xs
xsm
sm
md
lg

ตามหาน้ำส้มแท็ง (TANG) ในตำนาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ใครที่เดินร้านสะดวกซื้อในช่วงนี้ จะได้พบเห็นขนมกัมมี่รสส้ม กับรสสตอเบอรี่และมะม่วง แบรนด์ที่ชื่อว่า “แท็ง” (TANG) วางจำหน่ายตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ขนาด 20 กรัม ในราคาซองละ 12 บาท

แต่ถ้าใครที่อายุประมาณ 30-40 ปี น่าจะเคยพบเห็นแบรนด์ดังกล่าว ในฐานะ “เครื่องดื่มชนิดผงรสส้ม” ในตำนาน ซึ่งปัจจุบันไม่มีวางจำหน่ายทั่วไปในไทย แต่ยังตามหาได้ที่ประเทศอื่น และบางประเทศนำเข้าจากประเทศไทย


ย้อนกลับไปสมัยที่ยังเป็นเด็ก วัยมัธยมศึกษาตอนต้น เคยไปเดินห้างค้าปลีกที่ชื่อว่า “คาร์ฟูร์” (Carrefour) สมัยนั้นมีสินค้าอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งที่บ้านจะซื้อเป็นประจำ นอกจากขนมปังฝรั่งเศส ก็คือน้ำส้ม

ไม่ใช่น้ำอัดลมกลิ่นส้ม ไม่ใช่น้ำส้มบรรจุกล่อง และไม่ใช่น้ำสัมเข้มข้นในขวดแก้วยี่ห้อดัง ที่มักจะพบเห็นตามกระเช้าปีใหม่ แต่มันคือ เครื่องดื่มชนิดผงรสส้ม ชงในน้ำเย็นแล้วดื่ม ตอนนั้นขายในราคาถุงละ 20 กว่าบาท

เครื่องดื่มชนิดผงรสส้ม “แท็ง” เป็นผลิตภัณฑ์ของ คราฟ ฟู้ดส์ (KRAFT FOODS) ผู้ผลิตอาหารสัญชาติอเมริกัน เคยวางตลาดในประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน 2543 หรือเมื่อ 22 ปีก่อน ราคาขณะนั้นมีทั้งแบบซอง 22 กรัม ราคา 3 บาท, แบบถุง 125 กรัม ราคา 12 บาท และแบบถุง 250 กรัม ราคา 23 บาท


เมื่อขยายตลาดได้อย่างน่าพอใจ จึงได้ลงทุนกว่า 200 ล้านบาท ตั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มชนิดผง ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นการย้ายฐานการผลิตจากประเทศฟิลิปปินส์ เปิดโรงงานเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นฐานการผลิตสำหรับจำหน่ายทั้งในประเทศและตลาดส่งออก

ในตอนนั้นแท็งมี ภาพยนตร์โฆษณาจากต่างประเทศ นำมาให้เสียงภาษาไทย ออกอากาศทางฟรีทีวี บ่งบอกให้เห็นครอบครัวกำลังดื่มน้ำส้ม ที่แม่เป็นคนชงใส่เหยือกให้ดื่ม พร้อมกับสโลแกน “อร่อยรสส้ม อุดมวิตามินซี”

อย่างไรก็ตาม เครื่องดื่มชนิดผงรสส้มยี่ห้อแท็งก็หายไปจากท้องตลาดอย่างเงียบๆ ขณะที่ความเคลื่อนไหวของบริษัทแม่อย่างคราฟ ฟู้ดส์ ได้ควบรวมกับบริษัท นาบิสโก้ (Nabisco) และได้ซื้อธุรกิจบิสกิตของ ดานอน (Danone)

กระทั่งมีการปรับองค์กรใหม่ สำนักงานขายประเทศไทยที่กรุงเทพฯ ถูกยุบรวมกับกลุ่มตลาดเกิดใหม่ มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนสำนักงานใหญ่ของคราฟ ฟู้ดส์ ประเทศไทย ได้ย้ายมาที่โรงงานขอนแก่น

