xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย “ถนนพระราม 2” ทางหลวงสายมรณะ 419 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง

ถนนพระราม 2 บริเวณทางแยกต่างระดับสมุทรสาคร (ภาพ : กิตติกร นาคทอง)
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 หรือ ถนนพระราม 2 (ธนบุรี - ปากท่อ) ถือเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ภาคใต้ ที่ประชาชนใช้สัญจรและขนส่งสินค้าระหว่างกัน มานานกว่า 44 ปี

ความสำคัญของถนนความยาว 84 กิโลเมตรเส้นนี้ เห็นได้จากปริมาณการจราจรในปี 2559 ของสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง ที่พบว่ามียานพาหนะใช้เส้นทางนี้เข้า-ออกกรุงเทพฯ มากถึง 1.2 แสนคันต่อวัน

และหากเข้าเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเต็มไปด้วยโครงการบ้านจัดสรร เคหะชุมชน ห้างสรรพสินค้า และโรงงานอุตสาหกรรม จะมียานพาหนะใช้เส้นทางนี้มากถึง 2.7 แสนคันต่อวัน

ในอนาคตอันใกล้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวงมีโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ประเภททางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) จากดาวคะนอง ต่อเนื่องไปถึง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี

ถนนพระราม 2 พาดผ่านในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และ ราชบุรี ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในการสัญจรไปมาและการขนส่ง ระหว่างกาลเวลาที่ผ่านไป ก็มีเรื่องราวมากมาย

เคยมีคนกล่าวว่า “หากเรารู้จักเรียนรู้อดีต และเข้าใจปัจจุบัน จะนำไปสู่การมองเห็นอนาคต” ไม่มีอะไรดีไปกว่าเรื่องราวในอดีตที่มีผู้บันทึกเอาไว้ แล้วเราได้มีโอกาสพบเจอเรื่องราวเหล่านั้น

นานมาแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถมศึกษา (ประมาณ ป.6) หนังสือเล่มหนาที่ชื่อว่า “เที่ยวทั่วไทย” ของ ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ นักเขียนสารคดีท่องเที่ยว และผู้ช่วยบรรณาธิการ อนุสาร อสท. อยู่ในตู้กระจกของหนังสืออ้างอิง ในห้องสมุดโรงเรียนวัดแห่งหนึ่ง

ทำให้เรารู้ว่า ถนนสายนี้เกิดขึ้น และเปิดใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2516 แม้จะช่วยย่นระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปยังภาคใต้กว่า 40 กิโลเมตร แต่ก็ต้องพบกับอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตเป็นประจำ

ผ่านไปเกือบ 20 ปี เรากลับมาที่โรงเรียนวัดแห่งนี้อีกครั้ง เพื่อตามหาหนังสือเล่มนี้ แต่พบว่าห้องสมุดได้ย้ายไปอยู่อีกอาคารหนึ่ง ในสภาพทรุดโทรม และหนังสือในชั้นวางมีน้อยลง เมื่อค้นหาทั้งห้องสมุดแล้วกลับไม่พบ

ครูที่ดูแลรุ่นใหม่บอกว่า หลายสิบปีที่ผ่านมา โรงเรียนแห่งนี้ย้ายห้องสมุดไปอยู่อีกอาคาร หนังสือส่วนหนึ่งหายไปเพราะชำรุด อีกส่วนหนึ่งถูกน้ำท่วมโรงเรียน อีกทั้งนักเรียนอ่านหนังสือกันน้อยลง ทำให้ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร

แม้ว่าความพยายามในการค้นหาบันทึกเรื่องราวในอดีตจะต้องพักลง โดยที่ไม่รู้ว่าจะตามหาได้ที่ไหน แต่ก็มีผู้ให้ข้อมูลว่า ที่ “หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร” มีหนังสือเล่มดังกล่าวอยู่ในชั้นวาง วันต่อมาเราจึงเข้าไปตามหาโดยพลัน

