xs
xsm
sm
md
lg

สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล Shopee ต้นแบบปล่อยกู้ขาชอปออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) เปิดเผยว่า ได้อนุญาตให้ บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด เป็นผู้ให้บริการ “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” รายแรกในประเทศไทย ตามที่ ระบุในเว็บไซต์แบงก์ชาติวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

เมื่อตรวจสอบชื่อบริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) พบว่า เป็นบริษัทในเครือ เอสอีเอ กรุ๊ป (SEA Group) บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ เจ้าของเดียวกับแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ “ชอปปี้” (Shopee) และอี-วอลเล็ต “ชอปปี้ เพย์” (Shopee Pay)

โดยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ชอปปี้ได้ให้บริการที่ชื่อว่า “เอสเพย์เลเทอร์” (sPayLater) ให้ลูกค้าสมาชิกชอปปี้สามารถรับสินค้าไปก่อนแล้วจ่ายเงินที่หลัง หรือเลือกผ่อนชำระนานสูงสุด 3 เดือน

อาจมีคนสงสัยว่า นอกจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันแล้ว “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” คืออะไร? สมัครยังไง? และใช้ยังไง?

สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan) เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ใช้ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) เช่น การชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ รายได้ หรือพฤติกรรมการซื้อขายออนไลน์

โดยการใช้ข้อมูลประเภทต่างๆ ต้องอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ใช้ข้อสมมติ (Assumption) ที่สมเหตุสมผล เช่น มีการประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสม (Customized Risk Profile) ของผู้บริโภคแต่ละรายจากข้อมูลที่แตกต่างกัน

ข้อมูลเหล่านี้ จะนำมาประเมินความสามารถหรือความเต็มใจในการจ่ายหนี้ เน้นกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ลูกค้ากลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ กลุ่มที่ไม่สามารถพิสูจน์รายได้ และกลุ่มที่ไม่มีทรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นหลักประกัน

หลักเกณฑ์ก็คือ ให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคแต่ละราย รวมกันไม่เกิน 20,000 บาท โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ในการกู้ยืม ให้ผ่อนชำระแต่ละสัญญาได้ไม่เกิน 6 เดือน คิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงสุดไม่เกิน 25% ต่อปี

ที่สำคัญ แบงก์ชาติยังผ่อนหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ต้องดู “ฐานะทางการเงิน” จากรายได้หรือกระแสเงินสด และไม่จำเป็นต้องกำหนดวงเงินสินเชื่อตามสัดส่วนรายได้หรือกระแสเงินสด เมื่อเทียบกับสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ

อีกทั้งผู้ประกอบธุรกิจไม่จำเป็นต้องนำวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล นับรวมกับสินเชื่อบุคคลรูปแบบอื่นๆ และไม่จำเป็นต้องใช้แหล่งข้อมูลกลาง (เช่น เครดิตบูโร) เพื่อตรวจสอบวงเงินสินเชื่อและภาระหนี้สิน

ที่แบงก์ชาติกำหนดเช่นนี้ เพื่อให้ประชาชนบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ให้เข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ แทนที่จะกู้เงินแบบชาวบ้านร้อยละยี่สิบ และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในภาคการเงิน

โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดทำและใช้ช่องทางเบิกจ่ายและชำระคืนสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก เช่น การเบิกจ่ายและชำระคืนสินเชื่อผ่านการโอนเงิน หรือตัดบัญชีอัตโนมัติ หรือผ่านเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)

ส่วนที่ให้วงเงินสูงสุด 20,000 บาท ก็เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการในตลาดสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ต้องการวงเงินสูงมากนัก ขณะเดียวกันเพื่อดูแลไม่ให้ประชาชนก่อหนี้เกินตัว

สำหรับบริษัทไหนที่สนใจทำสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล แจ้งความประสงค์มาได้ที่แบงก์ชาติ ถ้าไม่ได้ใช้เทคโนโลยีใหม่อย่างไบโอเมตริกซ์มาใช้ ก็ไม่ต้องทดสอบการให้บริการแบบ Sandbox แต่ให้สาธิตผลิตภัณฑ์และบริการต้นแบบแทน

อ่านประกอบ : หนังสือเวียนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล 

ข้อดีอย่างหนึ่งที่สังเกตได้ก็คือ เมื่อไม่ได้ใช้ข้อมูลจาก “เครดิตบูโร” ซึ่งเป็นข้อจำกัดของหลายคนในการขอสินเชื่อที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการสินเชื่อเพื่อต่อชีวิตจริงๆ มีทางเลือกมากขึ้น กว่าไปกู้เงินนอกระบบ

ขณะที่วงเงินไม่เกิน 20,000 บาท แม้จะดูเล็กน้อยเมื่อเทียบกับบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ที่ปัจจุบันกำหนดให้วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ แต่ก็ถือว่าให้วงเงินแบบจุ๋มจิ๋ม ฟรุ้งฟริ้ง น่ารักๆ แม้ดอกเบี้ยจะแอบโหดนิดๆ ก็ตาม ...

