กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
จังหวัดภูเก็ต แม้จะเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม ด้วยความเป็นไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้ มีน้ำทะเลใส หาดทรายขาว ธรรมชาติงดงาม แต่เดิมค่าครองชีพที่นั่น “แพงฉิบหาย” จึงทำให้บางคนที่เคยไปมาแล้วเลือกที่จะไปเที่ยวนานๆ ครั้ง
ผู้เขียนมาเยือนภูเก็ตครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 หรือเมื่อ 6 ปีก่อน ตอนนั้นพาพี่ชายไปด้วย เบ็ดเสร็จหมดค่าใช้จ่ายไปนับหมื่นบาท ส่วนใหญ่หมดไปกับค่าเดินทาง โดยเฉพาะรถแท็กซี่ป้ายดำ ส่วนอาหารพบว่าถ้าเป็นสตรีทฟู้ด ราคาไม่เท่าไหร่นัก
ผ่านไป 6 ปี ภูเก็ตเกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย โครงสร้างพื้นฐานอย่างท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ก็ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารในประเทศขึ้นมาใหม่ รองรับได้มากถึง 12.5 ล้านคนต่อปี
ตามมาด้วยการเปิดใช้ทางลอดเพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัด ไล่ตั้งแต่แยกบางคู แยกสามกอง แยกดาราสมุทร (เซ็นทรัลภูเก็ต) แยกสนามบิน และห้าแยกฉลอง รองรับยานพาหนะที่มีมากกว่า 1 แสนคันต่อวัน
รวมทั้งศูนย์การค้าแห่งใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัล ได้แก่ เซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า ต่อด้วยปรับปรุงเซ็นทรัล เฟสติวัล ภูเก็ต ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ขนาบสองข้างถนนวิชิตสงคราม และยังมีห้างเซ็นทรัล ป่าตอง เพิ่มเติมอีกสาขา
อาจเรียกได้ว่า ผ่านไป 6 ปี ภูเก็ตเจริญกว่าที่เป็นอยู่ แทบจะผิดหูปิดตาจากที่เคยไป
แต่วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรป ส่งผลทำให้ในปี 2562 นักท่องเที่ยวชาวยุโรปมาเยือนภูเก็ตน้อยลงกว่าทุกปี รวมทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เรียกได้ว่าปีที่แล้วการท่องเที่ยวภูเก็ตซบเซาในรอบหลายปี
มาถึงปี 2563 ภูเก็ตเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ทำให้ทางการต้องตัดสินใจ “เจ็บเพื่อจบ” ด้วยการปิดเกาะภูเก็ต ปิดเส้นทางคมนาคมทุกช่องทางยาวนานกว่า 1 เดือน
วันนี้ภูเก็ตกลับมาเปิดเมืองให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้แล้ว แต่ก็มีเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยเข้ามาเยือน หลังรัฐบาลดำเนินโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” สนับสนุนค่าที่พัก 40% สูงสุด 3,000 บาทต่อห้อง และให้เบิกค่าตั๋วเครื่องบินได้อีก 40%
