xs
xsm
sm
md
lg

ตามมาจากปารีณา ชิม 4 ร้านเด็ดโพธาราม ราชบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เห็นหัวข้อแล้วอย่าเพิ่งเบือนหน้าหนี ... ขอบอกไว้ก่อนว่า บทความนี้ไม่มีการเมือง เราจะว่าด้วย “เรื่องของกิน” ล้วนๆ

สืบเนื่องมาจากผู้แทนตัวจี๊ดในสภาฯ “ปารีณา ไกรคุปต์” ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่เพิ่งถูกเว้นวรรคไปหมาดๆ เป็นลูกสาวของ “ทวี ไกรคุปต์” อดีต รมช.พาณิชย์ อดีต รมช.คมนาคม บ้านเกิดของเธอเป็นชาว อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ครั้งหนึ่ง ปารีณาเคยออกรายการโทรทัศน์ “ไปดูผู้แทน” ดำเนินรายการโดย “กรรณิกาศ์ ปทุมมชาติ” เผยแพร่บนยูทูปเมื่อเดือนตุลาคม 2555 หลังออนแอร์ทางช่อง 11 ไปแล้ว ตอนนั้นยังอยู่ในสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา แถมลูกชาย “น้องเก้า” อายุแค่ 2 ขวบครึ่ง

ผู้เขียนเพิ่งจะได้มีโอกาสชมคลิปรายการนี้ ระหว่างค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับคุณปารีณาเพื่อใช้ประกอบข่าว เลยนึกสนใจขึ้นมาว่า อยากจะไปเยือนโพธารามสักครั้ง โดยเฉพาะร้านของกินต่างๆ

ปัญหาก็คือ รายการนี้เป็นรายการเก่า ออกอากาศเกือบจะสิบปีแล้ว เพราะฉะนั้นก่อนออกเดินทางจึงต้องทำการบ้านก่อน ทั้งลิสต์รายชื่อร้าน ค้นหาข้อมูลจากรีวิวต่างๆ และ Google Street View เพื่อดูว่าสถานที่เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน

ส่วนที่ใช้คำว่า “ตามมาจากปารีณา” เพราะนึกถึงเวลาที่คนดูยูทูปตามมาจากที่อื่น เช่น มาจากเว็บอื่น มาจากเพจอื่น มาจากรายการอื่น มาจากบล็อกเกอร์ ยูทูปเบอร์คนอื่น ก็มักจะมีคนพิมพ์คอมเมนต์ว่า “ตามมาจาก ...” ในคลิป

จึงกลายเป็นภารกิจตามหาของกินที่เมือง “คนสวยโพธาราม” แห่งนี้ ไม่มีนัยยะ ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน และคิดว่าทัวร์คงไม่ลงหรอกมั้ง (ฮา)


เมื่อถึงเวลาและโอกาสอันสมควร วันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงได้มีโอกาสมาเยือนโพธารามด้วยตัวเอง เริ่มต้นจาก สถานีรถไฟศาลายา เพราะอยู่ใกล้บ้าน รอได้ทั้งรถไฟที่ออกจากสถานีหัวลำโพง และสถานีธนบุรี

เหตุผลหนึ่งที่เลือกเดินทางโดยรถไฟ นอกจากค่าโดยสารจะถูกแล้ว ยังถึงตัวอำเภอโพธารามพอดี รถไฟขบวนที่ 255 ธนบุรี-หลังสวน จะมาถึงศาลายาประมาณ 8 โมงเช้า ค่าโดยสารชั้น 3 รถนั่งพัดลม เพียง 14 บาทเท่านั้น

ปัญหาก็คือ เมื่อเข้าสู่สถานีนครปฐม ต้องหยุดเดินรถเป็นระยะ ที่สถานีคลองบางตาล และสถานีนครชุมน์ เพื่อรอสับหลีกขบวนที่สวนกันมา ยังดีที่มาถึงสถานีโพธารามล่าช้า 20 นาที ถ้านั่งยาวกว่านี้ ก็อาจจะถึงปลายทางค่ำมืดดึกดื่นก็เป็นได้