สัมผัสแรกที่ได้แตะหนังสือเล่มนี้ แม้สภาพกระดาษจะสีน้ำตาลเข้ม และสภาพปกรวมทั้งพลาสติกเคลือบจะฉีกขาดจนไม่กล้ายืม แต่ก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่า สิ่งที่เราตามหาในอดีตนั้นเราตามหากันจนเจอ

ในหนังสือ “เที่ยวทั่วไทย” เขียนโดย ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ ของโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ปี พ.ศ. 2519 ได้เขียนถึงถนนธนบุรี – ปากท่อ ในสมัยนั้นว่าเป็น “ทางหลวงสายมรณะ 419 ล้านบาท”

ย้อนกลับไปในอดีต คุณปราโมทย์เล่าว่า สมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม เป็นเมืองอับทางรถยนต์ จะเข้า-ออกกรุงเทพฯ ต้องอาศัยทางรถไฟสายแม่กลองเป็นหลัก ส่วนทางรถยนต์นั้นแม้จะไปได้ แต่ก็เป็นถนนอ้อมโลก

จากกรุงเทพฯ ไปสมุทรสาคร ต้องขับรถไปทางถนนเพชรเกษม ผ่านบางแคไปจนถึงตำบลอ้อมน้อย ห่างจากกรุงเทพฯ 25 กิโลเมตร จึงจะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่อำเภอกระทุ่มแบน มุ่งหน้าไปสู่สมุทรสาคร

รวมระยะทางแล้วก็เกือบ 50 กิโลเมตร และถนนหนทางแคบ

ส่วนเมืองสมุทรสงคราม ต้องเดินทางไปตามถนนเพชรเกษม ผ่านตัวเมืองราชบุรี แล้วเลยไปจนถึงปากท่อ จึงจะหาทางแยกซ้ายมือเข้าสู่ตัวเมืองสมุทรสงครามได้

แล้วยังต้องข้ามเรือไปฝั่งเมือง โดยจอดรถทิ้งไว้ทางฝั่งขวาของแม่กลองอีกด้วย

เมื่อรัฐบาลพยายามที่จะหาทางเปิดเมืองสมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ให้สามารถติดต่อกับกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ ได้โดยสะดวก พร้อมกับต้องการลดความหนาแน่นของการจราจร บนทางหลวงสายเพชรเกษม

โดยเฉพาะช่วง กรุงเทพฯ นครปฐม ถึงราชบุรี ซึ่งการจราจรคับคั่งมาก เพราะรถยนต์ทุกคันที่จะไปภาคใต้จะเข้ากรุงเทพฯ จำเป็นต้องผ่านถนนช่วงนี้ทุกคันนั่นเอง

รัฐบาลจึงได้สร้างทางหลวงสายนี้ขึ้น โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน 55% และเงินกู้จากธนาคารโลก 45% การก่อสร้างเริ่มมาแต่กลางปี พ.ศ. 2513 โดยแบ่งงานสร้างถนนออกเป็น 3 ช่วง

ช่วงแรก ธนบุรี ถึงสมุทรสาคร ระยะทาง 29 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 180 ล้านบาท

ช่วงที่สอง จากสมุทรสาคร ถึงสมุทรสงคราม ระยะทาง 36 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 142 ล้านบาท

และช่วงสุดท้าย จากสมุทรสงคราม ไปพบกับถนนเพชรเกษม ในเขตอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ที่หลักกิโลเมตร 125.5 ระยะทาง 19 กิโลเมตร

พร้อมกับสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น (ปี 2519) รวมค่าก่อสร้าง 99 ล้านบาท
สะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จ.สมุทรสงคราม (ภาพจากหนังสือ เที่ยวเมืองไทย ปี พ.ศ. 2519)
บทความคุณปราโมทย์ อธิบายว่า สะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองดังกล่าว มีนามว่า “สะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” มีความยาวถึง 720 เมตร นับว่าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทยขณะนั้น

