กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เกาะภูเก็ตได้ชื่อว่า “ไข่มุกอันดามัน” ด้วยน้ำทะเลสีคราม หาดทรายขาว และธรรมชาติที่สวยงาม กลายเป็น “ทรัพย์ในดิน” ที่ผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยว หลังผ่านพ้นยุคการทำเหมืองแร่ดีบุก ที่ทยอยหมดสัมปทานไปเมื่อหลายสิบปีก่อน
โรงแรมแห่งแรกในตัวเมืองภูเก็ต คือ โรงแรมออนออน ถนนพังงา สร้างขึ้นเมื่อปี 2472 โดยจ้างช่างจากเมืองปีนังออกแบบและก่อสร้าง ซึ่งยุคนั้นเศรษฐกิจในเกาะภูเก็ตเติบโตมาจากการทำเหมืองแร่ดีบุกเป็นหลัก
กระทั่งปี 2506 เริ่มมีนักธุรกิจเหมืองแร่ผันตัวมาทำธุรกิจโรงแรม เช่น นายติลก ถาวรว่องวงศ์ ที่คนภูเก็ตเรียกกันว่า “นายหัวเต็กหลิม” ก่อตั้ง โรงแรมถาวร ถนนรัษฎา ขณะนั้นจัดว่าเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งของจังหวัด ปัจจุบันเป็นอาคารสูง 5 ชั้น
ตามมาด้วยตระกูล “ณ ระนอง” ก่อตั้ง ศูนย์การค้าเพิร์ล ถนนมนตรี เมื่อปี 2519 ประกอบด้วยโรงแรมสูง 12 ชั้น ห้างสรรพสินค้า สถานโบว์ลิ่ง แต่ปัจจุบันเหลือเพียง โรงแรมเพิร์ล จำนวน 212 ห้อง พร้อมภัตตาคารบนดาดฟ้า และคาเฟ่ชั้นล่าง
นอกจากนี้ ยังมี “โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้” ถนนพังงา ของตระกูล “งานทวี” ก่อตั้งเมื่อปี 2538 สูง 19 ชั้น จำนวน 251 ห้อง เดิมคือโรงแรมโนโวเทล ภูเก็ต ซิตี้ ภายใต้กลุ่มแอคคอร์ แต่ได้นำกลับมาบริหารเองและเปลี่ยนชื่อเมื่อปี 2541
แต่โรงแรมที่ผู้เขียนมีโอกาสเข้าพัก คือ “โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต” บริเวณวงเวียนสุรินทร์ ก่อตั้งเมื่อปี 2532 มีนักธุรกิจร่วมหุ้น เช่น นายสิทธิ์ ตัณฑวณิช อดีตนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้, ตระกูลโอภาสวงศ์ จากกลุ่มฮ่วยชวนค้าข้าว
โรงแรมนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ 10 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอยไปแล้ว 3 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ว่างสำหรับลานจอดรถ มีความสูง 18 ชั้น จำนวนห้องพัก 248 ห้อง พร้อมห้องอาหาร สระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย
นอกจากนี้ ยังมีห้องพระพิทักษ์แกรนด์บอลรูม ขนาด 630 ตารางเมตร รองรับได้สูงสุด 1,200 คน ห้องประชุมขนาดเล็กอีก 4 ห้อง ที่ผ่านมามีการประชุมสัมมนาของส่วนราชการ ภาคเอกชน และจัดงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรสบ่อยครั้ง
ภายหลังกลุ่มฮ่วยชวนค้าข้าว ตัดสินใจขายโรงแรมให้กับ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของกลุ่มไทยเบฟ ผู้ผลิตเบียร์ช้าง เมื่อปี 2551 เนื่องจากธุรกิจค้าข้าวยุ่งมาก ส่วนโรงแรมตั้งอยู่ไกลถึงภูเก็ต ที่ผ่านมาบินลงไปดูได้แค่เดือนละครั้งเท่านั้น
