กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
การทลายเครือข่ายนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ประธานโครงการคืนคุณแผ่นดิน ร่วมกับพวกรวม 6 คน ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กลายเป็นข่าวดังในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
สืบเนื่องมาจากมีผู้เสียหายจำนวนมาก ไปร้องเรียนต่อตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ว่า กลุ่มของนายประสิทธิ์ เปิดบริษัท ชักชวนประชาชนลงทุนในหลายรูปแบบ
ทีแรกจะทำทีจ่ายเงินค่าตอบแทนจริง เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายตายใจ นำเงินมาลงทุนเพิ่ม จากนั้นจะเริ่มบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายเงินค่าตอบแทน หรือคืนเงินลงทุนให้กับผู้เสียหายตามที่ตกลงกันไว้ ก่อนจะขาดหายการติดต่อไปในที่สุด
เป็นวิธีหลอกลวงแบบ “คลาสสิก” ไม่ต่างกับขบวนการฉ้อโกงประชาชนอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้
ที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของนายประสิทธิ์ ที่มักจะทำกิจกรรมเกี่ยวกับความจงรักภักดีต่อสถาบันเบื้องสูงบ่อยครั้ง ก็คงจะย่ามใจว่า ไม่มีใครทำอะไรกับเขาได้ หนำซ้ำในช่วงที่ผู้เสียหายจะแจ้งความ กลับส่งคลิปเสียงข่มขู่เพื่อให้เปลี่ยนใจ
อ้างว่า ตัวเองไม่ใช่แชร์ลูกโซ่หรือ MLM แต่เป็นการระดมทุนเพื่อธุรกิจ และอ้างว่าถ้าจะเอาผิดต้องใช้เวลา 30 ปี จึงจะยึดทรัพย์ขายทอดตลาด แล้วนำเงินมาคืนกับผู้เสียหาย ซึ่งอาจจะได้น้อยหรือไม่ได้เลย
ต้องขอชื่นชมปฏิบัติการ “ปิดเกมคนเหนือโลก” ของตำรวจกองปราบปราม ในยุคที่ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม เป็นผู้บังคับการปราบปราม (ผบก.ป.) ที่ทำให้สังคมตื่นขึ้น ภาพลักษณ์สวยหรูของนายประสิทธิ์ถึงคราวพังทลายลง
โดยเฉพาะ “โครงการคืนคุณแผ่นดิน” ที่นายประสิทธิ์ก่อตั้งขึ้น ซึ่งใกล้เคียงกับวลีประจำใจของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ผู้ล่วงลับ ที่มีวรรคทองว่า "เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน"
โดยหมายมั่นปั้นมือว่าจะสร้างให้ตนเองเป็นนักธุรกิจผู้ให้ มีการสร้างภาพออกโทรทัศน์ ทั้งรายการคนค้นฅน เจาะใจ โหนกระแส เพชรรามา และอีกหลายรายการในทีวีดิจิทัล
แม้พฤติกรรมของนายประสิทธิ์ จะไม่เข้าข่ายมาตรา 112 เพราะ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) มองว่า นายประสิทธิ์ทำทีเป็นจิตอาสา ทำความดีเพื่อสร้างเครดิตให้ตัวเอง ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดก็ตาม
แต่ก็ถือเป็นบทเรียนสำคัญ ที่ทำให้สังคมได้เรียนรู้ที่จะรู้เท่าทันการโฆษณาชวนเชื่อ “ความดี” บางประเภทของบุคคลหรือองค์กรที่มีชื่อเสียง ที่เบื้องหลังอาจจะไม่ได้สวยหรู หรือน่าเชื่อถือก็ได้
เห็นได้ชัดจากการออกมาให้ข่าวของ พล.อ.พิศณุ พุทธวงศ์ อดีตหัวหน้าสำนักงาน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษผู้ล่วงลับ กล่าวว่า นายประสิทธิ์เคยมาพบกับผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ เพื่อขอเข้าพบป๋าเปรม
นายประสิทธิ์ อ้างว่า ตนเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จังหวัดกระบี่ ประสบความสำเร็จ อยากจะทำโครงการที่ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เหมือนคำพูดป๋าเปรม พล.อ.พิศณุ ก็เลยไปเช็กกับ นายทรงพล สวาดิ์ธรรม เพราะเคยเป็นอดีตผู้ว่าฯ กระบี่