สำหรับตัวอำเภอโพธาราม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง เกิดขึ้นตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เริ่มจากมีชาวจีนอพยพเข้ามายังดินแดนประเทศไทย กระจายอยู่ในเขตอำเภอเมืองราชบุรี ดำเนินสะดวก และบ้านโป่ง

สำหรับชุมชนจีนในอำเภอโพธาราม มีชาวจีนอยู่ 4 กลุ่มภาษา โดยกลุ่มใหญ่ที่สุดคือ ชาวจีนแต้จิ๋ว รองลงมาคือชาวจีนแคะ ชาวจีนไหหลำ และชาวจีนกวางตุ้ง มีบทบาทโดดเด่นขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมถึงความเชื่อ

แม้ตัวอำเภอโพธารามจะมีความเจริญน้อยกว่าตัวเมืองราชบุรี และอำเภอบ้านโป่ง ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสอง เนื่องจากอยู่กึ่งกลางพอดี แต่ก็มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย รวมทั้งมีร่องรอยของความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าเหลืออยู่


สภาพตัวอำเภอโพธารามวันนี้ หาดทรายโพธาราม ริมแม่น้ำแม่กลอง หน้าหอนาฬิกา ถูกพัฒนาให้เป็นลานคอนกรีตกว้างขวาง แม้จะรู้สึกโล่ง แต่ไอแดดที่กระทบกับพื้นคอนกรีต ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวสักเท่าไหร่

บริเวณโดยรอบเทศบาล เริ่มมีงานศิลปะอย่างสตรีทอาร์ตสร้างสีสันให้กับตัวอำเภอ โดยเฉพาะอาคารตลาดริมน้ำ ที่แบรนด์รองเท้าชื่อดัง นำศิลปินมาเขียนคำว่า “โพ’รามที่รัก” พร้อมตัวการ์ตูนสะท้อนวิถีชีวิตของคนโพธาราม

ผลงานสตรีทอาร์ตยังมีอีกมากมายโดยรอบตัวอำเภอ ถือเป็นการเปลี่ยนแหล่งเสื่อมโทรมอย่างข้างกำแพง ที่มักจะมีคนมือบอน พ่นสีขีดเขียนต่างๆ ให้มีชีวิตชีวามากขึ้น และเป็นกุศโลบายที่ทำให้คนไม่อยากพ่นสีบนกำแพงไปในตัว


ไม่รอช้า เราเดินเท้าไปยัง ตลาด 100 ปีโพธาราม หรือ ชุมชนตลาดบนโพธาราม ระหว่างทางผ่านโรงภาพยนตร์เก่าแก่ อายุมากกว่า 60 ปี อย่างเช่น “วิกครูทวี” ซึ่งทราบมาว่าปิดตัวลงมานานกว่า 10 ปี

วิกครูทวี ไม่ใช่โรงหนังของทวี ไกรคุปต์ แต่เป็น “ครูทวี แอคะรัต” สร้างโรงภาพยนตร์นี้ขึ้นเมื่อ 60 กว่าปีก่อน ใช้เป็นที่ฉายหนัง เล่นละครร้อง หรือเล่นลิเก ก่อนสร้างเป็นอาคารถาวร เมื่อประมาณปี 2501

อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสโลกเปลี่ยนไป ผู้คนนิยมเข้าชมโรงภาพยนตร์ทันสมัยในเมืองมากขึ้น วิกครูทวีจึงปิดตัวอย่างเงียบๆ ตามคำบอกเล่าของคนที่เข้าไปที่ห้องฉายหนัง ปฏิทินถูกฉีกออกคาอยู่ที่เดือนกรกฎาคม 2541

ที่น่าใจหายก็คือ วิกครูทวีถูกปิดตายอย่างเงียบสนิท แม่ค้าตั้งแผงขายเสื้อผ้าที่ใต้ถุน หน้าทางขึ้นบันไดกลายเป็นที่จอดรถจักรยานยนต์ และนับวันอาคารค่อยๆ ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ ทำได้เพียงแค่เฝ้ามองด้านหน้าอย่างน่าเสียดาย


