xs
xsm
sm
md
lg

ส่องแผน ‘จิราธิวัฒน์’ โกยเงินตลาดหุ้นผ่าน ‘CRC’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่องแผน “จิราธิวัฒน์” ส่ง “เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นเฉียด 8 หมื่นล้านบาทสูงสุดในประวัติศาสตร์ แถมเป็นน้องใหม่ตัวแรกของปี 2563 พร้อมเคาะราคา 40-43 บาทต่อหุ้น ล่าสุดกลุ่มสถาบันทั้งในและต่างประเทศคว้าโควตา IPO ไปแล้ว 60% ฉุดส่วนแบ่งรายย่อยเหลือน้อย จนต้องมองหาทางลัดดอดเก็บ “โรบินสัน” แทน

แม้ภาวะเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แต่ในปี 2563 จะมีบริษัทขนาดใหญ่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไม่น้อยกว่า 2-3 ราย และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (CRC) ของกลุ่ม “จิราธิวัฒน์” ซึ่งในแวดวงตลาดทุนต่างจับตาการเข้ามาตลาดหุ้นของบริษัทแห่งนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยหวังว่าจะใช้เป็นอีกหนึ่งหุ้นสำหรับการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะแบรนด์ “เซ็นทรัล” ช่วยการันตีความยิ่งใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกบ้านเรามาช้านาน

ทั้งนี้ CRC เตรียมเดินหน้าเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 1,860.1 ล้านหุ้น หลังจากปรับช่วงราคาเสนอขายแคบลงมาที่หุ้นละ 40-43 บาท คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมไม่เกิน 7.4-7.9 หมื่นล้านบาท สูงสุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย โดยได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ 11 รายทำสัญญาลงทุนในหุ้นกับ CRC เพื่อเป็น Cornerstone Investors จำนวนหุ้นรวม 560.6 ล้านหุ้น หรือกว่า 60% ของจำนวนหุ้น IPO ซึ่งจะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อหุ้น CRC ได้ในระหว่างวันที่ 29-31 ม.ค. และ 3 ก.พ. 63 พร้อมคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในเดือน ก.พ. 63 นี้

โดย Cornerstone Investors ของ CRC ประกอบด้วย Capital Research Management Company, GIC Private Limited และ Avanda Investment Management เป็นต้น รวมถึงสถาบันในประเทศไทย ได้แก่ บลจ.กสิกรไทย บลจ.บัวหลวง บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) บลจ.ทิสโก้ และ บลจ.ธนชาต

สำหรับ CRC ให้สถานะตัวเองเป็นผู้นำธุรกิจรีเทลในประเทศไทย รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม และผู้ประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลี ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำด้าน Customer-Centric Omnichannel ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ผสมผสานจุดเด่นที่ดีที่สุดของออนไลน์และออฟไลน์ นำไปสู่มาตรฐานใหม่ของประสบการณ์ชอปปิ้งที่สมบูรณ์แบบ สามารถนำเสนอสินค้าและบริการตรงตามความต้องการเฉพาะลูกค้าแต่ละราย ที่พร้อมสร้างยอดขายได้ทุกที่ทุกเวลาทุกช่องทาง

ส่วนรูปแบบธุรกิจของ CRC แบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มแฟชั่น กลุ่มฮาร์ดไลน์ และกลุ่มฟูด หลากหลายรูปแบบและช่องทาง (Multi-format) ที่ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ (Multi-market) โดยมีแบรนด์ค้าปลีกชั้นนำ เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ซูเปอร์สปอร์ต เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป เพาเวอร์บาย ไทวัสดุ ท็อปส์ แฟมิลี่มาร์ท โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ ในประเทศไทย รวมไปถึงบิ๊กซี/GO! เหงียนคิม ลานชีมาร์ท ในเวียดนาม และรีนาเชนเต ห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ในประเทศอิตาลี

โดย CRC เป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกผ่านรูปแบบที่หลากหลายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีร้านค้าทั้งหมดประมาณ 1,922 ร้านค้าใน 51 จังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่ในต่างประเทศ CRC เป็นผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์รวมทั้งสิ้น 9 สาขา และยังเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกข้ามชาติและค้าปลีกประเภท Hypermarket อันดับ 1 ในประเทศเวียดนาม ด้วยร้านค้าในรูปแบบต่างๆ จำนวน 133 ร้านค้า ใน 40 จังหวัด ด้วยเป้าหมายก้าวเข้าสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจค้าปลีกหลากหลายรูปแบบที่ประสบความสำเร็จที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในภูมิภาคอื่นๆ