แรกเริ่มทีเดียว สะพานข้ามแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย คือ “สะพานเสรีประชาธิปไตย” จ.อุบลราชธานี ข้ามลำน้ำมูล สร้างเชื่อมฝั่ง อ.วารินชำราบ และฝั่ง จ.อุบลราชธานี

ต่อมาเมื่อมีการสร้างสะพานข้ามลำน้ำปิงที่เมืองตาก จ.ตาก “สะพานกิตติขจร” ตำแหน่งสะพานข้ามแม่น้ำยาวที่สุด ก็ตกเป็นของสะพานกิตติขจรไป กระทั่งตกเป็นของสะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในที่สุด

เมื่อรวมค่าก่อสร้างของถนนสายนี้ ซึ่งยาว 84 กิโลเมตรแล้ว ก็เป็นเงินถึง 419 ล้านบาท มีเศษอีกเล็กน้อย ทางหลวงสายนี้ สร้างเสร็จเรียบร้อย เปิดใช้เป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2516 นี่เอง

ผลที่เกิดจากทางหลวงสายนี้ นอกจากจะทำให้สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ติดต่อกับโลกภายนอกด้วยรถยนต์ได้สะดวกตามความปรารถนาของรัฐบาลแล้ว ยังทำให้การเดินทางไปภาคใต้ในปัจจุบัน ย่นระยะทางลงอีก 41.5 กิโลเมตร โดยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวเมืองนครปฐมและตัวเมืองราชบุรีเหมือนแต่ก่อน

แล้วในขณะที่ทางหลวงสายใหม่สายนี้ คึกคักด้วยรถยนต์ ก็ทำให้นครปฐม และราชบุรี ลดความสำคัญลงไปมาก เพราะนักขับรถทุกคน ไม่ว่าจะเข้ากรุงเทพฯ หรือจะไปภาคใต้ ต่างก็หันมาใช้ทางหลวงหมายเลข 35 กันเกือบหมด

คนกรุงเทพฯ ที่จะไปเที่ยวหัวหิน ก็หันมาใช้ทางหลวงสายนี้ สามารถย่นระยะทางเหลือเพียง 184 กิโลเมตร จากเมื่อก่อนอยู่ห่างถึง 232 กิโลเมตร หรือเพชรบุรี ก็เหลือแค่ 117 กิโลเมตรเท่านั้น จากเมื่อก่อนอยู่ห่างถึง 165 กิโลเมตร

คุณปราโมทย์ เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศในสมัยนั้นว่า ปากทางหลวงหมายเลข 35 แลเห็นทิวหมากและมะพร้าวเขียวชอุ่ม ของชาวสวนดาวคะนองอยู่สองฟากถนน ป้ายบอกทางริมถนนบอกไว้ว่า สมุทรสาคร 29 กิโลเมตร

ความงามของเรือกสวนเต็มไปด้วยหมากและมะพร้าว ของชาวสวนดาวคะนอง มาสู่พื้นที่ราบโล่งชายทะเล ที่แผ่นดินเค็มทำนาไม่ได้ จนถึงปากทางแยกเข้าสู่เมืองสมุทรสาคร

ถึงสมุทรสงคราม เมื่อข้ามสะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีร้านอาหารอยู่ตรงเชิงสะพานขวามือ ที่ตรงเชิงสะพานนั้น มีต้นไม้ไผ่รวกกองอยู่เป็นภูเขา ซื้อมาเพื่อนำไปทำโป๊ะจับปลา ราคาแค่ลำละ 4 บาทเท่านั้น

3-4 กิโลเมตร ก่อนที่จะบรรจบกับถนนเพชรเกษม เป็นช่วงทางที่สวยที่สุดอีกตอนหนึ่ง เมื่อถนนข้ามสะพานคอนกรีตที่ยกพื้นสูงเหนือรางรถไฟสายใต้มาแล้ว ทั้งซ้ายและขวามือมีหมู่เรือนไทยโบราณที่น่าดูปรากฏอยู่หลายสิบหลัง

