กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ถนนบางนา-ตราด ถือเป็นถนนสายหลักที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับภาคตะวันออก แม้จะมีทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 กรุงเทพ-พัทยา-มาบตาพุด แบ่งเบาภาระการจราจรก็ตาม
ระหว่างเส้นทางมุ่งหน้าจังหวัดชลบุรี คนที่ใช้ ทางพิเศษบูรพาวิถี ที่อยู่ด้านบนจะไม่เห็นความแตกต่าง แต่ถ้าหากใช้ถนนด้านล่าง จะต้องผ่านสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ที่เรียกว่า “สะพานเทพหัสดิน”
สะพานแห่งนี้มีสภาพกลางเก่ากลางใหม่ เพราะมีอยู่ 2 สะพานที่เดิมเป็นสะพานเปิดได้ 2 ช่องจราจร ส่วนอีก 2 สะพาน จะเป็นสะพานสร้างขึ้นมาใหม่ 3 ช่องจราจร โดยราวสะพานด้านทิศตะวันออกระบุข้อความว่า “1 เมษายน 2539”
ไล่เลี่ยกับ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ก่อสร้าง ทางพิเศษสายบางนา-ชลบุรี ซึ่งเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร คร่อมเกาะกลางถนน ระยะทาง 55.36 กิโลเมตร เปิดให้บริการตลอดสายเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2543
ก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ พระราชทานชื่อ “ทางพิเศษบูรพาวิถี” เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2543 หมายความถึงทางไปทิศตะวันออก
อย่างไรก็ตาม สะพานเทพหัสดิน ที่เป็นสะพานเก่าจริงๆ นั้นไม่มีให้เห็น เพราะถูกน้ำพัดพังเสียหายไปแล้ว โครงสร้างที่เหลืออยู่ จะอยู่บริเวณตำบลท่าข้าม ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ของสะพานเทพหัสดิน (มุ่งหน้าไปชลบุรี)
ขณะเดียวกัน ก่อนที่จะมีถนนบางนา-ตราด เกิดขึ้นมา ยังมีแนวถนนสุขุมวิทสายเก่า ที่ปัจจุบันอยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีสภาพคดเคี้ยว ก่อนที่จะตัดถนนเส้นใหม่ในเวลาต่อมา
บทความเรื่อง “ถนนสุขุมวิทกับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกของประเทศไทย ช่วงทศวรรษ 2480-2520” เขียนโดย อ.อำพิกา สวัสดิ์วงศ์ จากมหาวิทยาลัยบูรพา น่าสนใจอย่างยิ่ง
เล่าให้ฟังบางช่วงบางตอนแบบย่อๆ คือ สมัยก่อนการเดินทางในภาคตะวันออกจะใช้การคมนาคมทางน้ำ โดยมีเรือจากกรุงเทพฯ ออกไปยังปากน้ำ จ.สมุทรปราการ และแม่น้ำบางปะกง ที่มีคลองเชื่อมถึงกันเพื่อย่นระยะทางและเวลา
ส่วนการคมนาคมทางบก เริ่มจากทางรถไฟสายตะวันออก เริ่มจากกรุงเทพฯ ถึงแปดริ้ว (จ.ฉะเชิงเทรา) เปิดการเดินรถในปี พ.ศ.2450 ต่อมาได้ก่อสร้างต่อจากฉะเชิงเทราไปยังอรัญประเทศ (จ.สระแก้ว) เดินรถในปี พ.ศ.2464
ต่อมามีการอนุมัติ “แผนการทางหลวงแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.2479” หรือ “โครงการ 18 ปี” มีเป้าหมายสร้างทางหลวงทั่วประเทศ ระยะทาง 14,900 กิโลเมตร หลังกองทางได้แยกจากกรมรถไฟหลวงในปี พ.ศ.2477
หนึ่งในนั้นคือ เส้นทาง กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ-แปดริ้ว-สัตหีบ-ระยอง และ จันทบุรี-ท่าแฉลบ เริ่มจากเส้นทางกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2480 เส้นทางชลบุรี-สัตหีบ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2482
