กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 19 มิถุนายน 2563 สำหรับโครงการสยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต (Siam Premium Outlet) ศูนย์การค้าแห่งใหม่ย่านลาดกระบัง ของกลุ่มสยามพิวรรธน์ ร่วมทุนกับไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป จากสหรัฐอเมริกา
โครงการนี้ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท บนที่ดิน 150 ไร่ ริมถนนมอเตอร์เวย์ (กรุงเทพฯ-ชลบุรี) แต่ทางเข้าจริงอยู่ที่ถนนหลวงแพ่ง เส้นทางจากเขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ไปออกถนนสิริโสธร (ฉะเชิงเทรา-บางปะกง) ที่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา
ทราบว่าตัวโครงการแล้วเสร็จไปเมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา แต่ต้องเลื่อนเปิดให้บริการเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ภายหลังสถานการณ์คลี่คลาย อีกทั้งกลุ่มไซม่อนต้องการให้เปิดบริการโดยเร็ว จึงได้ถือโอกาสเปิดในช่วงดังกล่าว
แต่กว่าจะเปิดให้นักช้อปเข้าไปจับจ่ายซื้อของได้ ก็ต้องปรับแผนการตลาดและกลุ่มเป้าหมายใหม่พอสมควร เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยยังคงปิดน่านฟ้า ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะ “นักท่องเที่ยวจีน” ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักหายไป
จึงต้องหันมาเน้นคนไทยและชาวต่างชาติที่อยู่ในไทยมากถึง 80% จากพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีประชากรมากกว่า 12 ล้านคน และจังหวัดใกล้เคียง เช่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ส่วนชาวต่างชาติที่มาทำงานและนักท่องเที่ยวเหลืออยู่ประมาณ 20%
ธุรกิจเอาท์เล็ตในเมืองไทยมีมาตั้งแต่ปี 2543 หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เมื่อผู้ผลิตเสื้อผ้า “ฟลายนาว” (Fly Now) ใช้โรงงานที่จังหวัดเพชรบุรีจำหน่ายสินค้าในสต็อกของตัวเอง กระทั่งเริ่มทำธุรกิจค้าปลีกชื่อว่า “เอฟเอ็น เอาท์เล็ต” (FN Outlet)
โดยเปิดสาขาที่ 2 จังหวัดกาญจนบุรีในปี 2546 แล้วค่อยๆ ขยายสาขาไปเรื่อยๆ ตามจังหวัดท่องเที่ยวต่างๆ ปัจจุบันมี 11 สาขาทั่วประเทศ จำหน่ายเสื้อผ้า เครื่องนอน สินค้าภายในบ้าน เครื่องประดับ ของขวัญ
ต่อมาในปี 2544 กลุ่มพีน่า กรุ๊ป เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ของที่ระลึกกว่า 10 แบรนด์ เปิด “พรีเมียม เอาท์เล็ต” (Premium Outlet) สาขาแรกที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี บนพื้นที่ 25 ไร่ ริมถนนสุขุมวิท บริเวณสามแยกเทพประสิทธิ์ พัทยาใต้
กระทั่งในปี 2548 ได้ขยายสาขามาที่ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ และขยายสาขาตามจังหวัดท่องเที่ยวต่างๆ ปัจจุบันมีทั้งหมด 9 สาขาทั่วประเทศ และยังเป็นเจ้าของเดียวกับสวนน้ำซานโตรินี พาร์ค ที่อยู่ใกล้กับสาขาชะอำอีกด้วย