ต่อมา คราฟ ฟู้ดส์ ได้แบ่งบริษัทออกจากกันเมื่อปี 2555 โดยคราฟ ฟู้ดส์ จะดูแลโซนอเมริกาเหนือ ส่วนที่เหลือจะเป็นบริษัทใหม่ชื่อว่า “มอนเดลีซ” (Mondelez) ดูแลตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

โรงงานมอนเดลีซ ขอนแก่น (ภาพจาก mondelezinternational.com/Thailand)
มอนเดลีซ ประเทศไทย มีสำนักงานใหญ่ที่อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี มีโรงงานในประเทศไทยอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพฯ เป็นฐานการผลิตหมากฝรั่งและลูกอม จัดจำหน่ายมากกว่า 10 ประเทศ

และโรงงานขอนแก่น ที่อำเภอน้ำพอง เป็นโรงงานผลิตเครื่องดื่มชนิดผง ส่งออกไปยัง 36 ประเทศ โดยพบว่า 80% ส่งออกไปยังประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศจีนเป็นหลัก และเป็นโรงงานแห่งแรกที่ใช้พลังงานทดแทน 100%

สำหรับประเทศไทย มอนเดลีซจำหน่ายสินค้าใน 5 กลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ ลูกอม (ฮอลล์ และ คลอเร็ท) หมากฝรั่ง (เดนทีน ไทรเด้นท์ คลอเร็ท) บิสกิต (โอริโอ และ ริทซ์) ช็อกโกแลต (ทอปเบอโลน และแคดเบอรี) และ ชีส

แม้จะไม่มีคำตอบว่า น้ำส้มแท็งที่หายไปจากท้องตลาดเพราะอะไร แต่พบว่ายุคนี้ในแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ มีผู้ค้าบางรายนำเครื่องดื่มชนิดผงยี่ห้อนี้จากต่างประเทศมาขายในเมืองไทยบ้างแล้ว


ผู้เขียนฯ ลองกดสั่งเครื่องดื่มชนิดผงแท็งจากแพลตฟอร์มแห่งหนึ่ง พบว่าส่งมาจากจังหวัดปัตตานี เป็นแบบซองขนาด 25 กรัม สังเกตที่ซองพบว่าผลิตจากประเทศอียิปต์ มีข้อความทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับ

วิธีการชงก็คือ 1 ซอง ละลายในน้ำเย็นบนเหยือกขนาด 1 ลิตร คนให้เข้ากัน เทใส่แก้วแบ่งกันได้ 5 แก้ว (200 มิลลิลิตร) ส่วนผสมประกอบด้วยน้ำตาล กรดซิตริก สารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Sweetener) และวิตามินซี

แต่เมื่อผู้เขียนตามหาเครื่องดื่มชนิดผงแท็ง ที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย พบว่าในห้างสรรพสินค้าไม่มีขาย รวมทั้งไหว้วานเพื่อนที่ไปประเทศมาเลเซีย ตามหาที่ห้างสรรพสินค้าในมาเลเซียอีกทางก็ไม่เจอ

ขณะที่แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ในมาเลเซีย พบว่ามีขายแบบซองขนาด 20 กรัม ราคาซองละ 2-3 ริงกิต เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย แต่จำหน่ายในประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนแบบถุงขนาด 375 กรัม ผลิตจากประเทศบาห์เรน


แต่ที่จำหน่ายกันจริงจัง กลายเป็นที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งบริษัทมอนเดลีซเป็นผู้จำหน่ายโดยตรง แล้วพบว่าผลิตในประเทศไทย

 หน้าซองระบุว่า “For Export to the Philippines; Tax & Duty Paid” (สำหรับส่งออกไปประเทศฟิลิปปินส์ ชำระอากรแล้ว) ขนาดซอง 19 กรัม ราคาซองละ 18 เปโซฟิลิปปินส์ (ประมาณ 11-12 บาท)

