วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
ซากคอนกรีตของ “กำแพงเบอร์ลิน” สูง 3.6 เมตรตั้งตระหง่านอยู่กลางพิพิธภัณฑ์นิวส์เซียม (Newseum)
ด้านหลังซากของกำแพงคอนกรีต ขนาด 8 คอลัมน์ เป็นหอสังเกตการณ์ (Watch Tower) ทรงสี่เหลี่ยมอันน่าสะพรึง ซึ่งเคยถูกใช้เพื่อป้องกันผู้พยายามหลบหนีออกจากเยอรมนีตะวันออก จนได้รับฉายาว่าหอคอยแห่งความตาย (Death Tower)
กำแพงเบอร์ลินปรากฏขึ้นเพื่อแบ่งแยกเยอรมนีฝั่งตะวันออก และตะวันตก ในปี 2504 (ค.ศ.1961) ในยุคที่สงครามเย็นกำลังคุกรุ่น กำแพงเบอร์ลินเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกทางความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างค่ายทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา และค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียต
ซากกำแพงคอนกรีตสูงตระหง่าน แต่หนาเพียงไม่กี่นิ้ว เป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกทางความคิดดังกล่าว และแบ่งแยกประเทศเยอรมนีออกเป็นสองฝั่ง
การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในปี 2532 (ค.ศ.1989) จากความถดถอยโดยรอบด้านของสหภภาพโซเวียต ถูกยกให้เป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดสงครามเย็น สงครามที่แม้ไม่มีการสู้รบด้วยกองทัพ หรือ สรรพอาวุธอย่างเต็มขั้น ระหว่างสองขั้วมหาอำนาจ แต่กลับเป็นสงครามตัวแทน สงครามจิตวิทยา สงครามโฆษณาชวนเชื่อ และการจารกรรม ที่กินเวลายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ
ช่วงเช้าวันพุธที่ 5 ธันวาคม 2561 ผมมีโอกาสได้พบกับ ดร.ยูวาล เว็บเบอร์ นักวิชาการจากบัณฑิตวิทยาลัยด้านความมั่นคงแห่งชาติแดเนียล มอร์แกน (Daniel Morgan Graduate School of National Security; DMGS) ซึ่งสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างฮาร์วาร์ดด้วย
ดร.ยูวาล เป็นหนุ่มนักวิชาการลูกครึ่งรัสเซีย ที่เชี่ยวชาญเรื่องรัสเซียศึกษา แม้รูปร่างจะไม่ใหญ่ แต่กลับพูดจาโผงผาง ตรงไปตรงมา เขาเล่าว่า ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องนโยบายการต่างประเทศของรัสเซีย ผู้ที่มีความผูกพันกับรัสเซียในหลายด้าน และเคยใช้ชีวิตอยู่ที่รัสเซียเป็นเวลาหลายปี เขาเห็นว่า ปัจจุบันภายใต้การนำของนายวลาดิเมียร์ ปูติน มอสโก สร้างบทบาททางการเมือง และแทรกแซงการเมืองในระดับโลก มากกว่าเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน หลังสิ้นสุดสงครามเย็น และสหภาพโซเวียตล่มหลายอย่างเทียบกันไม่ติด
หลังสงครามเย็น แม้รัสเซียจะถูกลดบทบาทในหลาย ๆ ด้าน ด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความมั่นคง และการต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป แต่สำหรับนักการเมืองและนักการทูตของรัสเซียแล้วสหรัฐฯ ยังคงเป็นศัตรูเบอร์ 1 ของรัสเซียเสมอมา กระนั้นด้วยข้อจำกัดทางด้านเศรษฐกิจ และความจำกัดจำเขี่ยด้านงบประมาณของรัสเซีย นายปูตินจึงพยายามค้นหาจุดอ่อนของสหรัฐฯ จนในที่สุดก็ค้นหาพบ และเจาะทะลวงเข้ามาจนประสบผล
กระนั้น การประลองกำลังระหว่างมหาอำนาจในยุคปัจจุบัน ย่อมมีความแตกต่างจากการใช้ เครื่องบิน รถถัง กำลังทหาร หรือสายลับเข้าห้ำหั่นกันแบบในอดีต
ดร.ยูวาล อธิบายว่าปัจจุบันรัสเซียดำเนินนโยบายการต่างประเทศผ่าน กลยุทธ์การสงครามยุคใหม่ (New Generation Warefare Strategy) และอธิบายเพิ่มเติมว่า New Generation Warfare Strategy นั้นประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการด้วยกันคือ
1. แนวโน้มในการเกิดการประท้วงในกลุ่มประชากรเป้าหมาย โดยในหลาย ๆ มิติ สังคมอเมริกันก็ไม่ได้ต่างจากไทยก็คือ มีความแตกต่าง และแตกแยกทางการเมืองค่อนข้างสูง ทั้งยังผสมผสานไว้ด้วยความไม่ลงรอยกันทางด้านเชื้อชาติ และปัญหาของการเหยียดผิว (Racism) ซึ่งคงเป็นรอยแผลที่ซึมลึก (พร้อมยกตัวอย่างด้วยว่า ส่วนปัญหาของไทยก็อาจจะคือ ด้านความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างคนรวยและคนจน และ ความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกันระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบท เป็นต้น)
