรพสินค้าต่างจังหวัด ขยายสาขาจำนวนมาก

แต่เมื่อเกิด วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 มานิตตัดสินใจขายกิจการห้างโรบินสันให้กับกลุ่มเซ็นทรัล แต่ด้วยความที่มีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลอยู่แล้ว จึงวางตำแหน่งให้ห้างโรบินสันเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อในระดับปานกลาง

กระทั่งได้พบเห็นห้างโรบินสันไปอยู่ที่ศูนย์การค้า ในเครือเซ็นทรัลพัฒนาหลายแห่ง แล้วต่อมาขยายธุรกิจศูนย์การค้าชื่อ “โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์” เน้นเปิดสาขาจังหวัดเมืองรอง พื้นที่ชานเมือง และย่านอุตสาหกรรม

พิธีเปิดห้างโรบินสัน ราชพฤกษ์ (ภาพ : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG221117144806012)
ศูนย์การค้าล่าสุดที่เปิดให้บริการ คือ โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ราชพฤกษ์ บนถนนราชพฤกษ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่รวม 50,000 ตารางเมตร เปิดให้บริการเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2565 เป็นสาขาที่ 27

แมกเนตหลักคือห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำนวน 2 ชั้น บนพื้นที่ 8,100 ตารางเมตร จำหน่ายเครื่องสำอาง แฟชั่นบุรุษ-สตรี นาฬิกา เครื่องประดับ สินค้าแม่และเด็ก ของใช้และของตกแต่งภายในบ้าน อุปกรณ์เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ยังมีโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีมา จำนวน 4 โรง รวม 672 ที่นั่ง, ร้าน MUJI สาขาแรกในไทยที่มี 2 ชั้น ที่จะเปิดในเดือนธันวาคมนี้, ร้านเคเอฟซีรูปแบบกรีนสโตร์เอาต์ดอร์ และมีแหล่งแฮงเอาต์บนดาดฟ้าที่จะเปิดในปีหน้า

ปัจจุบัน จังหวัดนนทบุรีมีห้างสรรพสินค้าโรบินสันมากถึง 3 แห่ง ได้แก่ รัตนาธิเบศร์ เปิดเมื่อ 15 มิถุนายน 2548 หลังเซ็นทรัลพัฒนาซื้อห้างจัสโก้เดิม, ศรีสมาน เปิดเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2558 และสาขาล่าสุด ราชพฤกษ์

น่าสังเกตอย่างหนึ่ง เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เฟซบุ๊กเพจของห้างโรบินสัน บางแค ที่มีผู้ติดตามกว่า 27,000 คน เปลี่ยนชื่อจากเดิม “Robinson Department Bangkae” เป็น “Robinson DepartmentStore Ratchapruek”

คลับคล้ายคลับคลาว่าจะย้ายสาขาจากโรบินสันบางแค ไปให้บริการที่สาขาราชพฤกษ์แทน แต่อีกมุมหนึ่งอาจเป็นเพียงแค่การย้ายเฟซบุ๊กเพจเฉยๆ เพราะการทำเพจโดยใช้ฐานผู้ติดตามเดิม ง่ายกว่าการสร้างเพจขึ้นมาใหม่ก็เป็นได้

ภาพ : https://www.nawarat.co.th/project/future-park-bangkae-shopping-complex/
กลับมาที่ห้างโรบินสัน บางแค ย้อนกลับไปสมัยที่ฟิวเจอร์พาร์คบางแค บริหารงานโดย เครือยูนิเวสท์ กรุ๊ป หลังเปิดให้บริการเมื่อปี 2536 พบว่ามีหลายปัญหารุมเร้า ทำให้บรรยากาศซบเซา ห้างเยาฮันก็ต้องปิดตัวลงเมื่อปี 2539

เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ฟิวเจอร์พาร์คบางแค เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และได้ถูกโอนหนี้มายัง บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.)

ส่วนห้างโรบินสัน บางแค มีแผนปรับลดขนาดพื้นที่ตั้งแต่ต้นปี 2540 เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับรายได้ กระทั่งวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จึงได้ตัดสินใจลดพื้นที่ใช้สอยในศูนย์การค้าให้เหลือเพียง 12,000 ตารางเมตร

เดิมโรบินสันบางแค เป็น 1 ใน 5 สาขาที่จะปิดตัวลง พร้อมกับแฟชั่นไอส์แลนด์ รังสิต ศรีนครินทร์ และบางรัก แต่จะกระทบต่อผู้เช่าพื้นที่ภายในศูนย์การค้า ที่ต้องการใช้ชื่อโรบินสันเพื่อดึงดูดลูกค้า จึงใช้วิธีลดขนาดพื้นที่ขายแทน

ในปี 2544 คาร์ฟูร์ ไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่าพื้นที่ชั้นใต้ดินและชั้น 1 เปิดคาร์ฟูร์ บางแค แทนที่ห้างเยาฮัน ถือเป็นสาขาในศูนย์การค้าแห่งแรก ณ ขณะนั้น ทำให้ฟิวเจอร์พาร์คบางแคมีแมกเนตเพิ่มจากห้างโรบินสัน และโรงภาพยนตร์อีจีวี

เช้าวันที่ 12 เมษายน 2550 เกิดเพลิงไหม้ฟิวเจอร์พาร์คบางแค ทำให้ห้างโรบินสันได้รับความเสียหายบางส่วน จึงปิดสาขาชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย ภายหลังเปิดให้บริการบางส่วนที่ไม่ได้รับความเสียหาย ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน

มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2553 กลุ่มซีคอน เข้าซื้อกิจการฟิวเจอร์พาร์ค บางแค จาก บสท. พร้อมต่อสัญญาเช่าที่ดินจากเจ้าของที่ดินเดิม 2 ราย ซึ่งยังเหลืออีก 13 ปี ออกไปอีก 30 ปี

สาเหตุที่กลุ่มซีคอนตัดสินใจเทคโอเวอร์ฟิวเจอร์พาร์คบางแค เพราะง่ายกว่าสร้างศูนย์การค้าใหม่ ซึ่งติดปัญหากฎหมายผังเมือง และเห็นว่าเมื่อเกิดปัญหาการเมืองหรือเศรษฐกิจ ศูนย์การค้าชานเมืองจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก

อีกทั้งย่านบางแคเป็นชุมชนที่มีความหนาแน่นมากกว่าย่านถนนศรีนครินทร์ กำลังซื้อก็มีมาก และการแข่งขันน้อยมาก มีสถาบันการศึกษามากกว่า 225 แห่ง และมีโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน

แฟ้มภาพ
ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค บางแค ปิดให้บริการชั่วคราวเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2553 ก่อนจะปรับปรุงพื้นที่นานกว่า 2 ปี ด้วยงบลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท กลับมาเปิดอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2555 ภายใต้ชื่อ ศูนย์การค้าซีคอนบางแค

โดยมีแมกเนตหลักคือ โรงภาพยนตร์อีจีวี ขนาด 10 โรง, สวนสนุก และโซนแฟชั่นที่ชื่อว่า SEASON BANGKAE FASHION MALL มาแทนที่ห้างคาร์ฟูร์ที่ขอถอนตัวหลังปิดให้บริการชั่วคราว (ภายหลังคาร์ฟูร์ขายกิจการในไทยให้บิ๊กซี)

ห้างโรบินสัน บางแค กลับมาเปิดอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2555 เป็นสาขาลำดับที่ 29 โดยได้เช่าพื้นที่ 3 ชั้น ได้แก่ ชั้น B, ชั้น 1 และชั้น 2 เน้นตกแต่งเข้ากับไลฟ์สไตล์รุ่นใหม่ของลูกค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก

ระหว่างนั้น โรบินสันได้ปิด ห้างโรบินสัน ลาดหญ้า ไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 เนื่องจากสิ้นสุดสัญญาเช่า สาขาที่ใกล้ที่สุดนอกจากห้างโรบินสันบางรัก ก็คือห้างโรบินสันบางแค ที่เป็นสาขาหนึ่งเดียวย่านฝั่งธนบุรี


การที่ห้างโรบินสัน บางแค ซึ่งเปิดให้บริการมานานถึง 29 ปี ปิดตัวลง แม้จะไม่มีเหตุผลที่แน่ชัด แต่ปัจจุบันห้างโรบินสันเป็นธุรกิจย่อยของเซ็นทรัล รีเทล (CRC) ซึ่งมีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลอยู่ในธุรกิจย่อย

นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมาได้รวมหน่วยงานของห้างเซ็นทรัล และห้างโรบินสันเข้าด้วยกัน เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการทำงานและลดค่าใช้จ่าย ทั้งการจัดโปรโมชันร่วมกับห้างเซ็นทรัล ยกเว้นโปรโมชันดั้งเดิมอย่างเซ็นทรัล มิดไนท์เซล

การควบรวมเว็บไซต์โรบินสันออนไลน์ เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์ม CENTRAL APP, การให้บริการ Personal Shopper ทางโทรศัพท์ และการเปลี่ยนห้างโรบินสันให้กลายเป็นห้างเซ็นทรัล เช่น เมกาบางนา อุดรธานี ขอนแก่น

ปัจจุบัน ฝั่งธนบุรีมีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาปิ่นเกล้า และสาขาพระราม 2 ให้บริการอยู่ รวมทั้งพื้นที่ชานเมืองอย่างนครปฐมก็มีสาขาศาลายา และโซนบางใหญ่ก็มีสาขาเวสต์เกต ปี 2566 จะมีสาขาราชพฤกษ์ในรูปแบบใหม่


ยอมรับว่าที่ผ่านมาเวลาเดินห้างฝั่งธนฯ ถ้าไม่ใช่เซ็นทรัลพระราม 2 ก็เป็นเดอะมอลล์บางแค เพราะเดินทางสะดวกกว่า ตอนนั้นมีการสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถติดมาก กระทั่งรถไฟฟ้าเปิดให้บริการถึงสถานีหลักสองเมื่อปี 2562 จึงแวะไปใช้บริการบ้าง

แม้การปิดห้างโรบินสัน บางแค จะทำให้แมกเนตหลักหายไป แต่ที่ผ่านมาซีคอนบางแค ก็พยายามดึงร้านค้าใหม่ๆ เช่น ห้างดอง ดอง ดองกิ สาขาแรกฝั่งธนบุรี รวมทั้งร้านสุกี้ตี๋น้อย เปิดให้บริการถึงตี 5 และล่าสุดร้านสลัดผักโอ้กะจู๋

อีกทั้งซีคอนบางแค มีการจัดงานอีเวนต์ที่แปลกใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดผู้คนเข้ามาใช้บริการ ทำเลที่ติดกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เป็นที่ตั้งของคอนโดติดรถไฟฟ้าเกิดใหม่จำนวนมาก แถมยังมีธนาคารยูโอบี สำนักเพชรเกษมอีก

ด้วยยุคสมัยและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนตัวเมื่อทราบข่าวจึงได้แต่ไปรำลึกความหลัง อย่างน้อยก็พอบอกเล่าให้คนรุ่นหลังฟังว่า ครั้งหนึ่งเคยมีห้างดังมาเปิดที่นี่


กำลังโหลดความคิดเห็น