ไม่เพียงเท่านี้ CRC ยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาแพลตฟอร์มสู่ Customer-Centric Omnichannel ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ผสมผสานจุดเด่นที่ดีที่สุดของออนไลน์และออฟไลน์เข้าไว้ด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ นำไปสู่มาตรฐานใหม่ของประสบการณ์ชอปปิ้งที่พร้อมการนำเสนอสินค้าและบริการแบบรู้ใจที่ตรงความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalization) ผ่านการวิเคราะห์ฐานข้อมูลสมาชิก Loyalty Program ที่มีมากกว่า 28.8 ล้านรายทั่วโลก

ขณะที่ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 1.59 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.29 พันล้านบาท เติบโต 4.1% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยวัตถุประสงค์ของการระดมทุนเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการขยายสาขาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงการปรับปรุงสาขาต่างๆ เช่น 1. การขยายสาขาใหม่ของห้างสรรพสินค้าโรบินสัน 2. การขยายสาขาของไทวัสดุ 3. การขยายสาขาของบิ๊กซี/GO! ในเวียดนาม 4. การปรับปรุงสาขาต่างๆ ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ และการชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน โดยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ โดยมีการคาดการณ์ว่ามาร์เกตแคปของ CRC จะไม่ต่ำกว่าระดับ 1 แสนล้านบาท ที่สำคัญ อนาคต CRC มีโอกาสเข้าคำนวณ SET50 และ MSCI ด้วย

โอกาสในการคว้าหุ้น CRC

ด้วยการเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้ความสนใจเข้าซื้อหุ้น CRC ในหมู่นักลงทุนทั่วไปจึงอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับสัดส่วนที่บริษัทจะนำออกมาเสนอขาย นั่นทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า หากไม่เผชิญปัจจัยลบจากภายในและนอกประเทศ การประเดิมซื้อขายบนกระดานหลักทรัพย์ของ CRC น่าจะสวยหรูไม่น้อย แต่ด้วยโอกาสที่จะได้รับการจัดสรรหุ้น IPO ตกมาถึงมือนั้นมีความเป็นไปได้น้อย ทำให้นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างปรับเกมหันมาแนะนำให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกใช้ทางลัด นั่นคือ การเข้าซื้อหุ้น ROBINS เพราะวิธีนี้จะทำให้คนที่อยากได้หุ้น CRC จะได้หุ้น CRC ในสัดส่วน 1 หุ้น ROBINS ต่อ 1.39-1.66 หุ้น CRC ซึ่งเบื้องต้นกำหนดกรอบราคาเสนอขายไว้ที่ 40-48 บาท นั่นเท่ากับว่า หาก CRC ราคาขายอยู่ที่ 40 บาท อัตราแลกหุ้นจะอยู่ที่ 1.66 หุ้นของ CRC ต่อ 1 หุ้น ROBINS หรือหากราคาขาย 48 บาท อัตราแลกหุ้นจะอยู่ที่ 1.39 หุ้น CRC ต่อ 1 หุ้น ROBINS เรียกได้ว่าผู้ที่ได้รับมีโอกาสสร้างผลตอบแทนกลับคืนได้ทันที

อย่างไรก็ตาม หากราคาหุ้น CRC ที่เคาะออกมาอยู่ในระดับสูง ย่อมทำให้ P/E ของบริษัทสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยมีการประเมินว่าหากราคาหุ้น CRC อยู่ที่ 40 บาท จะมีค่า P/E ที่ระดับ 28 เท่า ส่วนราคาที่ระดับ 48 บาท จะมีค่า P/E ที่ 33.5 เท่า ใกล้เคียงกับค่า P/E กลุ่มที่ระดับ 33.9 เท่า ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นในกลุ่มเดียวกันไม่มีรายใดมีค่า P/E สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม ขณะเดียวกัน หากราคา IPO ของ CRC อยู่ในระดับสูง โอกาสการใช้หุ้น ROBINS เพื่อแลกมาเป็น CRC จะทำให้จำนวนน้อยลงตามสัดส่วนแลกหุ้น (Swap Rate) ไปด้วย

