กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
การแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดสมุทรสาคร ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อคืนวันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นการปรากฎตัวของ “ผู้ว่าฯ ปู” นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร แถลงข่าวร่วมกับ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ พล.ต.ต.วัฒนา ยี่จีน รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ต่อคนไทยทั้งประเทศ
คืนวันนั้นอาจจะเป็นวัน “ช็อกโลก” โดยเฉพาะคนสมุทรสาคร เมื่อได้ยินตัวเลขผู้ติดเชื้อในคืนวันนั้นมากถึง 548 ราย ก้าวกระโดดจากวันก่อนหน้าที่พบผู้ติดเชื้อ 13 ราย กรณีแม่ค้าขายอาหารทะเลในตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร วัย 67 ปี เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2563 ด้วยอาการปวดเมื่อย จมูกไม่ได้กลิ่น ก่อนจะทราบผลว่าพบเชื้อในวันที่ 17 ธันวาคม 2563
พร้อมกันนี้ ทางจังหวัดได้ออกคำสั่งจังหวัดเปรียบเสมือน “ล็อกดาวน์” นาน 14 วัน ไม่ว่าจะเป็น ขอความร่วมมืองดออกจากเคหะสถานในช่วงเวลา 4 ทุ่ม หรือ 22.00 น. ถึง 05.00 น. ในวันรุ่งขึ้น สั่งปิดสถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า (ยกเว้นห้างค้าปลีก ค้าส่ง) ส่วนร้านอาหารอนุญาตเฉพาะซื้อกลับบ้านเท่านั้น ลักษณะเหมือนช่วงกลางปีไม่มีผิด
ทุกภาคส่วนในจังหวัดสมุทรสาครทำงานกันอย่างหนักเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อในตลาดที่พบผู้ป่วย และตลาดอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน หอพักที่มีผู้ป่วย และแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ อาทิ ตลาดกลางค้ากุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ตลาดทะเลไทย หอพักศรีเมือง และสถานที่เพิ่มเติมอื่นๆ โดยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ จากหลักร้อยไปถึงหลักพันคน
อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงก็คือ “ขบวนการแรงงานเถื่อน” ที่ลักลอบนำชาวเมียนหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แล้วข้ามแดนมาทำงานในจังหวัดสมุทรสาคร ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ต่างพยายามโยนความผิดไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครเต็มๆ ทั้งๆ ที่เมืองมหาชัยเป็นเพียง “ปลายทาง” ของแรงงานเถื่อนเหล่านี้เท่านั้น
แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังกล่าวแบบหน้าด้านๆ ว่า “ปล่อยให้มีการแพร่ระบาดเช่นนี้ได้ยังไง การระบาดครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่ผู้ว่าฯ เองก็ผิดที่ปล่อยให้มีการระบาดเช่นนี้” ถือเป็นตรรกะที่ใช้ไม่ได้ เพราะถือเป็นการ “โยนความผิด” ให้กับจังหวัดสมุทรสาครแต่เพียงฝ่ายเดียว
ทำไมไม่ไปดูหน่วยงานความมั่นคง ตั้งแต่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ที่มี พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. หรือแม้กระทั่ง ตำรวจ-ทหาร อาทิ กองกำลังนเรศวร จ.ตาก, กองกำลังผาเมือง จ.เชียงราย, กองกำลังสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี, กองกำลังเทพสตรี จ.ระนอง ฯลฯ ทำไมถึง “ปล่อยข้าศึก” เข้ามาตีเมืองง่ายดายขนาดนี้
ไม่นับรวม “คนไทย” บางคนที่รู้เห็นเป็นใจ ลักลอบขนแรงงานเถื่อนเข้ามาในสมุทรสาคร (รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ที่มีความต้องการแรงงาน) ว่ากันว่าคิดค่านำพาคนละ 20,000-30,000 บาท รายได้ดี แต่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา ไม่รู้ว่าผ่านด่านตรวจแต่ละจังหวัดมาได้ยังไง เจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจหรือไม่ ก็ไม่มีใครกล้าแตะ แม้แต่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็ไม่แตะ
สุดท้ายก็ทิ้งภาระให้สังคมต้องเผชิญ คนสมุทรสาครส่วนใหญ่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรกับคนบางกลุ่มที่เอาแรงงานเถื่อนเข้ามา เพราะคนพวกนี้ไม่ต่างอะไรกับโจรที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองกระทำผิด แต่อาชญากรย่อมทิ้งร่องรอยไว้เสมอ โรงงานแห่งหนึ่งในย่านพันท้ายนรสิงห์ สมุทรสาคร เอาแรงงานเถื่อนไปปล่อยก็เห็นชัดแล้ว ตำรวจก็ตามไปถึงโรงงานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
ช่วงนี้คนสมุทรสาครเจ็บปวด ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนตั้งคำถามว่าไปไหนมาบ้าง ไปสถานที่เสี่ยงหรือไม่ หนักกว่านั้น ถูกเหยียดหยามว่าเป็นตัวแพร่เชื้อ เป็นตัวน่ารังเกียจ ไม่อยากเข้าใกล้ ถูกเลือกปฏิบัติราวกับเป็น “พลเมืองชั้นสอง” สินค้าที่ผลิตจากสมุทรสาคร โดยเฉพาะอาหารทะเลก็ถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ ผู้ค้าจากสมุทรสาครก็ถูกห้ามขายของในตลาดต่างๆ
เกิดคำถามในใจว่า "คนสมุทรสาครมันน่ารังเกียจขนาดนั้นเลยเหรอ?"
