xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนรับมือน้ำเค็มรุกเร็ว ชลประทานที่ 9 ใช้เขื่อนทดน้ำบางปะกงป้องพื้นที่เกษตร-ประปาตะวันออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา - เปิดแผนรับมือน้ำเค็มรุกเร็วสำนักงานชลประทานที่ 9 ใช้เขื่อนทดน้ำบางปะกงเป็นปราการด่านหน้ายันน้ำเค็มรุกล้ำเขตตัวเมืองฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ป้องกันพื้นที่เกษตร-การผลิตน้ำประปาเขตภาคตะวันออกได้รับความเสียหาย

จากปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนในหลายจังหวัดภาคตะวันออก จนส่งผลให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนติดชายทะเล และริมคลองสาธารณะหลายแห่งถูกน้ำเอ่อเข้าท่วมทำทรัพย์สินเสียหาย และบางรายซ้ำร้ายถูกคลื่นลมแรงซัดบ้านจมทะเล จนสร้างความกังวลให้ประชาชนในหลายจังหวัดว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นติดต่อกันยาวนานนั้น

ล่าสุด นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 9 ได้เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำบางปะกง หลังเกิดภาวะน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ถึงเกือบ 2 สัปดาห์ จากเดิมที่เคยประเมินไว้ว่าน้ำเค็มจะรุกเข้ามาสู่ลำน้ำบางปะกงในวันที่ 15 ธ.ค.นี้

โดยตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าน้ำเค็มได้รุกเข้ามาถึงในพื้นที่ อ.บ้านโพธิ์ ลึกจากปากอ่าวประมาณ 35 กิโลเมตร ส่วนการตรวจวัดความเค็มของน้ำในแม่น้ำบางปะกง สามารถตรวจวัดได้ 7.9 กรัมต่อลิตร และตรวจวัดที่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา ได้ที่ 0.26 กรัมต่อลิตร


ทั้งนี้ สำนักงานได้ใช้วิธีควบคุมน้ำเค็มหากตรวจวัดค่าเกินกว่า 1 กรัมต่อลิตร ด้วยการเลื่อนบานประตูเขื่อนทดน้ำบางปะกงลงทั้ง 5 บาน เพื่อปิดกั้นน้ำจืดในแม่น้ำช่วงน้ำลง และจะยกขึ้นเปิดบานสุดในช่วงที่น้ำทะเลหนุนขึ้น เพื่อพยายามรักษาน้ำจืดไว้ไม่ให้ไหลลงทะเลเร็วเกินไป จากนั้นจึงจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเข้าควบคุม

โดยยืนยันว่าขณะนี้น้ำเค็มยังรุกเข้าไม่ถึงตัวเมืองฉะเชิงเทรา ที่อยู่ลึกจากปากอ่าวประมาณ 50 กิโลเมตร

“ส่วนการใช้น้ำจืดจากตอนบนจะเริ่มจากการใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำคลองระบม ที่มีความจุ 420 ล้าน ลบ.ม. และ 55 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งหากทั้ง 2 อ่างนี้มีน้ำเต็มใช้น้ำในการผลักดันน้ำเค็ม จำนวน 60 ล้าน ลบ.ม. แต่ในปีนี้น้ำในอ่างสียัดมีน้ำอยู่เพียงประมาณร้อยละ 65 หรือประมาณ 260 ล้าน ลบ.ม. จึงมีน้ำต้นทุนจากทั้ง 2 อ่างสำหรับไว้ใช้ผลักดันน้ำเค็มจำนวนเพียง 40 ล้าน ลบ.ม.”

และจะทยอยระบายน้ำลงพื้นที่วันละ 2 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถใช้ได้เป็นเวลา 20 วัน หากความเค็มรุกเข้ามาในเขตตัวเมืองฉะเชิงเทรา


ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 9 ยังบอกอีกว่าในวันที่ 15 ม.ค.65 จะได้ทำการควบคุมการรุกล้ำของน้ำเค็มที่ประตูระบายน้ำบางขนากใน อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนขยับไปสกัดกั้นน้ำเค็มที่ประตูระบายน้ำหน้าวัดบางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ในวันที่ 10 ก.พ.65 ตามลำดับ

โดยจะใช้น้ำจากเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ซึ่งจะสามารถปล่อยระบายน้ำลงมาผลักดันน้ำเค็มได้วันละ 1 ล้าน ลบ.ม.รวมระยะเวลา 30 วัน

จากนั้นจึงจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ที่จะปล่อยน้ำวันละ 1.5 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรวมกับอ่างเก็บน้ำพระปรง อ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง ใน จ.สระแก้ว เพื่อควบคุมน้ำเค็มใจเขตตัวเมือง จ.ปราจีนบุรี ที่จะสามารถรักษาระดับน้ำจืดไว้ใช้เพื่อการผลิตประปาในตัวเมืองปราจีนบุรี ไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.65

“ในปีนี้เชื่อว่าสถานการณ์น้ำควรจะดีเนื่องจากในช่วงหน้าฝนมีน้ำค่อนข้างมากจนเกิดภาวะน้ำท่วม แต่เมื่อฝนหมดน้ำหายไปในทันที จึงคาดว่าในปีนี้น่าจะแล้งเร็ว แต่ยังโชคดีที่พื้นที่เกษตรกรในลุ่มน้ำได้มีการสูบกักเก็บน้ำไว้ใช้เองระหว่างช่วงเกิดน้ำท่วม และระบายน้ำที่เกินออกมาเพียงบางส่วน จึงทำให้มีน้ำเก็บไว้เตรียมแปลงได้ในทันทีโดยที่ไม่ต้องดึงน้ำจากแม่น้ำเข้าไปอีก” ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 9 กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น