ธุรกิจเอาท์เล็ตทั้งสองกลุ่มมีรายได้มากกว่า 1 พันล้านบาท ในปี 2561 เอาท์เล็ท มอลล์ เจ้าของพรีเมียม เอาท์เล็ต มีรายได้รวมมากถึง 1,924.30 ล้านบาท ส่วน บมจ.เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท มีรายได้จากการขายสุทธิ 1,057.38 ล้านบาท
กลายเป็นช่องที่ธุรกิจศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่ ให้ความสนใจทำธุรกิจเอาท์เล็ตเป็นของตัวเอง เริ่มจาก “กลุ่มเซ็นทรัล” ลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท เปิดโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ บนที่ดิน 100 ไร่ ริมถนนสุวรรณภูมิ 3 ไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562
โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง เซ็นทรัลพัฒนา กับ มิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย ชูความเป็น "ลักชูรี่เอาท์เล็ต" เป็นรายแรก ประกอบด้วยร้านค้าเอาท์เล็ตกว่า 135 ร้านค้า กว่า 220 แบรนด์ จับกลุ่มคนไทย 70% และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30%
ความแตกต่างระหว่างเอาท์เล็ต กับห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าในไทยก็คือ สินค้าที่จำหน่าย โดยห้างและศูนย์ฯ จะเป็นสินค้าคอลเลคชันใหม่ และรุ่นที่จำหน่ายในปัจจุบัน ปกติจะลดเพียง 20-30% แต่ถ้าลดเยอะก็แล้วแต่โปรโมชันของห้างฯ
สำหรับเอาท์เล็ตในธุรกิจค้าปลีก คือสินค้าที่ตกรุ่นหรือหมดฤดูกาลไปแล้ว แต่ภายนอกยังมีสภาพดี นำมาขายในราคาส่วนลด 35-70% สินค้าบางตัวอาจมีตำหนิบ้างเล็กน้อยจากการเวียนขาย หรือเวียนโชว์ในห้างฯ และศูนย์การค้า
แต่ไม่ใช่ว่าสินค้าในเอาท์เล็ตจะมีครบทุกสี ทุกไซส์เหมือนในห้างและศูนย์ฯ สินค้าบางรุ่นจะมีเฉพาะไซส์ที่เหลืออยู่ ไม่นับรวมสินค้าบางประเภทมีอายุในการเก็บรักษา เช่น รองเท้าที่ค้างสต็อกไว้นาน อาจจะใส่ทนน้อยกว่ารองเท้าที่เพิ่งผลิตใหม่ๆ
อีกกุศโลบายหนึ่งที่ชาวทวิตเตอร์รายหนึ่งตั้งข้อสังเกตก็คือ การที่เอาท์เล็ตไปตั้งในที่ห่างไกลจากตัวเมืองนั้น มีผลทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Sunk Cost (ต้นทุนจม) เพราะผู้บริโภคจะคิดว่า อุตส่าห์เดินทางมาตั้งไกล จะต้องได้อะไรติดมือกลับไปบ้าง
ทั้งที่จริงสินค้าที่ติดไม้ติดมืออาจจะไม่ได้เป็นสินค้าที่เราถูกใจมากที่สุด เพียงแต่เห็นว่าถูกเงินก็เลยซื้อ เมื่อบวกค่าเสียเวลาขับรถไปไกลๆ เสียค่าน้ำมันรถ เทียบกับห้างหรือศูนย์ฯ ถือว่าพอๆ กัน ยกเว้นคนที่มีบ้านอยู่ใกล้ห้างฯ ยังถือว่าโชคดี
ถึงกระนั้น ทำเลที่ตั้งทั้งเซ็นทรัล วิลเลจ และสยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต อยู่ใกล้กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กุศโลบายนี้อาจไม่ใช่เสมอไป เพราะทั้งสองค่ายก็เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และต่างก็จะมีโครงการโรงแรมเกิดขึ้นในอนาคต