ปรากฎว่า นายทรงพลบอก พล.อ.พิศณุ ว่า “นายประสิทธิ์คนนี้ไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าไว้วางใจ” จึงไม่อนุญาตให้เข้าพบ ภายหลังผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่มากับนายประสิทธิ์ บอกว่าไม่ได้ทำรายการแล้ว เพราะพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ
นายทหารคนสนิทของป๋าเปรม ย้ำว่า ไม่ใช่แค่นายประสิทธิ์เท่านั้น แต่มีหลายคนที่อยากจะเข้าพบ เพื่อต้องการนำภาพไปแอบอ้างหรือหาประโยชน์ แต่ก็พยายามตรวจสอบข้อมูล
ย้อนไปดูประวัติของนายประสิทธิ์ ชาวบ้านบางผึ้ง ตำบลโคกยาง อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ พยายามพรีเซนต์ตัวเองว่า ในอดีตเคยเป็นเด็กเกเรมาก่อน กระทั่งขึ้นไปเรียนโรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ ทำงานตั้งแต่เด็กเสิร์ฟ ขายเครื่องกรองน้ำ
พอกลับมาบ้านเกิดที่กระบี่ ได้ที่ดินมาแปลงหนึ่งที่อ่าวไร่เลย์ หน้าติดถนน หลังติดทะเล มูลค่า 11 ล้านบาท ทำโครงการบ้านจัดสรร ขายหมดใน 3 วัน แต่ต้องแลกด้วยการเอาเงินมาสร้าง หาแหล่งเงินกู้ ก่อนจะผ่อนจ่ายเจ้าของที่ดินจนหมด
จากนั้น เจ้าของที่ดินจึงให้ที่ดินแปลงต่อมา แล้วขอเป็นหุ้นส่วนด้วย ก่อนขยับขยายธุรกิจมาได้ 12 โครงการ แต่เมื่อคิดว่าใจนักเลง ลงทุนแบบเทหน้าตัก กู้หนี้ยืมสินกับสถาบันการเงินและหนี้นอกระบบ สุดท้ายจึงเกิดหนี้สินกว่า 900 ล้านบาท
นายประสิทธิ์ไม่ได้บอกวิธีปลดหนี้ทำยังไง แต่บอกว่าใช้เวลากว่า 3 ปีจึงปลดหนี้ออกมาได้หมด
ปี 2553 นายประสิทธิ์ก่อตั้งโครงการพูลวิลลาและคอนโดเทล มัณดาวีต์ รีสอร์ท แอนด์สปา โดยพบว่าได้ประกาศเสนอเงื่อนไขผู้สนใจลงทุนในราคาพิเศษ 8.5 ล้านบาท ลงทุนเริ่มต้น 200,000 บาท รับประกันผลตอบแทน 60% ต่อปี
มัณดาวีต์ รีสอร์ท แอนด์สปา เปิดให้บริการในปี 2554 ปีแรกแทบไม่มีผู้เข้ามาพัก ปีต่อมาจึงคิดกลยุทธ์ “จ้างคนไปเที่ยว” ดัมป์ราคาแพ็คเกจทัวร์กระบี่ต่ำกว่าทุน แถมให้เงินติดกระเป๋าอีกคนละ 500 บาท เพื่อจูงใจให้คนเข้ามาพัก
แม้จะมีเสียงโวยจากผู้ประกอบการนำเที่ยวว่า ไปตัดราคาแย่งลูกค้า แต่นายประสิทธิ์มองว่าเป็นค่าการตลาด ค่าประชาสัมพันธ์ โปรโมทโรงแรมให้เป็นที่รู้จัก เปรียบเหมือนสินค้าทดลองที่ขายราคาต่ำกว่าทุนเพื่อให้ลูกค้าทดลองใช้
ปี 2556 นายประสิทธิ์ได้ก่อตั้ง บริษัท มัณดาวีต์ ทัวร์ จำกัด ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และเข้าถือหุ้นใน บริษัท เว็บสวัสดี จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการ OTA ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2547 โดยนายโรลานด์ เชตเตอร์ นักธุรกิจชาวเยอรมนี
การเข้ามาถือหุ้นเว็บสวัสดีของนายประสิทธิ์ นอกจากจะได้ธุรกิจขายห้องพักผ่านเว็บไซต์แล้ว ยังมีบริการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ Payment Gateway เป็นบริษัทแรกในไทย รวมทั้งธุรกิจขายตั๋วเครื่องบินในนาม การบินสวัสดี
ระหว่างนั้น นายประสิทธิ์เริ่มก่อตั้ง สมาคมการค้าธุรกิจบริการและผลิตภัณฑ์ผสมผสาน พร้อมเปิดตัว โครงการคืนคุณแผ่นดิน ครั้งที่ 1 จัดกิจกรรมเก็บขยะที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา (อ่าวนาง) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2558
กระทั่งเดือนกรกฎาคม 2561 นายประสิทธิ์เปิดตัวแอปพลิเคชัน M Help Me (ช่วยเหลือคนทั้งมวล) สร้างคอนเนกชันกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.)
