กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ค่ายมือถือแต่ละแห่งมักจะมีโปรโมชันมือถือราคาพิเศษ สำหรับลูกค้าที่เปิดเบอร์ใหม่ ย้ายค่ายเบอร์เดิม เปลี่ยนจากระบบเติมเงินเป็นรายเดือน รวมทั้งอาจจะให้สิทธิแก่ลูกค้ารายเดือนปัจจุบันด้วย
โดยมีข้อดีก็คือราคาที่ถูกกว่า แต่ต้องแลกด้วยการสมัครหรือเปลี่ยนแพ็คเกจเริ่มต้น สัญญาขึ้นอยู่กับแต่ละค่ายจะกำหนด เช่น สัญญา 12 เดือน และต้องชำระค่าบริการล่วงหน้า เพื่อนำไปเป็นส่วนลดค่าบริการรายเดือนตลอดสัญญา
เงื่อนไขหลักที่มักจะพบเห็นก็คือ ห้ามเปลี่ยนแพ็คเกจหลักที่ไม่ตรงเงื่อนไขของโครงการ ตัวอย่างเช่น ในสัญญากำหนดให้เป็นแพ็คเกจ 599 บาท ถึงจะซื้อเครื่องราคาพิเศษได้ จะเปลี่ยนไปใช้แพ็คเกจราคาที่ต่ำกว่า เช่น 399 บาท ไม่ได้
รวมทั้งห้ามเปลี่ยนจากระบบรายเดือนเป็นเติมเงิน ห้ามโอนเปลี่ยนเจ้าของ ห้ามย้ายเครือข่าย และห้ามยกเลิกเลขหมาย จนกว่าสัญญาจะหมดลง ไม่เช่นนั้นจะต้องเสียค่าปรับ ตามส่วนต่างของค่าเครื่องโทรศัพท์
ตามหลักแล้ว ถ้าสมัครแพ็คเกจในราคาที่สูง ก็จะได้รับส่วนลดมากกว่า ทั้งๆ ที่ในชีวิตประจำวัน ถ้ามีไว-ไฟที่บ้านและที่ทำงานอยู่แล้ว เราอาจจะใช้อินเทอร์เน็ตมือถือปริมาณที่ไม่มากก็ได้ นอกนั้นก็เหลือทิ้งทุกเดือน
มือถือราคาพิเศษ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคให้ได้ใช้มือถือรุ่นใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ในราคาที่ถูกลง โดยไม่เป็นภาระแก่ลูกค้า นอกเหนือจากการซื้อเครื่องเปล่าตามปกติ
เมื่อวันก่อนเจอข่าวกรอบเล็กๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่น่าสนใจ อยากให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพรายหนึ่ง อ้างตัวว่าเคยเป็นพนักงานค่ายมือถือ พยายามหลอกขอบัตรประชาชนซื้อมือถือและสมัครแพ็คเกจ ก่อนจะให้เรา “เบี้ยวหนี้”
พฤติการณ์ก็คือ คนร้ายจะทำทีอ้างว่าเคยเป็นพนักงานค่ายมือถือ หลอกเหยื่อให้ใช้บัตรประชาชน ไปซื้อมือถือราคาพิเศษกับทางค่าย กำหนดมาเลยว่าจะเอารุ่นไหน แล้วให้เหยื่อเปิดเบอร์ใหม่ระบบรายเดือนมาอีกเบอร์หนึ่ง
แทนที่เหยื่อจะได้มือถือกลับไป กลับนำไปส่งต่อให้คนร้าย เพื่อแลกค่าตอบแทนเพียงแค่ 600-1,000 บาท หนำซ้ำ คนร้ายยังอ้างว่า เคลียร์กับค่ายมือถือได้ สามารถลบข้อมูลได้ และจะไม่มีหนังสือทวงหนี้จากค่ายมือถือตามมาแน่นอน
ด้วยความหลงเชื่อ เหยื่อจึงไปชักชวนรุ่นน้องอีก 16 คน นำบัตรประชาชนมาซื้อมือถือ เปิดเบอร์ใหม่ เพื่อนำไปให้คนร้ายแลกเงิน โดยมือถือที่คนร้ายได้มาจะนำไปขายเป็น “มือถือมือสอง” ในราคาถูกกว่าท้องตลาด แล้วทิ้งซิมการ์ดนั้นไป
หลังจากวันนั้นผ่านไป ปรากฎว่าเหยื่อได้รับใบแจ้งหนี้จากค่ายมือถือ เมื่อเอะใจเลยติดต่อคนร้าย แต่กลับไม่สามารถติดต่อได้ และเมื่อไม่จ่ายค่าบริการายเดือน ค่ายมือถือก็ส่งหนังสือติดตามทวงหนี้ เพราะผิดนัดชำระ
ผลที่สุด นอกจากค่ายมือถือจะดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ชื่อของเหยื่อจะปรากฎเป็นบัญชีดำ (Blacklist) ในฐานข้อมูลลูกค้า ถ้าวันข้างหน้าเหยื่อจะซื้อมือถือใหม่ หรือสมัครบริการรายเดือนกับค่ายมือถือก็จะถูกปฏิเสธ
แล้วอย่าคิดแบบตื้นๆ ว่า แค่ไปเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุลแล้วจะหนีหนี้ หนีบัญชีดำได้ ตราบใดที่เลขประจำตัวประชาชน 13 หลักติดตัวมาตั้งแต่เกิด แค่คีย์เลข 13 หลักก็เจอ ต่อให้เปลี่ยนเป็นสิบๆ ชื่อก็ไม่มีความหมาย
