xs
xsm
sm
md
lg

Facebook ข่าวปลอม และจุดจบของสื่อมืออาชีพ (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พรมแดนสื่อใหม่ (New Media, New Frontier)


วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


“เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า สื่อกระแสหลักจะพบว่าตัวเองเริ่มไม่ทันกับการรายงานข่าวที่เกิดขึ้นทั่วโลก องค์กรสื่อเหล่านี้ไม่สามารถเคลื่อนตัวได้เร็วมากพอในโลกที่เชื่อมต่อนี้ ไม่ว่าจะมีนักข่าว และนักข่าวรับจ้างที่มีพรสวรรค์ หรือมีแหล่งข่าวมากเพียงใดก็ตาม ... ในที่สุด การที่สื่อกระแสหลักไม่สามารถรายงานข่าวได้อย่างทันท่วงที จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความภักดีของผู้ชม เพราะผู้อ่านหรือไม่ผู้ชมจะหันไปหาช่องทางที่มีการรายงานข่าวในทันที คนรุ่นใหม่ในอนาคตจะสามารถผลิตและบริโภคข่าวมากกว่าคนรุ่นก่อน และผู้คนจะไม่อดทนดูข่าวจากสื่อที่ตามไม่ทัน” - - - ดิจิทัลเปลี่ยนโลก (The New Digital Age) โดย เอริค ชมิดต์ และจาเร็ด โคเฮน

โลกทุกวันนี้สื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย ได้กลายเป็น “นายประตูข่าวสาร (Gatekeeper)” แทนสื่อมืออาชีพไปเสียแล้ว

ปี 2559 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป มีสื่อสิ่งพิมพ์ล้มหายตายจากไปบรรณพิภพเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารชื่อดังอย่าง อิมเมจ พลอยแกมเพชร สกุลไทย คอมโมโพลิแทน (ภาคภาษาไทย) วอลุ่ม เซเว่นทีน ซีคิดส์ ฯลฯ

ส่วนในแวดวงหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา บริษัทนวกิจบ้านเมือง จำกัด เจ้าของหนังสือพิมพ์บ้านเมืองก็หยุดผลิตหนังสือพิมพ์ และเลิกจ้างพนักงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ปิดตำนานหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยที่มีอายุยาวนานถึง 44 ปีไปเป็นที่เรียบร้อย

เดือนมีนาคม 2559 ฮาร์วาร์ด บิสเนส รีวิว (HBR) เผยแพร่รายงานเรื่อง “อุตสาหกรรมกลุ่มใดที่จะได้รับผลกระทบจากโลกดิจิทัลมากที่สุด (The Industries That Are Being Disrupted the Most by Digital)” ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยเป็นการสำรวจจากผู้บริหารระดับสูง C-Level จำนวนกว่า 2,000 คน ใน 15 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งผลสำรวจก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจมากนักเพราะ อุตสาหกรรมสื่อ (Media Industry) นำโด่งมาเป็นอันดับที่หนึ่ง โดยผู้บริหารระดับสูงกว่าร้อยละ 72 เห็นว่าธุรกิจสื่อจะถูกผลกระทบ หรือถึงขั้นทำให้ล่มสลายจากการขยายตัวของโลกดิจิทัล

ส่วนอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (ร้อยละ 64) บริการทางการเงินสำหรับผู้บริโภค (ร้อยละ 61) ค้าปลีก (ร้อยละ 57) และ เทคโนโลยี (ร้อยละ 57) ก็ถูกมองว่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจดิจิทัล ไล่หลัง “อุตสาหกรรมสื่อ” มาในอันดับที่ 2-5 ตามลำดับ

รายงานของฮาร์วาร์ด บิสเนส รีวิว บอกด้วยว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโลกดิจิทัลจนถึงขั้นล่มสลาย โดยปกติจะถูกถล่มด้วยพายุสองลูกหลักๆ ก็คือ หนึ่ง ธุรกิจที่มีกำแพงในการเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ต่ำ (Low barriers to entry) เกิดผู้เล่นหน้าใหม่ได้เสมอจนทำให้เกิดสภาพการแข่งขันที่รุนแรง และ สอง คือ ธุรกิจที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากรูปแบบธุรกิจแบบดั้งเดิม (Legacy Business Model) โดยองค์กรเหล่านี้จะมีวัฒนธรรมและโครงสร้างเดิมที่ฝังรากลึก และอุ้ยอ้ายต่อการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการความรวดเร็ว

ในทางตรงกันข้ามอุตสาหกรรมที่จะค่อนข้างมีผลกระทบน้อยก็คือ อุตสาหกรรมที่มีกำแพงในการเข้าสู่อุตสาหกรรมสูง เช่น ธุรกิจที่ต้องมีสัมปทาน ต้องใช้ใบอนุญาตในการประกอบกิจการ และอุตสาหกรรมที่สินค้าและบริการส่วนใหญ่ไม่สามารถถูกแปลงเป็นดิจิทัลได้

กลับมาว่าถึงภาพรวมของธุรกิจสื่อในเมืองไทย โดยเฉพาะ “ข่าวออนไลน์” ซึ่งถูกตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นคลื่นลูกถัดไปของธุรกิจสื่อ ที่จะเข้ามาแทนที่ข่าวทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ วิทยุ

การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ในประเทศไทยทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีกำแพงในการเข้าสู่อุตสาหกรรมเลย (หรือมีก็มีต่ำมากๆ) เพราะ บุคคลธรรมดาทั่วไป ประกอบอาชีพใดๆ สามารถที่จะสร้างเว็บไซต์ หรือ แฟนเพจเฟซบุ๊ก และสถาปนาตนขึ้นเป็นสำนักข่าวออนไลน์ได้แบบไม่ยาก โดยหยิบเอาข่าว เอาเนื้อหา เอาภาพ เอาคลิปวิดีโอจากตรงโน้นทีตรงนี้ทีมาเผยแพร่ผ่านช่องทางของตน ในทางตรงกันข้าม สำนักข่าว หนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์มืออาชีพ ที่ทำแบบถูกกฎหมายเสียอีกที่ประสบกับการถูกบีบรัดจากความเปลี่ยนแปลงทั้งทางธุรกิจ ต้นทุนในการผลิต แหล่งรายได้ และการเข้าแทรกแซงและควบคุมจากภาครัฐจากหลากหลายวิธี

ด้วยเหตุที่ “ธุรกิจข่าวออนไลน์” แทบไม่มีกำแพงในการเข้าสู่อุตสาหกรรมเลย ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิด “เว็บข่าวปลอม” ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดนับเป็นจำนวนหลายร้อยแห่ง ภายใต้ความเกื้อหนุนของมหาอำนาจแห่งโลกโซเชียลมีเดียคือ “เฟซบุ๊ก” ซึ่งมีผู้ใช้ในเมืองไทยน่าจะแตะหลัก 40 ล้านบัญชี (ไม่นับรวมกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ไลน์ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ยูทูป ฯลฯ)

หรือในกรณีล่าสุดช่วงปลายปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ซึ่งเฟซบุ๊กกลับกลายเป็นแหล่งแพร่กระจายข่าวสารข้อมูลปลอมเสียเอง จากการที่ระบบ Safety Check หรือ ระบบตรวจสอบความปลอดภัยของเฟซบุ๊ก ขึ้นมาแจ้งเตือนตั้งแต่ช่วงเวลากลางวันจนถึงค่ำของวันที่ 27 ธันวาคม ว่า “เกิดเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร” และให้สมาชิกเฟซบุ๊กที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเลือกว่า “ฉันปลอดภัยดี” หรือ “ไม่อยู่ในพื้นที่” จนแม้แต่เว็บไซต์ข่าว MSN ยังนำไปลงข่าวเผยแพร่ไปทั่วโลก ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุร้ายแรงใดๆ เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเลย

ความผิดพลาดดังกล่าว เฟซบุ๊กกล่าวอ้างว่า เกิดจากการที่ระบบพบว่า มีชายคลั่งบุกปีนตึกร้องทุกข์ที่ทำเนียบรัฐบาล และปาวัตถุคล้ายระเบิดปิงปองลงมาตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 27 ธันวาคม ทำให้ทีมงานตัดสินใจแจ้งเตือนแก่ทุกคนก่อนจะเกิดเหตุระเบิดบานปลาย

นอกจากนี้ยังมีการอ้างว่า การสร้างความตื่นตระหนกดังกล่าวเกิดจาก ความผิดพลาดของระบบ การประมวลข้อมูลที่ผิดพลาดของปัญญาประดิษฐ์ (AI) การยืนยันอย่างเป็นทางการของบุคคลที่สาม ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ค่อยขึ้น

ที่น่าสนใจที่สุดคือ ประเด็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2559 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2559 ที่เพิ่งผ่านความเห็นของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ซึ่งใน มาตรา 14 ระบุชัดเจน เกี่ยวกับความผิดฐานเผยแพร่ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” และ “น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”

โดยเฉพาะ (2) คือ การนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

และ (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (2) ซึ่งมีบทลงโทษ คือ ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถามว่ากรณี “ข่าวปลอมว่ามีเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร” ที่เผยแพร่โดย “เฟซบุ๊ก” เช่นนี้ รัฐจะดำเนินคดีหรือไม่? ดำเนินคดีกับใคร? ดำเนินคดีอย่างไร? แล้วเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศที่นำเรื่องดังกล่าวไปเผยแพร่อย่างเสียๆ หายๆ จะถูกดำเนินคดีด้วยไหม?

ในทางกลับกัน หากข่าว “ระเบิดกรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นเท็จดังกล่าวถูกเผยแพร่ใน “เว็บไซต์ข่าวที่มีรากฐานเป็น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ทั่วไปและมีการส่งต่อไปในวงกว้าง ผมรับรองได้ว่าจะต้องถูกดำเนินคดีสถานหนักจากหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กระทรวงไอซีที หรือ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ก็ตาม

คำถามทิ้งท้าย คือ ถ้ารัฐทำอะไรกับ “ข่าวปลอม” บนเฟซบุ๊กไม่ได้ แล้วจะไม่ให้สื่อดั้งเดิมถึงจุดจบได้อย่างไร?

อ่านเพิ่มเติม:
• ดิจิทัลเปลี่ยนโลก (The New Digital Age) เขียนโดย Eric Schmidt และ Jared Cohen แปลโดย สุทธวิชญ์ แสงดาษดา, โพสต์บุ๊กส์, 2557.
กำลังโหลดความคิดเห็น