“สมุทรปราการ-สมุทรสงคราม” ประกาศล็อกดาวน์สถานที่เสี่ยง พร้อมออกมาตรการคุมเข้ม หลังยอดผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งไม่หยุด
วันนี้ (22 ธ.ค. 63) นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ในฐานะผู้กำกับบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดสมุทรปราการ ออกประกาศ เรื่อง มาตรการควบคุมการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายในท้องที่จังหวัดสมุทรปราการ
โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรปราการ ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ออกคำสั่งไว้ดังต่อไปนี้
1. ปิดสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน และสถาบันกวดวิชา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนผู้สูงอายุ ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ และอำเภอพระประแดง ของจังหวัดสมุทรปราการ เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2564 และให้สถานศึกษาที่มีความเสี่ยง พิจารณาปิดโรงเรียนตามความเหมาะสมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
2. สถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ให้นั่งรับประทานอาหารอย่างเดียว งดเต้น และให้ถือปฏิบัติตามมาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กำหนด
3. ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชน งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชน หากประสงค์จัดงานต้องเสนอแผนควบคุมโรคต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อนำเรื่องเข้าพิจารณาในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรปราการ ตามมาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กำหนด
4. จัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด จุดคัดกรองโรค เพื่อสกัดกั้นการเดินทางเข้าออกและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว และควบคุมคนไทยที่เดินทางเข้า-ออกจากจังหวัดสมุทรสาคร ตามความจำเป็น
5. ให้ใช้สวนสาธารณะเพื่อการออกกำลังกาย และให้ผู้รับผิดชอบสวนสาธารณะควบคุมจำนวนผู้เข้าใช้กิจกรรมมิให้เกิดการรวมตัวแออัด
6. จัดเจ้าหน้าที่ตรวจค้นหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เชิงรุกในแรงงานต่างด้าว จำนวน 1,500 คน รวมถึงประชาชนที่เดินทางไปพื้นที่เสี่ยงจังหวัดสมุทรสาคร
7. ขอความร่วมมือศาสนสถานทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ งดให้แรงงานต่างด้าว เข้ามาทำกิจกรรมภายในพื้นที่
8. ข้าราชการและบุคลากรของจังหวัดสมุทรปราการ ที่เดินทางไป-กลับจังหวัดสมุทรสาคร หรือมีที่พักอาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ให้ทำงานที่บ้าน (work from home) ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2564
9. สถานที่ราชการทุกหน่วยงาน ให้เจ้าหน้าที่ใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกคน
10. ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด ตลาดนัด และร้านอาหาร ให้มีการคัดกรองอุณหภูมิร่างกาย ลงทะเบียนแพลตฟอร์มไทยชนะ จัดให้มีจุดล้างมือหรือแอลกอฮอล์เจล และใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
11. การขนส่งสาธารณะให้ใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ และผู้ประกอบการต้องจัดการทำความสะอาดยานพาหนะทุกวัน
12. ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการค้นหาและเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าวในพื้นที่
13. จัดตั้งศูนย์ Call Center โรงพยาบาลสมุทรปราการ หมายเลข 02 701 8132-39 (24 ชั่วโมง)
14. ห้ามการนำเสนอข่าวหรือทำการเผยแพร่ต่างๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อันเป็นเท็จ หรืออาจจะทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าว อันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตักเตือน ให้ระงับ หรือสั่งให้ดำเนินการแก้ข่าว หรือหากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรงให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
15. ปิดสนามชนไก่ สนามคัดเลือกไก่ สนามกัดปลา เวทีมวย สนามซ้อมมวย ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต และสนุกเกอร์
16. งดการจัดกิจกรรมปีใหม่ และการสวดมนต์ข้ามปี
17. ควรงด หรือชะลอการจัดกิจกรรม และพิธีการทางสังคม เช่น พิธีมงคลสมรส พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ยกเว้นพิธีศพ กิจกรรมหรืองานพิธีที่ทางราชการจัดขึ้น หรือเป็นไปตามหมายกำหนดการของทางราชการ ยังคงจัดได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ข้อ 18 ของประกาศฉบับนี้
18. กำหนดมาตรการป้องกันโรค ให้มีมาตรการป้องกันโรค ดังนี้
(1) ให้ทำความสะอาดโดยการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้อง ก่อนการจัดกิจกรรม และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน
(2) ให้เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ ผู้ร่วมงาน ผู้ร่วมกิจกรรม ลูกจ้าง ผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า
(3) ให้บุคคลตาม (2) ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
(4) ให้บุคคลตาม (2) เว้นระยะนั่ง หรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัส หรือแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลาย
(5) ให้ควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมมิให้แออัด หรือลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น โดยถือหลักการหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ มีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การดำเนินการตามมาตรการนี้เป็นการดำเนินการชั่วคราวจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นกรณีมีความจำเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ อาจประกาศเปลี่ยนแปลง หรือลดเงื่อนไขตามประกาศนี้ได้ ประกาศใดขัดหรือแย้งประกาศนี้ ให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564
ทางด้าน นายชรัส บุญณสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดสมุทรสงคราม ออกหนังสือ “ด่วนที่สุด” สั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย เป็นเวลา 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 2563 ถึงวันที่ 4 ม.ค. 2564
เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา จ.สมุทรสงคราม ได้รับการยืนยันว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด 6 ราย ในวันนี้ ที่มีผลเป็นบวก 2 ครั้ง ส่วนอีก 2 ราย รอการยืนยันผลอีกครั้ง ทำให้ยอดสะสมผู้ป่วยโควิดรอบใหม่อยู่ที่ 8 ราย
สำหรับสถานที่ที่ถูกสั่งปิดให้บริการ เช่น โรงภาพยนตร์ ร้านเกม ร้านคาราโอเกะ โต๊ะสนุกเกอร์ สถานศึกษา ฟิตเนส สนามกีฬา สระว่ายน้ำ ร้านนวดและสปา คลินิกเสริมความงาม เป็นต้น ขณะที่ร้านเสริมสวย หรือร้านทำผมชาย-หญิง ยังเปิดให้บริการได้ตามปกติ
ส่วนห้างสรรพสินค้า อนุญาตให้เปิดเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกขายยา อาหาร สินค้าเบ็ดเคล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ รวมไปถึงบริการธนาคารและการติดต่อสื่อสาร
นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ที่อนุญาตให้เปิดแบบมีเงื่อนไข เช่น ตลาดนัดอนุญาตให้เปิดเพื่อขายอาหารเท่านั้น ร้านอาหารเปิดให้บริการเฉพาะซื้อกลับบ้าน ยกเว้นในโรงพยาบาลและโรงแรม