2.การใช้ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร (Information Operations ; IO) ไม่ว่าจะเป็น การปล่อยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (misinformation) หรือ ข้อมูลลวง (disinformation ; ที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ข่าวปลอม (Fake News)) เพื่อปั่นหัวนักการเมือง และประชาชน โดยมุ่งเป้าในการขยายรอยร้าวในของสังคมและประชากรเป้าหมายในประเทศนั้น ๆ (ตามข้อที่หนึ่ง)
3.การใช้กองกำลังพิเศษ (Special Forces) พวกทหารรับจ้าง หรือ หน่วยรบพิเศษ เพื่อเข้าแทรกแซงในสงครามย่อย ๆ ต่าง ๆ เช่น สงครามในซีเรีย จอร์เจีย หรือ ยูเครน
ถึงจุดนี้ หลายคนอาจคิดว่า New Generation Warfare นั้นเป็นเรื่องเข้าใจยาก ซับซ้อน และไกลตัวเองมาก แต่ด้วยเทคโนโลยีของโลกอินเทอร์เน็ตในยุคปัจจุบัน ความแพร่หลายของสื่อสังคม (Social Media) ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูป ทวิตเตอร์ แอปพลิเคชันสนทนาต่าง ๆ (เช่น ไลน์ วอตส์แอป สแนปแชต) ฯลฯ ทำให้คนจำนวนมากในโลกตกอยู่ในเกมของ New Generation Warfare โดยไม่รู้ตัว
การสงครามยุคใหม่ (New Generation Warfare) ซึ่งอาจจะเรียกขานกันแบบเข้าใจง่าย ๆ ว่า สงครามในยุคดิจิทัล (Digital Warfare) ก็ได้
“ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2559 (ค.ศ.2016) รัสเซียประสบความสำเร็จในการเข้าแทรกแซงการเมืองภายในของอเมริกา และบรรลุเป้าหมาย โดยไม่ต้องใช้ปืนหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ใด ๆ เลย อย่างเช่นในในอดีต โดยตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์การเลือกตั้งหลายร้อยปี ในหมู่ประเทศมหาอำนาจแม้จะปรากฏการเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งในประเทศเล็กประเทศน้อย อย่างเช่น ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัสเซียเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งใน เชโกสโลวาเกีย บัลกาเรีย ฮังการี เพื่อที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์จะชนะการเลือกตั้ง ส่วนสหรัฐฯ ก็เข้าแทรกแซงการเลือกตั้งในอิตาลีในปี ค.ศ.1984 เพื่อมิให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ชนะ แต่โดยปกติแล้วสหรัฐฯ และ รัสเซียจะหลีกเลี่ยงการเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งภายในของกันและกัน แม้ในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 จะเคยปรากฏข้อมูลว่าทางรัสเซียเสนอผลประโยชน์ให้กับผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผ่านคนกลาง/ล็อบบี้ยิสต์ แต่ทุกคนก็ปฏิเสธไปก็ตาม
คลิกอ่าน
>> ชัยชนะของ “โดนัลด์ ทรัมป์” และอนาคตของ “ข่าวปลอม” ที่กำลังไล่ล่าคุณ (ตอนที่ 1) <<
>> Facebook ข่าวปลอม และจุดจบของสื่อมืออาชีพ (ตอนที่ 2) <<
“สิ่งที่เกิดขึ้น และความแตกต่างของการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2559 ก็คือ มีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนหนึ่งยอมรับความช่วยเหลือบางประการจากฝั่งรัสเซีย นั่นก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่เมื่อได้รับการติดต่อจากฝั่งรัสเซีย แทนที่ทีมหาเสียงของทรัมป์จะกล่าวปฏิเสธไป และแจ้งข่าวให้กับทางเอฟบีไอ หรือ ฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐฯ ทราบ ฝ่ายทรัมป์กลับตอบไปในทำนองเช่นว่า “ก็อาจเป็นไปได้นะ” , “ได้สิ” , “ทำไมจะเป็นไปไม่ได้ล่ะ” ผลกระทบที่ตามมาจึงปรากฏความปั่นป่วนดังเช่นที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน”