เราเดินเท้ามาถึงร้านแรก “เต้าหู้ทอดรถเข็น” ที่ว่ากันว่าน้ำจิ้มเป็นเอกลักษณ์ ปรากฎว่าไม่เจอรถเข็น เจอแต่แผงขายเต้าหู้ทอด หน้าร้านก๋วยเตี๋ยวหลอด ดูนาฬิกาตอนนั้นประมาณ 11 โมงเช้า เหลือเพียงแค่ 4 ชิ้นสุดท้าย ก่อนจะเก็บร้านพอดี

เราจึงตัดสินใจเหมาหมด 4 ชิ้น (ชิ้นละ 20 บาท) โดยให้ 1 ชิ้นหั่นราดน้ำจิ้มไปเลย ส่วนอีก 3 ชิ้นใส่ถุงกลับไปกินที่บ้าน ระหว่างนั้นมีชาวบ้านขี่รถมอเตอร์ไซค์มาที่ร้านพอดี เจ้าของร้านบอกว่าหมด กลายเป็นว่าเราคือลูกค้าคนสุดท้าย

เราถามเขาว่า ไม่ได้ขายแบบมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างเหรอ แม่ค้ากล่าวว่า ทางเทศบาลเขาไม่ให้จอด เมื่อถามว่าช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง เธอกล่าวว่า “ช่วงนี้เงียบ...เหมือนคนไม่ค่อยกระตือรือร้นเท่าที่ควร”

ในรายการทีวี ปารีณาเคยแนะนำว่า น้ำจิ้มอร่อยมาก บอกตามตรงว่า พอชิมไปคำแรก ไม่รู้สึกถึงความแปลก แต่พอกลับไปที่บ้าน ตักน้ำจิ้มใส่ปากเหมือนยาแก้ไอ 1 ช้อนโต๊ะ พบว่ารสชาติจะหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ถือว่าใช้ได้เหมือนกัน

ภายหลังทราบมาว่า ร้านเต้าหู้ทอดเดิมมีอยู่ 2 ร้าน แต่เลิกขายไปแล้ว 1 ร้าน เหลืออีก 1 ร้าน แต่เราไม่รู้ว่าใช่เจ้าเดียวกับที่ปารีณาเคยแนะนำหรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาจากรสชาติน้ำจิ้มแล้ว ถ้าไม่ใช่ก็ใกล้เคียง ...

ร้าน DO นม ตลาด 100 ปีโพธาราม
ร้านที่สองที่อยู่ใกล้กันก็คือ “DO นม” คาเฟ่ไม้เล็กๆ ที่มีสามล้อถีบจอดหน้าร้าน ตกแต่งในสไตล์วินเทจ เต็มไปด้วยภาพถ่าย โปสเตอร์ ข้าวของเครื่องใช้โบราณ เปิดเมื่อปี 2555 จำหน่ายเครื่องดื่มและอาหาร เน้นไปที่เครื่องดื่มและขนมปังปิ้ง

เราสั่ง “โฟสต์ DO นมคาเฟ่” (75 บาท) เป็นกาแฟลาเต้ปั่น โปะหน้าด้วยไอศกรีมวานิลลา รสชาติหวานมัน ตามมาด้วย “ขนมปังปิ้ง” เราสั่งมาสองแบบ คือ แบบนมข้นทั้งแผ่น (25 บาท) กับแบบดูโอช็อกโกแลต (30 บาท)

ส่วนเมนูคาว เราสั่งเป็น “ไข่กะทะ DO นม” (59 บาท) ประกอบด้วยไข่ดาวทอด 2 ฟอง กุนเชียงทอด หมูสับปรุงรส ผัก ที่แปลกกว่าที่อื่นตรงที่มี “เต้าหู้ดำ” อธิบายง่ายๆ เหมือนเต้าหู้รสพะโล้ รสชาติกลมกล่อม หอมเครื่องยาจีน


ความเปลี่ยนแปลงของร้านนี้ที่เห็นได้ชัดก็คือ ปัจจุบันบริเวณด้านหลังร้านจะเป็นที่พักเล็กๆ ชื่อว่า “กระท่อมสาธุ” เป็นบ้านพักคล้ายโฮมสเตย์ มีทั้งแบบห้องธรรมดาสำหรับ 2 คน และแบบห้องสำหรับ 4 คน มีห้องน้ำในตัวทุกห้อง