โดยพบว่า ภูเก็ตมีผู้เข้าพักในโครงการเป็นอันดับ 5 รองจากชลบุรี กรุงเทพมหานคร ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่ แม้จะปรับเพิ่มเงื่อนไข ด้วยการเพิ่มสิทธิ์ให้จองห้องพักได้สูงสุด 10 ห้องต่อคน และขยายเวลาโครงการถึง 31 มกราคม 2564
ส่วนแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ อย่างเช่น หาดป่าตอง โดยเฉพาะย่านสถานบันเทิงในซอยบางลา กลายเป็นเมืองที่เงียบสงัด ร้านค้า สถานบันเทิง ส่วนใหญ่ยังไม่เปิดดำเนินการ
กลายเป็นว่าที่ตอนนี้ผู้คนนิยมไปเที่ยวกัน คือ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ที่มีตึกโบราณสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส และสตรีทอาร์ตที่ผู้คนนิยมไปถ่ายรูปเช็กอิน สร้างความทรงจำดีๆ มีร้านอาหารชื่อดัง และคาเฟ่น่านั่งมากมาย
การเดินทางมาเยือนภูเก็ตที่สะดวกที่สุด คือทางเครื่องบิน ลงที่ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ เมื่อเทียบกับขับรถมาเอง จะใช้เวลาประมาณ 11-12 ชั่วโมง
แม้ตั๋วเครื่องบินเส้นทางภูเก็ตจะถูกลง เพราะช่วงนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งสายการบินต่างๆ จัดโปรโมชันแข่งกันออกมาเรื่อยๆ แต่การเดินทางเข้า-ออกสนามบินยังนับว่าแพง แม้บรรดาผู้ประกอบการจะลดราคาแล้วก็ตาม
จากการสอบถามเคาน์เตอร์รถตู้และแท็กซี่ ได้ความว่า ค่าโดยสารจากสนามบินไปยังตัวเมืองภูเก็ต 150 บาท แต่ต้องรอให้มีผู้โดยสาร 5-6 คน แต่รถแท็กซี่ขณะนี้ลดราคาลงมาจาก 690 บาท เหลือ 500 บาท ส่งถึงที่พักเช่นกัน
แต่ในความรู้สึกของเรา ที่เป็นเพียงแค่ Solo Traveler แบกเป้ไปเที่ยวคนเดียว ยังเห็นว่าแพงอยู่ดี
สุดท้ายแล้วจึงต้องพึ่งพา “แอร์พอร์ตบัส” รถประจำทางจากสนามบินเข้าเมืองภูเก็ต ถึงตัวเมืองภูเก็ต ค่าโดยสารเพียง 100 บาท รถจอดอยู่บริเวณด้านนอกอาคารผู้โดยสารในประเทศ เดินเลี้ยวซ้ายไปเรื่อยๆ จะเจอรถบัสสีส้มจอดอยู่
แม้แอร์พอร์ตบัสจะออกจากสนามบินภูเก็ต เที่ยวสุดท้าย 3 ทุ่มครึ่ง แต่แนะนำว่าให้หาเที่ยวบินออกจากกรุงเทพฯ สักไม่เกิน 1 ทุ่มกำลังดี ยิ่งช่วงเย็นขึ้นมาหน่อยยิ่งดี เผื่อเวลาเที่ยวบินล่าช้า เวลารับกระเป๋าสัมภาระด้วย
สิ่งที่ต้องทำใจก็คือ ถึงค่าโดยสารจะถูกกว่าแท็กซี่ แต่แอร์พอร์ตบัสวิ่งช้ามาก ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ถ้าเป็นเที่ยวสุดท้าย 3 ทุ่มครึ่ง กว่าจะมาถึง บขส.ภูเก็ต ก็เกือบ 5 ทุ่มแล้ว ถึงได้บอกว่า ได้เที่ยวบินเย็นขึ้นมาหน่อยยิ่งดี
แอร์พอร์ตบัสออกจากสนามบินภูเก็ต จะใช้ถนนเทพกษัตรี-ในยาง ออกถนนเทพกษัตรี จอดป้าย อ.ถลาง อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร ป้ายโครงการโบ๊ทลากูน เลี้ยวขวาที่แยกบางคู ออกถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ (ถนนบายพาส)
