xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนตำนาน 27 ปี “บิ๊กซี” แจ้งเกิดกลุ่มเซ็นทรัล ปัจจุบันอยู่ในมือเสี่ยเจริญ

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ภาพ : bjc.co.th
กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ปี 2563 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่วงการค้าปลีกรายใหญ่ของไทยจะมีความเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าย่อมมีผลต่อคนไทยทั้งประเทศ ในฐานะผู้บริโภคที่นิยมพึ่งพาค้าปลีกสมัยใหม่ หรือโมเดิร์นเทรดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เริ่มจาก “กลุ่มเทสโก้” ค้าปลีกรายใหญ่จากประเทศอังกฤษ ประกาศขายกิจการค้าปลีกในไทยและมาเลเซียแก่ผู้สนใจ โดยเปิดรับซองประมูลเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

เป็นที่ทราบกันดีว่า ค้าปลีกรายใหญ่ของไทยในปัจจุบันเหลือเพียงแค่ 3 ตระกูล ได้แก่ “จิราธิวัฒน์” เจ้าของกลุ่มเซ็นทรัล, “เจียรวนนท์” เจ้าของร้านเซเว่น อีเลฟเว่น กับห้างแม็คโคร และ “สิริวัฒนภักดี” เจ้าของห้างบิ๊กซี

“บิ๊กซี” กลายเป็นเจ้าแรกที่ประกาศตัวว่า ให้ความสนใจที่จะซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ในไทย แต่ก็ขึ้นอยู่กับราคา การแข่งขัน และข้อกฎหมายต่างๆ ในขณะที่อีกสองเจ้าที่เหลือ ไม่มีสัญญาณตอบรับอย่างเป็นทางการว่าจะเข้าร่วมประมูล

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การประกาศขายหุ้นไอพีโอเพื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ของ “เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” หรือ ซีอาร์ซี (CRC) เจ้าของธุรกิจค้าปลีกกลุ่มเซ็นทรัล ที่อยู่คู่กับนักช้อปชาวไทยมากว่า 72 ปี

โดยจะนำธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดของกลุ่มเซ็นทรัล ตั้งแต่ห้างเซ็นทรัล โรบินสัน ท็อปส์ แฟมิลี่มาร์ท เพาเวอร์บาย ซูเปอร์สปอร์ต ไทวัสดุ บ้านแอนด์บียอน ธุรกิจแฟชั่น ธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามและอิตาลี มารวมกันทั้งหมด

ส่วนหุ้น “โรบินสัน” (ROBINS) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนที่กลุ่มเซ็นทรัลซึ่งอยู่นอกตลาดจะเข้าถือหุ้นเมื่อปี 2538 ซีอาร์ซีก็ใช้วิธีซื้อหุ้นคืน (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) จากนักลงทุนทั้งหมด 1,331 ล้านหุ้น

โดยออกหุ้นเพิ่มทุนนำมาแลกกัน ไม่มีจ่ายเป็นเงินสด เงินทองไม่รั่วไหลออกนอกตระกูลจิราธิวัฒน์แม้แต่บาทเดียว

ถ้าใครไม่แลกหุ้น นอกจากจะตกขบวนแล้ว หุ้น ROBINS จะไม่มีค่าเพราะถูกลบออกจากกระดานตลาดหุ้น เหลือกระดาษ “ใบหุ้น” เพียงอย่างเดียว

หุ้นของซีอาร์ซีจะมีมูลค่าตลาด (มาร์เก็ตแคป) เท่าไหร่ ใหญ่ที่สุดของตลาดทุนไทยอย่างไร เบียดหุ้นตัวไหนตกอันดับ SET50 และ SET100 ก็เป็นเรื่องของนักลงทุนที่จะต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน

แต่ความน่าสนใจก็คือ ประวัติศาสตร์วงการค้าปลีกระหว่างตระกูล “จิราธิวัฒน์” กับ “สิริวัฒนภักดี” โดยเฉพาะ “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ต้นกำเนิดมาจากกลุ่มเซ็นทรัล แต่ปัจจุบันอยู่ในมือของ “เสี่ยเจริญ”

ย้อนกลับไปในอดีต กลุ่มเซ็นทรัลแบ่งธุรกิจค้าปลีกออกเป็นหลายโมเดล เช่น ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์อย่างเซ็นทรัล โรบินสัน, ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างท็อปส์ หรือร้านค้าปลีกเฉพาะทาง (Category Killer) อย่างเพาเวอร์บาย ซูเปอร์สปอร์ต

บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาวงศ์สว่าง
หนึ่งในนั้น คือ “ดิสเคานต์สโตร์ (Discount Store)” กลุ่มเซ็นทรัลเปิดห้างค้าปลีกแห่งแรกภายใต้ชื่อ “เซ็นทรัล ซูเปอร์สโตร์” แทนที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาวงศ์สว่าง เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2536 หรือเมื่อ 27 ปีก่อน

ต่อมา กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมทุนกับกลุ่มอิมพีเรียล ของตระกูลกิจเลิศไพโรจน์ เปิดห้างค้าปลีกภายใต้ชื่อ “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” สาขาแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2537 ต่อด้วยสาขาราษฎร์บูรณะ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2537

กระทั่งห้างเซ็นทรัล ซูเปอร์สโตร์ สาขาวงศ์สว่าง จะเปลี่ยนมาเป็นบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ในปี 2538 พร้อมกับห้างเซฟวัน รังสิต และห้างโรบินสัน ราชดำริ และเปิดสาขาพัทยา ภายในห้างเซ็นทรัล เฟสติวัล เซ็นเตอร์ (เซ็นทรัล มารีน่า)

ที่ผ่านมา “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ของกลุ่มเซ็นทรัล พยายามเปิดสาขาขับเคี่ยวกับ “โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเปิดให้บริการแห่งแรกที่สาขาซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2537

กระทั่งค้าปลีกข้ามชาติ “คาร์ฟูร์” จากฝรั่งเศส เข้ามาเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกในไทย ที่สาขาสุขาภิบาล 3 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2539 ก่อนจะขยายสาขาศรีนครินทร์ และต่อมาเปิดสาขาสุวินทวงศ์ บางใหญ่ รังสิตในปี 2540

บิ๊กซีค่อยๆ ขยายสาขา เริ่มจากปริมณฑลอย่างบางพลี นครปฐม แล้วบุกไปยังภาคอีสาน ซึ่งพบว่า บางสาขาใช้วิธีเช่าที่ดินกับบริษัทของตระกูลจิราธิวัฒน์ ซึ่งมีที่ดินในมืออยู่แล้ว

“บิ๊กซี โคราช” จ.นครราชสีมา เช่าที่ดินบริเวณสามแยกหนองคาย กับ บริษัท เตียง จิราธิวัฒน์ จำกัด (ซึ่งเป็นชื่อของผู้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล) สัญญา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2539-2569

เช่นเดียวกับ “บิ๊กซี ขอนแก่น” เช่าที่ดินบริเวณถนนมิตรภาพ ก่อนถึงสี่แยกประตูเมืองขอนแก่น กับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา ขอนแก่น จำกัด สัญญา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2539-2569 เช่นกัน

นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปตั้งแต่แรกเริ่ม “บิ๊กซี วงศ์สว่าง” ก็เช่าอาคารกับ บริษัท ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด สัญญา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2549-2559 ครบกำหนดต่อสัญญาได้อีก 2 ปี ในราคาค่าเช่าเท่ากับปีที่ 10

รวมทั้ง “บิ๊กซี ราษฎร์บูรณะ” ยังเช่าที่ดินในนามเซ็นทรัลซูเปอร์สโตร์ กับ บริษัท เซ็นทรัลธนบุรี จำกัด สัญญา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2538-2568 อีกด้วย

แต่ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้บิ๊กซีตัดสินใจหยุดขยายสาขา หลังเปิดให้บริการสาขาที่ 20 “บิ๊กซี เพชรบุรี” ไปเมื่อปลายเดือนมกราคม 2541 ระหว่างนั้นพยายามแสวงหากลุ่มทุนเข้ามาช่วยเหลือ

แฟ้มภาพ
กระทั่งในปี 2542 กลุ่มคาสิโน กรุ๊ป ยักษ์ค้าปลีกเบอร์สองจากฝรั่งเศส เข้ามาเพิ่มทุนเป็น “ผู้ถือหุ้นใหญ่” แทนที่ตระกูลจิราธิวัฒน์ เช่นเดียวกับโลตัส ที่กลุ่มซีพีขายหุ้นให้กับ “เทสโก้” ยักษ์ค้าปลีกจากอังกฤษ

นับจากนั้นเป็นต้นมา ศึกขยายสาขาของยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติ “โลตัส-บิ๊กซี-คาร์ฟูร์” แข่งขันอย่างรวดเร็ว สบช่องกับดีพาร์ทเมนท์สโตร์อย่างเซ็นทรัลและโรบินสัน ที่เจอวิกฤตเศรษฐกิจ ต้องปรับลดสาขา บิ๊กซีก็ได้โอกาสตรงนี้ขยายสาขาไปด้วย