ดร.ยูวาล กล่าวต่อว่า ในภาพรวมแล้ว รัสเซียยังคงต้องการคงสถานะของการเป็น มหาอำนาจ โดยทางหนึ่งต้องแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางการทหาร (Military Capabilities) ซึ่งก็คือ การส่งกำลังทหารเข้าไปในซีเรีย จอร์เจีย ยูเครน อีกทางหนึ่งก็คือการใช้เครื่องมือในการกระจายข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (misinformation) หรือ ข่าวลวง (disinformation) เพื่อตอกย้ำรอยร้าวทางการเมือง แบ่งแยก และทำลายความไว้วางใจของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เครื่องมือที่ทรงอิทธิพล จนสร้างความแตกแยกให้กับสังคมอเมริกันซึ่งเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองได้ดีที่สุดก็หนีไม่พ้น สื่อสังคม (Social Media) เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ฯลฯ เพราะสื่อสังคมเหล่านั้นเชื่อมผู้คนผ่านเครือข่ายสังคมผ่านโลกออนไลน์
นักวิชาการหนุ่มลูกครึ่งรัสเซียกล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการกระพือข่าวผิด ข่าวลวง ข่าวลือ ก็เหมือนกันกับ วิธีการซื้อโฆษณา (Advertising) ผ่านสื่อสังคมอย่างเฟซบุ๊ก โดยมีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพฤติกรรมและกิจกรรมต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ของกลุ่มเป้าหมาย มาเพื่ออำนวยความสะดวกในการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารทางการเมืองต่าง ๆ
“บ็อตส์ (Bots) การสร้างบัญชีปลอม การบิดประเด็นจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งผ่านผู้ทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์ (Online Influencers) ก่อให้เกิดเทรนด์และการปั่นกระแส ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความปั่นป่วน จนในที่สุดในสังคมอเมริกันก็เกิดความบาดหมางทางความคิดที่ร้าวลึก และยากจะประสานมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ สื่อต่าง ๆ ควรจะเอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการในการพูดคุย ถกเถียง แลกเปลี่ยนและเจรจากันด้วยเหตุด้วยผล” ดร.ยูวาลระบุ
ทุกวันนี้เฟซบุ๊กมิใช่ “สถานที่แลกเปลี่ยนข้อมูล” ธรรมดา ๆ เพราะ การคัดกรอง และระบบอัลกอริธึม (Algorithm) อันซับซ้อน เพื่อที่จะเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร การปล่อยให้แสดง หรือ ไม่ให้แสดงอะไร ทำให้เฟซบุ๊กกลายเป็นบริษัทสื่อสารมวลชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Largest Media company in the world)
ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงต้องเข้ามาแทรกแซงวิธีการดำเนินงานของบริษัทสื่อสังคม (Social Media Company) ยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ อย่างเข้มงวดและใกล้ชิดมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้จะไม่อยากจะเข้าไปยุ่งกับเนื้อหาล่อแหลม ประเด็นทางการเมืองในประเทศต่าง ๆ มากเท่าไหร่นัก แต่ในเมื่อเครื่องมือเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหา และสร้างความขัดแย้ง ก็ถือเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อถามว่า เป็นไปได้ไหมที่สหรัฐฯ จะดำเนินการด้วยวิธีเดียวกันเพื่อตอบโต้รัสเซีย?
ดร.ยูวาล กล่าวว่า ในความเห็นของเขาสหรัฐฯ ไม่น่าจะกระโดดลงไปสู้ในสนามรบที่รัสเซียต้องการ อย่างไรก็ตามในอีกสองปีข้างหน้า ปี ค.ศ.2020 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง ก็ต้องจับตาดูว่าสถานการณ์ในอนาคตจะเป็นเช่นไร ใครจะมาเป็นคู่แข่งของทรัมป์ และนโยบายของแต่ละฝ่ายมีความแตกต่างกันอย่างไร?
ครับ สงครามเย็นครั้งใหม่ สงครามเย็นในยุคดิจิทัล อุบัติขึ้นแล้ว!
แม้ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม อย่างไรก็ตาม สงครามครั้งนี้คงไม่ได้จำกัดวงแค่การประลองกำลังกันระหว่างสองมหาอำนาจในยุคศตวรรษที่ 20 แต่จะรวมเอา สหรัฐฯ รัสเซีย และมหาอำนาจใหม่อย่างจีนเข้าไปด้วย ส่วนประเทศเล็กประเทศน้อยอย่างไทยนั้นจำเป็นต้องรู้เท่าทัน เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อของเกมการเมืองและสงครามดิจิทัลในระดับโลกครั้งนี้