แลตรงไปข้างหน้า เห็นขุนเขาใหญ่น้อยเสียบยอดซับซ้อนกัน นั่นคือขุนเขาในเขตเพชรบุรีและราชบุรี ที่เป็นอาณาจักรป่าไพศาล ไปจนขุนเขาตะนาวศรี เส้นกั้นอาณาเขตระหว่างไทยและพม่านั่นเอง
ในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุน พื้นที่ชายทะเลที่มีระดับน้ำสูงใกล้ตลิ่ง จะเกิดภาวะน้ำท่วมเสียหาย (ในภาพคือ บริเวณถนนธนบุรี-ปากท่อ มองเห็นคันดินกั้นน้ำ ขนานไปกับถนน) (ภาพจาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ 12 พ.ศ. 2531)
ทางหลวงสายใหม่ ทำให้อะไรต่ออะไรหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านดีและด้านร้าย

คุณปราโมทย์ อธิบายว่า เมื่อทางหลวงสายนี้เกิดขึ้น ทำให้ทางรถไฟสายแม่กลอง กลายเป็นรถสำหรับทหารม้าโดยเฉพาะ มีแต่ม้านั่งว่างเปล่าไปแทบทุกขบวน เพราะผู้คนหันมาใช้รถยนต์กันหมดนั่นเอง!

จนกระทั่งการรถไฟฯ ร่ำๆ ที่จะเลิกเดินรถสายแม่กลองเมื่อต้นปี 2516 ทีหนึ่งแล้ว ด้วยทนขาดทุนไม่ไหว แต่ก็ยังมีชาวบ้านอีกหลายหมู่บ้าน หลายตำบล ที่ยังจำเป็นต้องใช้รถไฟ ด้วยถนนสายใหม่เข้าไม่ถึง เพราะติดคลองสุนัขหอน

การรถไฟฯ จึงจำใจต้องเดินรถสายแม่กลองต่อไปด้วยความชีช้ำ เพราะรถไฟนั้นเป็นบริการสาธารณูปโภคที่รัฐต้องให้กับประชาชน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องรุนแรงอะไร เป็นไปตามความเจริญของโลกโดยแท้

เรื่องร้ายที่มากับทางหลวงหมายเลข 35 ที่เป็นเรื่องร้ายแรงจริง ๆ ก็คือ อุบัติเหตุบนทางหลวงสายนี้สูงมากจนน่ากลัวนัก!

ในระยะประมาณ 4 ปี นับแต่เปิดถนนสายนี้มา มีนักเดินทางเอาชีวิตไปทิ้งไว้บนทางหลวงสายนี้ มากกว่า 60 คน! รถชนกันอย่างชนิดประสานงา ตกถนน ตายกันครั้งละ 5-6 คน มีเกิดขึ้นเสมอ ๆ บนทางหลวงสายนี้

แม้แต่นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย คือ คุณเสถียร เกตุสัมพันธ์ ก็เอาชีวิตมาทิ้งไว้บนทางหลวงสายนี้เช่นกัน หรือแพทย์ที่โรงพยาบาลสมุทรสงคราม ก็เคยรถคว่ำตายหมู่ถึง 5 คน บนทางสายนี้อีกเช่นกัน!

ใคร ๆ ถึงเรียกทางหลวงหมายเลข 35 ว่า “ทางหลวงสายมรณะ”

คุณปราโมทย์ เล่าว่า หากไม่จำเป็นไม่อยากผ่านถนนสายนี้ เพราะมันเป็นถนนที่ต้องสาป หรือถนนอาถรรพณ์ ซึ่งจะต้องมีการตายอีกมากมายก่อนจะพ้นคำสาปนั้น

