xs
xsm
sm
md
lg

“งดแจกถุงพลาสติก” จิตสำนึกสร้างไม่ได้ในวันเดียว

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ 43 แห่ง งดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้า ตามนโยบายภาครัฐที่มีโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573

เป็นผลทำให้ลูกค้าที่จะซื้อสินค้าไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต้องนำถุงผ้าหรือถุงพลาสติกที่ใช้แล้วมาเอง ทางร้านไม่มีให้บริการ นอกจากร้านสะดวกซื้อบางแห่งยังแจกถุงพลาสติกแก่สินค้าบางประเภท เช่น สินค้าอุ่นร้อน

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย ปีที่แล้วห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็งดแจกถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือน บางแห่งมอบคะแนนสะสมพิเศษ แก่ลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติก หรือนำถุงผ้ามาช้อปปิ้งด้วยตัวเอง

หรือถ้าไม่อย่างนั้น ตามซูเปอร์มาร์เก็ตก็มีกล่องกระดาษให้บริการ แก่ลูกค้านำมาใส่สินค้าด้วยตัวเอง นอกนั้นถ้าเป็นสินค้าประเภทเครื่องดื่ม จะมีสติกเกอร์คำว่า PAID ติดที่ภาชนะเพื่อยืนยันว่าชำระเงินแล้ว

มาคราวนี้ เนื่องจากเป็นนโยบาย “Everyday Say No to Plastic Bags” งดแจกถุงพลาสติกทุกวัน แน่นอนว่าย่อมมีประชาชนอีกส่วนหนึ่งแสดงความไม่พอใจบนโซเชียลมีเดีย กล่าวหาว่าผลักภาระให้ผู้บริโภค

บางคนประชดประชันด้วยการแสดงออกก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น เช่น ขี่รถจักรยานยนต์เข้าไปในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งชาวเน็ตก็ออกมาประนามจำนวนมาก แถมถูกตำรวจดำเนินคดีเสียค่าปรับกันไป


อย่างไรก็ตาม จากนโยบายนี้ก็ได้เห็นบรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ จำหน่ายถุงเพื่อทดแทนถุงพลาสติกหลายรูปแบบ

อย่างแรก คือ ถุงสปันบอนด์ (Spun-bonded) เนื้อผ้าจะคล้ายกระดาษทิชชู่ แต่มีความทนทาน เหนียวต่อแรงดึงและแรงฉีก รับน้ำหนักได้พอสมควร ไม่ดูดซับน้ำและฝุ่นละออง จำหน่ายเริ่มต้นที่ใบละ 2-3 บาท

แต่ รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ออกมาบอกว่า ถุงสปันบอนด์ ผลิตมาจากโพลีโพรพิลีน (PP) เหมือนกับถุงพลาสติกที่บรรจุของร้อนทั่วไป เมื่อสลายตัวเป็นไมโครพลาสติกก็อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างต่อมา คือ ถุงผ้าดิบ ที่พบว่ามีร้านสะดวกซื้อเจ้าดังผลิตออกมาจำหน่ายราคาถูก เริ่มต้นที่ถุงขนาดเล็ก 10 บาท ขนาดกลาง 19 บาท นอกเหนือจากถุงผ้าที่ออกแบบโดย ตูน บอดี้สแลม และกระเป๋าผ้า BNK48

นอกนั้นจะเป็นถุงที่เหมาะแก่การใช้งานแต่ละรูปแบบ เช่น ถุงผ้าพับเก็บได้ ถุงพลาสติกแบบเหนียวพิเศษ ถุงกระสอบ ถุงบุฟลอยด์เก็บความเย็น สำหรับอาหารสด ฯลฯ โดยมีราคาตั้งแต่หลักสิบถึงหลักร้อยบาทขึ้นไป

นอกจากนี้ ยังมีซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งจัดโปรโมชันแจกถุงกระสอบแบบใสแก่ลูกค้าบัตรเครดิต ลูกค้าประกันชีวิต หรือลูกค้าค่ายมือถือ ซื้อสินค้าครบ 300-500 บาทขึ้นไป นำใบเสร็จมาแลกได้ฟรี พบว่ามีผู้สนใจจำนวนมากจนสิทธิ์เต็ม

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่พกถุงผ้าเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตมานานกว่า 1 ปี พบว่าแรงจูงใจที่ทำให้ใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติกอย่างแรก คือ ได้รับคะแนนสะสมจากบัตรสมาชิกห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้น