สูญเสียแม้กระทั่ง “ความเป็นมนุษย์” จากน้ำมือของคนไทย เปรียบดัง “ไทยฆ่าไทย” ด้วยกันเอง
กล่าวถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครคนที่ 41 อย่าง “ผู้ว่าฯ ปู” ดำรงตำแหน่งต่อจาก นายสมคิด จันทมฤก ที่เลื่อนไปเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย พื้นเพเป็นคนตลาดศาลเจ้าโรงทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง จบปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต (มนุษยศาสตร์) มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี เมื่อปี 2526
แต่ผู้ว่าฯ ปูยังคงสนใจใฝ่เรียน ระหว่างรับราชการเป็นนายอำเภอ ยังศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กระทั่งจบปริญญาตรีอีกหนึ่งใบ รัฐศาสตรบัณฑิต (แขนงวิชาทฤษฎีและเทคนิคทางรัฐศาสตร์) เมื่อปี 2534 แล้วต่อด้วยปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2542
เริ่มต้นชีวิตราชการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2526 ในตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ผ่านไป 18 ปี เลื่อนตำแหน่งเป็นนายอำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อปี 2544 จากนั้นอีก 2 ปี ลงมาเป็นนายอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี 2546, นายอำเภอศรีประจันต์ ปี 2550, นายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ปี 2551
ปี 2552 กลับมาเป็นนายอำเภอเดิมบางนางบวช (ผู้อำนวยการระดับสูง) จากนั้นในปี 2554 เลื่อนตำแหน่งเป็นปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี อีกหนึ่งปีต่อมาเลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ในปี 2555 เรียกได้ว่าในชีวิตราชการ 33 ปีที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่รับราชการในเมืองยุทธหัตถี วรรณคดีขึ้นชื่อ
ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับอดีตนายกรัฐมนตรี “บรรหาร ศิลปอาชา” ตั้งแต่สมัยเป็นนายอำเภอ ร่วมกันพลิกฟื้น “บึงฉวาก” ทะเลสาบน้ำจืดราว 1,000 ไร่ รอยต่อสองจังหวัด ระหว่างอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี กับอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท จากเดิมเป็นแหล่งน้ำเสื่อมโทรม ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม
และได้นำแนวคิดส่วนหนึ่งมาใช้พัฒนาแหล่งน้ำเก่าแก่กว่า 3 หมื่นไร่ อย่าง “บึงสีไฟ” จังหวัดพิจิตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ในปี 2559 จากบึงที่แห้งแล้ง ศาลาชมวิวเสื่อมโทรม เริ่มต้นปลุกคนพิจิตรด้วยการจัดงานลอยกระทง พร้อมระดมพลกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันพัฒนาบึงสีไฟให้มีชีวิต ก่อนที่จะพัฒนาให้สมบูรณ์แบบใน 1 ปีต่อมา
อยู่มาได้เพียง 2 ปี ต้องย้ายไปไกลถึงดินแดนอีสานใต้ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อปี 2561 แม้จะอยู่ได้เพียง 1 ปี แต่ก็มีผลงานเด่นคือ พัฒนาทุเรียนภูเขาไฟ โดยตั้ง “สารวัตรทุเรียน” ป้องกันเชิงรุกในการไม่ให้นำเอาทุเรียนอ่อนออกมาขาย แถมยังดึงนักแสดงจาก “ไทบ้าน เดอะซีรีย์” โปรโมตทุเรียนภูเขาไฟกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวด้วย