โดยพบว่านักท่องเที่ยวนิยมพักโรงแรมชายหาด ซึ่งห้องพักขายได้ราคามากกว่า ขณะที่โรงแรมในเมืองภูเก็ต จะเน้นขายตลาดกรุ๊ปทัวร์จีน ซึ่งราคาห้องพักพร้อมอาหารเช้าเฉลี่ยยังน้อยกว่า แม้จะไม่ขาดทุน แต่รายได้ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย
ประกอบกับนายเจริญ รู้จักกับนายสมาน โอภาสวงศ์ ประธานกลุ่มฮ่วยชวนค้าข้าว อีกทั้งเจ้าของเดิม 3-4 คนอายุมากแล้ว จึงให้เชนที่มีเครือข่ายเข้ามาดูแล เพราะสามารถลดต้นทุนและทำการตลาดได้ดีกว่า
โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ กลุ่มทีซีซี กรุ๊ป ก่อนจะแยกบริษัทออกมาเป็น แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น โดยให้บุตรสาวอย่าง นางวัลลภา ไตรโสรัส เข้าบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโรงแรม 24 แห่งทั่วประเทศ
ผู้เขียนรู้จักโรงแรมแห่งนี้โดยบังเอิญเมื่อไม่นานมานี้ เพราะเป็นหนึ่งในโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่รัฐบาลสนับสนุนค่าห้องพัก 40% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจากสถานการณ์โควิด-19
ที่ตัดสินใจเลือกโรงแรมแห่งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ อยู่ใจกลางเมืองภูเก็ต พิจารณาจากทำเล อยู่หน้าวงเวียนสุรินทร์ ที่พอออกไปถ่ายรูปได้ รวมทั้งราคาและสิ่งอำนวยความสะดวกเหมาะสม
โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่า ขณะนี้โรงแรมกำลังปรับปรุง!
ประมาณ 3 ทุ่มของวันเข้าพัก หลังจากที่ผู้เขียนลงรถเมล์แอร์พอร์ตบัส ที่ป้ายร้านหนังสือเส้งโห เดินเท้าไปตามถนนมนตรีประมาณ 650 เมตร ขณะนั้นตัวเมืองภูเก็ตยังคงคึกคักอยู่บ้าง แม้จะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ
มาถึงหน้าโรงแรม ปรากฎว่าบริเวณล็อบบี้มีฉากสีขาวกั้นอยู่ ด้านหน้าโรงแรมมืดมากและไม่มีผู้คน นึกในใจว่าปิดกิจการหรือเปล่า กระทั่งมีป้ายลูกศรชี้ไปทางด้านหลังโรงแรม จึงตัดสินใจเดินเข้าไป พบว่าล็อบบี้ชั่วคราวอยู่ด้านหลัง
เราเข้าเช็กอินตามปกติ ทางโรงแรมยื่นคีย์การ์ดและรหัสไว-ไฟ พร้อมกล่าวแนะนำการเข้าพัก และกล่าวว่า ทางแม่บ้านได้เสียบคีย์การ์ด เปิดไฟและเครื่องปรับอากาศรอไว้แล้ว เวลาเช็กเอาต์ให้นำคีย์การ์ดมาคืนทั้งสองใบ
ระหว่างเดินขึ้นไปที่ลิฟต์ สังเกตเห็นล็อบบี้ด้านหน้ามีฉากสีขาวกั้นไว้ เสมือนว่าปิดปรับปรุงชั่วคราว ขณะที่ห้องออกกำลังกาย ย้ายไปอยู่ที่ห้องกระจกเล็กๆ เปิดให้บริการเฉพาะผู้เข้าพักเท่านั้น
พอมาถึงห้องพักบริเวณชั้น 11 ปรากฎว่า สภาพทางเดินและประตูห้องพักถูกปรับปรุงใหม่หมดจด และเมื่อแตะคีย์การ์ดเข้าไปในห้องพัก ที่แม่บ้านเปิดไฟและเครื่องปรับอากาศเย็นๆ รอไว้แล้ว พบว่าด้านในห้องพักก็ปรับปรุงใหม่เอี่ยมเช่นกัน
ห้องพักถูกตกแต่งด้วยโทนสีขาว พื้นไม้สีน้ำตาลเข้ม แฝงด้วยความคลาสสิก ห้องที่เข้าพักเป็นห้องซูพีเรีย เตียงใหญ่ ขนาด 30 ตารางเมตร ประกอบด้วยเตียงที่เปลี่ยนใหม่ นุ่มสบาย ให้ความรู้สึกเหมือนไม่ใช่โรงแรมเก่า