จอดป้ายเซ็นทรัลภูเก็ต (บ้านแอนด์บียอน) เลี้ยวซ้ายที่แยกดาราสมุทร เข้าถนนวิชิตสงคราม จอดป้ายสนามกีฬาสุระกุล เลี้ยวซ้ายเข้าถนนแม่หลวน จอดป้ายแฟมิลี่มาร์ท (เยื้องโรงแรมชิโนอินน์) เลี้ยวขวาถนนเยาวราช เลี้ยวซ้ายถนนดีบุก
ป้ายสุดท้ายก่อนเข้า บขส. คือ ร้านหนังสือเส้งโห เนื่องจากเราพักโรงแรมบริเวณวงเวียนสุรินทร์จึงลงป้ายนี้แล้วเดินเท้าเพียงเล็กน้อย ในตัวเมืองภูเก็ตมีโรงแรมใหญ่อยู่ 3 แห่ง ได้แก่ โรงแรมเพิร์ล ถนนมนตรี, โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ ถนนพังงา
แต่ที่เราไปพักครั้งนี้ คือ โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต สูง 18 ชั้น บนถนนมนตรี บริเวณวงเวียนสุรินทร์ ทีแรกมาถึงโรงแรมแล้วปรากฎว่าสภาพภายนอกปิดเงียบ คิดในใจว่าปิดกิจการหรือเปล่า แต่พอเดินไปข้างในพบว่ามีล็อบบี้ชั่วคราวอยู่ด้านหลัง
พอขึ้นไปบนชั้นห้องพัก ปรากฎว่าปรับปรุงใหม่เอี่ยม สภาพใหม่หมดจด สวยงามกว่าเดิม เตียงที่ใช้ก็เตียงใหม่ นุ่มสบาย ห้องน้ำก็เป็นแบบชาวเวอร์เรน (Shower Rain) แถมมีแม่บ้านเสียบคีย์การ์ด เปิดไฟ เปิดเครื่องปรับอากาศรอไว้อีก
คุณทราย Night Manager กล่าวขอโทษกับเรา ที่ช่วงนี้อาจจะไม่ได้รับความสะดวก เพราะกำลังปรับปรุงโรงแรมทั้ง 248 ห้องในรูปโฉมใหม่ เพื่อนำเข้าไปอยู่ในเครือแมริออท (Marriott) ช่วงนี้อาจจะรองรับลูกค้าได้เพียงจำกัดเท่านั้น
ขณะนี้ห้องพักปรับปรุงเสร็จแล้ว ต่อไปจะปรับปรุงล็อบบี้ หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงคาดว่าปีหน้าจะแล้วเสร็จ
การเดินทางในตัวเมืองภูเก็ต หลายคนอาจมองว่าแพง นอกจากอาหารการกินแล้ว การเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ถ้าไม่เช่ารถขับเอง ค่าแท็กซี่และรถรับจ้างแพงมาก กลายเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คนไทยเลือกที่จะไปเที่ยวที่อื่นแทน
คืนที่มาถึงภูเก็ตตรงกับวันลอยกระทงพอดี หลังเก็บกระเป๋าจึงหาที่เที่ยวลอยกระทง พบว่าที่สวนสาธารณะสะพานหินมีการจัดงานลอยกระทง แต่ปัญหาก็คือ จากโรงแรมไปถึงปลายแหลมสะพานหินประมาณ 2 กิโลเมตร
ลองกดเรียกแกร็บคาร์ ปรากฎว่าค่าโดยสาร 284 บาท ซึ่งแพงมาก พอไปดูเงื่อนไขค่าโดยสารพบว่าสตาร์ทขั้นต่ำ 280 บาท เลยเปลี่ยนมาดูค่าโดยสารรูปแบบอื่น พบว่าแกร็บไบค์ถูกที่สุด เพียง 27 บาทเท่านั้น จึงตัดสินใจกดเรียกอย่างไม่ลังเล
มาภูเก็ตครั้งนี้ ค้นพบว่าการเดินทางในตัวเมือง ถูกที่สุดคือเรียกแกร็บไบค์ ซึ่งคนขับขี่แกร็บไบค์ก็คือคนเดียวกับที่ส่งอาหารแกร็บฟู้ด ปัจจุบันในภูเก็ตมีแกร็บไบค์ประมาณ 2,000 คน บางคนทำพาร์ทไทม์หลังเลิกงานประจำ