มีคำบอกเล่ากันมาว่า เมื่อระหว่างการก่อสร้างถนนสายนี้ ในช่วงที่หนึ่งซึ่งจะต่อเชื่อมกับช่วงที่สอง นั่นก็คือบริเวณสี่แยกที่จะเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เมืองสมุทรสาคร แต่เดิมเป็นที่รกร้างริมทะเล มีป่าแสม โกงกาง และนาเกลือประปราย
ถนนพระราม 2 บริเวณทางแยกต่างระดับสมุทรสาคร (ภาพ : กิตติกร นาคทอง)
เมื่อการสร้างทางมาถึงตรงจุดสี่แยกแห่งนี้ มีเรื่องเล่ากันติดปากมาว่า นายช่างที่คุมการสร้างทาง ฝันไปว่า มีพญางูจงอางใหญ่มาบอกว่า อย่าเพิ่งใช้รถแทรกเตอร์เกรดดินตรงนี้เลย เพราะแม่งูจงอางเพิ่งตกไข่กว่า 50 ฟอง ขอเวลาอีกสักอาทิตย์หรือสองอาทิตย์เถิด เพื่อรอให้ลูกงูเกิดเสียก่อน

ผลก็คือการสร้างทางดำเนินไปตามกำหนดเวลา แล้วสิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น นั่นคือ เมื่อใช้รถแทรกเตอร์เกรดดินตรงบริเวณที่งูจงอางมาเข้าฝันขอร้อง ก็ปรากฏว่าได้พบไข่งูจงอางแตกบี้แบนจำนวนมากมาย ลูกงูจงอางที่ยังไม่ทันเกิดมาดูโลก ก็เลยตายกันหมดสิ้น

แล้วใคร ๆ ก็พากันลืมเรื่องนี้ไปตามกาลเวลา แต่ทว่า เมื่อทางหลวงหมายเลข 35 สร้างเสร็จ และเปิดใช้แล้ว อุบัติเหตุได้เกิดขึ้นตรงสี่แยกแห่งนี้ผิดปกติ เกิดอย่างไม่น่าจะเกิดก็มีมากราย

คนตายไปทีละคนสองคน ตรงสี่แยกปากทางเข้าเมืองสมุทรสาคร ส่วนถนนช่วงอื่น ๆ ก็มีอุบัติเหตุมากผิดปกติเช่นกัน ชีวิตผู้คนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่น่าจะตาย ก็ต้องตายคราวนี้เอง

ใคร ๆ ก็เลยร่ำลือกันถึงเรื่องราวที่พญางูจงอางมาเข้าฝัน นายช่างคนคุมงานอีกครั้ง พร้อม ๆ กับความเชื่อถือที่ติดตามมาว่า วิญญาณงูจงอางคงอาฆาตแค้น ที่ทำให้มันและลูกต้องตาย

จึงตามล้างผลาญชีวิตนักเดินทางที่ผ่านเข้ามาบนทางหลวงสายนี้อย่างไม่เลือกหน้า จนกว่าจะครบเท่าจำนวนลูกของมันที่ตายไปในครั้งนั้น!

“ใครจะเชื่อเรื่องนี้หรือไม่เชื่อก็ตามใจเถิดครับ แต่หากจะขับรถไปเที่ยวบนทางหลวงสายนี้แล้ว ก็โปรดระมัดระวังให้มากกว่าปกติ ขอให้คุณระลึกอยู่เสมอว่า คุณกำลังเดินทางอยู่บนทางหลวงสายมรณะ” คุณปราโมทย์ กล่าวและว่า

“ขอให้ถือคำพังเพยเก่าแก่ที่ว่า ไม่ถึงคราวตาย ไม่วายชีวาวาดก็แล้วกัน ถ้าคนจะตายนอนอยู่ในมุ้งแท้ ๆ รถเมล์ยังแล่นลงมาทับตายได้ คนเราทุกวันนี้ชีวิตก็ไม่ได้มีค่าอะไรมากมายนักหรอก ราคาชีวิตถูกลงทุกที”

ภายหลังทราบมาว่า คุณปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วเมื่อปี 2539 ต้องขอบคุณบทความในหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้ผมได้รับรู้เรื่องราวในอดีต เกี่ยวกับถนนสายนี้ที่เราได้ใช้กันเป็นประจำ