ย่านตลาด 100 ปีโพธาราม ในวันนี้เงียบเหงาลงไปบ้าง ร้านรวงที่เปิดอยู่มีน้อยลง แต่ก็มีมนต์เสน่ห์จากบ้านไม้เก่าอายุนับร้อยปียังคงอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต

จากจุดนี้เราเดินย้อนกลับไปทางตลาดโพธาราม เพื่อไปเยือนร้านที่สาม “เต้าหู้ดำแม่เล็ก” ที่ปารีณาเคยกล่าวว่า “ถ้ามาโพธาราม ไม่ได้ซื้อเต้าหู้ดำไป ก็เหมือนมาไม่ถึงนะคะ”

เต้าหู้ดำแม่เล็ก ถนนราษฎรอุทิศ (ซอยจับกัง) หลังสถานีรถไฟโพธาราม


เต้าหู้ดำ เป็นการถนอมเต้าหู้ขาวให้อยู่ได้นาน โดยต้มเครื่องพะโล้และสมุนไพรจีน กลิ่นเหมือนพะโล้ ใช้เวลาต้มนาน 3 วัน รสชาติหวานไม่มาก จะทานเปล่าๆ หรือจะนำไปปรุงอาหารได้ตามต้องการ

เต้าหู้ดำที่นี่ขายแผ่นละ 20 บาท ทางร้านจะตักขึ้นมาจากหม้อร้อนๆ ใส่ถุงร้อน มัดปากถุง กลับถึงบ้านแล้วให้รีบแช่เย็นไว้ในช่องปกติในตู้เย็น สามารถเก็บไว้ได้นาน 10 วัน เท่าที่สอบถามเปิดมานานกว่า 50 ปี ขายตั้งแต่ตีสี่ ถึง 6 โมงเย็นทุกวัน

ภายในถุงเต้าหู้ดำจะมีโบร์ชัวร์แผ่นเล็กๆ นอกจากจะแนะนำร้านรวมทั้งรายการโทรทัศน์ที่เคยไปออกรายการแล้ว ยังมีการแนะนำวิธีทำเมนูที่ทำจากเต้าหู้ดำอีกด้วย อาทิ ยำเต้าหู้ดำ ผัดกะเพราเต้าหู้ดำ แกงป่าเต้าหู้ดำ และเต้าหู้ผัดถั่วงอก

ภายหลังคนราชบุรีบอกกับเราว่า จริงๆ แล้วร้านเต้าหู้ดำโพธารามมีอยู่สองร้าน คือเต้าหู้ดำแม่เล็กซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดัง กับอีกร้านหนึ่งที่อยู่เยื้องๆ กัน คือ “เจ๊อั๊ง เต้าหู้ดำสมุนไพร” ซึ่งลูกค้าจะเป็นคนในพื้นที่มากกว่า

วันก่อนเพิ่งให้ที่บ้านนำเต้าหู้ดำแม่เล็ก ที่ซื้อมาทำผัดกะเพรา ใส่หมูบดไปด้วย ที่บ้านเอ่ยปากชมว่าเต้าหู้อร่อย นุ่ม ไม่เหม็นถั่ว ใจจริงอยากให้ทำพะโล้ หรือถ้าจะเอาแบบง่ายๆ ใส่ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสพะโล้ดูเผื่อว่าจะเข้ากัน


ปิดท้ายกันที่ร้านกาแฟเล็กๆ “กาลนาน” ที่เคยซ่อนตัวอยู่ในซอยวิกครูทวี ตลาด 100 ปีโพธาราม ปรากฎว่าร้านนี้ย้ายออกไปตั้งที่ใหม่นานแล้ว อยู่ที่บ้านสวนเล็กๆ ถนนเลียบทางรถไฟ-วัดคงคาราม ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 2 กิโลเมตร

แม้เราจะมาเยือนที่นี่แบบตัวเปล่า แต่ยังดีที่อำเภอนี้มีวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างในตลาด เลยวานให้ไปส่งที่ร้าน ทีแรกไม่รู้ว่าค่ามอเตอร์ไซค์เท่าไหร่ แต่พอมาถึงที่ร้าน พี่วินเรียก 40 บาท ระหว่างนั้นก็ขอเบอร์โทร. ไปด้วย กะจะให้โทร. มารับกลับ