ถ้าเดินทางระยะใกล้ๆ จากร้านหมี่โกลาไปตึกชิโน-โปรตุกีส 28 บาท จากย่านเมืองเก่า ตึกชิโน-โปรตุกีส ไปมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต แค่ 77 บาท และจากเซ็นทรัล ภูเก็ต ไปสถานีขนส่งแห่งใหม่ แค่ 80 บาท
เราถามว่า ช่วงนี้ภูเก็ตตอนกลางคืนเงียบไหม ได้รับคำตอบว่า ก็ไม่เงียบ ตกดึกยังมีคนกดออเดอร์สั่งอาหารกันอยู่ คนที่แบบว่าอยู่ที่พัก หรืออยู่โรงแรมไม่สะดวก กดสั่งอาหารจากแกร็บฟู้ดมากินในห้องพักก็ได้
คิดในใจว่า นี่อาจจะเป็นเทรนด์ไปเที่ยวเที่ยววิถีใหม่ แบบนิวนอร์มัล (New Normal) อย่างหนึ่งก็เป็นได้
สวนสาธารณะสะพานหิน อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตไปทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร ถือเป็นปอดของคนภูเก็ต มีผู้คนออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอีกด้วย
ในสถานการณ์โควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงเวลาเข้า-ออกเป็น 2 ช่วง คือ 05.00-10.00 น. และ 16.00-20.00 น. แต่วันที่ไปตรงกับวันลอยกระทง จึงเปิดให้เป็นกรณีพิเศษถึงเที่ยงคืน จึงได้เห็นบรรยากาศแปลกๆ อีกมุมหนึ่ง
ถึงกระนั้น ก่อนจะเข้าไปก็ต้องผ่านการตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้น ที่ด่านบริเวณประตูด้านหน้าป้อมตำรวจ ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย ใครไม่สวมไม่ให้เข้า และยังต้องตรวจวัดไข้ก่อนเข้าไปด้านในทุกคน
ปัจจุบัน เทศบาลนครภูเก็ตปรับปรุงทางเดินให้กว้างกว่าเดิม โดยก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นยาว 900 เมตร พร้อมปรับปรุงทางเดินรอบๆ ปรับปรุงทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน และเพิ่มไฟฟ้าส่องสว่าง ใช้งบประมาณ 166 ล้านบาท
แม้สวนสาธารณะสะพานหินจะไม่เหมาะกับการเล่นน้ำทะเล แต่ก็เป็นนั่งพักผ่อนหย่อนใจได้ หากมองไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ด้านทิศตะวันออก จะเห็นท่าเรือรัชฎา และเกาะสิเหร่ บริเวณแหลมตุ๊กแก ที่มีแสงไฟจากที่พักสุดหรูอยู่ตรงนั้น
เราได้เห็นผู้คนส่วนหนึ่งนำกระทงไปลอยทะเลตรงนี้ บางคนนำโคมลอยมาจุดตรงนั้น ซึ่งไม่รู้ว่าทางการอนุญาตให้จุดหรือไม่ เพราะอยู่ห่างจากท่าอากาศยานภูเก็ตไกลพอสมควร แต่สุดท้ายกระทงเกยตื้น เทียนก็ดับ
ไม่ใช่วาฬเกยตื้น และไม่ต้องถามชาวประมง เพราะเขาก็คงไม่เข้าใจเหมือนกัน
เมื่อมาเยือนตัวเมืองภูเก็ต หนึ่งในเมนูที่ตั้งใจอยากจะกิน คือ “หมี่ฮกเกี้ยน” หมี่ผัดซอสน้ำขลุกขลิกตามสไตล์ภูเก็ต มีอยู่สองร้านที่ได้รับรางวัล The Plate มิชลินไกด์ คือ ร้านหมี่โกลา อยู่สี่แยกบางเหนียว และ ร้านหมี่ต้นโพธิ์ ตรงวงเวียนสุรินทร์
