กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องฮือฮาในแวดวงกระบวนการยุติธรรม เมื่อมีศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงรายหนึ่ง สอบติดผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำปี 2562 อันดับ 1 ของประเทศ ด้วยอายุเพียงแค่ 25 ปี
หากย้อนเส้นทางชีวิตการเรียน เริ่มตั้งแต่อายุ 15 ปี เขาได้สมัครเรียน “ระบบพรีดีกรี (Pre-Degree)” ซึ่งเป็นระบบการศึกษาแบบรายกระบวนวิชาเพื่อเตรียมศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรามคำแหง มาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
เขาเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ไปพร้อมๆ กับเรียนและสอบในวิชาหลักสูตรปริญญาตรี เหมือนนักศึกษารุ่นพี่ไปพร้อมกัน ผ่านไป 3 ปี เขาสามารถเก็บหน่วยกิตได้มากถึง 120 หน่วยกิต
เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ได้สมัครเข้าเรียนต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รหัส 55) และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงพร้อมกัน ก็ใช้วิธีเทียบโอนหน่วยกิตที่เคยเรียนพรีดีกรีเอาไว้
ปรากฎว่า ผ่านไปเพียง 1 ปี ก็คว้าดีกรีนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาตรีใบแรก
จากนั้นได้สมัครเรียนเนติบัณฑิต โดยใช้วุฒิปริญญาตรีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ใช้เวลาเรียนประมาณ 1 ปี จึงจบเนติบัณฑิตด้วยอายุ 20 ปี สอบได้ลำดับที่ 3 จากผู้เข้าสอบทั้งประเทศ
ภายหลังจึงจบปริญญาตรีใบที่สอง นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับสอง
เมื่อถึงอายุ 25 ปี ตามระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เขาได้เข้าสอบสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่น 73 สามารถสอบติดผู้ช่วยผู้พิพากษา และมีคะแนนสูงเป็นอันดับที่ 1 จากจำนวน 171 ราย
ถือว่าเป็นการเริ่มเส้นทางในอาชีพผู้พิพากษาเร็วกว่าคนอื่น ที่กว่าจะถึงจุดนี้ได้ส่วนใหญ่ก็อายุ 30 ปีขึ้นไป
แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นที่น่าชื่นชมยินดี ที่ว่าที่ผู้ช่วยผู้พิพากษารายนี้สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยรามคำแหง และชูข้อดีของการเรียนพรีดีกรี ที่สามารถเลือกเรียนในสาขาวิชาที่ตนเองชื่นชอบได้
แต่เรื่องที่บรรดานักกฎหมาย รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยบางแห่ง แสดงความเป็นห่วง นอกเหนือจากระบบพรีดีกรีก็ คือ การเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาด้วยอายุ 25 ปี ถือว่าเร็วเกินไปหรือไม่?
เท่าที่อ่านดรามาในโซเชียล คือ ไม่รู้ว่าเคยทำงานสายกฎหมายมาก่อนหรือเปล่า ทราบปัญหาสังคมหรือข้อเท็จจริงนั้นๆ หรือไม่ และเวลาทำงานจริงจะเข้าถึงข้อเท็จจริงในข้อพิพาทได้หรือไม่?
กังวลว่า หากในสังคมมีแต่นักกฎหมายที่ใช้ “กฎหมายแบบแห้ง” แล้วขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ท้ายที่สุดนักกฎหมายที่ได้รับจะมีคุณภาพหรือไม่ และกระบวนการยุติธรรมจะมีความยุติธรรมได้อย่างไร?
อ่านสเตตตัสอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กล่าวว่า การเรียนพรีดีกรี เก็บหน่วยกิตช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย จะขัดต่อมาตรฐานกระทรวงศึกษาธิการ ที่หลักสูตรนิติศาสตร์ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือไม่
และตั้งคำถามว่า ประเทศไทยต้องการเร่งผลิตนักกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงความสำคัญของความรู้รอบและห้วงเวลาในการพัฒนาคนในช่วงชั้นมัธยมปลายเช่นนั้นหรือ?
อาจารย์มหาวิทยาลัยอีกรายหนึ่งก็กังวลว่า หลักสูตรในมหาวิทยาลัยยังเรียนในห้องท่องกันไป ไม่ได้ให้ไปสัมผัสปัญหาที่แท้จริง หรือการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาชีพ ยังรับคนที่ไม่เคยทำคดีจริงด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม ยังมีมุมมองจากเพจ “กฎหมายง๊ายง่าย กับ ทนายต๊อกแต๊ก” แสดงความคิดว่า การเรียนพรีดีกรีไม่ใช่ปัญหา เป็นเพียงการเพิ่มโอกาสในช่องของปัญหาระบบการศึกษากฎหมาย
แต่ปัญหาก็คือ ระบบการศึกษากฎหมายของไทยทุกมหาวิทยาลัย รวมทั้งเนติบัณฑิตยสภา มีจุดมุ่งหมายคือ “เรียนไปเพื่อสอบ” เป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ มากกว่าการเรียนไปทำงาน เพื่อใช้กฎหมายให้เป็นวิชาชีพ
ปัญหานี้ยังต่อเนื่องไปถึงคุณสมบัติการสอบเป็นทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา พบว่าในช่วงที่สอบเป็นทนายความ ได้ฝึกงานจริงหรือไม่? เพราะมีคนใช้วิธีเอาชื่อไปฝากไว้ที่สำนักงานทนายความ ทำเป็นว่าฝึกงาน แล้วค่อยอ่านหนังสือสอบเอา
ส่วนการสอบเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ หนึ่งในคุณสมบัติคือ ต้องมีประสบการณ์ทำงานด้านกฎหมายไม่น้อยกว่า 2 ปี ถ้าเป็นทนายความต้องว่าความมาแล้วไม่น้อยกว่า 20 คดี คำถามคือได้ทำงานมาจริงหรือไม่?