แท็งที่ขายในฟิลิปปินส์มีเกือบ 20 รสชาติ อาทิ รสส้ม รสส้มและแครอท รสส้มและมะม่วง รสส้มจี๊ด (Calamansi) รสส้มเช้ง (Dalandan) รสชามะนาว รสสตอร์เบอรี่ รสสับปะรด รสฮันนี่เลมอน รสเมลอน รสองุ่น รสมิกซ์เบอรี่ รสลิ้นจี่ รสโฟร์ซีซั่นส์ รสแตงโม รสมะม่วง รสทุเรียนเทศ (Guyabano) รสผักและผลไม้ (ส้มเช้งผสมมะรุม หรือ Malunggay)

ส่วนคุณค่าทางโภชนาการ เฉพาะรสส้ม พบว่าใน 1 ซอง ขนาด 19 กรัม ผสมน้ำ 1 เหยือก 700 มิลลิลิตร ชงได้ประมาณ 4 แก้ว ให้พลังงาน 20 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย คาโบไฮเดรต 4 กรัม น้ำตาล 3 กรัม โซเดียม 35 มิลลิกรัม วิตามินซี 35 มิลลิกรัม วิตามินดี 1.5 มิลลิกรัม และซิงค์ 1.62 มิลลิกรัม

ในแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์อย่างช้อปปี้ ฟิลิปปินส์ (Shopee.ph) พบว่ามีจำหน่ายที่ร้านค้าทางการ มอนเดลีซ ฟิลิปปินส์ (mondelezphofficial) และมีการจัดโปรโมชันอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่แปลกใจมาตลอดก็คือ แม้เครื่องดื่มชนิดผงแท็ง จะผลิตในประเทศไทย แต่ก็ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทยมานานแล้ว แม้กระทั่งเฟซบุ๊กเพจ Tang Thailand ก็ยังมีชาวเน็ตถามหาน้ำส้มแบบผงชงน้ำอยู่บ้าง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสได้เห็นในประเทศไทยเลย เพราะดูจากส่วนผสมผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในประเทศฟิลิปปินส์ พบว่ามีทั้งน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ และสารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Sweeteners)

ปัจจุบัน ภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาล ของกรมสรรพสามิตของไทย พบว่า หากเครื่องดื่มมีปริมาณน้ำตาล 0-6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร อัตราภาษีตามปริมาณความหวานจะเหลือเพียง 0 บาท


ส่วนขนมกัมมี่ “แท็ง” ที่วางจำหน่ายในประเทศไทยขณะนี้ ไม่ได้ผลิตในประเทศไทย แต่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ผลิตโดยโรงงานที่ชื่อว่า โกโก้แลนด์ อินดัสทรี ในรัฐเซอลาโงร์

ใครที่คิดถึงน้ำส้มชนิดผงในตำนาน หาซื้อได้ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศไทยคงต้องพึ่งพาขนมกัมมี่ไปพลางๆ ก่อน หรือไม่อย่างนั้นก็ยอมซื้อผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ 

หรือรอจนกว่าผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทย คือ มอนเดลีซ ประเทศไทย จะนำเครื่องดื่มรสส้มชนิดผงยี่ห้อในตำนานมาวางตลาดอีกครั้ง และต้องวัดดวงว่าจะมีผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคเหมือนในอดีตหรือไม่

เพราะเอาเข้าจริง การตลาดแบบโหยหาอดีต (Nostalgia Marketing) ใช่ว่าจะมีผลตอบรับที่ยั่งยืนเสมอไป หลายแบรนด์กลับมาผลิตอีกครั้ง เป็นที่พูดถึงในโซเชียลฯ แต่พอวางจำหน่ายไม่นานก็หายจากท้องตลาดไปอย่างเงียบๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น