xs
xsm
sm
md
lg

“ทางหลวงหมายเลข 11” อินทร์บุรี-เชียงใหม่ อัปเกรด 4 เลนสู่ภาคเหนือ

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ถนนอินทร์บุรี-เชียงใหม่ หลายคนอาจจะฟังแล้วไม่คุ้นหูนัก เมื่อเทียบกับถนนพหลโยธิน หรือถนนสายเอเชีย แต่ในระบบสารสนเทศโครงข่ายทางหลวง คือ “ทางหลวงหมายเลข 11” ระยะทาง 564 กิโลเมตร

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่ทางแยกต่างระดับอินทร์บุรี ถนนสายเอเชีย กม.106 จ.สิงห์บุรี พาดผ่าน 9 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ สิ้นสุดที่กองบิน 41 อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่

ถือเป็นถนนที่มีความสำคัญ ในฐานะทางหลวงแผ่นดินสายประธานแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมระหว่างภาคกลางสู่ภาคเหนือ ปัจจุบันช่วงอินทร์บุรี-วังทอง มีปริมาณการจราจร 6-7 พันคันต่อวัน และช่วงสี่แยกอินโดจีน-เด่นชัย สูงถึง 1.3 หมื่นคันต่อวัน

ถนนสายนี้สร้างเมื่อใดไม่แน่ชัด แต่ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ลำปาง-เชียงใหม่ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2512 ส่วนช่วงตั้งแต่อินทร์บุรี-ตากฟ้า-เขาทราย-สากเหล็ก-วังทอง น่าจะเกิดขึ้นหลังเปิดใช้ถนนสายเอเชีย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2515

สมัยก่อนจากกรุงเทพฯ สู่เชียงใหม่ นอกจากการคมนาคมขนส่งทางเรือแล้ว ยังมีทางรถไฟที่เปิดเดินรถถึงสถานีเชียงใหม่เมื่อปี 2469 แต่การก่อสร้างถนนเกิดขึ้นสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่รถยนต์เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ถนนพหลโยธินลาดยางไปถึงแค่ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรีเท่านั้น นอกนั้นส่วนใหญ่เป็นถนนลูกรัง การเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ ต้องค้างคืนที่ จ.นครสวรรค์ 1 คืน และ จ.ตาก อีก 1 คืน แล้วใช้เส้นเถิน-ลี้-บ้านโฮ่ง-ป่าซาง-ลำพูน

กระทั่งมีการก่อสร้างถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ลำปาง-เชียงใหม่ แล้วเสร็จในปี 2512 ตามมาด้วยการเปิดใช้ถนนสายเอเชีย บางปะอิน-นครสวรรค์ และการก่อสร้างถนนพหลโยธิน ให้เป็นถนนลาดยางตลอดสาย จึงปรากฎถนนอีกหลายสายตามมา


ทางหลวงหมายเลข 11 แบ่งออกเป็น ช่วงอินทร์บุรี-วังทอง ระยะทางประมาณ 211 กิโลเมตร ถัดมา ช่วงพิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย จากสี่แยกอินโดจีนถึงสามแยกปางเคาะ อ.เด่นชัย จ.แพร่ ระยะทาง 158 กิโลเมตร

ช่วงเด่นชัย-ลำปาง สิ้นสุดที่แยกป่าขาม ตัวเมืองลำปาง ระยะทาง 75 กิโลเมตร เรียกว่า ถนนวชิราวุธดำเนิน และช่วงสี่แยกภาคเหนือ ถึงกองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 102 กิโลเมตร เรียกกันว่า ถนนซูเปอร์ไฮเวย์

มีบทบาทสำคัญในด้านการคมนาคมขนส่ง เพราะเป็นเส้นทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดภาคเหนือฝั่งตะวันตก เช่น อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย และ สปป.ลาว รวมทั้งแบ่งเบาการจราจรถนนพหลโยธิน ที่ไปทางกำแพงเพชร ตาก และลำปาง

รถประจำทางบางเส้นทาง ก็ใช้ทางหลวงหมายเลข 11 ไปทางจังหวัดพิษณุโลก ลำปาง และเชียงใหม่เช่นกัน