ในช่วงนั้นภาพลักษณ์ของนายประสิทธิ์ออกมาสวยหรู มีทั้งนักธุรกิจที่มีแต่ให้ ทำกิจกรรมการกุศลร่วมกับนายตำรวจ นายทหาร นักการเมืองรูปแบบต่างๆ รวมทั้งนำเสนอความจงรักภักดี ทั้งการแจกเสื้อสีเหลือง และเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาต่างๆ
นอกจากจะทำกิจกรรมสังคมแล้ว ระหว่างนั้นนายประสิทธิ์ยังก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเพิ่มเป็น 18 บริษัท 1 สหกรณ์ออมทรัพย์ แต่ก็มีพฤติการณ์เรื่องเงินๆ ทองๆ ที่น่าสงสัย และเคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้
ในช่วงปี 2560-2561 นายประสิทธิ์จัดสัมมนาตามโรงแรมในกรุงเทพฯ เชียงราย และอุดรธานี ชักชวนให้ผู้สนใจซื้อหุ้นกู้ บริษัท มัณดาวีต์ สวัสดี จำกัด (มหาชน) อ้างว่าจะควบรวมกิจการระหว่างมัณดาวีต์ ทัวร์ กับ บมจ.เว็บสวัสดี
พฤติการณ์ก็คือ จะชักชวนกลุ่มเป้าหมายที่สนใจประมาณ 100 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เข้ามาซื้อหุ้นกู้ ลงทุนขั้นต่ำ 100,000 บาท อ้างว่าจะได้ผลตอบแทน 8% ต่อปี จนกว่าจะนำบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์
ปรากฎว่ามีคนไปร้องเรียน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 เมื่อ ก.ล.ต. ได้รับเบาะแส จึงใช้เวลาตรวจสอบเรื่องนี้นานกว่าครึ่งปี
กระทั่งวันที่ 30 มกราคม 2561 ก.ล.ต. มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับนายประสิทธิ์ 500,000 บาท และบริษัท มัณดาวีต์ ทัวร์ อีก 500,000 บาท รวม 1 ล้านบาท ข้อหาเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นกู้ต่อประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาต
ในตอนนั้น นายประสิทธิ์อ้างว่า การระดมทุนคราวนั้น เปรียบเหมือนคนที่ขับรถเร็วโดยไม่เห็นป้าย อาจจะเร็วมากเกินไปจนกล้องจับความเร็วจับ เป็นความผิดตามการตีความทางกฎหมายทั่วไป แต่ก็เคารพการตัดสินใจของ ก.ล.ต.
ขณะที่เมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนว่า สหกรณ์ออมทรัพย์การค้าธุรกิจบริการและผลิตภัณฑ์ผสมผสาน จำกัด ที่ก่อตั้งโดยนายประสิทธิ์ นำธุรกิจบริษัทจำนวนมากเข้ามาพัวพัน ให้ผลประโยชน์ตอบแทนเกินกฎหมาย
โดยพบพฤติกรรมรับฝากเงินจากบุคคลทั่วไป ที่ไม่ใช่สมาชิกสหกรณ์ ไม่มีผู้จัดการสหกรณ์ ไม่มีการทำบัญชีทางการเงิน ไม่มีการประชุมสมาชิกสหกรณ์ และโฆษณาธุรกรรมให้คนมาลงทุน อาจจะเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่
อีกทั้งตรวจพบว่า มีผู้เสียหายจำนวนมากที่ขอถอนเงินจากบริษัทนี้แต่ไม่สามารถถอนเงินได้ มีชื่อเป็นผู้ฝากเงินในลำดับที่ 500 กว่า ซึ่งยอดสมาชิกไม่ตรงกับข้อมูลที่มี และไม่มีชื่อเป็นสมาชิกสหกรณ์ แสดงว่ารับฝากเงินจากคนที่ไม่ใช่สมาชิก
26 มีนาคม 2564 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เข้าตรวจสอบ นายประสิทธิ์อ้างว่าดำเนินการผิดพลาด และจะนำไปแก้ไขตามที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์แนะนำ
ส่วนการจ่ายผลประโยชน์มากกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น การจ่ายเงินปันผล 19%และให้ทองคำจูงใจ นายประสิทธิ์อ้างว่า เหมือนการส่งเสริมการออมให้สมาชิก ขณะที่การรับฝากเงินบุคคลอื่น อาจจะเป็นพนักงาน พ่อแม่ ญาติพี่น้องก็ได้