อันที่จริงร้านหมี่ต้นโพธิ์อยู่ตรงข้ามกับโรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงแรมที่พักพอดี แต่เพื่อนที่เป็นคนภูเก็ตแท้ๆ แนะนำให้มาร้านหมี่โกลา ประมาณ 11 โมงเช้า หลังเช็กเอาท์จึงเดินเท้าไปที่ร้าน ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 450 เมตร
มาถึงที่ร้าน พบว่ายังไม่เปิด ถามคนที่อยู่ในร้านว่าเปิดหรือยัง ทางร้านตอบว่า “เปิด 11 โมงครึ่งค่า” เราจึงออกไปเดินเล่นที่โรบินสัน โอเชียน ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของถนน ฆ่าเวลาไปพลางๆ กระทั่งได้เวลา 11 โมงครึ่งจึงกลับเข้ามาที่ร้านอีกครั้ง
โชคดีมาถึงที่ร้านเร็ว เจ้าของร้านอย่าง “โกน้อง” หลานของโกลาเปรยว่า กุ้งใกล้จะหมดแล้ว พร้อมกับชูถาดใส่กุ้งสดให้ดูซึ่งเหลือไม่เยอะมาก เราสั่งเมนูที่แนะนำ คือ “หมี่หุ้นหมี่ใส่ไข่” (60 บาท) เป็นเส้นหมี่เหลืองกับหมี่หุ้นผัดผสมกัน
ในจานประกอบด้วย หมู ปลาหมึก ฮือก๊วย (ปลาเส้น) ผักกวางตุ้ง โรยหน้าด้วยไข่ น้ำซอสสีดำผัดแบบขลุกขลิก เอกลักษณ์ของที่นี่ยังคงใช้เตาถ่าน ให้กลิ่นกระทะที่หอม มีเครื่องเคียงคือหอมแดง ก่อนกินคลุกเส้นกับเครื่องให้เข้ากันก่อน
รสชาติของหมี่หุ้นหมี่ใส่ไข่ที่นี่ไม่ผิดหวัง น้ำซอสคลุกกับไข่ ผักกวางตุ้ง และหมี่หุ้น ให้ความรู้สึกละมุนลิ้น ไม่เค็มปี๋ ปลาหมึกสด อาจเป็นเพราะโชคดีที่มาถึงตั้งแต่ร้านเปิดใหม่ๆ นอกจากจะรอไม่นานแล้ว ยังคงได้กลิ่นหอมของกระทะอยู่
คำกล่าวที่ระบุว่า “อยากกินของอร่อยต้องใจเย็นๆ” ยังคงใช้ได้ดีเสมอ แม้การกินยุคนี้จะนิยมสั่งดีลิเวอรีก็ตาม
อีกความตั้งใจที่จะมาเยือนจังหวัดภูเก็ต หนึ่งในนั้นคือการชม สตรีทอาร์ต พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ตรงถนนดีบุก บริเวณสี่แยกลกเทียน ซึ่งวาดขึ้นหลังรัชกาลที่ ๙ สวรรคต
พร้อมอัญเชิญพระบรมราโชวาท ความว่า “ความสามัคคีนั้น หมายถึงว่ามีสิ่งใดที่อาจขัดแย้งซึ่งกันและกันบ้าง ก็ต้องปรองดองกันเสีย และหาทางออกโดยที่ไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้งกัน พระความสามัคคีเป็นกำลังอันสูงสูงสุดของหมู่ชน”
สตรีทอาร์ตนี้ เป็นผลงานของทีมงาน 4 studio นำโดย คุณชนิดา ราชานาค วาดแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2559 แม้ผ่านไป 3-4 ปี ข้อความอาจจะดูเลือนลางไปบ้าง แต่ก็ยังคงความสวยงาม ให้นักท่องเที่ยวต่างเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก
นอกจากนี้ บริเวณใกล้เคียงยังมีผลงานสตรีทอาร์ตพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ ๙ อยู่อีก 2 จุด คือ ด้านข้างร้านฟลามิงโก ฝั่งตรงข้าม และ และด้านข้างร้านขายของฝาก ติดกับร้านเก๋าลัด ถนนเยาวราช
ทีแรกจะมาถ่ายรูปตั้งแต่เมื่อคืน เพราะแอร์พอร์ตบัสผ่านบริเวณนี้ เปิดไฟสปอตไลท์ชัดเจน แต่ตอนนั้นร่างกายอ่อนเพลีย กลับมาอีกครั้งวันรุ่งขึ้นปรากฏว่าตอนเดินเท้ามาถึงถนนกระบี่ ฝนตกหนักมาก ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด
กระทั่งมาถึงฝั่งตรงข้ามสตรีทอาร์ต ฝนก็ยังไม่หยุดตก จึงใช้ไม้เซลฟี่เก็บภาพ แล้ววิ่งไปหลบฝนที่ร้านลกเทียน ปรากฎว่าระหว่างสั่งอาหารฝนหยุดตกเฉยเลย จึงต้องกลับมาถ่ายภาพแก้มืออีกครั้ง ตอนนั้นนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาเยอะขึ้น
ความรักความศรัทธาห้ามกันไม่ได้หรอก ต่อให้มีคนทำลายมากมายเท่าไหร่ก็ตาม
แม้ขาไปจะเดินทางด้วยเครื่องบิน แต่ขากลับซึ่งเป็นวันอาทิตย์ ตั๋วเครื่องบินแพงระยับ ทางเดียวที่พอจะเป็นไปได้ คือ นั่งรถทัวร์กลับกรุงเทพฯ ถ้าบ้านใครอยู่โซนพระราม 2 สามารถขอลงรถกลางทางที่มหาชัย หรือแสมดำ แล้วต่อแท็กซี่เข้าบ้านได้
เราตัดสินใจเลือกใช้บริการ บขส. แบบ ม.1 ข ค่าโดยสาร 637 บาท สามารถซื้อตั๋วได้ผ่านเซเว่นอีเลฟเว่น หรือแอปพลิเคชัน Counter Service ชำระผ่านบัตรเครดิต (ค่าบริการ 15 บาท) แล้วไปพิมพ์ตั๋วกระดาษที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นได้เช่นกัน
ทีแรกอยากจะอาบน้ำก่อนขึ้นรถทัวร์ เพื่อที่จะได้หลับสบาย เพราะต้องนั่งรถนานกว่า 14 ชั่วโมง แต่พบว่าในภูเก็ตไม่มีห้องอาบน้ำสาธารณะให้บริการ เลยใช้วิธีเข้าห้องน้ำ ถอดเสื้อ นำทิชชู่เปียกเช็ดให้ทั่วตัว เพื่อไล่ความร้อนในร่างกายออกไป
พอนั่งแกร็บไบค์มาถึงสถานีขนส่งผู้โดยสารภูเก็ตแห่งที่ 2 (ขนส่งใหม่) ลองดูห้องน้ำทีละห้อง ปรากฎว่าห้องสุดท้ายมีฝักบัวอาบน้ำ เราถามแม่บ้านว่า ห้องอาบน้ำใช้ได้ไหม แม่บ้านบอกว่าใช้ได้ ถามว่าคิดเท่าไหร่ แม่บ้านบอกว่า “ไม่เสียเงิน”
ตัดสินใจหยิบทรัพย์สินมีค่า เสื้อผ้าที่จะเปลี่ยน ผ้าเช็ดตัว ถุงใส่แชมพู ครีมอาบน้ำ เข้าไปอาบน้ำทันที ต้องขอบคุณทาง อบจ.ภูเก็ต เจ้าของสถานีขนส่งแห่งนี้ ที่มีห้องอาบน้ำไว้ให้ และอยากให้มีห้องอาบน้ำแบบนี้ไว้ตามสถานีขนส่งต่างๆ
รถออกจาก บขส.ภูเก็ต 18.30 น. แวะรับผู้โดยสารที่ อ.ถลาง และพังงา ตามแต่ที่ผู้โดยสารจองตั๋วไว้ ผ่านไป 3 ชั่วโมงเศษๆ แวะรับประทานอาหารที่ร้านวังกุ้ง จ.สุราษฎร์ธานี เวลา 21.50 น. ก่อนจะนั่งต่อไปยาวๆ ถึงมหาชัยประมาณ 06.20 น.
ปัจจุบันเส้นทางจากกรุงเทพฯ สู่ภูเก็ตเป็นถนน 4 เลนเกือบทั้งสาย ยังพอทำความเร็วได้ เทียบกับสมัยก่อนบางช่วงเป็นถนน 2 เลนสวนทาง กว่า 12 ชั่วโมงจากภูเก็ตถึงบ้าน แม้การเปลี่ยนที่นอนอาจจะไม่ได้สบายนัก แต่ก็ถือว่าได้ประสบการณ์อีกแบบ
แม้การมาเยือนภูเก็ตครั้งนี้มีเวลาอันสั้น แต่ความเปลี่ยนแปลงในยุคนิวนอร์มัล อาจจะได้เห็นภูเก็ตอีกมุมหนึ่งที่พอจะลบภาพในอดีตว่าของแพง เน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังมีมุมหนึ่งที่รอคอยคนไทยแท้ๆ เข้ามาสัมผัส และมาเที่ยวให้หายคิดถึง