xs
xsm
sm
md
lg

พระราม 2 หนีไป! ‘ถนนเจ็ดชั่วโคตร’ กำลังจะกลับมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ช่วงนี้เห็นถนนสายหลักในกรุงเทพฯ ทั้งถนนลาดพร้าว ถนนศรีนครินทร์ เริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง รวมทั้ง ถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา ก็เริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ทำเอาการจราจรติดขัดกันระนาว แต่ยังมีถนนอีกเส้นหนึ่งที่เพิ่งจะก่อสร้าง แล้วการจราจรก็ติดขัดไม่แพ้กัน

นับตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา ผู้ใช้รถใช้ถนน ทางหลวงหมายเลข 35 หรือ ถนนพระราม 2 ได้รับความเดือดร้อนอีกครั้ง เมื่อกรมทางหลวงกำลังก่อสร้างปรับปรุงถนนพระราม 2 ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย ระยะทาง 11.7 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการในเดือนสิงหาคม 2563

การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 3 ตอน ใช้งบประมาณรวม 2,213.55 ล้านบาท รูปแบบคร่าวๆ ก็คือ ขยายทางหลัก (Main Road) เป็น 4 ช่องจราจร ทางขนาน (Frontage Road) เป็น 3 ช่องจราจร พร้อมวางท่อระบายน้ำ ทำทางเท้าใหม่ ขยายสะพานข้ามคลอง ก่อสร้างสะพานกลับรถเพิ่มเติม กิโลเมตรที่ 16 (เลยถนนแสมดำ ทิศทางเข้ากรุงเทพฯ)

อีกทั้งมีการทุบสะพานข้ามทางรถไฟ ด้านช่องทางหลักขาเข้ากรุงเทพฯ กิโลเมตรที่ 18+680 ถึง 19+180 แล้วก่อสร้างใหม่ขนาด 3 ช่องจราจร ให้สูงเท่ากับสะพานด้านช่องทางขนาน โดยได้วางแบริเออร์เพื่อแบ่งช่องจราจรสวนทาง บนสะพานด้านช่องทางหลักขาออกกรุงเทพฯ ไปแล้วเมื่อ 7 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤศจิกายน 2562

ในฐานะคนสมุทรสาคร บอกตามตรงว่า ความน่าเสียดายคือ การสร้างอะไรไว้แล้วก็ต้องทุบทิ้ง โดยเฉพาะร่องน้ำคอนกรีต ระหว่างช่องทางขนานกับช่องทางหลัก ช่วงสะพานข้ามคลองบางน้ำจืด ขาเข้ากรุงเทพฯ และช่วงสะพานข้ามคลองคอกควาย ขาออกกรุงเทพฯ สร้างเสร็จไม่กี่เดือน คอนกรีตยังใหม่อยู่ สุดท้ายก็ต้องทุบทิ้ง

ที่ผ่านมา ถนนพระราม 2 เป็นโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างภาค และเป็นเส้นทางสายหลักจากกรุงเทพมุ่งสู่ภาคใต้ มีปริมาณการจราจรเฉลี่ยสูงถึง 120,000 คันต่อวัน ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ไม่สะดวกในการเดินทาง โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน ช่วงวันหยุดเทศกาลต่างๆ และวันหยุดต่อเนื่อง จึงได้ขยายเส้นทางดังกล่าว

โดยปกติแล้ว ถนนพระราม 2 ช่วงตั้งแต่แยกบางปะแก้ว ถึงทางแยกต่างระดับมหาชัย รถมากเคลื่อนตัวช้าอยู่แล้ว หากเป็นชั่วโมงเร่งด่วนตั้งแต่ 06.30 น. เป็นต้นมา การจราจรติดขัดขาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อขึ้นทางพิเศษเฉลิมมหานครที่ด่านดาวคะนอง และช่วงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ที่มีทางพิเศษกาญจนาภิเษก บางพลี-สุขสวัสดิ์-บางขุนเทียน

ย่านถนนพระราม 2 จะเต็มไปด้วยย่านชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะซอยวัดพันท้ายนรสิงห์ มีบ้านจัดสรรหลายโครงการนับพันหลังคาเรือน ช่วงเช้ารถจะออกจากซอย เพื่อขึ้นสะพานกลับรถเข้ากรุงเทพฯ อย่างคับคั่ง เมื่อมีการก่อสร้างถนนเกิดขึ้น ก็ทำให้ในชั่วโมงเร่งด่วน ช่วงเช้าและเย็นการจราจรติดขัด ต้องเผื่อเวลาเดินทางกันเลยทีเดียว