แม้จะอ้างได้ว่า เหยื่อไม่ได้มีเจตนาฉ้อโกง แต่ถูกหลอกจากคนร้ายว่าจ้างมาอีกที แต่ค่ายมือถือก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย และดำเนินคดีทางอาญาได้ ขณะที่คนร้ายตัวจริง ถ้าไหวตัวทันก็ปิดช่องทางการติดต่อไปตามระเบียบ
ส่วนคนที่ซื้อมือถือมือสองต่อจากคนร้าย ที่ได้มาจากเหยื่อที่เบี้ยวหนี้อีกที อย่าคิดว่าจะรอด เพราะเข้าข่าย “รับของโจร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
วิธีการนี้คล้ายๆ กับกรณีคลาสสิกอย่าง “รับจ้างเปิดบัญชีธนาคารแทนกัน” เพื่อให้คนร้ายนำสมุดบัญชีและบัตรเอทีเอ็มไปใช้กระทำความผิด เช่น พนันฟุตบอล ค้ายาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือฉ้อโกงผู้อื่น
ผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชี มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอก ลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามหรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทุกธนาคารจึงมีคำเตือนออกมาว่า “การรับจ้างเปิดบัญชี หรือยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชี มีโทษทางกฎหมาย หากบัญชีของท่านถูกนำไปใช้ในทางทุจริต” เพื่อเตือนสติแก่เหยื่อที่จะถูกหลอกให้เปิดบัญชีได้เอะใจขึ้นมาบ้าง
ปัจจุบันบางธนาคารแนะนำช่องทางบริการใหม่ โดยให้เปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชัน และยืนยันตัวตนที่ร้านสะดวกซื้อ ในโซเชียลมีเดียก็เริ่มมีคนบางกลุ่มชักชวนหาคนพร้อมไปร้านสะดวกซื้อ เอาคนไม่เคยเปิดบัญชีธนาคารนั้นๆ อายุ 17 ปีขึ้นไป
โดยพบว่าเหยื่อจะได้ค่าจ้างคนละ 100-200 บาท โดยที่ไม่รู้ว่า ถ้าคนร้ายนำบัญชีที่ได้รับไปใช้กระทำความผิด และหากมีผู้เสียหายแจ้งความ เจ้าของบัญชีก็จะถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 เช่นกัน
รวมทั้งอาจเข้าข่ายเป็นตัวการร่วม เป็นผู้สนับสนุน หรือกระทำความผิดฐานฟอกเงินอีกด้วย
เรื่องนี้อยากจะเตือนคุณผู้อ่านว่า เวลาใครมาขอข้อมูลบัตรประชาชนเพื่อนำไปทำธุรกรรมใดๆ โดยอ้างว่าจะได้ค่าตอบแทน ให้เอะใจไว้ก่อนว่าน่าจะไม่ชอบมาพากล ควรหลีกเลี่ยง และไม่ควรไว้ใจนำข้อมูลบัตรประชาชนไปให้บุคคลอื่น
ส่วนใครที่ซื้อมือถือมือสอง แล้วพบว่าเป็นรุ่นใหม่ สภาพใหม่ แต่ราคาถูกแบบผิดปกติ ให้เอะใจไว้ก่อนว่า อาจจะได้มาอย่างไม่ถูกต้อง หรือโดยทุจริต เฉกเช่นกรณีนี้ ได้มาจากเหยื่อที่เบี้ยวหนี้ค่ายมือถือ แล้วนำมาขายต่อ
อย่าลืมว่า ค่ายมือถือเขามีวิธีตรวจสอบความผิดปกติ ตั้งแต่เปิดเบอร์ใหม่แล้วซิมการ์ดไม่มีการใช้งาน ผิดนัดชำระตั้งแต่เดือนแรก เขาก็เอะใจแล้ว ไม่นับรวมข้อมูลรหัสอีมี่ (IMEI) 15 หลัก ถ้าซื้อจากศูนย์ฯ โดยตรง ค่ายมือถือเขาก็มีข้อมูล
เวลาจะเอาผิดใคร ค่ายมือถือตามตัวไม่ยาก แล้วเขาดำเนินการทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด ไม่มีข้อยกเว้น เหยื่อก็ต้องเสียเวลาไปสู้คดีในชั้นศาล ซึ่งคนที่โดนคดีความจะรู้ว่า “เสียเวลาชีวิต” มากมายขนาดไหน
อย่าเสี่ยงเอา “ข้อมูลชีวิต” ของเราไปแลกกับใคร เพียงเพื่อหวังค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ เพราะถ้าถูกดำเนินคดีขึ้นมา มีข้อมูลประวัติอาชญากร เท่ากับว่าจะเป็นตราบาปติดตัวไปตลอดชีวิต