กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
“งานเกษตรแฟร์” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ถือเป็นงานแฟร์ประจำปีที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานถึง 72 ปี นับจากอดีตมีชื่อว่า “งานตลาดนัดเกษตรกลางบางเขน” จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2491
ผู้ริเริ่มงานตลาดนัดเกษตรกลางบางเขน คือ “หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ถือเป็นบิดาของการเลี้ยงไก่ไทย เจ้าของวาทะอมตะ “กินไข่วันละฟอง ไม่ต้องไปหาหมอ” ที่ทำให้เราได้รู้จักกินไข่ไก่มาถึงทุกวันนี้
ยุคนั้นประชาชนยังนิยมเที่ยวตลาดนัด หลวงสุวรรณฯ ก็เลยอยากทำตลาดนัดเช้า หวังให้คนทั่วไปได้รู้จักกิจการของมหาวิทยาลัย ในฐานะสถานศึกษาด้านการเกษตร นำผลิตผลทางการเกษตรคุณภาพดี ราคาถูกออกจำหน่าย
ทีแรก หลวงสุวรรณฯ อยากจะจัดเป็นตลาดนัดเล็กๆ เพราะสมัยก่อนย่านบางเขนยังไม่เจริญ ห่างไกลจากชุมชนมาก คนคงมาเที่ยวงานไม่มาก เลยจัดผลผลิต โดยเน้นไปที่ “มะเขือเทศ” เป็นหลัก รองรับผู้คนประมาณ 1,000 คน
แต่ผิดคาด!
ประชาชนหลั่งไหลมาตลาดนัดแห่งนี้กว่า 10 เท่า จากที่คาดการณ์ไว้ ผลก็คืออาหาร ของสด ของแห้งที่จัดเตรียมไว้ขายเท่าไหร่ก็มีไม่พอ แถมคนที่มาเที่ยวงานบางคน พอไม่ได้ของที่ต้องการก็บุกไร่บุกสวนเก็บเองตามใจชอบ
หลวงสุวรรณฯ ไม่ได้ห้ามปรามอะไร แถมยังกล่าวอีกว่า “แบบนี้ก็สนุกดี”
พอปีต่อมา หลวงสุวรรณฯ จึงจัดงานตลาดนัดขึ้นมาอีก โดยมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้นสนับสนุนงานนี้ กลายเป็น “งานประจำปีเกษตรกลางบางเขน” ที่จัดขึ้นเรื่อยมา
ก่อนจะร่วมกับกระทรวงเกษตรจัดงานใช้ชื่อว่า “งานวันเกษตรแห่งชาติ” ภายหลังกระทรวงเกษตรฯ รับไปจัดเอง สับเปลี่ยนสถานที่จัดงานระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด
ถึงกระนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานตลาดนัดเอง ใช้ชื่อว่า “เกษตรแฟร์” นับตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมา โดยที่ภายหลังกระทรวงเกษตรฯ ขอให้มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน เรื่อยมาถึงปัจจุบัน
หลายคนคงรู้จักงานเกษตรแฟร์เป็นอย่างดี แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ไม่สะดวกเดินทางมาเที่ยวงาน เช่นเดียวกับผู้เขียน เพราะย่านบางเขน และสี่แยกเกษตร ขึ้นชื่อว่ารถติดแบบวินาศสันตะโร โดยเฉพาะช่วงเช้าและช่วงเย็นหลังเลิกงาน
อานิสงส์ที่รถไฟฟ้าสายสีเขียว ทดลองเปิดให้บริการถึงสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนเดินทางมายังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ง่ายขึ้น โดยใช้เวลาน้อยลงกว่าเดิม