อย่างต่อมาคือ ความสะดวกที่ใช้ถุงผ้าเพียงใบเดียวใส่ของทุกอย่าง แทนการใช้ถุงพลาสติก ที่ต้องแยกถุงหลายอย่าง ก็นำมารวมกันเป็นถุงเดียว

แต่สินค้าบางอย่างอาจจะต้องแยกจากอาหารต่างหาก เช่น สเปรย์กำจัดยุงและแมลง สารเคมีต่างๆ

อุปสรรคอย่างหนึ่งในการใช้ถุงผ้าก็คือ อาหารสดหรืออาหารพร้อมทาน เนื่องจากถุงผ้าบางประเภทขยายข้างไม่ได้

ยิ่งต้องเจออาหารสดหรืออาหารพร้อมทานใส่ถาด ห่อด้วยฟิล์มถนอมอาหารที่ฉีกขาดง่าย สุดท้ายก็เลอะถุงผ้าไปหมด

นับจากนั้นเป็นต้นมา จึงพยายามซื้อเฉพาะที่สามารถใส่ถุงผ้ารวมกันได้ หรือไม่อย่างนั้นก็นำอาหารสดหรืออาหารพร้อมทานที่ห่อฟิล์มถนอมอาหารไว้ด้านบนสุดของถุงผ้า

มีคนเสนอว่าควรนำกล่องข้าว หรือกล่องถนอมอาหารมาเอง แต่บอกตามตรงว่าพกลำบาก เมื่อเทียบกับถุงผ้าที่ยังพับเก็บได้ง่าย แต่สำหรับคนที่สะดวกแก่การพกพาก็ควรพิจารณา เพราะปัจจุบันกล่องข้าวราคาก็ไม่แพงมาก



สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตอนนี้มีซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างค้าปลีกหลายแห่งประสบปัญหาลูกค้าขโมยตะกร้าที่ใส่สินค้าก่อนชำระเงินไปโดยไม่เอามาคืน โดยทำทียืมตะกร้า บอกว่าจะเอามาคืน สุดท้ายก็ไม่เอามาคืน

ห้างค้าปลีกแถวบ้านตอนนี้ ก็เริ่มติดสัญญาณกันขโมยบนตะกร้ากันแล้ว ทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยเป็นแบบนี้ จะติดเฉพาะสินค้าที่มีราคาแพง เช่น โฟมล้างหน้า มีดโกนหนวด ผลิตภัณฑ์สุรา เสื้อผ้า โดยแคชเชียร์จะเอาออกให้เมื่อคิดเงินแล้ว

บางคนอาจจะค่อนแคะไปว่า ที่ตะกร้าหายเพราะห้างฯ ไม่แจกถุงเอง ถ้าแจกถุงผ้าหรือเตรียมลังไว้ให้ ตะกร้าก็คงไม่หายขนาดนี้ ทำไมห้างฯ ต้องผลักภาระให้ผู้บริโภคหาอะไรมาใส่สิ่งของกลับบ้าน แทนที่จะเซอร์วิสลูกค้า

หรือบางคนคิดไปว่า แค่ตะกร้าหายราคาไม่กี่บาท ห้างฯ คงไม่ขาดทุนหรอก!

คงต้องย้อนไปถึงวัตถุประสงค์ในการรณรงค์งดแจกถุงพลาสติกตั้งแต่แรกว่า ต้องการลดปริมาณขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยาก ใช้เวลากว่า 400 ปีกว่าจะย่อยสลายจนหมด ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์

พอขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเล สัตว์ทะเลที่กลืนกินพลาสติก ติดค้างในกระเพาะอาหารจนตายก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะ “มาเรียม” ลูกพะยูนน้อยที่ตาย เพราะถุงพลาสติกอุดตันลำไส้จนอักเสบและติดเชื้อในกระแสเลือด

แต่เมื่อคนไทยลืมง่าย พอถึงคราวที่ต้องรณรงค์อย่างจริงจัง กลับเอาความสบายส่วนตัวเป็นข้ออ้าง แถมยังเย้ยหยันไปว่า นโยบายงดแจกถุงไร้ประโยชน์ ตราบใดที่คนเรายังไม่เลิกมักง่าย

คิดในใจว่า จิตสำนึกสร้างไม่ได้ในวันเดียวจริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น