จากสี่แยกอินโดจีน ผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ จะถึงสามแยกปากจั๊วะ อ.เด่นชัย จ.แพร่ ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปจังหวัดลำปาง ถึงแยกดอยพระบาท เลี้ยวซ้ายไปตามทางเลี่ยงเมือง ผ่านสี่แยกภาคเหนือ เข้าสู่ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ไปยังลำพูน และเชียงใหม่


หากเลี้ยวขวา เข้าสู่ ถนนยันตรกิจโกศล จะผ่านจังหวัดแพร่ ตรงไปถึง อ.ร้องกวาง ถึงสี่แยกร้องเข็ม ถ้าเลี้ยวซ้าย จะไปออกถนนพหลโยธินที่แยกบ้านเป๊าะ อ.งาว จ.ลำปาง ไปพะเยา เชียงราย ด่านแม่สายไปเมียนมา ด่านเชียงของไป สปป.ลาว

แต่ถ้าตรงไป จะผ่านจังหวัดน่าน เมืองรองที่กำลังมาแรงในขณะนี้ แล้วสิ้นสุดที่ด่านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ ไปยัง สปป.ลาว สู่เมืองมรดกโลกยอดนิยมอย่างนครหลวงพระบาง ก่อนหน้านี้ก็มีรถโดยสารประจำทางระหว่างประเทศให้บริการ

ปัจจุบันถนนช่วงสี่แยกอินโดจีน ถึง อ.เด่นชัย เป็นถนน 4 ช่องจราจร สามารถทำความเร็วได้สบาย แม้จะมีจุดอันตรายอย่างเขาพลึง จุดสูงสุดและเหนือสุดยอดของจังหวัดอุตรดิตถ์ก่อนเข้าจังหวัดแพร่ก็ตาม

โดยเฉพาะ สี่แยกอินโดจีน ที่รับรถมาจากจังหวัดนครสวรรค์ โดยไม่เข้าเมืองพิษณุโลก ได้ปรับปรุงจากสี่แยกไฟแดงให้กลายเป็นวงเวียนต่างระดับ พร้อมสะพานตามแนวถนนพิษณุโลก-หล่มสัก เปิดการจราจรเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา

ภาพจาก MGR Online VDO
จากที่เคยคุยกับโชเฟอร์รถแท็กซี่ในจังหวัดพิษณุโลกรายหนึ่ง ระหว่างเดินทางจากตัวเมืองไปยังสถานีขนส่งพิษณุโลกแห่งที่ 2 เล่าให้ฟังว่า เดิมสี่แยกอินโดจีนการจราจรติดขัด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลรถจะติดแถวยาวประมาณ 3-4 กิโลเมตร

แต่หลังจากวงเวียนสี่แยกอินโดจีนก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดการจราจรในช่วงปลายปี 2562 พบว่าช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมารถไม่ติดอีกเลย และเมื่อบริเวณเกาะกลางถูกเว้นไว้กว้างขวาง ในอนาคตอาจจะมีการก่อสร้างทางลอดเพิ่มอีก

ปัจจุบัน จังหวัดพิษณุโลกถูกวางให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งมีทางหลวงหมายเลข 12 (แม่สอด-มุกดาหาร) ที่จัดให้เป็นถนนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) จากฝั่งเมียนมา ถึงเมืองดานังของเวียดนาม

เมื่อมาถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ แม้จะต้องเจอแยกไฟแดงบ่อยครั้ง แต่ก็มีโครงการก่อสร้าง ทางลอดแยกวังสีสูบ พร้อมวงเวียนบริเวณด้านบน ซึ่งมีเส้นทางอุตรดิตถ์-เขื่อนสิริกิติ์ตัดผ่าน ก่อนหน้านี้ได้เปิดการจราจรชั่วคราวในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563


นอกจากนี้ บริเวณ สี่แยกแม่แขม อ.ลอง จ.แพร่ ก็กำลังก่อสร้างทางแยกต่างระดับ ข้ามถนนแพร่-ลอง-วังชิ้น เพื่อปรับปรุงจุดตัดอันตรายซึ่งเป็นทางขึ้น-ลงเขา และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น

