วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
สิบกว่าปีที่แล้ว บนรถไฟใต้ดินสาย 2 ที่วิ่งวนเป็นวงกลมอยู่รอบเขตชั้นในของกรุงปักกิ่ง สตรีวัยกลางคนผู้หญิงเดินเร่ขายหนังสือพิมพ์เล่มบางในราคาหนึ่งหยวน พร้อมกับตะโกนก้องว่า
“ข่าวใหญ่ ข่าวใหญ่ หลิว เต๋อหัวตายแล้ว ... ซื้อก่อน อ่านก่อน!”
ผมไม่ได้ซื้อหนังสือพิมพ์เล่มนั้น และไม่ได้มีโอกาสอ่านข่าวว่าดาราชื่อก้องของเอเชียตาย หรือ ฟื้นคืนชีพกลับมาได้อย่างไร เพราะความจริงคือ หลิว เต๋อหัว ยังคงมีชีวิตอยู่ ยังคงแสดงหนัง ยังคงมีผลงานอยู่จนทุกวันนี้ หลายปีต่อมาหนังสือพิมพ์ปลอมฉบับดังกล่าว และข่าวปลอมเรื่อง “หลิว เต๋อหัวตายแล้ว” ก็ยังคงถูกหยิบยกมาเร่ขายอยู่บนรถไฟใต้ดินของกรุงปักกิ่งอยู่ไม่ขาด จนกลายเป็นโจ๊กที่คนเคยอยู่ปักกิ่งต้องเคยได้ยิน
นั่นเป็นตัวอย่างเกี่ยวกับ “ข่าวปลอม” ที่เผยแพร่กันในยุคของสื่อกระดาษ ในยุคที่โลกดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ยังไม่เข้ามามีอิทธิพลกับมนุษย์เรามากเท่าทุกวันนี้
ทุกวันนี้โซเชียลมีเดีย หรือ สื่อสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตและความคิดของคนทุกเพศ ทุกวัย จากทั่วทุกมุมโลกไม่ว่าจะอยู่ที่ปักกิ่ง โตเกียว นิวยอร์ก ลอนดอน หรือกรุงเทพฯ เพราะเทคโนโลยีทุกวันนี้ได้ย่อโลกของข้อมูลข่าวสารให้มาอยู่บนฝ่ามือของเราเรียบร้อยแล้ว และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือ สื่อสังคมออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ วอทซ์แอป ยูทูป ฯลฯ ได้กลายเป็น นายประตูข่าวสาร (Gatekeeper) แทนสื่อมืออาชีพไปเสียแล้ว
ปรากฎการณ์ล่าสุดที่ ข่าวปลอม หรือ Fake News สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกก็คือ ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559
หลังนายทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพลับลิกันคว้าชัยชนะเหนือนางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 แบบพลิกความคาดหมาย “เฟซบุ๊ก” โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลกก็ตกเป็นเป้าในการโจมตีอย่างหนัก หลังมีผลศึกษาออกมาว่า ข่าวปลอม (จากเว็บไซต์ปลอม) นั้นถูกแชร์ให้ผู้คนเห็นมากกว่าข่าวจริง (จากเว็บไซต์ข่าวจริงๆ) เช่นข่าวดังต่อไปนี้
“สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสช็อกโลก ด้วยการออกแถลงการณ์ยืนยันว่าสนับสนุนนายโดนัลด์ ทรัมป์ให้เป็นประธานาธิบดี”
“ประธานาธิบดีโอบามาปฏิเสธที่จะลงจากตำแหน่งหากทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี”
“วิกิลีกส์ยืนยันแล้วว่า ฮิลลารีขายอาวุธให้กับกลุ่มไอซิส ... ก่อนทิ้งระเบิดใส่!”