1 ตุลาคม 2562 ผู้ว่าฯ ปูย้ายจากอีสานใต้สู่ลุ่มแม่น้ำท่าจีน ผลงานแรกที่ได้เห็น คือ เทศกาลตรุษจีนครั้งแรกในจังหวัดสมุทรสาคร “เล่งเกียฉู่ สืบสานตำนานมังกร” จากเดิมที่ร้อยวันพันปีก็ไม่เห็นจะมีจัด ดึงวิถีชาวจีนโพ้นทะเลจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีรากวัฒนธรรมเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาไว้ที่นี่ ถือเป็นความพยายามปั้นเทศกาลตรุษจีนให้ทัดเทียมทั่วประเทศ
ผ่านไปไม่นานนักสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดก็มาถึง ผู้ว่าฯ ปู เป็นคนริเริ่มรณรงค์ให้ประชาชนเย็บหน้ากากผ้า ในช่วงที่หน้ากากอนามัยราคาแพงและขาดแคลน โดยจัดโครงการ “เย็บรักสมัครใจ ห่วงใยสาคร” มาตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา นำไปสู่การเย็บและใช้หน้ากากผ้าไปทั่วประเทศ
ตามมาด้วยมาตรการเข้มงวด “ใครไม่สวมหน้ากากปรับ 20,000 บาท” แห่งแรกในไทย ออกคำสั่งตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ดำเนินคดี และไม่ใช่เพียงแค่คำขู่ นายอำเภอสนธิกำลังกับตำรวจจับจริง ส่งฟ้องศาลจริง แม้ศาลจังหวัดสมุทรสาครจะสั่งปรับ 4,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2,000 บาท แต่ในยุคที่เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย ก็แทบจะไม่มีใครฝ่าฝืนอีก
จากหน้ากากอนามัย กลายเป็นวรรคทองของผู้ว่าฯ ปู ติดป้ายทั่วเมืองด้วยคำว่า “วัคซีนรอปีหน้า หน้ากากผ้าใช้ได้เลย” แถมแฮชแท็ก #ให้กราบก็ยอม รณรงค์ให้ผู้คนสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันจากโรคโควิด-19 ว่ากันว่าในช่วงที่ถ่ายรูปหมู่เวลาออกงานต่างๆ ผู้ว่าฯ ปู ต้องขอความร่วมมือให้สวมหน้ากากไว้ตลอด
นอกจากนี้ ยังสื่อสารกับประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการจัดรายการสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ “ไม่แพ้แน่นอน...เราจะผ่านไปด้วยกัน” ทางเฟซบุ๊ก COVID – 19 สมุทรสาคร ทุกวันเสาร์บ่ายสองโมง และยังแต่งเพลง “ล้มแล้วสู้” โดยได้แรงบันดาลใจจากตลาดมหาชัยที่เคยคึกคัก กลับต้องเงียบเหงาเพราะสถานการณ์โควิด-19 เพื่อบอกให้รู้ว่า อย่ายอมแพ้อะไรง่ายๆ
กลยุทธ์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรสาครก็น่าสนใจไม่แพ้กัน มีทั้งจัดทำปฏิทินท่องเที่ยวทุกปี และจัดทำคลิปประชาสัมพันธ์ 3 จังหวัด ภายใต้คอนเซปต์ “นายอำเภอว่าดี...ผู้ว่าก็บอกว่าดี” ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเลสดจากอำเภอเมืองสมุทรสาคร กล้วยไม้กระทุ่มแบน และมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว ที่ออกมาเป็นเพลงแร็ปเข้ากับคนรุ่นใหม่อีกด้วย
สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ในจังหวัดสมุทรสาคร ถือเป็นภารกิจที่ท้าทายของผู้ว่าฯ ปูในวัย 59 ปี กับอายุราชการที่เหลืออีกไม่ถึง 2 ปี หลังการประชุม ครม. ชาวสมุทรสาครที่เป็นห่วง ส่งกำลังใจผ่านโซเชียลฯ จำนวนมาก ทำเอาเจ้าตัวกล่าวว่า “ยังแปลกใจ ที่จู่ๆ มาให้กำลังใจผมกัน ผมคงผิดจริงๆ กำลังหาทางเยียวยาอยู่ครับ”
การให้กำลังใจกัน เปรียบเสมือน “ยาชูกำลัง” ที่จะเติมพลังฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ อย่างน้อยในวันนี้ ยามที่คนไทยทั้งประเทศยังคงไม่เข้าใจคนสมุทรสาคร ยังคงบูลลี่คนสมุทรสาคร บอยคอตสินค้าจากสมุทรสาคร แต่กำลังใจจากคนสมุทรสาคร จะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก ที่ทำให้ผู้ว่าฯ ปู ไม่ต้องสู้อย่างเดียวดาย