อ่านมาถึงตรงนี้ ผมนึกถึงรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งที่ชื่อว่า “มิติลี้ลับ” ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ก็เคยมีละครตำนานเจ้าแม่งูจงอางเหมือนกัน และปัจจุบันมีศาลเจ้างูจงอางอยู่จริง
ศาลเจ้าแม่งูจงอางและลูก ปากทางพระราม 2 ซอย 48 (ภาพ : กิตติกร นาคทอง)
ศาลเจ้าแม่งูจงอางและลูก ปากทางพระราม 2 ซอย 48 (ภาพ : กิตติกร นาคทอง)
ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ศาลเจ้าแม่งูจงอางและลูก (ศาลแม่ขวัญ) ถนนพระราม 2 ปากซอย 48 (เลยเซ็นทรัลพระราม 2 มา 1 ป้ายรถเมล์) พบว่ายังมีผู้คนศรัทธามากราบไหว้ทุกวัน บางวันยังมีการฉายหนังกลางแปลงอีกด้วย

บริเวณด้านข้างของศาลจะพบกับป่ากก เท่าที่ค้นหาข่าวเก่าทราบว่า เจ้าของที่เป็นแขกคนหนึ่งได้ขายที่ดินบริเวณดังกล่าวไปแล้วหลายผืน มีเพียงจุดที่งูอาศัยอยู่เท่านั้น ที่ไม่ได้ขาย

เนื่องจากเจ้าแม่งูได้ไปเข้าฝันเจ้าของที่ขอร้องว่าอย่าขายที่บริเวณนั้นเนื่องจากเป็นที่อยู่แห่งสุดท้ายของลูก ๆ และเหล่างูอีกนานาชนิด ซึ่งเจ้าของที่ก็ทำตามอีกทั้งยังสร้างศาลเจ้าแม่งูจงอางและลูกให้ชาวบ้านสักการะบูชาด้วย

นอกจากนี้ หากมีภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับงู หรือเล่นกับงูทั้งเรื่อง ก็มักจะมีผู้กำกับภาพยนตร์ และดารานักแสดงมาบรวงสรวงเปิดกล้องถ่ายทำ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง เขี้ยวอาฆาต ของ พจน์ อานนท์

ส่วนอีกศาลหนึ่ง คือ ศาลเจ้าพ่องูจงอาง บริเวณใต้ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน สมัยก่อนเป็นเพียงศาลเจ้าหลังเล็ก ๆ มุงด้วยหลังคากระเบื้องแผ่นธรรมดา ปัจจุบันพบว่าได้ก่อสร้างศาลแบบคอนกรีตถาวรอย่างสวยงาม

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ เพียงแค่อยากจะบันทึกความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และตำนานของถนนสายนี้มาเล่าสู่กันฟัง คุณผู้อ่านอาจจะเชื่อทั้งหมด หรือไม่เชื่อทั้งหมดก็สุดแท้แต่จะพิจารณา คิดว่าเหมือนมาอ่านเรื่องราวเก่า ๆ ในอดีต

คำกล่าวโบราณที่ว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ยังคงใช้ได้เสมอ ด้วยความเคารพ ผมก็อยากให้ผู้อ่านเปิดมุมมองอีกด้านที่อาจจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ส่วนจะพิจารณาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับวิจารญาณของท่าน

จริง ๆ แล้วตลอดระยะเวลากว่า 44 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะมีเรื่องของถนนสายมรณะแล้ว ถนนพระราม 2 ในสมัยก่อนยังได้ชื่อว่าเป็น “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” อันเนื่องมาจากการก่อสร้างที่ล่าช้า ช่วงดาวคะนองถึงบางขุนเทียน

ขอเวลาค้นคว้าหาข้อมูลอีกสักระยะ หากมีโอกาสและข้อมูลพอสมควร จะกลับมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง.

บรรณานุกรม

ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ. เที่ยวทั่วไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2519.
กำลังโหลดความคิดเห็น