ส่งผลดีต่องานเกษตรแฟร์ ที่คาดว่าจะมีคนมาเที่ยวงานมากขึ้น ขนาดงานกาชาด ที่ย้ายมาจากสวนอัมพรมาที่สวนลุมพินี ทำเลใกล้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีสีลม กับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีศาลาแดง ก็มีผู้มาเที่ยวงานทะลุถึง 1 แสนคน
ในปีนี้ ผู้เขียนจึงตัดสินใจมาเยือนงานเกษตรแฟร์เป็นครั้งแรก หลังจากไม่เที่ยวงานนี้มาก่อนเลยในชีวิต ยิ่งช่วงนี้รถไฟฟ้าบีทีเอสไม่เก็บค่าโดยสารจากสถานีหมอชิต ถึงสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ยิ่งจูงใจให้มาเที่ยวงานง่ายขึ้น
โชเฟอร์มอเตอร์ไซค์รับจ้างในมหาวิทยาลัยฯ บอกกับเราว่า ปีก่อนงานเกษตรแฟร์จัดเฉพาะด้านในมหาวิทยาลัย เพื่อหลีกเลี่ยงการก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่มาปีนี้ (2563) ถึงได้จัดมาถึงด้านประตูพหลโยธิน ใหญ่กว่าทุกปี
พอย้อนกลับไปดูแผนผังการจัดงานของปีก่อนๆ พบว่าปีที่แล้วพื้นที่จัดงานเกษตรแฟร์ กินพื้นที่แค่ประตูงามวงศ์วาน 1 ไปทางทิศตะวันตก ถึงประตูวิภาวดีรังสิตเท่านั้น มาปีนี้ขยายไปถึงรอบสระพระพิรุณ หน้าหอประชุมใหญ่พหลโยธิน
น่าสังเกตว่า โซน A “ตลาดน้ำนนทรี” จากเดิมปีที่แล้วเป็นมุมเล็กๆ มาปีนี้กลายเป็นโซนไฮไลท์หลักเลยก็ว่าได้ ที่นั่นเต็มไปด้วยของกินนับร้อยร้านค้า แทบจะจำลองตลาดบก ตลาดน้ำ ตลาดโบราณ จากแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังไม่มีผิด
ส่วนโซนอื่นๆ ก็มีพื้นที่ขยับขยายมากขึ้น และร้านค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น แทบจะเรียกได้ว่าต้องเดินทั้งวันถึงจะครบทั้งงาน
จริงๆ แล้วงานเกษตรแฟร์มีกิจกรรมมากมายสำหรับคนที่ชื่นชอบการเกษตร ทั้งการแสดงผลงานนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์จากมหาวิทยาลัย การเสวนาทางวิชาการ จัดที่อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ด้านในมหาวิทยาลัย
แต่สำหรับขาช้อป สายชิม คือโอกาสทองที่จะได้ช้อป ได้ชิมของดีราคาถูกจากร้านค้าต่างๆ เหมือนมาเดินงานกาชาดไม่มีผิด แทบจะเรียกได้ว่าเป็นงานละลายทรัพย์ที่ทำเอากระเป๋าสตางค์ในมือสั่นไปไม่น้อยเหมือนกัน
สิ่งที่ชื่นชอบสำหรับงานเกษตรแฟร์อย่างหนึ่งก็คือ “ร้านอาหารนิสิต” จากคณะต่างๆ ออกร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมดนตรีสดอย่างคึกคัก แต่ละร้านต่างชูเมนูเด่นประจำคณะ ที่ใครมาเห็นเป็นต้องลองมาสั่งสักครั้ง เช่น
ประมงซีฟู้ด คณะประมง บริเวณลานหน้าอาคารเทพศาสตร์สถิตย์ มีสารพัดเมนูจากอาหารทะเลสด อย่างกุ้งแม่น้ำเผา ปลากะพงเผา หอยแครงลวก ทะเลลวกจิ้ม ต้มยำทะเลรวมมิตร หอยเชลล์ย่างเนยกระเทียม