อาจมีคนสงสัยว่า ทำไมสยามพิวรรธน์ถึงตัดสินใจเลือกทำเลไกลถึงมอเตอร์เวย์ ไปทางบางเสาธง จ.สมุทรปราการ ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ เทียบกับคู่แข่งยังไปเปิดตรงปากทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
เดิมผู้เขียนก็สงสัย แต่เมื่อตัดสินใจไปเยี่ยมชมด้วยตัวเอง พบว่า "ถนนหลวงแพ่ง" มันไม่ได้ทุรกันดารขนาดนั้น เพราะยังมีชุมชน โรงงานขนาดย่อมเกิดขึ้นอยู่ ใกล้กันยังเป็นพิพิธภัณฑ์งู ลาดกระบัง และห้างพีที แกลอเรีย เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน
เท่าที่ถามคนขับรถรับ-ส่งลูกค้า ก็เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนยังเป็นทุ่งและเรือกสวนไร่นา แต่เมื่อมีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ราคาที่ดินก็แพงขึ้น คนธรรมดาแทบจะซื้อไม่ได้แล้ว แถมมีชุมชนเกิดขึ้นมาใหม่ อย่างตลาดเทิดไท ย่านวัดราชโกษา
อีกข้อสังเกตหนึ่งก็คือ ในอนาคตอีก 10-20 ปีข้างหน้า จะมี โครงการถนนวงแหวนรอบนอก รอบที่ 3 หรือ มอเตอร์เวย์หมายเลข 91 (ฝั่งตะวันออก) โดยมีต้นทางจาก อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา สิ้นสุดที่ถนนเทพรัตน (บางนา-ตราด) กม.23-24
โดยโครงการทางแยกต่างระดับถนนมอเตอร์เวย์ (กรุงเทพฯ-ชลบุรี) กับถนนวงแหวนรอบนอก รอบที่ 3 จะอยู่ก่อนถึงสะพานข้ามคลองพระยาเพชร กม.24 ปรากฎว่า สยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต อยู่ใกล้กับทางแยกต่างระดับแห่งนี้เพียง 1 กิโลเมตร
ในอนาคตนักท่องเที่ยวที่มาจากอยุธยา เขาใหญ่ ไม่ต้องใช้วงแหวนกาญจนาภิเษก แต่ใช้วงแหวนรอบสาม อ้อมกรุงเทพฯ มาถึงตรงนี้เลย ส่วนคนที่มาจากพัทยา ระยอง ก็วนเข้ามาทางถนนหลวงแพ่งก็ได้
ถ้าเป็นแบบนั้นจริงถือว่ามองการณ์ไกล เหลือแต่รัฐบาลจะผลักดันมอเตอร์เวย์สายนี้ให้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?
เท่าที่ไปสัมผัส "สยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต" ในช่วงเปิดให้บริการสองวันแรกด้วยตัวเอง โชคดีที่ใช้วิธีนั่งรถรับ-ส่งฟรี จากแอร์พอร์ตลิงก์ มักกะสัน เพราะเมื่อไปถึงจริงๆ นักช้อปจากทุกสารทิศหลั่งไหลมาที่นี่ กระทั่งที่จอดรถ 1,500 คันเต็มหมด
รถรับ-ส่งไปสยาม พรีเมียม เอาท์เล็ท มีเพียงจุดเดียว คือ สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ มักกะสัน และต้องไปรอบริเวณใต้อาคารผู้โดยสาร (ทางออก 1) แม้จะรองรับลูกค้าได้ทั้งจากแอร์พอร์ตลิงก์ และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT สถานีเพชรบุรีก็ตาม