เพราะมีคนใช้วิธีขอแต่งเป็น “ทนายร่วม” ในคดี แล้วให้ผู้พิพากษาลงนามว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ทนายความในคดี หรือที่เรียกกันว่า “เก็บคดี” แล้ว ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนั้นแล้วมาเน้นอ่านหนังสือสอบเอา จะเรียกว่ามีประสบการณ์จริงหรือไม่?
ปัญหาจบนิติศาสตร์ใหม่ๆ แล้วทำงานกฎหมายไม่เป็น เขาเสนอว่าให้มีสำนักงานกฎหมาย สำนักงานทนายความประจำมหาวิทยาลัย เป็นของมหาวิทยาลัย กำหนดหลักสูตร 5 ปี เรียน 4 ปี แล้วฝึกงานอีก 1 ปี
หรือไม่เช่นนั้น ก็มีสำนักงานกฎหมาย หรือสำนักงานทนายความที่มีมาตรฐาน อยู่ในความควบคุมดูแลของมหาวิทยาลัย ที่มีทนายความเป็นระดับอาจารย์ในการสอนและฝึกฝนให้ กำหนดระยะเวลาฝึก 1 ปีเต็มก็ได้
พอจบหลักสูตรแบบนี้แล้ว การสอบตั๋วทนายก็ไม่ต้องฝึกงานอีก สอบผ่านก็ได้ใบอนุญาตเลย ส่วนมหาวิทยาลัยรับงานกฎหมาย รับคดีความ ได้เงินเข้ามหาวิทยาลัย และยังช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมายได้อีกด้วย
ส่วนปัญหาสอบผู้พิพากษาหรืออัยการที่ได้คนที่อายุน้อย ขาดประสบการณ์ เขาเสนอว่าให้เป็นผู้ช่วยอย่างน้อย 5 ปี และให้ตรวจสอบประสบการณ์ทำงานอย่างเข้มข้น จริงจัง ก็จะได้คุณสมบัติครบถ้วนในการสอบ
เมื่อสอบได้แล้ว เพื่อกลั่นกรองให้มีประสบการณ์อย่างแท้จริง ก็ให้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาจากเดิม 1-2 ปี ให้เป็นอย่างน้อย 5 ปี ถึงจะให้เป็นผู้พิพากษาตัดสินคดีได้ ส่วนอัยการก็ให้เป็นอัยการผู้ช่วยอย่างน้อย 5 ปี ถึงจะให้รับผิดชอบทำคดีเองได้
ถึงกระนั้นก็มีคนเห็นแย้งว่า การบังคับให้เพิ่มหลักสูตรฝึกว่าความ 1 ปี ควรเป็นหน้าที่ของสภาทนายความมากกว่า เพราะคนที่จะไปสายงานราชการ อย่างนิติกร นักกฎหมายกฤษฎีกา พนักงานคดีปกครอง ก็ไม่ได้ใช้งานในส่วนนี้
ความกังวลถึงเรื่องประสบการณ์ในการทำงานด้านกฎหมาย เสียงสะท้อนจากบรรดานักกฎหมาย รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรับฟัง และพิจารณาทบทวนคุณสมบัติในการสอบปีต่อไปให้เข้มข้นมากขึ้น
หากเราได้นักกฎหมายที่ไร้คุณภาพ กรรมก็จะตกอยู่กับประชาชน ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง
ผู้เขียนจบจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ยอมรับกันตรงๆ ว่าระบบพรีดีกรีก็มีปัญหาอยู่ในตัว แต่ในปัญหาก็แฝงไปด้วยโอกาสทางการศึกษา คนที่จะเรียนพรีดีกรีได้นั้นจะต้องมีใจรัก และมีเป้าหมายในการศึกษาจริงๆ เพราะไม่ได้บังคับให้เรียน
ค่าหน่วยกิตสำหรับนักศึกษาพรีดีกรี ยังแพงกว่านักศึกษาปริญญาตรีภาคปกติด้วยซ้ำ แถมเวลาสมัครเรียนปริญญาตรี ยังต้องเสียค่าเทียบโอนหน่วยกิตอีกต่อหนึ่งด้วยซ้ำ เท่ากับว่าเราต้องจ่ายแพงมากกว่าเรียนปริญญาตรีภาคปกติถึง 4 เท่า
ว่าที่ผู้ช่วยผู้พิพากษาคนนี้ เรื่องการเรียนยอมรับว่าเก่งจริง ถึงขนาดเก็บหน่วยกิตตั้งแต่เรียนพรีดีกรี 120 หน่วยกิตก็ไม่ธรรมดาแล้ว แถมตอนเรียนจบนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ยังได้รับเกียรตินิยมอันดับสอง เนติบัณฑิตไทยก็เป็นที่ 3 ของรุ่น
แต่เรื่องประสบการณ์ด้านกฎหมาย โดยเฉพาะความกังวลที่ว่า สอบติดตั้งแต่อายุยังน้อยจะมีประสบการณ์เพียงพอหรือไม่ คงต้องเปิดโอกาสให้เขาได้พิสูจน์ตัวเอง และพิสูจน์ผลงานกันต่อไป