เช่น “ห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ รามอินทรา” ของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เดิมกลุ่มเซ็นทรัลไปเปิดห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลไว้เมื่อปี 2538 แต่ยอดขายไม่ดี จึงให้บิ๊กซีเช่าช่วงด้วยสัญญา 15 ปี ตั้งแต่ปี 2543-2558 และต่อสัญญาได้อีก 9 ปี

เช่นเดียวกับ “ห้างเซ็นทรัล หัวหมาก” ที่ปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์การค้าหัวหมากเพาเวอร์เซ็นเตอร์ ก็ให้บิ๊กซีเช่าพื้นที่ รวมทั้ง “อาคารทศพลแลนด์ 1” ย่านสะพานใหม่ ก็ให้บิ๊กซีเข้ามาแทนที่โรบินสัน สะพานใหม่

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการร้านค้าโชวห่วย ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านห้างค้าปลีกข้ามชาติอย่างหนัก กระทั่งมีการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง ห้ามก่อสร้างห้างค้าปลีกมากกว่า 1,000 ตารางเมตรในเขตเมือง

ทั้งสามเจ้าจึงพยายามลดขนาดห้างค้าปลีกลง บิ๊กซีปั้นแบรนด์ “บิ๊กซี จูเนียร์” สาขาแรกที่ห้างทวีกิจ คอมเพล็กซ์ สระบุรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ขณะที่เทสโก้ โลตัส มีแบรนด์ตลาดโลตัส, โลตัส คุ้มค้า และคาร์ฟูร์ที่มี คาร์ฟูร์ มาร์เก็ต

ไม่นับรวมห้างค้าปลีกยักษ์หันมาเปิดร้านสะดวกซื้อเป็นของตัวเอง เช่น “เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส” ที่เคยร่วมกับเอสโซ่ และ “มินิ บิ๊กซี” ที่เคยร่วมกับบางจาก ก่อนเปิดเป็นสแตนด์อะโลนตามชุมชนต่างๆ

ถึงกระนั้น เมื่อสมรภูมิค้าปลีกย่อมมีฝ่ายหนึ่งยกธงขาวยอมแพ้ คาร์ฟูร์จึงตัดสินใจเปิดประมูลขายกิจการในไทย เมื่อปี 2553 กลุ่มคาสิโน กรุ๊ป เจ้าของบิ๊กซีในไทยชนะประมูล ด้วยราคา 686 ล้านยูโร คว้าห้างคาร์ฟูร์ 42 สาขาไปครอง

ส่งผลทำให้บิ๊กซีมีสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ต จากประมาณ 60 สาขาในตอนนั้น ก้าวกระโดดกว่า 100 สาขาทั่วประเทศ เป็น “เบอร์สอง” ก็แค่เทสโก้ โลตัสเท่านั้น

ภาพจากเฟซบุ๊ก รับสมัครงาน Big C Extra บางใหญ่
บิ๊กซีตัดสินใจปรับปรุงห้างคาร์ฟูร์ด้วยโมเดลแตกต่างกันไป นอกจากสาขาส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์แล้ว ยังอัพเกรดคาร์ฟูร์ 15 สาขาให้กลายเป็น “บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า” เปิดสาขาใหม่ที่เมกา บางนา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555

พร้อมปรับสาขาขนาดย่อมของคาร์ฟูร์ มาร์เก็ต ให้เป็น “บิ๊กซี มาร์เก็ต” โดยนำบิ๊กซี จูเนียร์ 2 สาขา ได้แก่ สาขาทวีกิจ คอมเพล็กซ์ สระบุรี และสาขาพังงา มารวมกันไว้ด้วย

แม้การซื้อกิจการคาร์ฟูร์ในไทย จะทำให้บิ๊กซีมีจำนวนสาขาแบบก้าวกระโดด แต่ในบางทำเลที่ซ้ำซ้อนกันหรือหมดสัญญาเช่ากับผู้ให้เช่ารายเดิมก็ต้องปิดตัวออกไป

เมื่อกลุ่มคาสิโน กรุ๊ป ประสบปัญหาการเงิน จึงเปิดประมูลกิจการในไทย ลาว และเวียดนาม เพื่อนำเงินทุนไปชำระหนี้สินของบริษัทฯ ในปี 2559 โดยมีกลุ่มเซ็นทรัล กับ “ทีซีซี กรุ๊ป” ของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ผู้ผลิตเบียร์ช้างเข้าร่วมประมูล