นึกถึงครั้งหนึ่ง บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ก็เคยออกผลิตภัณฑ์บัตรกดเงินสดที่ชื่อว่า “บัตรกล้วยกล้วย” ให้วงเงินสูงสุดเพียงรายละ 10,000 บาท มีคนสนใจสมัครและเป็นที่พูดถึงในเว็บบอร์ดพันทิป

แม้ KTC ก็ปิดบริการนั้นไปแล้ว แต่ทราบมาว่าลูกค้าบัตรกล้วยกล้วย ที่มีประวัติชำระดี จะได้รับการอัพเกรดเป็นบัตรกดเงินสดโฉมใหม่ KTC PROUND UNIONPAY ไปแล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ปิดตำนานบัตรกล้วยกล้วยอย่างสมบูรณ์


มาถึงผู้ให้บริการสินเชื่อบุคคลดิจิทัลรายแรกอย่างชอปปี้ บริการที่เรียกว่า “เอสเพย์เลเทอร์” ไม่ใช่สินเชื่อเงินสดหรือเงินโอน แต่ให้สินเชื่อสำหรับซื้อสินค้าโดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต ผ่านแพลตฟอร์มของชอปปี้เท่านั้น

บริการนี้เปิดมาตั้งแต่กลางปี 2563 ที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อว่า “ชอปปี้เพย์เลเทอร์” (Shopee PayLater) แต่คาดว่าได้รับอนุญาตจากแบงก์ชาติอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ ข้อมูลในเว็บไซต์แบงก์ชาติปรับปรุงล่าสุด 2 กุมภาพันธ์ 2564

ลูกค้าสามารถเลือกชำระได้ 2 รูปแบบ คือ “ชอปตอนนี้ จ่ายทีหลัง” (Buy Now Pay Later) คือรับสินค้าวันนี้แล้วชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไป และ “ผ่อนชำระ” (Installment) แบ่งจ่ายเลือกได้สูงสุด 3 เดือน

แต่ก่อนที่จะใช้บริการเอสเพย์เลเทอร์ จะต้องสมัครเพื่ออนุมัติวงเงินก่อน โดยคุณสมบัติจะต้องมีสัญชาติไทย อายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ถ้าไม่เคยยืนยันตัวตนกับแอปพลิเคชัน AirPay Wallet มาก่อน ให้ทำการยืนยันตัวตนโดยใช้บัตรประชาชน

แต่ถ้าเคยยืนยันตัวตนมาแล้ว ให้ระบุรายได้ และถ่ายภาพเอกสารเพิ่มเติมอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ สลิปเงินเดือน รายการเดินบัญชีธนาคาร หรือรายการเดินบัญชีออนไลน์อย่างน้อย 1 เดือน หรือแผนธุรกิจ หนังสือจดทะเบียนบริษัท

โดยการอนุมัติวงเงินจะประเมินจากการซื้อสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มชอปปี้ ร่วมกับการทำธุรกรรมผ่าน AirPay Wallet (กำลังจะเปลี่ยนชื่อเป็น ShopeePay วันที่ 15 มีนาคม 2564)

เพราะฉะนั้น วงเงินที่ได้รับจะแตกต่างไปจากวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล บางคนอ้างว่ามีเงินหมุนเวียนในบัญชีหลายหมื่นแต่วงเงินไม่กี่พัน เพราะไม่ได้ใช้ข้อมูล “ฐานะทางการเงิน” ในการพิจารณาวงเงินนั่นเอง

ถ้าลูกค้าไม่ค่อยซื้อของผ่านชอปปี้ วงเงินที่ได้รับอาจจะน้อยกว่าคนอื่น แต่ทราบมาว่าถ้าลูกค้าต้องการเพิ่มวงเงิน สามารถนำเอกสารการเคลี่อนไหวทางบัญชี (Statement) หรือสลิปเงินเดือนให้ทางชอปปี้เพื่อขอเพิ่มวงเงินได้

สำหรับอัตราดอกเบี้ยของบริการเอสเพย์เลเทอร์ ไม่เกิน 25% ต่อปี คิดแบบลดต้นลดดอก ค่าอากรแสตมป์ (Stamp Duty) 0.05% ของวงเงินที่ได้รับอนุมัติ ไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน และไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

โดยจะตัดรอบบิลทุกวันที่ 1 ของเดือน และกำหนดวันที่ชำระทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน ช่องทางชำระมี 3 ช่องทางหลัก คือ ShopeePay Wallet เติมเงินก่อนแล้วจ่ายบิล, ShopeePay ตัดบัญชีธนาคารที่ผูกไว้, โมบายแบงกิ้ง และเครื่องเอทีเอ็ม


สิ่งที่ต้องระวังก็คือ หากชำระหลังวันที่ 10 เป็นต้นไป ในเดือนที่มีการเรียกเก็บบิล ถือว่าผิดนัดชำระ ระบบจะเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียมการติดตามทวงถามหนี้” 100 บาท และอาจมีดอกเบี้ยผิดนัดชำระตามมา

สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลของชอปปี้ อย่าง เอสย์เลเทอร์ สำหรับลูกค้าบัตรเครดิตอาจจะรู้สึกเฉยๆ เพราะสามารถผ่อน 0% ในอัตราที่ถูกกว่า แต่สำหรับคนที่ไม่มีบัตรเครดิต หรือวงเงินเต็มหมดแล้ว นี่เป็นโอกาสในการต่อชีวิตนักชอปเป็นอย่างยิ่ง

อย่างน้อยช่วงกลางเดือนเป็นต้นไปที่มนุษย์เงินเดือนเงินขาดมือ สภาพคล่องฝืดเคือง แต่จำเป็นต้องการสินค้าในตอนนั้น ซึ่งปัจจุบันชอปปี้ก็ขายสินค้าแบบสากกะเบือยันเรือรบอยู่แล้ว ยังสามารถซื้อของก่อน เดือนหน้าจ่ายคืนหรือผ่อนที่หลังได้

แต่สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ก็เป็นดาบสองคมไม่ต่างจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อบุคคลอื่นๆ จึงควรซื้อสินค้าในราคาผ่อนชำระเท่าที่เราผ่อนไหว และเมื่อถึงเวลาก็รีบชำระหนี้เสียแต่เนิ่นๆ อย่าให้มีค่าปรับผิดนัดชำระตามมาก็พอ


กำลังโหลดความคิดเห็น