ด้านข้างมีเก้าอี้พร้อมโต๊ะกาแฟขนาดเล็ก โต๊ะตู้เย็นพร้อมกาต้มน้ำร้อน มีชา กาแฟ และน้ำดื่มฟรี หน้าต่างแบบกระจก ห้องน้ำมีอ่างล้างมือขนาดใหญ่ สุขภัณฑ์ แยกส่วนแห้งและเปียก พร้อมฝักบัวแบบเรนชาวเวอร์ (Rain Shower)
ลบภาพความเป็นโรงแรมเก่าที่มีอยู่ในหัวแทบจะหมดสิ้น
หลังกลับจากเที่ยวงานลอยกระทงที่สวนสาธารณะสะพานหิน ภูเก็ต ได้พบกับคุณทราย เธอกล่าวขอโทษที่ช่วงนี้อาจจะไม่ได้รับความสะดวก เพราะกำลังปรับปรุงโรงแรม เพื่อเตรียมนำเข้าไปอยู่ใน เครือแมริออท (Marriott)
ที่ผ่านมาห้องพักทั้งหมดปรับปรุงใหม่หมดจด โดยเฉพาะเตียงเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ห้องน้ำแต่เดิมจะเป็นอ่างอาบน้ำ ก็รื้อออกไป และเปลี่ยนมาเป็นเรนชาวเวอร์แทน ซึ่งเป็นที่นิยมของลูกค้าชาวต่างชาติ อีกทั้งบำรุงรักษาง่ายกว่า
ปัจจุบันห้องพักส่วนใหญ่ปรับปรุงเสร็จแล้ว ต่อไปจะปรับปรุงล็อบบี้ แต่ช่วงนี้อาจจะรองรับลูกค้าได้เพียงจำกัด เพราะอยู่ในช่วงปรับปรุง อาจจะไม่ได้รับความสะดวก กลุ่มลูกค้าจะมาจาก Online Travel Agency ลูกค้าหน่วยงานหรือองค์กร ฯลฯ
ใครสนใจจะตามรอยชมความสวยงามของห้องพักโฉมใหม่ ค่าห้องพักรวมอาหารเช้าปกติเริ่มต้นที่ 1,200 บาทต่อคืน แต่ในเฟซบุ๊กเพจของโรงแรมมีโปรโมชัน Discovery in Phuket Town เฉพาะห้องพักในราคา 888 บาทต่อคืน ถึง 31 ธันวาคม 2563
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น ลงนามสัญญากับ แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล หนึ่งในนั้นคือการปรับโฉมจากโรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “โรงแรม คอร์ทยาร์ด แมริออท ภูเก็ต ทาวน์”
ประกอบด้วยห้องพัก 248 ห้อง ภัตตาคาร ร้านอาหาร 2 แห่ง และพื้นที่จัดประชุมสัมมนากว่า 2,000 ตารางเมตร ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของโรงแรมระดับบน ด้วยสไตล์อันโดดเด่นใจกลางเมืองภูเก็ต
จุดแข็งของโรงแรมภายใต้แบรนด์แมริออท คือ แพลตฟอร์มจัดจำหน่ายห้องพักครอบคลุมทั่วโลก แคมเปญการขาย การตลาด ทีมงานที่มีประสบการณ์สูง และโครงการสำหรับสมาชิกที่จะดึงดูดแขกและลูกค้าใหม่สม่ำเสมอ
กว่า 30 ปีที่โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต อยู่คู่กับวงเวียนสุรินทร์ ใจกลางเมืองภูเก็ตมาอย่างยาวนาน แม้จะถูกเปลี่ยนเจ้าของ และในอนาคตอันใกล้จะเปลี่ยนชื่อ หลังเข้าไปอยู่ในเครือแมริออทก็ตาม ถือเป็นตำนานโรงแรมภูเก็ตที่ยังมีลมหายใจ
สะท้อนให้เห็นถึงสัญลักษณ์การเปลี่ยนแปลงจากยุคการทำเหมืองแร่ มาสู่ธุรกิจท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ แม้ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูเก็ต จะมีทั้งคึกคักและซบเซาตามสภาวะเศรษฐกิจโลกก็ตาม