ปรากฎว่า “ทีซีซี กรุ๊ป” คว้าธุรกิจบิ๊กซีในไทยไปครองด้วยมูลค่า 2 แสนล้านบาท ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลได้เพียงแค่กิจการบิ๊กซี เวียดนาม ภายหลังกลุ่มเซ็นทรัลขายหุ้นบิ๊กซีที่มีอยู่ราว 25% ให้กับเสี่ยเจริญ ได้เงินกลับไปราว 5 หมื่นล้านบาท

ก่อนหน้านั้น เสี่ยเจริญปลุกปั้นแบรนด์ห้างค้าปลีกในชื่อ “เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต” โดยเริ่มสาขาแรกที่หนองคายเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558 ก่อนจะเปิดสาขาต่อมาที่อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยมีแผนจะขยายสาขาอีก 15 แห่งภายใน 5 ปี

เมื่อเสี่ยเจริญคว้าบิ๊กซีมาได้ เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต ทั้งสาขาหนองคายและอรัญประเทศ จึงกลายสภาพเป็นบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ทั้งหมด ส่วนแบรนด์เดิมที่ใช้มาเพียงแค่ 2 ปี ก็นำไปใช้ทำธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามแทน

ภาพ : bjc.co.th
“บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ถูกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจใน บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี (BJC) บริษัทในเครือทีซีซี กรุ๊ป พร้อมกับสโลแกน “ห้างคนไทย หัวใจคือลูกค้า” เพื่อตอกย้ำว่าห้างนี้เป็นของคนไทย 100%

เพียงแต่คนไทยที่ว่านี้เป็นถึง “อภิมหาเศรษฐี” ระดับแนวหน้า ซึ่งมีเพียงไม่กี่ตระกูลในประเทศนี้

แม้กลุ่มเซ็นทรัล กับกลุ่มบีเจซีของเสี่ยเจริญจะกลายเป็นคู่แข่งหลักด้านค้าปลีก แต่บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 7 สาขายังมีภาระผูกพันกับบริษัทในตระกูลจิราธิวัฒน์ ทั้งการเช่าที่ดินระยะยาว เช่าอาคารสถานที่ และการเช่าช่วงพื้นที่ต่อในศูนย์การค้า

น่าคิดว่า สัญญาเช่าระหว่างบิ๊กซี กับบริษัทในตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่จะทยอยหมดในช่วง 5-6 ปีข้างหน้า แม้บางสาขาอย่างเช่นวงศ์สว่าง จะได้รับการต่อสัญญาเช่าครั้งละ 2 ปี แต่สุดท้ายสาขาเหล่านี้จะยังคงต่อสัญญาเช่าหรือไม่

แต่ไม่ว่าจะอยู่หรือไป บิ๊กซีก็มีสาขาทำเลใกล้เคียงรองรับอยู่แล้ว เช่น สาขาวงศ์สว่าง ก็มี “บิ๊กซี ฟู้ดเพลส” โมเดลใหม่ที่ห้างเกตเวย์ แอท บางซื่อ อยู่ใกล้เคียง เปิดเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2561 หรือจะเป็นสาขาราษฎร์บูรณะ ก็มีบิ๊กซีสาขาบางปะกอก และสาขาดาวคะนองอยู่ใกล้เคียง

กลุ่มเซ็นทรัลเคยวางโมเดลไว้ว่า จังหวัดหัวเมืองขนาดใหญ่ ทำเลเศรษฐกิจสำคัญ จะให้ “เซ็นทรัลพัฒนา” เข้าไปลงทุนศูนย์การค้า ส่วน “โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์” จะลงทุนในเมืองรอง และเมืองขนาดเล็กจะเป็น “ท็อปส์ พลาซ่า”

หลังการระดมทุนของซีอาร์ซีในปี 2563 เราอาจจะได้เห็นการขยายสาขาของ “โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์” และ “ท็อปส์ พลาซ่า” เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากเซ็นทรัลพัฒนา ที่มีโครงการอยุธยา ศรีราชา และจันทบุรี

ขณะที่การประมูลเทสโก้ โลตัส ในไทย ต้องจับตาว่าใครจะคว้าไปครอง แม้เวลานี้จะมีกลุ่มบีเจซีของเสี่ยเจริญเพียงเจ้าเดียว ที่สนใจยื่นซองประมูลอย่างจริงจัง แต่ในช่วงโค้งสุดท้ายอะไรก็เกิดขึ้นได้

เพราะในโลกธุรกิจไม่มีคำว่า “ปรานี”






กำลังโหลดความคิดเห็น