xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักสบู่ทหาร “A.F. Soap” กล่องลายพราง ไม่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

โดยปกติแล้วสบู่ที่วางขายตามท้องตลาดมักจะพบเห็นเพียงไม่กี่ยี่ห้อ โดยมีราคาและคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป แต่สบู่ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นยี่ห้อที่คนทั่วไปไม่มีใครใช้ เพราะเหตุผลเดียว คือ “หาซื้อยาก”

งานกาชาดประจำปี 2562 ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสแวะไปยังร้านของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม นอกจากจะตกแต่งจำลองกระทรวงกลาโหม และการตักไข่ในน้ำพุแล้ว ยังมีการออกร้านของสมาคมทหารต่างๆ

หนึ่งในนั้นคือ “โรงงานเภสัชกรรมทหาร” นอกจากจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์แล้ว หนึ่งในสินค้าไฮไลท์ก็คือ “A.F. Soap” สบู่เพื่ออนามัยของผิวหนัง จำหน่ายก้อนละ 15 บาท ซึ่งถูกกว่าสบู่ก้อนตามท้องตลาดทั่วไป

สอบถามทหารหญิงรายหนึ่งที่ออกร้าน เธอกล่าวว่า ถ้าจะหาซื้อจริงๆ ต้องไปที่ร้านขายยาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หรือโรงงานเภสัชกรรมทหาร ตรงกล้วยน้ำไท ถนนพระราม 4


หลังซื้อไปทดลองใช้ 2 ก้อน พบว่าก้อนสีเขียวอ่อน กลิ่นเหมือนสบู่อนามัยยี่ห้อหนึ่ง อาบสะอาด ระงับเชื้อแบคทีเรีย เหมาะสำหรับคนที่ออกกำลังกาย และผู้ที่เสียเหงื่อ ข้างกล่องระบุว่า “ใช้ทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกาย”

แต่กลิ่นอาจจะไม่หอมเหมือนสบู่ที่ขายตามท้องตลาด คนรู้จักที่เป็นอดีตข้าราชการทหารรายหนึ่งบอกว่า “ใช้ไปเถอะ กลิ่นเหมือนกันทุกเหล่าทัพ”

เมื่อดูหลังกล่องระบุชื่อผู้ผลิตคือ บริษัท เกตุวานิชอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตน้ำมันพืช เนยเทียม ไขมันพืชผ่านกรรมวิธี สบู่หอม สบู่ซักผ้า ตั้งอยู่ที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ภายใต้การควบคุมของโรงงานเภสัชกรรมทหาร


หลังจากที่ใช้สบู่หมดไป 2 ก้อน พยายามหาซื้อสบู่ยี่ห้อนี้อย่างต่อเนื่อง พบว่าไม่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ตก็ไม่มีขาย แม้กระทั่งร้านกิจการสวัสดิการพีเอ็กซ์ในค่ายทหารก็ตามก็ยังไม่มีจำหน่าย

ครั้นจะไปซื้อที่โรงงานเภสัชกรรมทหารก็คงจะลำบากไปหน่อย เพราะอยู่ไกลตั้งคลองเตย ส่วนร้านขายยาหน้าโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี พยายามตามหาแทบทุกร้านก็ไม่มีขาย เพราะจำหน่ายแต่ยาเท่านั้น

กระทั่งนึกขึ้นได้ว่า ลองไปสอบถามที่ “โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า” โดยตรงเผื่อจะได้คำตอบ วันหนึ่งจึงตัดสินใจออกจากออฟฟิศในช่วงบ่าย เพื่อให้ตรงกับเวลาราชการ แม้อากาศจะร้อนและต้องฝ่าดงรถติดที่สี่แยกตึกชัยก็ตาม


ภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา เราขึ้นไปที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาล ถามว่า “มีร้านขายยาไหมครับ” เจ้าหน้าที่กล่าวกับเราว่า “มีค่ะ เดินตรงไปเลี้ยวซ้าย ก่อนถึงบันไดเลื่อน” เราจึงเดินไปตามทางที่บอก

กระทั่งพบกับเคาน์เตอร์ “โรงงานเภสัชกรรมทหาร” บริเวณประตูทางออกไปยังบันไดเลื่อน เป็นเคาน์เตอร์เล็กๆ จำหน่ายยาเวชภัณฑ์หลากหลายชนิด โดยเฉพาะยาสามัญประจำบ้าน และยาสมุนไพร

แต่ความสนใจของเราไปที่เวชสำอางอย่าง “สบู่ A.F. Soap” ที่นี่ยังจำหน่ายในราคาก้อนละ 15 บาท ถามเจ้าหน้าที่ว่าที่นี่เปิดถึงกี่โมง ได้รับคำตอบว่า “สี่โมงครึ่ง” หรือ 16.30 น. ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดเวลาราชการ


หากกล่าวถึงโรงงานเภสัชกรรมทหาร ก่อตั้งเมื่อปี 2506 หรือเมื่อ 57 ปีก่อน ผลิตยาและเวชภัณฑ์สนับสนุนกองทัพและประชาชนทั่วไป ขึ้นตรงกับศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

ย้อนกลับไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ รัฐจึงมีนโยบายให้หน่วยแพทย์ของสามเหล่าทัพ “ทัพบก-ทัพเรือ-ทัพอากาศ” แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ผลิตยาขึ้นใช้ภายในหน่วยของตนเอง

หลังสงครามสงบ กองทัพไทยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ส่งที่ปรึกษาทางการแพทย์มาประจำหน่วยแพทย์ทั้งสามเหล่าทัพ ฝ่ายสหรัฐฯ เสนอว่าน่าจะผลิต จัดหายาและเวชภัณฑ์ของเหล่าทัพไว้ด้วยกันเพื่อประหยัดงบประมาณ

นำไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการการพิจารณาการซื้อและผลิตยาของกองทัพไทย และที่ประชุมสภากลาโหมมีมติเมื่อปี 2504 ให้จัดตั้งโรงงานเภสัชกรรมทหาร ก่อนจะสร้างอาคาร โอนกำลังพลและเครื่องจักรมาจากสามเหล่าทัพ

ภาพ : facebook.com/DPFThai
ที่ผ่านมา โรงงานเภสัชกรรมทหาร ได้ผลิตยาแผนปัจจุบันและยากำพร้า ได้แก่ ยาฉีดฟีนอล (Phenol) ยาวิจัยเพื่อความมั่นคง ได้แก่ ยาฉีดอะโทรปีน (Atropine) สำหรับต้านพิษแก็สซาริน (Sarin) ชนิดพร้อมฉีด

และยาสำเร็จรูปซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) จำนวน 3 ตำรับ ในรูปแบบยาเม็ดและยาน้ำ สนับสนุนให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด

ยาเวชกรรมป้องกันและผลิตภัณฑ์ทางการทหาร เช่น ผงโรยเท้า (Foot Powder) โลชั่นทากันยุง (Insect Repellant Milky Lotion) และผลิตภัณฑ์สีพรางหน้า ยาสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง เช่น ยาเม็ดแคปซูลขมิ้นชัน และยาครีมน้ำมันไพล

ขณะนี้กำลังวิจัยยาใหม่ 6 รายการ คือ ยาน้ำโพแทสเซียมคลอไรด์, ยาเม็ดมอร์ฟีนซัลเฟต, ยาเม็ดอัลปราโซแลม สำหรับใช้ทางการแพทย์ ครีมน้ำมันไพลหลอด ครีมน้ำมันไพลกลั่น ฯลฯ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ในโครงการเอ็มโอยูกับหน่วยงานอื่น

ที่มา : http://dpf.mod.go.th/units/minister-(2)/pdf/62/%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%9C/%E0%B8%81-%E0%B8%A2-62.aspx
ปัจจุบัน โรงงานเภสัชกรรมทหาร มีรายได้หลักมาจากการจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์มาเป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยได้รับงบอุดหนุนน้อยมาก ในปีงบประมาณ 2562 มียอดการรับใบสั่งซื้อรวมทั้งสิ้น 147.36 ล้านบาท

โดยกองทัพบกสั่งซื้อยาและเวชภัณฑ์มากที่สุด เนื่องจากมีโรงพยาบาลในสังกัด ทบ. 37 แห่งทั่วประเทศ รองลงมาคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), กระทรวงสาธารณสุข/เอกชน/ร้านขายยา, กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ

ยาและเวชภัณฑ์จากโรงงานเภสัชกรรมทหาร ไม่ได้ใช้เฉพาะกองทัพอย่างเดียว แต่ยังจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปในราคาถูกกว่าท้องตลาด ยกเว้นยาอันตรายและยาที่ใช้ตามใบสั่งแพทย์จะใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น


ปัญหาคือ ยา เวชภัณฑ์ และเวชสำอางอย่าง “สบู่ A.F. Soap” หาซื้อยาก มีขายที่บูธภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงงานเภสัชกรรมทหารที่กล้วยน้ำไทเท่านั้น หรือรอการออกร้านของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เช่น งานกาชาด

จึงไม่แปลกใจว่า ก่อนหน้านี้มี “แม่ค้าออนไลน์” ซื้อยกโหลแล้วนำไปจำหน่ายในราคาบวกอีก 10-25 บาท คงเหมาะสำหรับคนที่ต้องการซื้อจริงๆ แต่ไม่สะดวกเดินทางด้วยตัวเอง ก็ช้อปผ่านช่องทางนั้นกันไป

แต่ทางที่ดี หาเวลาไปซื้อโดยตรงดีกว่า เพื่อรายได้เข้ากระเป๋าโรงงานเภสัชกรรมทหารโดยตรง จะได้มีเงินทุนหมุนเวียน นำไปวิจัยและพัฒนาผลิตยาและเวชภัณฑ์ นอกจากนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาจากต่างประเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น