บัสสะบัดครก (BUSZAPP) คณะบริหารธุรกิจ บริเวณตรงข้ามสหกรณ์ ประตูงามวงศ์วาน 3 ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารอีสาน โดยเฉพาะส้มตำรสแซ่บ ยำ ปิ้งย่าง ลวกจิ้ม และอาหารทานเล่น
รวงข้าว คณะเกษตร บริเวณลานจอดรถ ร้านอาหารสไตล์อีสาน กับเมนูเด็ดอย่างต้มซูเปอร์ ไก่ย่างสปาไวน์ ส้มตำ ชาบูเอ็มเค ลาบหมู ปีกไก่ทอด ใช้วัตถุดิบคุณภาพจากเบทาโกร
จิ้มจุ่มวิดยา คณะวิทยาศาสตร์ บริเวณหน้าอาคาร 45 ปี หลากหลายเมนูจิ้มจุ่ม น้ำจิ้มรสเด็ดพิเศษเฉพาะร้าน และอาหารอีสาน ยำหมูยอ คอหมูย่าง ลาบ น้ำตก ลูกชิ้น และอื่นๆ
สบายปาก คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ บริเวณลานจอดรถสนามอินทรีย์จันทร์สถิตย์ ซิกเนเจอร์ของร้านนี้คือไก่อบฟาง อาหารอีสานประเภทส้มตำ ลาบหมู ยำต่างๆ และอาหารตะวันตกอย่างสเต็กและสปาเก็ตตี้ ให้เลือกหลายเมนู
อินเดียนบาร์ คณะวนศาสตร์ บริเวณสำนักกีฬา ประตูวิภาวดีรังสิต แบ่งออกเป็นบาร์ต่างๆ เมนูเด่นที่นี่คือ ไก่ย่างอาปาเช่ เนื้อกวางนาวาโฮ กินรีล่องไพร ปลากะพงชมจันทร์ กุ้งตะลุยไพร และอาหารอีสานต่างๆ
HAVE A SEAT คณะอุตสาหกรรมเกษตร บริเวณอาคาร 1 แบ่งออกเป็นร้านย่อยต่างๆ เช่น ร้านอาหารเกาหลี ร้านคอหมูย่าง ท้องปลาแซลมอนย่าง ร้านไก่กาแลคซี่คอนเฟล็กซ์ ร้านเครื่องดื่มม็อกเทล ร้านไอศกรีมหลอด เป็นต้น
แต่ในวันนั้นผู้เขียนหิวมาก ตลาดนนทรีคนเยอะ ที่นั่งไม่พอ ตัดสินใจเดินไปเรื่อยๆ กระทั่งมาพบกับร้านชื่อแปลกๆ อย่าง "E-KROUNOMIC (อีครัวโนมิค)" ของคณะเศรษฐศาสตร์ หน้าตึกปฏิบัติการ ที่นั่นจะมีเมนูให้เลือกทั้งสเต็กไก่ หมู และเนื้อ
สังเกตเห็นนิสิตแต่ละคน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ต่างทำหน้าที่กันอย่างขมักเขม้น ทั้งเชียร์ลูกค้าเข้าร้าน รับออเดอร์ เก็บโต๊ะ รวมทั้งแสดงดนตรีสดแก่ลูกค้า บรรยากาศเหมือนกับทำกิจกรรมนิสิต เห็นแล้วรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก
แม้สเต็กหมูนุ่มที่สั่งจะรสชาติธรรมดา แต่เห็นความพยายามของนิสิตแล้ว ทำให้อาหารจานนี้รู้สึกอร่อยขึ้นเป็นกอง
เรามีเวลาไม่มากสำหรับงานเกษตรแฟร์ ยังมีสารพัดโซนทั้งเทคโนโลยีการเกษตร ต้นไม้และอุปกรณ์การเกษตร สินค้าดีไอวาย อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน สัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์ สินค้าเกษตร อุปโภค บริโภค และอื่นๆ อีกมากมาย
งานเกษตรแฟร์จะมีไปจนถึงวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม แนะนำให้เตรียมบัตรแรบบิทเข้า-ออกสถานีอย่างรวดเร็ว กดเงินสดในกระเป๋าให้พร้อมสำหรับช้อป แล้วอย่าลืมพกถุงผ้ามาช้อปปิ้งด้วย
ขอบอกไว้ก่อนว่า นิสิตที่นี่งานดีมาก เห็นแล้วกระชุ่มกระชวยหัวใจ แทบอยากกลับไปเป็นวัยรุ่นอีกครั้ง!