มีเสียงเรียกร้องมาว่า น่าจะมีรถรับ-ส่งที่สถานีแอร์พอร์ต ลิงก์ ลาดกระบัง เพิ่มอีกหนึ่งจุด รองรับคนที่มาจากลาดกระบัง บางนา และสุวรรณภูมิ แต่ผู้เขียนเคยไปใช้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ ลาดกระบัง สภาพจริงที่จอดรถใต้สถานีแคบมาก
นอกจากนี้ รถบัสที่นำมาใช้ยังมีขนาดเล็กเกินไป โดยเฉพาะหลัง 3 ทุ่มซึ่งเป็นเวลาห้างปิด วันนั้นผู้เขียนต้องรอนานถึง 1 ชั่วโมงกว่าจะมีรถเสริม และด้วยระยะทางที่ไกล ใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง กว่าจะถึงแอร์พอร์ตลิงก์ มักกะสันก็ 5 ทุ่มแล้ว
ส่วนคนที่ขับรถส่วนตัว ถ้าไม่ติดว่าที่จอดรถไม่เพียงพอ ก็เดินทางมาไม่ยาก ไปทางมอเตอร์เวย์ ออกทางออกลาดกระบัง เจอไฟแดงเลี้ยวขวาไปทางถนนหลวงแพ่ง กลับรถใต้สะพานคลองพระยาเพชร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปด้านในได้เลย
แต่ถ้ามาจากทางภาคตะวันออก แล้วคิดจะมาทางถนนสิริโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา จะบอกว่าอย่าเพิ่งมาช่วงนี้ เพราะถนน 4 เลนยังก่อสร้างไม่เสร็จ แนะนำให้มาทางมอเตอร์เวย์ จ่ายเงินที่ด่านลาดกระบัง แล้วออกทางถนนหลวงแพ่งจะดีกว่า
. คนที่มาโดยรถเมล์ ที่นี่มีแค่รถสองแถวสีขาว สายลาดกระบัง-ตลาดเทิดไท คนละ 8 บาท แล้วต้องเดินเข้าไปด้านใน ตามถนนคอนกรีตประมาณ 1.5 กิโลเมตร รอยต่อระหว่าง กทม.-สมุทรปราการ เรียกว่าเดินกันให้ขาลากกว่าจะมาถึงที่นี่
นานมาแล้ว รถประจำทาง ขสมก. สาย 517 หมอชิตใหม่-ลาดกระบัง ซึ่งเป็นรถเมล์หวานเย็น เคยขยายเส้นทางไปตลาดเทิดไทอยู่พักหนึ่ง แต่ตอนหลังได้ล้มเลิกไป ปัจจุบันท่ารถอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
หากไม่นับรวมเรื่องรถรับ-ส่งและที่จอดรถ บอกได้คำเดียวว่าทุกอย่างเตรียมการมาดี สิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนห้างฯ ทั่วไป คนที่ไม่ได้กดเงินมาไม่ต้องห่วง มีตู้เอทีเอ็มจากธนาคารชั้นนำให้บริการ และหลายร้านค้าก็รับบัตรเครดิตอีกด้วย
ที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือสินค้ากีฬา เช่น ช้อปอาดิดาส เอาท์เล็ต (Adidas Outlet) และไนกี้ พรีเมียม รีเทล สโตร์ (Nike Premium Retail Store) ก็ถือเป็นช้อปที่ใหญ่ที่สุด กว่า 1,300 ตารางเมตร แต่ก็ต้องต่อคิวกว่าจะให้เข้าไปข้างในได้
สังเกตเห็นคนที่เดินทางกลับ มักจะหอบถุงไนกี้ กับถุงอาดิดาสเยอะเป็นพิเศษ นอกนั้นก็มีแบรนด์อื่นเข้ามาบ้าง อย่างเช่น อันเดอร์อาร์เมอร์ (Under Armour) และสเกเชอร์ (Skechers) ที่เป็นช้อปใหญ่ที่สุดในไทย
ส่วนแบรนด์ชั้นนำมีทั้ง โคช (COACH) บอส (BOSS) บาเลนเซียกา (BALENCIAGA) เบอเบอรี (BURBERRY) เคท สเปรด (KATE SPADE) ซีเค (CK) อเมริกัน อีเกิล (AMERICAN EAGLE) จิม ทอมป์สัน (JIM THOMPSON)
สำหรับสาวๆ ที่ชอบเครื่องสำอางและความงาม ยังมีร้านเครื่องสำอางอย่างอีฟแอนด์บอย (EVEANDBOY) ร้านใหญ่พอสมควร นอกนั้นมีร้านวัตสัน (WATSONS) ขนาดย่อม ถ้าชอบของจุกจิกเร็วๆ นี้จะมีร้านมินิโซ เอาท์เล็ต มาเปิดอีกด้วย