กระทั่งเส้นทางสัตหีบ-ระยอง แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2484 ตามมาด้วยเส้นทางบางปะกง-ชลบุรี แต่ตอนนั้นยังไม่มีถนนช่วงสมุทรปราการถึงชลบุรี ยังคงใช้เรือกลไฟระหว่างกรุงเทพฯ-ชลบุรี
อย่างไรก็ตาม เส้นทางสมุทรปราการ-ชลบุรี-บางแสน ก่อสร้างขึ้นหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (หลังปี พ.ศ.2488) ไปตามคันกั้นน้ำเค็มของกรมชลประทานถึงคลองด่าน ไปยังบางปะกง
ในปี พ.ศ.2493 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีมติให้ตั้งชื่อทางหลวงสายกรุงเทพฯ-ตราด เป็น “ถนนสุขุมวิท” เพื่อเป็นเกียรติแก่ พระพิศาลสุขุมวิท อธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 5 ผู้ทุ่มเทในการก่อสร้างทางหลวงของประเทศ
ระหว่างที่ตัดถนนไปถึงบางปู กลายเป็นสถานที่ตากอากาศยอดนิยมของคนกรุงเทพฯ จากเดิมคนมีอันจะกินมักจะไปเที่ยวหัวหิน แต่เมื่อตัดถนนไปถึงบางแสน คนกรุงเทพฯ ก็ไปเที่ยวบางแสนกันมาก บางปูจึงได้เงียบลง
ตามคำบอกเล่าของคนในยุคนั้น แม้ระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปถึงบางแสนขณะนั้นเพียงแค่ 100 กิโลเมตร แต่ต้องออกจากบ้านแต่เช้าตรู่ กว่าจะกลับถึงกรุงเทพฯ ก็ราวสองยาม เพราะต้องต่อคิวลงแพขยานยนต์ที่แม่น้ำบางปะกง
อย่างไรก็ตาม หลังสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงแล้วเสร็จ และเปิดให้สัญจรในปี 2494 ตั้งชื่อว่า “สะพานเทพหัสดิน” จึงทำให้การเดินทางเที่ยวทะเลของคนพระนคร เช่น บางปู บางแสน และพัทยา เดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับได้
เรื่องราวของถนนสุขุมวิทยังมีอีกมากมาย ใครที่สนใจ แนะนำให้อ่านบทความใน “วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์” แล้วจะเข้าใจตำนานความรุ่งเรืองของภาคตะวันออกบนถนนสายนี้ถึงปัจจุบัน
สะพานเทพหัสดิน ก่อสร้างและเปิดใช้เมื่อปี พ.ศ.2494 เพื่อเป็นเกียรติแก่ พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้เสนอคณะรัฐมนตรีขอสร้างสะพาน
การก่อสร้างสะพานเทพหัสดิน เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 2 ช่องจราจร มีความแข็งแรงตามมาตรฐานสหรัฐอเมริกา สามารถรองรับน้ำหนักรถบรรทุกขนาด 22 ตันได้ 4 คัน และรถบดขนาด 18 ตันได้ 1 คัน
แต่เนื่องจากการก่อสร้างสะพานเทพหัสดินต้องใช้งบประมาณที่สูง จึงได้เก็บค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนสะพานเทพหัสดิน และถนนสุขุมวิท ตอนบางปู-คลองด่าน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2498
กระทั่งได้เงินค่าธรรมเนียมคุ้มค่าก่อสร้างสะพานแล้ว จึงได้ยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมเมื่อปี พ.ศ.2504 เหลือเพียงถนนสุขุมวิท ตอนบางปู-คลองด่าน ที่ยังเก็บค่าธรรมเนียมก่อนจะยกเลิกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2511
ส่วนการก่อสร้างถนนสุขุมวิท ถึงจังหวัดตราด ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินมีจำกัด สภาพถนนดีบ้าง ชำรุดบ้างเป็นบางช่วง กระทั่งมีการลาดยางตลอดสายไปถึงจังหวัดตราด แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2510
อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลมีโครงการ ทางสายกรุงเทพฯ-ตราด แบ่งออกเป็น สัตหีบ-ตราด และ กรุงเทพ-สัตหีบ แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณ จึงหันมาก่อสร้าง ทางสายกรุงเทพฯ-ศรีราชา หนึ่งในนั้นเป็นแนวทางตัดใหม่ ตอนบางนา-บางปะกง