มาถึงจังหวัดลำปาง เรียกว่า ถนนวชิราวุธดำเนิน เดิมเป็นช่วงทางขึ้น-ลงเขาที่มีเขตทางแคบ ที่ผ่านมาก็พยายามขยายช่องจราจรให้รองรับรถได้มากที่สุด ขณะนี้มีการขยายคันทางเดิม ช่วงปางเคาะ-ปางมะโอ ระยะทาง 1.3 กิโลเมตร

จากนั้นจะถึงแยกดอยพระบาท จะมีทางเลี่ยงเมืองลำปาง (ทางหลวงหมายเลข 127) ขณะนี้กำลังขยายออกเป็น 4 ช่องจราจร มุ่งหน้าสู่สี่แยกภาคเหนือ ที่กำลังก่อสร้างเป็นสะพานยกระดับข้ามถนนพหลโยธิน เข้าสู่ ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ไปลำพูนและเชียงใหม่

นอกจากจะเป็นถนนอย่างดีขนาด 4 ช่องจราจรแล้ว ช่วงสามแยกดอยติ จ.ลำพูน ถึงทางแยกต่างระดับดอนจั่น จ.เชียงใหม่ ได้ขยายเป็น 6 ช่องจราจร พร้อมสะพานข้ามแยกอีก 4 แห่ง ได้แก่ แยกเหมืองง่า แยกป่าเส้า แยกป่าแดด และแยกสารภี

เมื่อเข้าสู่เขตตัวเมืองเชียงใหม่ จะต้องลอดอุโมงค์ 4 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์แยกหนองประทีป อุโมงค์แยกศาลเด็ก อุโมงค์แยกฟ้าฮ่าม ข้ามสะพานซูเปอร์ไฮเวย์ อุโมงค์แยกข่วงสิงห์ ก่อนถึงสี่แยกรินคำ ผ่านถนนนิมมานเหมินท์ ถึงแยกกองบิน 41

ภาพจาก แขวงทางหลวงนครสวรรค์ที่ 2 ตากฟ้า
ก่อนหน้านี้ทางหลวงหมายเลข 11 ช่วงอินทร์บุรี-สากเหล็ก จ.พิจิตร จะเป็นถนน 2 ช่องจราจรสวนทาง มีสภาพชำรุดมานับสิบปี เนื่องจากมีรถบรรทุกใช้เส้นทางนี้จำนวนมาก แต่ในขณะนี้กำลังจะพัฒนาให้กลายเป็นถนน 4 ช่องจราจร

เริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่ทางแยกต่างระดับอินทร์บุรี ถึงบ้านหนองบัวทอง อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ระยะทาง 28 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน งบประมาณ 2,291.67 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

อีกช่วงหนึ่ง จาก อ.ทับคล้อ ถึง อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร ระยะทาง 30.9 กิโลเมตร ในปีงบประมาณ 2563 ตั้งงบไว้ที่ 1,430 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอสำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมของราคา ก่อนลงมือก่อสร้างได้เร็วๆ นี้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการช่วงเด่นชัย-ลำปาง ตอน สามแยกเด่นชัย ถึงสามแยกปางเคาะ (ทางหลวงหมายเลข 101 ศรีสัชนาลัย-แพร่) จะขยายเป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 14.6 กิโลเมตร งบประมาณ 750 ล้านบาท กำลังรอลงนามในสัญญา

ยังคงเหลือถนนเพียงบางช่วงที่ยังเป็นถนน 2 ช่องจราจรสวนทาง เนื่องจากต้องรองบประมาณก่อสร้างเพิ่มเติม เว้นแต่ช่วงแยกปางเคาะ-บ่อเหล็กลอง จ.แพร่ ซึ่งเป็นทางขึ้น-ลงเขา และเขตทางแคบ จึงต้องทำความเร็วแบบค่อยเป็นค่อยไป

ในอนาคตอันใกล้ ทางหลวงหมายเลข 11 จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งมุ่งหน้าสู่ภาคเหนือ ไม่ต้องผ่านตัวเมืองนครสวรรค์ ซึ่งการจราจรหนาแน่นในช่วงเทศกาล อีกทั้งยังแบ่งเบาการจราจรบนถนนพหลโยธิน ไปยังจังหวัดเชียงรายได้อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น