ร้านนี้เป็นร้านกาแฟเล็กๆ แบ่งออกเป็นโซนปรับอากาศ กับโซนนอกร้าน เมื่อเข้าไปในร้านเราพบกับบาริสต้าสาว ทราบชื่อภายหลังคือ “คุณแต้ว” เป็นเจ้าของร้าน เธอแนะนำเมนูกาแฟและเครื่องดื่มที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน

แต่เรากลับนึกถึงเมนู “ชามะนาวจี๊ดจ๊าด” ที่ปารีณาเคยแนะนำในรายการ แต่แผ่นเมนูที่ร้านระบุเพียงแค่ “ชามะนาว” เฉยๆ เราจึงสั่งเมนูนี้ไป เพราะอยากรู้ว่าผ่านไปเกือบ 10 ปี จะยังคงจี๊ดจ๊าดสมชื่อหรือไม่?

แล้วก็ไม่ผิดหวัง เป็นชามะนาวที่ผสมน้ำมะนาวแท้ เปรี๊ยวจี๊ดสมชื่อ


แอร์เย็นๆ กับชามะนาวสักแก้ว คลอด้วยเสียงเพลงแจ๊ซเบาๆ ช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยล้าได้พักหนึ่ง ทีแรกตั้งใจว่าจะนั่งตากแอร์ให้หายร้อน ก่อนโทร. เรียกวินมอเตอร์ไซค์มารับกลับ ปรากฎว่ามีเจ้าเหมียวสีขาวเข้ามาทักด้วยความซน

เจ้าของร้านอีกคนหนึ่ง ทราบชื่อภายหลังคือ “คุณบอล” น่าจะเป็นแฟนคุณแต้ว เล่าเรื่องแมวที่เพิ่งไปทำหมันมาให้ลูกค้าอีกคนหนึ่งฟัง แน่นอนว่าเราได้ฟังไปด้วย ก็เพลินดี ระหว่างที่เดินไปสั่งเครื่องดื่มเพิ่ม ถือโอกาสลูบหัวแมวเพื่อทำความรู้จักไปด้วย

คุณบอลกล่าวว่า ร้านกาลนาน ย้ายมาจากชุมชนตลาดบน โพธาราม มาได้เกือบจะเข้าปีที่ 5 เนื่องจากที่เก่าคับแคบ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ส่วนร้านเดิมทางเจ้าของตึกเปิดเป็นร้านกาแฟแทน

เราเลยถือโอกาสถามถึงร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อเปื่อย ที่เคยออกรายการ ซึ่งเราเห็นว่าปิดร้านไปแล้ว เขากล่าวว่า ร้านปิดมานานแล้ว เพราะจากรุ่นพ่อ รุ่นแม่ รุ่นป้า พออายุมากขึ้นก็เริ่มทำไม่ไหว ก็ให้รุ่นหลานทำ แต่ภายหลังก็ปิดร้านไป

ส่วนร้านเต้าหู้ทอด เดิมมีอยู่สองร้านที่ขายด้วยกัน ซึ่งลูกค้าจะเป็นคนละกลุ่มกัน แต่ภายหลังรายหนึ่งเลิกขาย ย้ายออกไปแล้ว เหลืออยู่ร้านเดียว ตรงก๋วยเตี๋ยวหลอด ร้านเดียวกับที่เราซื้อนั่นแหละ

ขณะที่วิกครูทวี ที่ภายหลังไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปได้เยี่ยมชม ก็ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากเป็นอาคารที่มีอายุมากแล้ว และโครงสร้างอาคารเริ่มทรุดโทรม หากเปิดให้เข้าชมเกรงว่าจะได้รับอันตราย


ต่อมาช่วงที่ลูกค้ากลับไป คุณบอลออกไปธุระ คุณแต้วก็ทักว่า “มาเที่ยวเหรอคะ” เราก็ตอบว่าใช่ครับ แล้วกล่าวถึงที่มาที่ไปว่า จะมาตามรอยร้านที่ ส.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ เคยไปออกรายการโทรทัศน์