ทราบมาว่า ตอนนี้มีร้านค้ามาเปิดประมาณ 65% เร็วๆ นี้จะมีร้านค้ามาเปิดเพิ่ม ได้แก่ แมงโก (MANGO) คอตตอน ออน (COTTON ON) แด๊กซ์ (DAKS) และจะมีร้านค้ามาเปิดเพิ่มเป็น 80% ภายในสิ้นปี 2563 ส่วนอีก 20% กำลังเจรจากันอยู่
เรื่องอาหารการกินมีศูนย์อาหารฟู้ดรีพับลิค แต่ร้านด้านในไม่เยอะ ราคาแอบแรงอยู่เหมือนกัน จานละ 70-80 บาท นอกนั้นก็มีร้านซับเวย์, เอสแอนด์พี, อาจิซัง, โอลิโนะ, ฮ่องกงนู้ดเดิล, สตาร์บัคส์, โคอิเตะ, คาเฟ่ อเมซอน และชาตรามือ
เร็วๆ นี้จะมีร้านเคเอฟซี, ร้านกาแฟเรด ไดมอนด์ คาเฟ่, ร้านไก่ทอดเกาหลีบอนชอน, ร้านขนมปังเบรดทอล์ค, ร้านซูชิ พลัส และด้านนอกจะมีร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น อยู่บริเวณสถานีรถรับ-ส่ง (ระหว่างทางออก A และ G)
ใครที่สนใจของแบรนด์เนมระดับพรีเมียมจริงๆ หรือต้องการเดินช้อปปิ้งที่แปลกใหม่เวลานี้ คงต้องแวะมาชมด้วยตาตัวเองสักครั้ง หลังจากนี้หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย อาจจะได้เห็นการแข่งขันของเอาท์เล็ตสองค่ายที่หนักขึ้น
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “ซื้ออย่างมีสติ” เหมือนคำพูดของเซเล็บชื่อดัง “สู่ขวัญ บูลกุล” ที่เคยกล่าวไว้ว่า ห้ามซื้อของแบรนด์เนมจนเราเดือดร้อน ลำบาก ถ้ามีงบประมาณจำกัด ให้คิดเลยว่าอยากได้อะไรมากที่สุด แล้วค่อยๆ ซื้อจะดีกว่า
การเดินทางมายัง "สยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต"
- ศูนย์การค้าเปิด 10.00-21.00 น. ทุกวัน
- รถส่วนตัว มาตามถนนมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา) ออกที่ทางออกลาดกระบัง (ถนนอ่อนนุช) เลี้ยวขวาไปตามถนนหลวงแพ่ง ผ่านฝั่งตรงข้ามศูนย์ฯ ที่มีรถเยอะๆ ให้ชิดซ้ายกลับรถใต้สะพานข้ามคลองพระยาพาน แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าโครงการประมาณ 1 กิโลเมตร มีที่จอดรถประมาณ 1,500 คัน
- รถรับ-ส่งฟรี (แนะนำ) จากสถานีแอร์พอร์ต ลิงก์ มักกะสัน ถ้ามาจากสกายวอล์ก เชื่อมสถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที เพชรบุรี ให้เดินผ่านสถานีเข้าไปด้านในอาคารผู้โดยสาร (ร้าง) แล้วลงบันไดเลื่อนไปที่ด้านล่าง รอที่ป้ายหยุดรถประจำทางเล็กๆ รถรับ-ส่งจะเขียนป้ายว่า "Siam Premium Outlet" จะมารับตรงจุดนั้น
จากสถานีแอร์พอร์ต ลิงก์ มักกะสัน ไปสยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต ใช้เวลาประมาณ 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจรบนถนนมอเตอร์เวย์) รถออกเที่ยวแรก 07.30 และ 08.30 น. (จะมีแต่พนักงาน) เที่ยวสุดท้าย 19.00 น. ขากลับรอที่บริเวณที่รอรถบัสด้านนอก ระหว่างทางเข้า A และ G เที่ยวสุดท้าย 22.30 น.