xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ อัศวิน ออกประกาศคุม 4 สถานที่เสี่ยง รวมผับ บาร์ คาราโอเกะ มีผลทันที

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทม. ออกประกาศมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 “ตลาด-ตลาดนัด-สวนสาธารณะ-สถานบันเทิง” รวมถึงสถานที่ที่จะจัดงานรื่นเริง พื้นที่เสี่ยงห่วง super spreader เริ่มมีผลทันที 21 ธ.ค.- 4 ม.ค. 64

วันนี้ (21 ธ.ค.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2563 เรื่อง มาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระบุว่า

ตามที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในจังหวัดสมุทรสาคร นั้น เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมจำกัดวงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สมควรกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดในกรุงเทพมหานคร

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 19/2563 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 จึงกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังต่อไปนี้

1. ให้สถานที่ดังต่ไปนี้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคตามมาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคแนบท้ายประกาศนี้

1.1 ตลาด ตลาดน้ำ และตลาดนัด
1.2 สวนสาธารณะ
1.3 วัด มัสยิด หรือสถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนา
1.4 สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ


2. ให้เจ้าของ ผู้จัดการสถานที่ หรือผู้จัดให้มีกิจกรรมใดๆ ทางธุรกิจการคมนาคม มหรสพ สนามกีฬา ที่สาธารณะ หรือแหล่งอื่นๆ ซึ่งมีการรวมกลุ่มหรือร่วมกิจกรรมลักษณะที่เสี่ยงต่อการใกล้ชิด สัมผัส และแพร่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคแก่ผู้ร่วมกิจกรรมนั้นๆ ดังต่อไปนี้

2.1 บริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือการคัดกรองอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ
2.2 ให้สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า
2.3 อำนวยความสะดวกในการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร และจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัด
2.4 จัดให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
2.5 จัดให้มีการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้องก่อนการทำกิจกรรม รวมทั้งระหว่างและภายหลังการทำกิจกรรมด้วย
2.5 ให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่และเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชันที่ทางราชการกำหนด

3. การจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ที่มีการชุมนุมคนในพื้นที่ตั้งแต่ 300 คนขึ้่นไป ต้องยื่นแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ก่อนจัดงาน


ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอำนาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 และข้อ 2 จะถูกสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว

กรุงเทพมหานครขอความร่วมมือให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เมื่อออกจากที่พักอาศัย

เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง


สำหรับมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แนบท้ายประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2563 มีดังนี้

1.1 ตลาด ตลาดน้ำ และตลาดนัด

- ให้มีการควบคุมทางเข้าออก และมีมาตรการคัดกรองอาการป่วย ไข้ จาม หรือเป็นหวัด สำหรับผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการตามขีดความสามารถ
- เพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น หรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานในบางพื้นที่ก็ได้
- ไม่อนุญาตการให้บริการเครื่องเล่นสำหรับเด็ก
- ทำความสะอาดพื้น พื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน
- ให้ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าเสมอ
- ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
- ให้เว้นระยะห่างของแผง หรือระยะนั่งหรือยืน หรือระยะห่างในการเลือกสินค้า และการชำระราคา ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร
- ให้ควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมมิให้แออัด หรือลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น โดยถือหลักหลีกเลี่้ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน

1.2 สวนสาธารณะ

- มีมาตรการคัดกรองไข้ และอาการไอ หอบเหนื่อย จาม หรือเป็นหวัด สำหรับผู้ประกอบการ พนักงานบริการ และผู้ใช้บริการก่อนเข้าสถานที่ พร้อมติดสัญลักษณ์แสดงการคัดกรองผ่าน ทั้งนี้ ให้รายงานหน่วยงานรับผิดชอบกรณีพบผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคตามแนวทางที่กำหนด
- ให้มีลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่ และเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชันที่ทางราชการกำหนดหรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานทดแทนได้
- จัดให้มีระบบคิว และมีพื้นที่รอคิวที่มีที่นั่งหรือยืน ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร-จัดให้มีระบบเก็บข้อมูลและติดตามผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ ลานกิจกรรมได้ทุกคน หากพบผู้ป่วยหรือผู้ที่มีอาการเข้าได้กับเกณฑ์สอบสวนโรคภายหลังจากการใช้บริการได้
- จัดให้มีการระบายอากาศภายในอาคารที่ดี รวมทั้งบริเวณห้องสุขาและห้องอาบน้ำ ทั้งนี้ ให้ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ
- ทำความสะอาดพื้นที่ผิวที่มีการสัมผัสบ่อยๆ อุปกรณ์กีฬา และห้องสุขา ทั้งก่อนและหลังให้บริการ และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน
- ให้ผู้ประกอบการ พนักงานบริการ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา สำหรับผู้ใช้บริการต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ทั้งก่อนและหลังใช้บริการ
- ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
- ให้เว้นระยะนั่งหรือยืนอย่างน้อย 2 เมตร ระหว่างการออกกำลังกาย
- ให้ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการออกกำลังกาย มิให้แออัด โดยจำกัดการรวมกลุ่มไม่เกิน 50 คน
- จัดให้มีการให้คำแนะนำผู้ใช้บริการตรวจตราควบคุม กำกับการให้บริการและใช้บริการให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมหลักอย่างเคร่งครัด
- ให้เจ้าของสถานที่ หรือผู้เช่าสถานที่ หรือผู้ประกอบกิจการ หรือผู้จัดกิจกรรมลงทะเบียนและยืนยันการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด


1.3 วัด มัสยิด หรือสถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนา

ให้ปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคม ประกาศจุฬาราชมนตรี หรือแนวทางการปฏิบัติเพื่อการเข้าร่วมพิธีกรรมของคริสตศาสนิกชนคาทอลิก

1.4 สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ

- ทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อยๆ เช่น ไมโครโฟน ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ รวมทั้งห้องสุขาและกำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน
- ให้ผู้ประกอบการ พนักงานบริการ ผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา เว้นแต่ขณะรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่ม
- ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่เพียงพอ
- ให้เว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกัน อย่างน้อย 1 เมตร และระยะห่างระหว่างโต๊ะ อย่างน้อย 2 เมตร หรือมีฉากกั้นระหว่างโต๊ะ สูงไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร รวมทั้งเว้นระยะห่างระหว่างเวทีกับโต๊ะอย่างน้อย 2 เมตร หรือมีฉากกั้นทดแทนได้


- ให้ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการ มิให้แออัด โดยคิดจำนวนใช้บริการตามขนาดพื้นที่ เกณฑ์ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตร ต่อผู้ใช้บริการ 1 คน นั่งหรือยืน เป็นกลุ่มได้ไม่เกิน 5 คน และไม่รวมโต๊ะกับกลุ่มอื่น ทั้งนี้ ให้ถือหลักหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน เช่น มิให้พนักงานนั่งกับผู้ใช้บริการ มิให้มีผู้บ้ริการร้องเพลงร่วมกับผู้ใช้บริการ และมิให้มีการเต้นหรือยินยอมให้มีการเต้น ยกเว้นการเต้นของนักร้องหรือนักแสดงที่เต้นหรือแสดงบนเวที
- จัดให้มีการระบายอากาศที่ดีและระบบหมุนเวียนอากาศภายในสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เป็นห้องปรับอากาศ รวมถึงห้องสุขา ทั้งนี้ ให้ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ รวมทั้งแผ่นกรองอากาศสม่ำเสมอ
- จัดให้มีการให้คำแนะนำพนักงาน และผู้ใช้บริการรวมถึงให้มีการตรวจควบคุมกำกับการให้บริการและใช้บริการให้เป็นไปตามมาตราการควบคุมหลักอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ พิจารณางดให้บริการกรณีผู้ใช้บริการไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่กำหนดได้
- ให้กิจการลงทะเบียนและยืนยันการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด พร้อมทั้งระบุความจุของจำนวนผู้ใช้บริการและพร้อมให้ตรวจสอบเมื่อเปิดดำเนินการ โดยเน้นระบบการตรวจสอบจำนวนผู้ใช้บริการตามข้อกำหนด
- ให้มีการลงทะเบียนก่อนแข้าและออกจากสถานที่ และเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชันที่ทางราชการกำหนด
- มาตรการคัดกรองอายุ ไข้ และอาการไอ หอบเหนื่อย จาม หรือเป็นหวัดสำหรับผู้ประกอบการ พนักงานบริการและผู้ใช้บริการ ก่อนเข้าสถานที่ ทั้งนี้ ให้รายงานหน่วยงานรับผิดชอบ กรณีพบผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคตามแนวทางที่กำหนด รวมทั้งอาจให้มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มพนักงานเป็นระยะ ตามคำแนะนำของทางราชการ
- จัดให้มีระบบคิว และมีพื้นที่รอคิวที่มีที่นั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร
- จัดให้มีระบบเก็บข้อมูลและติดตามผู้ใช้บริการได้ทุกคน หากพบผู้ป่วยหรือผู้ที่มีอาการเข้าได้กับเกณฑ์สอบสวนโรคภายหลังจากการใช้บริการ
- ให้งดกิจกรรมส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ เช่น โปรโมชัน ลดราคา ขายพ่วง โฆษณา พนักงานเชียร์เบียร์ รวมทั้งต้องไม่ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ลูกค้านำสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาบริโภคในร้าน


- งดนั่งร้องเพลง เต้น หรือยินยอมให้มีการเต้นกับผู้ใช้บริการ งดการเต้นนอกพื้นที่บริเวณโต๊ะ หรือที่นั่งของผู้ใช้บริการ รวมทั้งจัดให้มีการเปลี่ยนปลอกหุ้มไมโครโฟนทุกครั้งก่อนใช้บริการ
- งดให้จำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรูปแบบเหยือก ถ้วย หรือใส่ในภาชนะที่มีโอกาสจับหรือใช้ร่วมกัน
- ให้พิจารณาติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อบันทึกภาพการให้บริการและใช้บริการให้ครอบคลุมพื้นที่สถานประกอบการเพื่อกำกับติดตามการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโดยบันทึกภาพ และข้อมูลเก็บไว้ไม่น้อยกว่า 1 เดือน
- ให้พิจารณาพัฒนานวัตกรรมการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่ และระบบจองคิวแบบออนไลน์ เพื่อให้บริการรูปแบบใหม่ในระยะยาว

หมายเหตุ : เนื่องจากการระบาดครั้งนี้พบในกลุ่มแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนใหญ่จึงให้มีการคัดกรองในกลุ่มนี้เป็นพิเศษ

📣กทม.ได้ออกประกาศเกี่ยวกับมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของสถานที่เสี่ยง...Posted by ผู้ว่าฯ อัศวิน on Monday, December 21, 2020



กำลังโหลดความคิดเห็น