ประวัติส่วนตัว นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี (ผู้ว่าฯ ปู)
เกิด : 25 ธันวาคม 2505
ภูมิลำเนา : อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง
คู่สมรส : นางชุติพร วิจิตร์แสงศรี (นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสมุทรสาคร)
การศึกษา :
- 2526 ปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต (มนุษยศาสตร์) มหาวิทยาลัยบูรพา
- 2534 ปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต (แขนงวิชา ทฤษฎีและเทคนิคทางรัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- 2542 ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
วันบรรจุรับราชการ : 23 สิงหาคม 2526
วันครบเกษียณอายุราชการ : 30 กันยายน 2565
ประวัติการรับราชการ :
- 23 สิงหาคม 2526 นักพัฒนาชุมชน อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
- 11 ธันวาคม 2544 นายอำเภอแม่วงก์ (เจ้าพนักงานปกครอง) จังหวัดนครสวรรค์
- 6 ตุลาคม 2546 นายอำเภอเดิมบางนางบวช (เจ้าพนักงานปกครอง) จังหวัดสุพรรณบุรี
- 24 ตุลาคม 2550 นายอำเภอศรีประจันต์ (เจ้าพนักงานปกครอง) จังหวัดสุพรรณบุรี
- 28 พฤศจิกายน 2551 นายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี (ผู้อำนวยการระดับสูง)
- 14 กันยายน 2552 นายอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี (ผู้อำนวยการระดับสูง)
- 24 มกราคม 2554 ปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี
- 7 ธันวาคม 2555 รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี
- 1 ตุลาคม 2559 ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร
- 1 ตุลาคม 2561 ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
- 1 ตุลาคม 2562 ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร
เกียรติประวัติ :
- 2533 ได้รับรางวัล พัฒนากรดีเด่น ระดับจังหวัด
- 2537 ข้าราชการพลเรือนดีเด่น “รางวัลครุฑทองคำ” ระดับประเทศ
- 2546 นายอำเภอที่มีผลงานดีเด่นระดับจังหวัด จังหวัดนครสวรรค์
- 2553 ได้รับคัดเลือกเป็นนายอำเภอที่มีผลงานดีเด่นระดับเขต เขต 7
- 2557 เป็นกรรมการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์นักศึกษาระดับปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- 2560 รางวัลการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนระดับประเทศ "จังหวัดสะอาด" รองชนะเลิศ อันดับ 2 กลุ่ม จังหวัดขนาดเล็ก จังหวัดพิจิตร
- 2561 รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยบูรพา ประจำปี 2561
- 2561 รางวัลนักบริหารดีเด่นแห่งปี ประจาปี 2561 จากมูลนิธิเพื่อสังคมไทย
- 2561 นักเรียนเก่าดีเด่น โรงเรียนปทุมคงคา ประจำปี 2561
- 2561 รางวัลผู้ว่า "สำเภาทอง" ประจำปี 2561
- 2562 รางวัลการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนระดับประเทศ "จังหวัดสะอาด" รางวัลชมเชย กลุ่มจังหวัดขนาดใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ
- 2562 รางวัลจังหวัดที่มีการผ่านการคัดแยกขยะครบ 100% ทุกครัวเรือน โดยกระทรวงมหาดไทย
- 2562 ประกาศเกียรติคุณเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมด้านคุณธรรม ควรค่าแก่การยกย่อง "พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา" จากประกาศศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)