ส่วนคนที่ไม่มีรถส่วนตัว ต้องใช้บริการรถเมล์หรือรถตู้ เช่น รถตู้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-มหาชัย ที่คนสมุทรสาครนิยมใช้บริการ เพราะต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสไปยังจุดต่างๆ ใจกลางเมืองได้สะดวก เมื่อก่อสร้างถนนก็ทำให้ไปเรียนหรือไปทำงานสาย ยิ่งถ้าเป็นคนที่อยู่ชายขอบ นั่งรถเมล์สาย ปอ.68 สมุทรสาคร-บางลำภู, สาย 105 มหาชัยเมืองใหม่-คลองสาน ยิ่งกินเวลาไปอีก

ไม่นับรวมช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดต่อเนื่อง คนที่ไปเที่ยวอัมพวา ชะอำ หัวหิน หรือภาคใต้ ก็ต้องใช้เส้นทางนี้ การจราจรรถมากเคลื่อนตัวช้า บริเวณขาออกในเช้าถึงบ่ายวันเสาร์ และบริเวณขาเข้าในช่วงบ่ายถึงค่ำวันอาทิตย์ ยิ่งมีการก่อสร้างถนน ก็ต้องเจอรถติดตั้งแต่มหาชัยไปถึงกรุงเทพฯ เลยทีเดียว

เพราะฉะนั้น คนที่นั่งรถตู้จากมหาชัย ไปหมอชิตใหม่, ม.รามคำแหง รวมทั้งรถตู้เส้นทางภาคตะวันตก สายบ้านแพ้ว, สมุทรสงคราม, ดำเนินสะดวก, เพชรบุรี, หัวหิน, ปราณบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ จากเดิมจะเจอรถติดแถวเซ็นทรัลพระราม 2 ขึ้นด่านดาวคะนอง ถึงสะพานพระราม 9 จะออกจากบ้านตอนเช้า ก็ต้องเผื่อเวลารถติดถนนพระราม 2 เพิ่มขึ้นไปด้วย

ที่ผ่านมา สำนักก่อสร้างทางที่ 1 มีการขึ้นป่ายประชาสัมพันธ์ให้หลีกเลี่ยงเส้นทางเป็นระยะ ตั้งแต่ทางแยกต่างระดับวังมะนาว และก่อนถึงจุดเริ่มต้นเขตก่อสร้าง ปัจจุบันมีเส้นทางถนนเพชรเกษม ผ่านจังหวัดราชบุรี นครปฐม เลี้ยวซ้ายเข้าถนนบรมราชชนนี ที่ทางแยกต่างระดับนครชัยศรี มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ซึ่งจะอ้อมกว่าเส้นทางเดิมประมาณ 40 กิโลเมตร

การก่อสร้างถนนพระราม 2 ครั้งนี้ แม้จะเป็นที่เข้าใจได้ว่า เพราะสภาพถนนเดิมรองรับไม่ไหว นอกจากช่องจราจรจะแคบแล้วยังมีผิวขรุขระ ต้องซ่อมถนนอยู่บ่อยครั้ง แต่คำถามคือ เมื่อถนนจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2563 แล้วจะจบลงเพียงแค่นั้นหรือ เพราะถนนพระราม 2 กำลังจะมีโครงการทางด่วนอีก 2 เส้นทาง ได้แก่

โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร วงเงิน 3.04 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะระดมทุนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) เพื่อนำเงินไปลงทุนก่อสร้าง พร้อมกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 เกษตร-วงแหวนรอบนอกตะวันออก วงเงิน 1.43 หมื่นล้านบาท

แนวเส้นทางจะเริ่มต้นที่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ สร้างสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ขนาด 8 ช่องจราจร ก่อนที่จะเป็นทางยกระดับขนานกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร ขนาด 6 ช่องจราจร ถึงดาวคะนองจะยกระดับไปตามถนนพระราม 2 มีทางขึ้น-ลงด้านถนนพระราม 2 รวม 5 จุด ได้แก่ บางกระดี่ หัวกระบือ วัดเลา วัดยายร่ม และถนนพุทธบูชา

โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี – ปากท่อ (ถนนพระราม 2) เชื่อมต่อทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ช่วงแรก บางขุนเทียน – มหาชัยเมืองใหม่ ระยะทาง 10 กิโลเมตร ในปีงบประมาณ 2562 จัดสรรงบประมาณแล้ว 2,100 ล้านบาท ต่อเนื่อง 3 ปี รวม 10,500 ล้านบาท

แน่นอนว่า ต้องทับซ้อนกับโครงการปรับปรุงถนนพระราม 2 ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ โดยบริเวณเกาะกลางถนนได้เว้นไว้ประมาณ 5 เมตร เพื่อก่อสร้างตอม่อทางยกระดับ แบบเดียวกับทางพิเศษบูรพาวิถี และเว้นร่องน้ำระหว่างช่องทางหลักกับช่องทางขนาน ประมาณ 5-7.5 เมตร

ต่อให้ถนนแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2563 แต่การก่อสร้างทางยกระดับคาดว่าจะต้องกินเวลาไปอีกอย่างน้อยถึงปี 2564-2565 ไม่นับรวมช่วงตั้งแต่มหาชัยเมืองใหม่-บ้านแพ้ว และ บ้านแพ้ว-ปากท่อ ที่กรมทางหลวงจะใช้รูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยให้เอกชนร่วมทุนทั้งงานก่อสร้างโยธาและงานระบบอีก

มีโครงการก่อสร้างอีกอย่างน้อย 3-4 โครงการที่จะผ่านพื้นที่ถนนพระราม 2 ตั้งแต่แยกบางปะแก้ว ถึงแยกวังมะนาว ได้แก่ โครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 8 ช่วง นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร วงเงิน 7.9 หมื่นล้านบาท ที่ยังล่าช้าเพราะเพิ่งถูกตีกลับจากคณะกรรมการพีพีพี เพราะติดขัดเรื่องที่ว่าจะให้เป็นมอเตอร์เวย์ หรือให้เป็นทางหลวงสัมปทาน

โครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 91 (วงแหวนรอบ 3 ฝั่งตะวันตก) ช่วง มหาชัย-บางปะอิน ระยะทาง 98 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนจะออกแบบรายละเอียด เวนคืนที่ดิน หากมีความพร้อมเรื่องงบประมาณจะก่อสร้างได้ในปี 2566-2568 เปิดใช้งานในปี 2569

นอกจากนี้ ยังมี โครงการถนนสมุทรปราการ-สมุทรสาคร (สะพานพระสมุทรเจดีย์) ของกรมทางหลวงชนบท ระยะทาง 57 กิโลเมตร และ โครงการทางหลวงแนวใหม่ สามแยกวังมะนาว บรรจบทางหลวงหมายเลข 3510 ไปทาง อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ระยะทาง 36.718 กิโลเมตร สามารถไปต่อแก่งกระจาน และวัดห้วยมงคล จ.ประจวบคีรีขันธ์

ก่อนหน้านี้ถ้ายังจำกันได้ ถนนพระราม 2 ได้ฉายาว่าเป็น “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” เพราะการก่อสร้างช่วงตั้งแต่สามแยกบางประแก้ว ถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ตั้งแต่ขยายเป็น 4 ช่องจราจรเมื่อปี 2532 เสร็จแล้วต้องทุบทิ้งเพื่อขยายถนนเป็น 14 ช่องจราจร ก่อนจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2546 กินระยะเวลานานถึง 14 ปี

การก่อสร้างขยายถนนพระราม 2 และการสร้างทางยกระดับเที่ยวนี้ อาจเป็นปฐมบทของ “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” รอบใหม่ ที่เราไม่รู้ว่าเป็นความโชคดีที่จะมีเมกะโปรเจ็กต์ลงในพื้นที่ หรือความโชคร้ายที่เราจะได้เจอสภาพถนนที่แคบลง เป็นหลุมเป็นบ่อ การจราจรติดขัด เต็มไปด้วยฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง

โดยไม่รู้อนาคตว่า เมื่อไหร่ทุกโครงการจะก่อสร้างเสร็จสิ้นเสียที!

อ่านประกอบ : ย้อนรอย “ถนนพระราม 2” ทางหลวงสายมรณะ 419 ล้านบาท
ย้อนรอย “ถนนพระราม 2” (จบ) : จาก “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” สู่อนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น