ฯลฯ
ขณะที่ในส่วนเมืองไทยก็มี “ข่าวปลอม” ที่เกี่ยวกับนายทรัมป์เช่นกัน โดยในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 มีข่าวแพร่ออกมาจากเว็บไซต์ telegraph-tv.co.uk ซึ่งเป็นเว็บไซต์ปลอมทำเลียนแบบเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์เดอะ เทเลกราฟ telegraph.co.uk ออกมาระบุว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตผู้นำของไทยที่หลบหนีคำพิพากษาจำคุกอยู่ในต่างประเทศเสียชีวิตแล้ว ทั้งยังอ้างอิงข้อมูลจากภาพตัดต่อทวิตเตอร์ปลอมของนายโดนัลด์ ทรัมป์ว่านายทรัมป์ ซึ่งอยู่ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งออกมาทวีตแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของนายทักษิณด้วย (คลิกอ่านข่าว)
ข่าวข้างต้นล้วนแล้วแต่เป็น “ข่าวปลอม” จากเว็บไซต์ปลอม ซึ่งถูกเขียนขึ้นมาโดยไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงใดๆ และถูกส่งต่อ แชร์ต่อจนแพร่กระจายไปทั่ว แต่จากผลการศึกษาของบัซฟีดนิวส์กลับยืนยันว่า ข่าวปลอมเหล่านี้ได้รับการอ่านและส่งต่อจากผู้คนมากกว่า “ข่าวจริง” โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการเลือกตั้ง ร้อยละ 85 ของ ข่าวปลอม 20 อันดับแรกที่มีการส่งต่อผ่านเฟซบุ๊กมากที่สุด ส่งผลเสียต่อฮิลลารีและเป็นคุณต่อทรัมป์
เรื่องนี้มิเพียงมีนัยยะเกี่ยวกับการเลือกข้างทางการเมืองระหว่างเดโมแครตหรือรีพับลิกัน (แม้ทางฝ่ายคนเชียร์ฮิลลารีจะออกมาตีโพยตีพาย ตามประสาคนผิดหวังบ้างก็ตาม) แต่ขนาดหน่วยงานวิจัยด้านสื่อในสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก เช่น ฮาร์วาร์ด เอ็มไอที ฯลฯ ต่างก็หยิบยกเรื่องนี้มาศึกษากันยกใหญ่
ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่นักข่าวนำไปจี้ถาม มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดของเฟซบุ๊ก ซึ่งกลายเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกยิ่งกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไปเสียแล้ว เพราะอาจกล่าวได้ว่า ระบบอัลกอริธึม (Algorithm; ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติคำนี้เป็นภาษาไทยว่า “ขั้นตอนวิธี”) บนนิวส์ฟีด (News Feed) ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าเนื้อหาใดควรขึ้นแสดงบนไทม์ไลน์ของใคร บ่อยแค่ไหน ขึ้นในลักษณะใด ฯลฯ ที่ซัคเกอร์เบิร์กมีส่วนคิดค้นและพัฒนาขึ้นได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยชี้ขาดผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไปเสียแล้ว
ตัวซัคเกอร์เบิร์กเอง เมื่อเจอคำถามดังกล่าวเข้าไปก็ถึงกับอึ้งไปเหมือนกัน โดยครั้งแรกเขาตอบแบบคลุมเครือว่า “ความคิดที่ว่าข่าวปลอมบนเฟซบุ๊ก ... มีผลต่อการเลือกตั้งไม่ว่าจะทางใด ถือเป็นเรื่องที่บ้ามาก” ก่อนที่ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2559 เขาจะเขียนบันทึกยาวลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวยอมรับว่า มีข่าวปลอมเผยแพร่บนเฟซบุ๊กจริง ... แต่เพียงแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น โดยเฟซบุ๊กได้สร้างระบบแจ้งเตือนกรณีข่าวลวงและปลอม (Hoaxed and Fake News) ขึ้นมาแล้ว และจะพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป อย่างไรก็ตามเจ้าพ่อเฟซบุ๊กยังปฏิเสธอิทธิพลของเฟซบุ๊กที่มีต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
แม้จะยังปากแข็ง แต่สัปดาห์ต่อมากลับมีรายงานระบุว่า ซัคเกอร์เบิร์กได้กำหนดโครงการออกมา 7 โครงการ เพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของ “ข่าวปลอม” ที่กำลังแพร่ระบาดราวกับเชื้อไวรัสในหมู่ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่มีเกือบ 1,800 ล้านคนดังนี้คือ
1. ปรับปรุงระบบตรวจสอบข่าวปลอม (Improve detection)
2. อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ในการแจ้งข่าวปลอมได้ง่ายขึ้น (Make it easier for users to report false news)
3. ใช้วิธีการยืนยันข้อมูลจากพันธมิตรด้านข่าวสารอื่นๆ (Third-party verification)
4. ปักป้ายให้เห็นชัดๆ กรณีตรวจสอบแล้วว่าเรื่องราวชิ้นนั้นๆ เป็นเรื่องเท็จ (Labeling stories as false)
5. สร้างความเชื่อมั่นว่าข่าวคุณภาพจะปรากฎอยู่บนนิวส์ฟีด (Insuring “quality” news appears in the News Feed)
6. ตัดตอนมิให้เว็บข่าวปลอมสร้างรายได้จากโฆษณาของเฟซบุ๊ก (Crack down on ads with misinformation)
7. ทำงานร่วมกับสื่อมืออาชีพในการพัฒนาระบบตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ดีขึ้น (Work with journalists to develop better fact-checking systems)
ในปี 2560 (ค.ศ.2017) ที่กำลังจะมาถึง ประเด็นเรื่อง การจัดการกับ "ข่าวปลอม" จะกลายเป็นวาระสำคัญลำดับต้นๆ ของโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เป็นต้นตอการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารอย่าง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูป ซึ่งในเมืองไทยอาจรวมไปถึง แอปพลิเคชันไลน์ (Line) ซึ่งเป็นโปรแกรมสนทนาเบอร์หนึ่งที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุดด้วย
อ่านเพิ่มเติม:
• Regardless of Its Influence on the Election, Facebook Needs to Change จาก MIT Technology Review, Nov 14, 2016.
• Two new polls try to see how Americans are dealing with fake news (Answer: Not very well!) Nieman Journalism Lab, Dec 7, 2016.
• A report that fake news 'outperformed' real news on Facebook suggests the problem is wildly out of control Business Insider, Nov 17, 2016.
• How Facebook plans to crack down on fake news USA Today, Nov 20, 2016.