นอกจากนี้ CRC ถูกประเมินว่าการเติบโตทางธุรกิจจะไม่โดดเด่นหรือหวือหวา แต่จะเป็นไปในลักษณะมีเสถียรภาพ จึงถูกจัดให้เป็นหุ้นที่เหมาะสมแก่การลงทุนระยะยาวมากกว่าเก็งกำไร โดยประเมินว่า CRC จะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในช่วงเดือน ก.พ. 2563 แม้ภาพรวมประเมินกำไรสุทธิของบริษัทในปี 2562 อาจลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลมาจากการบันทึกผลประโยชน์พนักงานและฐานที่สูงจากปี 2561 ที่ CRC มีกำไรการขายธุรกิจบางส่วนที่ขาดทุนออกไปในช่วงปรับโครงสร้างธุรกิจ ทำให้ราคาหุ้น ROBINS ที่ซื้อขายในปัจจุบันพบว่ายังมี Upside จากราคาเหมาะสมที่ระดับ 70 บาท

CRC ก็มีความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม พบว่าหุ้น CRC ยังมีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่มากกว่า เนื่องจากดำเนินธุรกิจแบบใหญ่ อย่างซูเปอร์มาร์เกต และค้าปลีกที่อิงกับห้างสรรพสินค้า ซึ่งการดำเนินธุรกิจเช่นนี้มักอิงกับภาวะเศรษฐกิจเป็นสำคัญ หากเศรษฐกิจดีก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ แต่เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่โหมดชะลอตัวหรือไม่ดีเมื่อไร พฤติกรรมผู้บริโภคจะซื้อน้อยลงทันที ทำให้หุ้น CRC จะมีปัญหาเมื่อต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจ

แผนเข้าตลาด CRC

ทั้งนี้ ตามแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ CRC แบ่งหุ้นออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน1,331 พันล้านหุ้น หรือ 22.1% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลัง IPO (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) ซึ่งหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนดังกล่าว ประกอบด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) หรือ ROBINS ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ผ่านการแลกหุ้น (Share Swap) และหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายและจัดสรรให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก

(2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Hawthorn Resources Limited (ผู้ถือหุ้นเดิม) จำนวนไม่เกิน 360 ล้านหุ้น หรือ 6.0% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลัง IPO และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Overallotment Option หรือ Greenshoe) ไม่เกิน 169.10 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 10% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายในครั้งนี้ เพื่อนำเงินไปใช้ในการรักษาระดับราคาหุ้น (Stabilization) เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน

และเพื่อให้แผนงานที่วางไว้บรรลุเป้าหมาย CRC ประกาศเดินหน้าทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ ROBINS ที่ราคาเสนอซื้อ 66.50 บาทต่อหุ้น เพื่อแลกกับหุ้น IPO ของ CRC ตามช่วงอัตราแลกหุ้นเบื้องต้นที่ 1.39-1.66 หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ของ CRC ต่อ 1 หุ้นสามัญเดิมของ ROBINS ในระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Agent) หลังจากนั้นหุ้นของ ROBINS จะถูกเพิกถอนออกจากการเป็นหลักทรัพย์ พร้อมกับหุ้น IPO ของ CRC เริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

ขณะที่ ROBINS เริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2522 โดยเปิดดำเนินกิจการ “ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน” สาขาแรกที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากนั้นปี 2535 (3 ม.ค. 35) ROBINS กลายเป็นหุ้นห้างสรรพสินค้ารายแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วน CRC เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในช่วงปี 2538

ต่อมา ROBINS ได้รับผลกระทบจาก “วิกฤตต้มยำกุ้ง” จนต้องประกาศหยุดพักชำระหนี้สินทางการเงินและปี 2543 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ โดยมีการปิดสาขาเหลือ 18 สาขา พร้อมกับออกหุ้นกู้ตามแผนฟื้นฟูกิจการให้กับเจ้าหนี้ไม่มีหลักประกันรวม 4.76 พันล้านบาท ไม่เพียงเท่านี้ ROBINS ยังมีการเพิ่มทุนจาก 1,480 ล้านบาท เป็น 14,808 ล้านบาท และการแปลงหนี้เป็นทุน และชำระหนี้หุ้นกู้ จนบรรลุผลสำเร็จตามแผนฟื้นฟูกิจการ และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการช่วงปี 2548 จากนั้นปี 2560 ROBINS กลับมาจ่ายปันผลได้อีกครั้ง








กำลังโหลดความคิดเห็น