สำหรับคดีล่าสุด พบว่าร่วมกันตั้งบริษัทหลายแห่งในลักษณะเครือข่ายใหญ่ หลอกชักชวนให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักลงทุน นำเงินมาร่วมลงทุนในหลายรูปแบบ อ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง ประกอบด้วย
1. เปิดบริษัทท่องเที่ยว ชักชวนผู้เสียหายซื้อแพ็กเกจทัวร์ แต่ไม่มีการจัดท่องเที่ยวจริง
2. ชวนนำเงินมาร่วมลงทุนในรูปแบบสหกรณ์ อ้างให้ปันผลสูง แต่สุดท้ายก็ไม่มีปันผล
3. ชักชวนลงทุนซื้อ ขายสินค้าแบรนด์เนมออนไลน์ จากทางบริษัทในเครือแล้วปล่อยเช่า อ้างว่าจะเป็นผู้ควบคุมบริหารจัดการค่าตอบแทนให้ทั้งหมด โดยที่ผู้เสียหายไม่เคยพบเห็นหรือจับต้องตัวสินค้าจริงๆ แต่อย่างใด
4. ชักชวนให้นำเงินสดหรือทองคำ มาเข้าร่วมในระบบกองทุนส่วนตัวของกลุ่มผู้ต้องหา โดยอ้างว่าในทุก 21 วันจะได้รับเงินตอบแทนกลับคืน 9.5% ของเงินลงทุน
5. ชักชวนให้ลงทุนซื้อทองคำจากร้านจำหน่ายทองคำทั่วไป แล้วนำทองคำพร้อมใบเสร็จมาลงทุนตามโปรโมชั่นของบริษัทฯ โดยยอดการลงทุนคำนวณจากราคาทองคำตามที่ระบุในใบเสร็จ ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลกำไรตอบแทน 43.5% ของเงินลงทุน โดยจะแบ่งจ่ายกำไรเป็น 2 งวด พร้อมกับแบ่งจ่ายคืนเงินต้นเป็นงวดๆ รวม 10 งวด
ช่วงแรกจะทำทีจ่ายเงินค่าตอบแทนจริง เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายตายใจนำเงินมาลงทุนเพิ่ม จากนั้นจะเริ่มบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายเงินค่าตอบแทนหรือคืนเงินลงทุนให้กับผู้เสียหายตามที่ตกลงกันไว้ ก่อนจะขาดการติดต่อในที่สุด
บทเรียนจากนายประสิทธิ์ ทำให้สังคมได้เห็นว่า ยังมีคนบางกลุ่มนำความเชื่อและศรัทธามาเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเอง ซึ่งนับจากนี้อาจจะมีคนที่รู้เท่าทัน และฉุกคิดกับพฤติกรรมเช่นนี้มากขึ้น
อีกบทเรียนหนึ่งก็คือ ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ตลาดหุ้นตก ดอกเบี้ยเงินฝากลด ยังมีคนพยายามแสวงหาช่องทางลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูง โดยไม่ได้รับรองจากหน่วยงานที่กำกับดูแล อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงาน ก.ล.ต.
เช่น แชร์แม่มณี ชักชวนคนมาลงทุนบนโลกออนไลน์ วงละ 1,000 บาท อ้างว่าฝากเงิน 1 เดือน ได้ดอกเบี้ย 93% และสร้างภาพว่าเป็นเจ้าของห้างทองแม่มณี ที่ภายหลังเป็นฉากไลฟ์สดโดยใช้ทองปลอม รวมทั้งแบรนด์เครื่องสำอางที่ไม่มีอยู่จริง
เมื่อแม่มณีสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นเซเลบริตี้ มีชีวิตหรูหรา ก็ทำเอาชาวเน็ตนำเงินทั้งชีวิตมาลงทุน สุดท้ายแชร์แม่มณีวงแตก วงแชร์เงียบหายและไล่บล็อกนักลงทุน มีผู้เสียหายมากกว่า 4,400 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 1,300 ล้านบาท
หรือจะเป็น ซินแสโชกุน ที่ทำธุรกิจขายตรงอาหารเสริมบังหน้า แต่ให้สมาชิกนำเงินมาลงทุน 9,730 บาท จะได้โปรโมชันเที่ยวญี่ปุ่นฟรี สุดท้ายสมาชิกถูกลอยแพที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้เสียหาย 871 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 51 ล้านบาท
ต่อจากนี้ถ้ามีคนมาชักชวนให้ลงทุนโดยให้ผลตอบแทนมากเกินความเป็นจริง ให้เอะใจไว้ก่อนว่าไม่ชอบมาพากลแน่ๆ ดีกว่าจะกล้าได้กล้าเสีย นำเงินเก็บมาทั้งชีวิตมาเสี่ยง แล้วที่สุดก็สูญหายละลายทรัพย์ไปอย่างน่าเสียดาย