นอกจากจะย่นระยะทางจากถนนสุขุมวิทสายเก่าประมาณ 12 กิโลเมตรแล้ว ถนนยังตัดตรงไม่คดเคี้ยว พร้อมกันนี้ยังได้ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง แบบสะพานเปิดได้ ยาว 417 เมตร และสะพานข้ามถนนฉะเชิงเทรา-บางปะกง
สังเกตได้ว่า ช่วงสะพานข้ามถนนฉะเชิงเทรา-บางปะกง จะเป็นถนนแนวใหม่ และเมื่อข้ามแม่น้ำบางปะกงไปแล้ว ถนนจะไปในแนวตรง ไม่โค้งไปทางขวา ก่อนเข้าเขตตำบลคลองตำหรุ จังหวัดชลบุรี แล้วบรรจบกับเส้นทางเดิม
ประมาณเดือนกรกฎาคม 2512 ก่อนที่ทางสายใหม่ บางนา-บางปะกง จะก่อสร้างแล้วเสร็จ นายพจน์ สารสิน รมว.กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติขณะนั้น ออกกฎกระทรวงยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมในทางหลวงตอนบางปู-คลองด่าน
ระบุเหตุผลในราชกิจจานุเบกษาขณะนั้นว่า “เมื่อทางสายใหม่เปิดการจราจรแล้วก็จะมีรถผ่านด่านเก็บค่าธรรมเนียมในสายทางเก่าน้อยมาก ทำให้รายได้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย จึงสมควรยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมฯ”
ถนนกรุงเทพฯ-ศรีราชา มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2512 แต่เนื่องจากเดิมเป็นโครงการถนนกรุงเทพฯ-ตราด เริ่มต้นแนวทางตัดใหม่ที่เขตบางนา จึงกลายมาเป็นชื่อเรียก “ถนนบางนา-ตราด”
ครั้งหนึ่ง ถนนบางนา-ตราด มีการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางที่หลักกิโลเมตรที่ 41 (หน้าห้างสรรพสินค้าโลตัส สาขาบางวัว ในปัจจุบัน) เมื่อปี พ.ศ.2529 แต่ได้ยกเลิกตามมติคณะรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2537 พร้อมกับถนนสายเอเชีย
สาเหตุที่ยกเลิกด่านเก็บค่าธรรมเนียมในขณะนั้น เป็นเพราะถนนเหล่านี้ไม่มีการควบคุมทางเข้า-ออกที่ชัดเจน และยังพบช่องโหว่การทุจริตในด่านเก็บเงิน กระทั่งมีนโยบายล้มเลิกด่านเก็บเงินในที่สุด
อีกด้านหนึ่ง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ก่อสร้างทางพิเศษสายดินแดง-ท่าเรือ ตามมาด้วยสายท่าเรือ-บางนา มีทางขึ้น-ลงด้านถนนบางนา-ตราด เปิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2526 และสายท่าเรือ-ดาวคะนอง พร้อมสะพานพระราม 9 เปิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2530
ประกอบกับการผลักดันโครงการอีสท์เทิร์นซีบอร์ด ในพื้นที่ภาคตะวันออก การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางปะกง ทำให้ถนนบางนา-ตราดและถนนสุขุมวิท จึงค่อยๆ พัฒนามาเป็นย่านอุตสาหกรรม
อำเภอบางปะกง กลายเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม และมีประชากรเพิ่มขึ้น ชุมชนท่าข้ามได้แยกตัวออกจากตำบลบางปะกง มาเป็นตำบลท่าข้ามในปี พ.ศ.2529 กลายเป็นเทศบาลตำบลท่าข้ามในปัจจุบัน
การเปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 ยิ่งทำให้ถนนบางนา-ตราด กลายเป็นหนึ่งในทำเลทองของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง
แม้การเปิด ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2541 จะทำให้รถยนต์ส่วนหนึ่งจากกรุงเทพฯ หันมาใช้เส้นทางนี้ แต่ฝั่งถนนบางนา-ตราด ก็มีผู้คนนิยมใช้ทางพิเศษบูรพาวิถีไม่แพ้กัน