พอบอกชื่อรายการโทรทัศน์ คุณแต้วก็กล่าวว่า “โห...นี่ก็นานมาแล้วนะ”

เธอยืนยันว่าเป็นคนเดียวกับที่ออกรายการโทรทัศน์เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ปกติเวลาอยู่ที่ร้านจะแต่งหน้าแบบจัดเต็มกว่านี้ แต่วันนี้งานเยอะ เพราะลูกน้องขอลาหยุด ซึ่งเรากลับมาดูคลิปอีกรอบ ปรากฎว่าใช่เธอจริงๆ ด้วย

เธอกล่าวว่า ยังมีรายการอื่นๆ เคยมาถ่ายทำที่ร้าน หนึ่งในนั้นคือนักแสดงสาว โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล แต่เมื่อสถานที่เก่าคับแคบ เธอจึงย้ายร้านมาอยู่ที่นี่ ตั้งใจว่าจะทำเป็นร้านเล็กๆ ไม่ใหญ่มาก เพื่อที่จะได้ดูแลลูกค้าอย่างทั่วถึง


เมนูที่นี่จะมีกาแฟสด โดยเฉพาะกาแฟอาราบิกาแบบคั่วกลางที่ทำเอง แต่เนื่องจากวันนี้เราดื่มกาแฟไปแล้ว 3 แล้ว (คิดในใจว่า กล้าดื่มไปได้ยังไงนะ) เลยขอดื่มเฉพาะชามะนาว กับมะนาวโซดาไปก่อน

เธอกล่าวว่า โพธารามเป็นเมืองที่มีความหลากหลายเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ ในจังหวัดราชบุรีมีอยู่ 8 กลุ่ม แต่เฉพาะโพธารามก็มีอยู่ 4 กลุ่ม (เรากลับไปค้นหาเพิ่มเติม มีทั้งชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยลาวตี้ ชาวไทยมอญ และชาวไท–ยวน)

แต่เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ตัวอำเภอโพธารามก็เริ่มเปลี่ยนแปลง หลังจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เริ่มมีคนจากกรุงเทพฯ มาอยู่อาศัยที่นี่เยอะขึ้น สารพัดปัญหาก็ตามมา หนึ่งในนั้นคือการขับรถที่ดูไม่เป็นระเบียบเท่าที่ควร

ตลาดเช้าโพธารามในอดีต
ที่ฟังแล้วน่าใจหายก็คือ เธอเล่าว่า “ตลาดเช้าโพธาราม” เดิมพ่อค้าแม่ขายจะตั้งแผงอยู่กลางถนน ซึ่งเป็นแบบนี้มานานแล้ว เพราะคนที่นี่จะไม่เดินซื้อของ แต่จะขี่รถจักรยานยนต์ หรือปั่นจักรยาน เมื่อซื้อของเสร็จแล้วก็ขี่รถกลับบ้านไปได้เลย

ภายหลังเทศบาลเมืองโพธาราม ให้ผู้ค้าทุกรายขึ้นไปอยู่ที่ริมเขื่อนหน้าหอนาฬิกา โดยให้เหตุผลว่าเป็นการจัดระเบียบ ต้องการคืนผิวจราจรให้ประชาชน ทำให้ในวันนี้เราจึงไม่ได้เห็นภาพวิถีชีวิตดั้งเดิมแบบนั้นอีก

เธอกล่าวว่า ที่ผ่านมามีคนมาเยือนโพธารามกันเยอะ แต่แหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งตั้งอยู่คนละทิศละทาง และไม่มีรถโดยสารสาธารณะให้บริการ คนที่ไม่ได้นำรถส่วนตัวมา เมื่อมาถึงแล้วจะรู้สึกเคว้งไปบ้าง

คนที่ทำการบ้านมาก่อน นั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ มา เลยนำจักรยานพับได้ติดมาด้วย จะได้ไปไหนมาไหนสะดวก หรือไม่อย่างนั้นก็นั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แล้วขอเบอร์โทร. เพื่อให้มารับกลับ

พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน
แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่แนะนำก็มี “วัดขนอน” ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ “วัดคงคาราม” ซึ่งอยู่ใกล้กับร้าน มีจิตรกรรมฝาผนังอายุหลายร้อยปี และ “วัดหนองกลางดง” ที่มีพิพิธภัณฑ์ ซึ่งชาวไทยเชื้อสายมอญช่วยกันสร้างขึ้น

กว่า 10 ปีที่เปิดร้านมา ก็มีลูกค้ามาเยือนไม่ขาดสาย หนึ่งในนั้นคือกลุ่มนักเรียนตั้งแต่ขาสั้นคอซอง ที่ต่อมาเรียนจบ มีงานทำ มีครอบครัว เมื่อกลับมาโพธารามก็ยังนำลูกหลานมาสวัสดีป้าแต้วที่ร้าน กลายเป็นความผูกพันเกิดขึ้น

เธอกล่าวขอบคุณเราที่ยังตามรอยมาที่ร้านได้ เมื่อเห็นว่านั่งรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาคนเดียว คุณแต้วจึงแจ้งคุณบอลวานให้ขับรถไปส่งที่สถานีรถไฟ ทีแรกเราก็เกรงใจ กังวลว่าจะติดออเดอร์อยู่ไหม แต่คุณแต้วกับคุณบอลก็บอกว่าไม่มีปัญหา

ขณะนั่งรถกลับ ระหว่างทางถามคุณบอลว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ที่ร้านเป็นอย่างไรบ้าง เขากล่าวว่า ระลอกแรกจากที่คิดว่าลูกค้าจะน้อยลง กลับดีขึ้นแบบคาดไม่ถึง แต่พอระลอกใหม่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้วกลับตรงกันข้าม

เขากล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เรียนรู้ถึงความไม่แน่นอน จากที่เคยคิดว่าแย่กลับดี และที่เคยคิดว่าจะดีกลับแย่ลง แต่สุดท้ายเราก็ต้องอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้


สี่โมงเย็นเศษๆ รถไฟขบวนที่ 254 หลังสวน-ธนบุรี ก็มาถึงที่สถานีโพธาราม ถือเป็นรถไฟขบวนสุดท้ายที่จะกลับกรุงเทพฯ ได้ เพราะรถไฟขบวนหัวหิน-กรุงเทพ งดให้บริการเพราะติดปัญหาก่อสร้างรถไฟทางคู่ นครปฐม-ชุมพร

แสงแดดยังคงแผดเผาส่องมาที่หน้าต่างรถไฟ เสมือนยังทำหน้าที่ตามกลไกของดวงอาทิตย์ มองไปยังทุ่งนา สวนมะพร้าว เสียบหูฟัง ฟังเพลงจากมือถือไปเรื่อยเปื่อย วันหยุดเพียงหนึ่งวัน ไม่มีโอกาสที่เราจะอยู่กับโพธารามได้นานกว่านี้

บางครั้งที่เห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็น บางอย่างที่ตั้งอยู่ วันหนึ่งก็อาจถึงคราวเปลี่ยนแปลง บางอย่างที่เราคิดว่ายังคงอยู่เป็นนิจนิรันดร์ วันหนึ่งอาจจะหายไปอย่างน่าเสียดาย โดยที่เราอาจไม่ทันคาดคิด

แม้ว่าวิถีชีวิตของโพธารามจะเปลี่ยนไป อย่างน้อยการที่เราได้ตามรอยอดีต ก็ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช่เพียงแค่ตามรอยรีวิวแบบคนอื่นทั่วไป แต่ยังได้เข้าใจท้องถิ่น และเรียนรู้อดีตไปด้วย

โพธารามยังมีอีกหลายสิ่งให้ค้นหาอีกมาก รอคอยที่จะกลับมาเยือนด้วยความคิดถึง.

หมายเหตุ : ขอขอบคุณ คุณวิสาข์ สมบูรณ์สิทธิ์ ผู้ช่วยนายสถานีรถไฟโพธาราม แฟนรายการ “เขาว่าอร่อย” ทางยูทูป MGR Online ที่เข้ามาทักทาย (จำหน้าได้ด้วยวุ้ย) อำนวยความสะดวกระหว่างมาถึงสถานี และระหว่างรอรถไฟกลับกรุงเทพฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น