เพียงแต่ว่าถนนด้านล่าง ถูกผู้ใช้รถใช้ถนนร้องเรียนเรื่องถนนชำรุด โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถึงจังหวัดชลบุรี เนื่องจากมีรถบรรทุกใช้เส้นทางอย่างต่อเนื่องจนถนนพัง รถยนต์เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งก็มีมาแล้ว
ปัจจุบันถนนสายหลักจากกรุงเทพฯ สู่ภาคตะวันออก มีตั้งแต่ถนนสุวินทวงศ์, มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด, ถนนบางนา-ตราด และถนนสุขุมวิทสายเก่า ที่ขณะนี้กำลังขยายเป็นถนนอย่างน้อย 4 ช่องจราจรตลอดสาย
นอกจากนี้ ยังมีถนนสายรองที่ขนานกัน อย่าง ถนนเทพารักษ์ แยกจากถนนสุขุมวิทที่ย่านสำโรง ผ่านถนนศรีนครินทร์ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก ไปสิ้นสุดที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ระยะทาง 28 กิโลเมตร
หรือจะเป็น ถนนหลวงแพ่ง และ ถนนลาดกระบัง-ฉะเชิงเทรา ผ่านมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-พัทยา ไปสิ้นสุดที่ถนนสิริโสธร อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 28.6 กิโลเมตร ที่ขยายเป็นถนน 4 ช่องจราจรแล้วเสร็จไม่นานมานี้
อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของถนนบางนา-ตราด คือการเปลี่ยนชื่อถนนเป็น “ชื่อพระราชทาน”
29 มิถุนายน 2559 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 สายบางนา-หนองไม้แดง ระยะทาง 58.855 กิโลเมตร เป็นชื่อ “เทพรัตน”
และพระราชทานชื่อภาษาอังกฤษว่า “Debaratna”
พร้อมกันนี้ ยังพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติงานเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ วันที่ 2 เมษายน 2558 ประดับที่ป้ายชื่อทางหลวงแผ่นดิน
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนชื่อถนนดังกล่าว ประชาชนยังเกิดความสับสนอยู่บ้าง เนื่องจากบริเวณใกล้เคียงยังมีถนนที่ชื่อว่า “เทพารักษ์” (Theparak) ด้านทิศใต้ของถนนบางนา-ตราดอยู่แล้ว
อีกด้านหนึ่งยังพบว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกลางตั้งชื่อถนนฯ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา มีมติตั้งชื่อถนนตัดใหม่ เชื่อมถนนพหลโยธิน กับถนนรัตนโกสินทร์สมโภช ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร
ใช้ชื่อว่า “เทพรักษ์” ภาษาอังกฤษ “Thep Rak” หมายถึง ถนนที่มีเทพยดาปกปักษ์รักษาคุ้มครองทำให้ผู้ใช้ถนนดังกล่าวเกิดความปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งถนนสายนี้เปิดการจราจรไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558
ไม่นับรวม โครงการถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ย่านฝั่งธนบุรี ที่ครั้งหนึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “ถนนพระเทพ” ทั้งที่กรุงเทพมหานครยังไม่ได้ตั้งชื่อถนนสายนี้อย่างเป็นทางการ
การเปลี่ยนชื่อถนนขึ้นอยู่กับความสมัครใจ คนทั่วไปอาจจะเรียกว่า ถนนบางนา-ตราด (ตามด้วยหลักกิโลเมตร) เหมือนเดิม แต่ก็มีบางบริษัทห้างร้านแจ้งเปลี่ยนที่อยู่โดยใช้ชื่อ “ถนนเทพรัตน” ไปแล้วก่อนหน้านี้ แม้จะสะกดภาษาอังกฤษว่า Theprat แทนที่จะเป็น Debaratna ก็ตาม
ขณะที่กรุงเทพมหานคร ยังคงใช้ชื่อ “ถนนบางนา-ตราด” บนป้ายบอกทางสี่แยกบางนาเหมือนเดิม.